بسم الله الرحمن الرحيم
เนี๊ยะมัตที่ดี
ทรัพย์สินที่เราได้ครอบครองนั้น มีทั้งมากและน้อย ก็เปรียบเสมือนกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งมีทั้งปริมาณที่มากและน้อย เป็นที่ทราบดีว่า การรับประทานอาหารนั้นต้องอยู่ในขอบเขตเท่าที่ต้องการและจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งหากเรารับประทานอาหารเกินความต้องการของเราร่างกายแล้ว อาหารที่เป็นประโยชน์อาจจะเป็นโทษต่อร่างกายก็ได้และบางครั้งอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
ซึ่งดังกล่าวนั้นก็เหมือนกับทรัพย์สิน ซึ่งหากอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงทำให้เรามีริสกีปัจจัยยังชีพที่พอเพียง ท่านก็จะมีการดำเนินชีวิตที่สุขสบาย และทำให้ท่านสบายใจ แต่ถ้าทรัพย์สินของท่านมีมากกว่าความต้องการ หรือมีเหลือใช้ ด้วยการเก็บทรัพย์ไว้เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนั้น ท่านอาจจะไม่สามารถนำอีหม่านมาบริหารทรัพย์สินที่เหลือใช้ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากว่าทรัพย์สินที่เหลือใช้นั้นหรือมีมากกว่าที่ต้องการนั้น บางครั้งอาจจะนำพาตัวของท่านไปสู่ความเสียหายและละเมิดต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ซึ่งเสมือนกับการปฏิโภคอาหารเกินความต้องการ ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บได้
ดังที่ท่านอิบนุอะฏออิลและหฺกล่าวว่า
من تمام النعمة عليك أن يرزقك ما يكفيك ، ويمنعك ما يطغيك
"จากความสมบูรณ์ของเนี๊ยะมัตที่มีต่อท่านนั้น คือการที่อัลเลาะฮฺทรงประทานริสกี ปัจจัยยังชีพแก่ท่าน กับสิ่งที่พอเพียงสำหรับท่าน และพระองค์จะป้องกันท่าน กับสิ่งที่ทำให้ท่านละเมิด"
ถ้าหากมีบางคนขอต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ให้ทรงประทานความร่ำรวยให้แก่เขา นั่นย่อมแสดงว่าเขากำลังขอให้มีบะลาอฺเกิดขึ้นกับตัวของเขา เนื่องจากผู้ที่มีความร่ำรวยนั้น จะถูกสอบสวนมากกว่าคนสามัญชนทั่วไป เช่นเราเข้าไปซื้อของในห้าง เราจะพบว่าคนรวย ๆ เขาจะจับจ่ายใช้สอยเยอะ คนจน ๆ จะซื้อน้อยกว่า พอเวลาเข้าไปเช็คจ่ายเงิน ทางพนักงานจะเช็คของคนรวยนานกว่าคนจน ก็คงจะเหมือนในวันสอบสวนนั่นแหละครับ ดังนั้น การที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ให้เราพอมีกิน และให้เรามีความเพียงในปัจจัยยังชีพนั้น ย่อมถือว่าเป็นเนี๊ยะมัตที่สมบูรณ์แล้ว
แต่ถ้าหากว่าเรามีอิหม่านอย่างเพียงในการบริหารทรัพย์สินของเรา ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากหรือน้อย ก็ย่อมไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด เนื่องจากการมีทรัพย์สินที่จะไม่ทำให้เกิดโทษ ไม่ใช่อยู่ที่มีทรัพย์สินมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ตัวของผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่างหาก เนื่องจากมีมากต่อมากแล้ว ที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงให้คนคนหนึ่งมีทรัพย์มากมาย และเขาก็นำทรัพย์สินนั้นไปใช้จ่ายไปหนทางที่ถูกต้องและสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) และทำการชุโกรในสิ่งที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ได้ทรงประทานให้
หากเราย้อนกลับไปดูประศาสตร์อิสลาม บรรดาซอฮาบะฮฺของท่านร่อซูลุลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ก็มีผู้ที่มีความร่ำรวยในทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง เรือกสวน หรือบรรดาปศุสัตว์อันมากมายที่พวกเขาได้ครอบครอง เช่นท่าน อับอุรเราะหฺมาน บิน เอาฟฺ ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน และท่านอับบาส (ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุม) ซึ่งพวกเขาเหล่านี้นั้น ต่างใช้ทรัพย์ที่อัลเลาะฮฺทรงเพิ่มพูนให้แก่พวกเขา ในการสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ(ซ.บ.) ด้วยการบริจาคให้แก่คนยากจนและการทำสงคราม
อีกท่านหนึ่ง คือท่านอับดุลเลาะฮฺ อิบนุ มุบาร๊อก ท่านเป็นอุลามาอฺเป็นที่รู้กันว่ามีความร่ำรวย แต่ความร่ำรวยของท่านนั้น ท่านได้ทำให้มันเป็นสะพานขึ้นไปสู่ความเป็นบ่าวผู้มีความผูกพันธ์กับอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ในขณะที่ท่านใกล้เสียชีวิตนั้น ท่านได้กล่าวกับคนใช้ของท่านว่า " เจ้าจงวางศรีษะของฉันบนดินเถิด แล้วคนใช้ก็ร้องไห้ ท่านอิบนุมุบาร๊อกกล่าวว่า อะไรที่ท่านให้เจ้าร้องไห้หรือ ? คนใช้กล่าวว่า ก็ฉันคิดถึงตอนที่ท่านเคยอยู่อย่างมีความสุข แต่ท่านในวันนี้นั้น กลับจะเสียชีวิตในสภาพเช่นนี้ !! ท่านอิบนุมุบาร๊อก จึงกล่าวแก่คนใช้ว่า ท่านจงหยุดร้องไห้เถิด เพราะแท้จริง ฉันได้ขอต่ออัลเลาะอฺ(ซ.บ.)ให้พระองค์ทรงทำให้ฉันห่างไกลจากผู้ร่ำรวยที่มีเกียตริ และทำให้ฉันตายอย่างคนยากจน "
ดังนั้นทรัพย์สินของเราทั้งหลายนั้น เราต้องดูแลมันให้ดีว่า เราเอาไปใช้ในหนทางใด หากเรามีทรัพย์เหลือจ่ายแล้วเอาไปเล่นการพนัน เอาไปซื้อเบอร์ ก็ไม่มีวันหรอกครับ ที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)จะให้การเพิ่มพูนกับทรัพย์เหล่านั้น หากเราไปซื้อเบอร์หรือเล่นการพนัน ก็เป็นบาปหนึ่งกระทง หากว่าเล่นพนันชนะหรือถูกเบอร์ ก็จะมีบาปเพิ่มมาอีก 2 กระทง ที่เอาเงินฮารอมมาใช้ ซื้ออาหารด้วยเงินที่ฮารอม แล้วรับประทานมันเข้าไปจนเป็นเลือดเนื้อที่ฮารอม ก็คงจะไปกันใหญ่ จะเอาไปลงทุนอะไรก็ทำกินไม่ขึ้น ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่มีบะรากัต ศิริมงคล ดังนั้นสิ่งที่อัลเลาะฮฺทรงให้กับเราอย่างพอเพียง ย่อมเป็นเนี๊ยะมัตที่สมบูรณ์แล้ว หากท่านเอาเงินที่ท่านทำงานมาได้ นำมาใช้จ่ายในหนทางที่ถูกต้อง อัลเลาะฮฺก็จะเพิ่มทดแทนให้แก่ท่านอย่างเพียงพอ ดังที่อัลเลาะฮฺทรงตรัสสัญญาเอาไว้ในอัลกุรอานว่า
وما أنفقتم من شىء فهو يخلفه
และสิ่งที่สูเจ้าได้ใช้จ่ายมันไปจากสิ่งหนึ่ง ดังนั้น อัลเลาะฮฺก็จะทดแทนให้กับเขา "
ซึ่งการใช้จ่ายนั้น ก็คือการจ่ายไปในหนทางของอัลเลาะฮ(ซ.บ.) ใช้จ่ายไปในหนทางที่ไม่ผิดบทบัญญัติ แล้วอัลเลาะฮฺก็จะทดแทนให้แก่เราอย่างเพียงพอ อย่างที่เราอยู่ใดกันมาถึงทุกวันนี้แหละครับ
วัลลอฮุอะลัม