
วันนี้มีบทความดีๆ น่าอ่านและน่าคิดสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่
สุขที่ใจการตั้งเป้าหมายที่สร้างความสุข และมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เชื่อว่า
สิ่งที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง
คือ การประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ
ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จึงแข่งกันเรียนให้จบเร็ว ๆ แย่งกันทำงานที่ได้เงินเดือนสูง ๆ
ต้องการมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากสังคมให้เร็วที่สุด
อุปมาเหมือนกับ การเร่งปีนภูเขา
เพื่อให้คนรอบข้างเห็นว่า เราเป็น
“คนแรก” ที่ได้ขึ้นไปถึงยอด
แต่เมื่อขึ้นไปถึงยอดแล้ว อาจจะมีความสนุกตื่นเต้นอยู่เพียงชั่วครู่
หลังจากนั้นก็เริ่มชิน
และมุ่งเสาะหายอดเขาที่สูงขึ้นต่อไป
เพื่อสนอง กิเลสตัวเอง โดยไม่ยอมเสียเวลาพัก
ด้วยกระแสสังคม
คนส่วนใหญ่มักสับสนหรือเข้าใจผิดว่า
ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือ เงินทอง ตำแหน่ง ชื่อเสียง
เป็น
“เครื่องวัดความสำเร็จในชีวิต” พลอยทำให้ลืมนึกถึงสิ่งที่มีค่ารอบตัว
โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตใจและมิตรภาพอันดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ส่งผลให้เมื่อมี ความทุกข์ หรือ ความผิดหวัง
จึงรู้สึกเหมือน
“คนตกเหว” ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ไร้ทางออก หรือหนทางแก้ไข
เช่นเดียวกับ คนที่คิดฆ่าตัวตาย
***********
การมองความสำเร็จแบบผิด ๆ
แทนที่ความสำเร็จจะเป็น
“น้ำผึ้ง” อาจกลายเป็น
“ยาพิษ” ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้
เพราะทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ยึดไม่ได้
ผู้ที่ติดอยู่ในกับดักวังวนของ
“การมี” หรือ
“การเป็น” มักจะหาจุดจบหรือปลายทางไม่เจอ
เช่น มีเงินสิบล้าน ก็อยากมีร้อยล้าน
เป็นผู้จัดการ ก็อยากเป็นผู้อำนวยการ
มีชื่อเสียงระดับประเทศ ก็อยากมีชื่อเสียงระดับโลก
ท้ายที่สุด ชีวิตจึงเหนื่อยยาก
เพราะแพ้ใจตัวเองแม้มีเงินทอง มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ก็ไม่ช่วยอะไร
เข้าข่าย
“ผู้ป่วยหนัก” ที่หมอไม่รับรักษา
เป็นอันตรายที่น่ากลัวที่สุด
***********
การตั้งเป้าหมายที่สร้างความสุข
และมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง
จึงมีความสำคัญมาก
ทั้งเป้าหมายทางโลกและทางธรรม
ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว
แล้วลงมือทำ ลองดูว่า เราทำได้ตามนั้นหรือไม่
ที่สำคัญ ต้องรู้จัก
“ปล่อยวาง” ไม่ทำร้ายตัวเอง
ถ้าทางที่เราเลือกหรือวางไว้ไปไม่ถึงจุดหมาย
ก็เปลี่ยนทางใหม่ได้ โดยไม่ทุกข์
รู้จักให้อภัยและชมตัวเองบ้างแม้จะล้มเหลว ก็ขอให้มองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง
เก็บความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนา
พร้อมตั้งใจหาความสุขจากการทำงานในทุกช่วง
และคิดเพียงว่า ต้องการ
“ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์” เท่านั้น
ส่วน ลาภ ยศ สรรเสริญ จัดว่าเป็นเพียง
“ผลพลอยได้” ถือเป็นรางวัลที่ไม่คาดหวัง และต้องระลึกถึงความไม่เที่ยงอยู่เป็นนิจ
คือ มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร จะได้ไม่ทุกข์
นอกจากนี้ ยังต้องหมั่นเตือนตัวเอง
ไม่ให้ “ยึดเหนี่ยว” สิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ตลอดชีวิต
ไม่ว่าจะเป็น บุคคล หรือ สิ่งของ
พร้อมวางใจต้อนรับ การเปลี่ยนแปลง
ซึ่งเป็นสัจธรรมแห่งชีวิตที่ซื่อสัตย์ยิ่งอยู่เสมอ
**************
สุดท้าย สำคัญที่สุด คือ ให้
“ตัวเอง” เป็นผู้บ่งบอกถึงความสำเร็จของตัวเอง
ไม่ต้องรอให้ผู้อื่นบอกหรือตัดสิน
เพื่อให้เรามีความสุข ความพอใจ ความภาคภูมิใจ และ
“เต็มอิ่ม” ได้ด้วยตัวเอง
เมื่อทำได้เช่นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้มีชีวิตที่มีความสุข
และประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
“ด้วยตนเอง”พร้อมเผื่อแผ่ความดีงามให้ผู้อื่นในโลกนี้ต่อไป.
เขียนโดย ภัทริน ซอโสตถิกุล
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วัสสลามค่ะ