بسم الله الرحمن الرحيم
การมอบหมายตัวเองไปยังอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.)
อันคนเรานั้น ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นพ่อแม่ ที่ต้องเลี้ยงดูบุตรเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง บางครั้งก็ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ทั้งที่คนเรียนก็เป็นผู้ใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ภาระก็ยังตกอยู่บนผู้เป็นพ่อแม่อยู่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจจะทำให้ผู้ปกครองต้องคิดหนักในบางครั้ง จนทำให้ไม่สบายใจ
ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ของท่านอิบนุอะฏออิลเลาะฮฺ ซึ่งได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าคิดเลยทีเดียว ท่านกล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า
أرح نفسك من التدبير ، فما قام به غيرك عنك لاتقم به نفسك
"ท่านจงพักผ่อน จิตใจของท่านจากการวางแผน เนื่องจากว่า สิ่งที่ผู้อื่นจากท่าน(คืออัลเลาะฮฺ)ได้วางแผนการให้ท่านแล้ว ดังนั้นท่านก็ไม่ต้องจัดการสิ่งนั้นให้กับตัวของท่านเอง "
คำกล่าวของท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺนี้ ชี้ให้เห็นว่า เราต้องมีการมอบหมายการงานต่างๆ ของเราให้กับอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)เป็นผู้จัดการโดยพักจิตพักใจ ไม่ต้องไปกังวลให้มากจนเกินไป จนกระทั้งเราคิดว่าผู้ที่ให้มันเป็นไปและกำหนดวิถีทางนั้น คือตัวเองเรา โดยลืมว่าอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)คือผู้ทรงสร้างและวางแผนตามความรอบรู้ของพระองค์ตั้งแต่เดิมแล้ว
ท่านพึงทราบเถิดว่า ความพยายามหรือการทำงาน กับการวางแผนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน
1. ซึ่งการทำงานนั้น คือความพยายามที่เราทุ่มเทแรงกายในการทำงานตามภาระหน้าที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงใช้แก่เรา เช่นเขาจะต้องไปตลาดเพื่อทำการค้าขาย ต้องเข้าไปในสวนเพื่อทำการเพาะปลูก ออกไปทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าแรง ไปมหาวิทยาลัยเพื่อทำการเล่าเรียน ไปหาหมอเพื่อทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ นั่นคือหน้าที่ ที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงมอบให้แก่เราให้กระทำ
2. การวางแผน ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า การวางแผนในการดำเนินชีวิตว่าจะทำกิจการอะไรนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริม แต่การวางแผนที่น่าตำหนิใน ณ ที่นี้ก็คือการใช้ความคิด หรือใช้สติปัญญามากำหนดว่า สิ่งที่เรากระทำนั้น ต้องเป็นไปตามนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ค้าขายต้องไดกำไรเท่านี้ เท่านั้น เพราะปลูกต้องได้ผลผลิตเท่านี้ เท่านั้น ดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ เนื่องจากสิ่งที่เราหวังไว้นั้น มันอาจจะไม่เป็นไปตามที่เราหวัง จึงเป็นเหตุให้เรามีความเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ในจิตใจ
ซึ่งท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺนั้น ได้บอกว่า أرح نفسك คือ"ท่านจงพักผ่อนจิตใจของท่าน " แต่ไม่ใช่พักผ่อนร่างกาย เนื่องจากอิสลามใช้ให้เรามีความขยันขันแข็ง แต่ผลที่ได้นั้นให้มอบหมายไปยังอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) หากมีคนมาถามเราว่า "ท่านหวังอะไรจากการงานที่ท่านได้กระทำอยู่ ? เราก็ตอบว่า มันเป็นภาระหน้าที่ ที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงใช้ให้เรากระทำ สำหรับผลที่อัลเลาะฮฺทรงให้มันเกิดขึ้นนั้น ฉันก็ขอมอบให้กับสิ่งที่อัลเลาะฮฺทรงให้ผล โดยฉันมีความพอใจในกอก่อดัรของพระองค์ นั่นคือแนวทางการดำเนินชีวิตของมุสลิม ที่มีการกระทำตามหลักชาริอัตที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาใช้ พร้อมกับมีความผูกพันธ์ต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ตามหลักอากีดะฮฺ อะฮฺลิสซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ที่เรานั้นมีหน้ากระทำ แต่อัลเลาะฮฺนั้นทรงสร้างผลในการกระทำนั้น
والله خلقكم وما تعملون
"และอัลเลาะฮฺทรงสร้างพวกเจ้าและสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำ"
หากเราพิจารณาถึงเรื่องราว ของพระนางมัรยัมที่ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ในขณะที่พระนางมัรยัมเจ็บครรภ์อยู่นั้น พระนางได้ไปที่ต้นอินทผาลัมเพื่อจะรับประทานผลของมัน เพื่อระงับความเจ็บปวด ซึ่งตามหลักการแพทย์นั้น ความหวานจะสามารถระงับความเจ็บปวดได้ เมื่อไปที่ต้นอินทผาลัม ซึ่งต้นอินผาลัมนั้นแห้งเหี่ยวไม่มีผล แต่อัลเลาะฮฺก็ทรงใช้ให้นางทำการเขย่าต้นอินผาลัม แล้วอัลเลาะฮฺก็ทรงบันดาลให้มีผลอินทผาลัมสดออกผลจากต้นอินทผาลัมที่แห้งนั้นตกลงมายังนางเพื่อจะได้รับประทานมัน ซึ่งอัลเลาะฮฺทรงตรัสแก่นางว่า
وهزى اليك بجذع النخلة تساقط عليك رطبا جنيا
" และเธอจงเขย่าลำต้นอินทผลัมมายังตัวเธอเถิด มันก็จะร่วงมาให้เธอซึ่งผลอินทผาลัมที่สด" มัรยัม 25
ทั้งที่อัลเลาะฮฺมีความสามารถที่จะให้ผลอินทผาลัมนั้น ร่วงลงมาที่ตักนางโดยที่ไม่ต้องเขย่าก็ได้ แต่พระองค์ทรงใช้ให้นางเขย่าต้นอินทผาลัม เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า คนเรานั้นอยู่ในโลกแห่งการกระทำและพยายาม ตามหน้าที่ที่อัลเลาะฮฺทรงบัญญัติใช้ ส่วนผลที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องเชื่อมั่นศรัทธาว่าอัลเลาะฮฺทรงผู้ทำให้มันเกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือหลักเตาฮีดที่มีต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) หากเราเชื่อว่ามนุษย์คือผู้กำหนดสร้างให้มันเกิดขึ้นเองได้โดยอัลเลาะฮฺไม่มีส่วนเกียวข้องนั้น เขาย่อมทำชิริกต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอัลเลาะฮฺทรงเป็นผู้ประทานมาให้ หัวใจของเราก็จะเต็มเปรี่ยมไปด้วยความรัก กล่าวสรรญเสริญและขอบคุณต่ออัลเลาะฮฺ
วัลลอฮุอะลัม