ตราบใดที่งานอะไรก็ตาม ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลามอยู่ในงานนั้น งานนั้นก็ย่อมจัดได้ หรือเข้าร่วมได้ครับ
ส่วนกรณีการปะปนระหว่างชายและหญิงนั้น หากเป็นเรื่องที่เราจะต้องประสบอยู่ทุกวี่วัน และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ศาสนาก็ย่อมอนุโลมให้เป็นธรรมดาครับ เพราะแม้แต่ในมัสยิดิลหะรอมเอง โดยเฉพาะการเฏาะวาฟ ก็มักจะมีการปะปนชายหญิงอยู่เสมอ ซึ่งหลักการเดิมของมันคือหะรอม (ต้องห้าม) แต่เนื่องจากมันอยู่ในสภาวะเฎาะรูเราะฮ์ (เหตุฉุกเฉิน) กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ควบคุมยาก หรือแทบไม่ได้เลย อันนี้ศาสนาก็อนุโลมให้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่ออนุโลมแล้ว ก็จะปล่อยปละละเลยโดยที่แต่ละคนไม่มีการระมัดระวังตัวเลย ซึ่งหากจะบาป ก็บาปตรงส่วนที่ปล่อยปะละเลยเรื่องนี้นี่แหละครับ ดังนั้น เราจะต้องแยกให้ออกครับในประเด็นนี้
และขอยืนยันตามความเห็นส่วนตัวว่า "งานวันเด็ก" นั้น พื้นฐานที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ความสำคัญกับเด็กเป็นหลัก และอิสลามเองก็ส่งเสริมในเรื่องนี้ และการจัดงานวันเด็ก ผมเห็นว่า "จัดได้" แล้วก็ขอแนะนำให้องค์กรมุสลิมจัดบ้าง เพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้แสดงความสามารถในทางที่ไม่ขัดกับหลักการศาสนาครับ ส่วนจะให้คนต่างศาสนิกเข้าร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ปัญหาครับ ปัญหาอยู่ที่องค์ประกอบของงานว่ามีสิ่งผิดหลักศาสนาไหม ส่วนบางเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เป็นอีกเรื่องที่เราจะต้องมาพิจารณากันครับ
ส่วนประเด็น "การเข้าร่วมงานปีใหม่" นั้น พื้นฐานเดิม หรือความเชื่อเดิมในการจัดนั้น มันค่อนที่จะไม่สอดคล้องกับอิสลามเลยครับ ซึ่ง อ.อาลี เสือสมิง เองก็เคยนำเสนอบทความในเรื่องนี้ชื่อว่า "
การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่สากล กับเงื่อนงำที่แอบแฝงในประวัติศาสตร์" ลองดูรายละเอียดดูได้ครับ - วัลลอฮุอะอ์ลัม, วัสสลามุอลัยกุม