ผู้เขียน หัวข้อ: มอง...สถานการณ์โลกอาหรับ .....ประสบการณ์แห่งประวัติศาสตร์  (อ่าน 2334 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

DekTani

  • บุคคลทั่วไป

โลกมุสลิมโฉมใหม่...หลังมุบาร็อกถูกขับไล่
ไม่มีใครหยุดเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ได้

โดย อัล อัค

[ถอดเทป โดย Ummah Islam]


โลกมุสลิมโฉมใหม่มานานแล้ว โฉมใหม่มาหลายศตวรรษแล้ว เราอยู่ในยุคที่เรียกว่ายุคตกต่ำ นี่คือโฉมใหม่ของเรา ยุคที่เราไม่ได้เป็นมหาอำนาจ นี่คือโฉมใหม่ ตั้งแต่หลังปี 1800

สถานการณ์ในอียิปต์ที่เราฟังทุกวันนี้มีคำอยู่สองสามคำที่มันโผล่ขึ้นมาและมันเป็นการสะท้อนยุคโฉมใหม่ ส่วนใหญ่เราจะเน้นไปที่คำว่า "Facebook"

Facebook น่ะใช่ตัวหนึ่ง แต่อีกตัวหนึ่งก็คือคำว่า Muslim Brotherhood ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เห็นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหรืออะไรต่ออะไรพูดแล้ววิเคราะห์ขบวนการ Muslim Brotherhood หรืออิควานอัลมุสลิมูน เยอะ แล้วก็ค่อนข้างลึก เป็นครั้งแรก ๆ เลยในประวัติศาสตร์ของสิ่งพิมพ์ที่พูดถึงขบวนการอิควาน

ซึ่งสำหรับพวกเราก็เป็นเรื่องธรรมดาแล้วเพราะก็เกิดมานานแล้ว เป็นค่อนศตวรรษแล้ว แต่ว่าเขาพูดถึงค่อนข้างละเอียดและลึก งั้นโฉมใหม่ของเราเนี่ย โลกโฉมใหม่ของเราเนี่ย มันไม่เหมือนเดิมตรงที่ ...

โลกของเรามีวิธีการแบบที่ไม่เหมือนในอดีต คือ มีการต่อสู้ในแบบ Muslim Brotherhood ขึ้นมา หมายถึง แบบของการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสลาม ซึ่งโครงสร้างแบบนี้มันไม่ได้มีมาก่อนในโลกอิสลาม ไม่ว่าชัยคุลอิสลาม อิบนิตัยมียะฮฺในอดีต แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหว แต่ไม่มีการจัดตั้งแบบนี้

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข่าวต่าง ๆ บอกว่า อิควานหรือว่า Muslim Brotherhood มีการจัดตั้งที่ดีมาก มีการจัดตั้งที่เป็นองค์กรจัดตั้งที่มีระบบดีมาก ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ไม่มีในอดีต แต่โครงสร้างแบบนี้เป็นโครงสร้างที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับกับโลกอิสลามโลกมุสลิมโฉมใหม่ คือ โลกที่ตกต่ำ โลกที่โครงสร้างข้างบนถูกทำลายหมด ล้มระเนระนาดหมด

คิลาฟะฮฺอิสลามถูกโค่นล้มอย่างเป็นทางการ 1924 แต่ก่อนหน้านั้นมันก็ล้มมาเกือบร้อยปีแล้ว ...ราชวงศ์โมกุลที่ยิ่งใหญ่ในอินเดียก็หลังปี 1800 หมดสภาพ ...อุษมานียะฮฺก่อนปี 1800 หรือหลังปี 1800 เล็กน้อย ก็กลายเป็นคนป่วยของยุโรป แล้วก็ล่มสลายใน 1924

โลกมุสลิมที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนแบบนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างการต่อสู้มาจากระดับล่างเป็นรูปแบบของ "อัล-หะเราะกะฮฺ อิสลามียะฮฺ" การเคลื่อนไหวเพื่ออิสลาม Islamic Movement

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นคนที่ก้าวขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อฟื้นฟูโลกอิสลามไม่ได้เหมือนกับคนแบบอุมัรฺ บินดุลอะซีซ ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮฺที่เป็นแปลงโลกอิสลาม, เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ, มุฮัมมัด อัล-ฟาติหฺ ซึ่งเป็นสุลฏอนที่มีอำนาจระดับจักรวรรดิ เป็นจักรพรรดิ

แต่โลกมุสลิมยุคใหม่โครงสร้างระดับบนถูกทำลายหมด การฟื้นฟูโลกอิสลามโฉมใหม่นั้นมาจากการเคลื่อนไหวจากคนระดับล่างที่ก้าวขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา เช่น หะสัน อัล-บันนา ... 1906 หะสัน อัล-บันนา เกิด ... 1906 ปีเดียวกัน สัยยิด กุฏุบ ก็เกิด ... 1903 อบุลอะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ เกิด ... 1885 เมาลานา อิลยาส เกิด

คนพวกนี้มีไม่ถึงสิบคนหรอกในศตวรรษนี้ ไม่ถึงสิบคนนับดูได้ คนพวกนี้เป็นอัจฉริยะที่ได้อิจญ์ติฮาด วินิจฉัยแล้วก็จัดตั้งการเคลื่อนไหวอิสลามแบบใหม่ นี่คือโลกมุสลิมโฉมใหม่ ที่เรามองเห็นไม่ชัดเมื่อในอดีต แต่วันนี้เราเห็นชัดแล้วว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นโครงสร้างระดับล่าง นี่ตัวหนึ่งนะ "Muslim Brotherhood"


"Facebook" เป็นตัวโฉมใหม่ แต่ยังไม่ได้ใหม่อะไรมาก มันเป็นเครื่องมือตัวใหม่เท่านั้นเอง ... ในอดีตโลกมุสลิมใช้การเคลื่อนไหวของสื่อแบบนี้มานานแล้ว เช่น เมื่อสักร้อยปีที่แล้ว รอชีด ริฎอ ออกวารสารอัล-อุรฺวะตุล วุษกอ ซึ่งเป็นวารสารที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นฟูอิสลามมาถึงอินโดนีเซีย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ไคโร ... มุฮัมมัด อับดุฮฺ, รอชีด ริฎอ กับ วารสารอัล-อุรฺวะตุล วุษกอ

เพราะฉะนั้นวิธีการเคลื่อนไหวของโลกในยุคปี 1800 เนื่องจากข้างบนมันล้มระเนระนาดหมด การสั่งการไม่มี การเคลื่อนไหวแบบใหม่ต้องใช้สื่อเพื่อให้คนติดต่อกันได้

เมื่อก่อนวารสารต้องรับ "อัล-อุรฺวะตุล วุษกอ" เนี่ยบังคับให้รับกันเลย พวกคนทำงานอิสลามทั่วโลกต้องรับวารสารนี้ เป็นสมาชิกวารสารนี้ เพราะฉะนั้นที่มันเร็วขึ้นเพราะว่าไอ้ตัวสื่อตรงนี้มันเร็วขึ้น มันเป็นตัวช่วย แต่โครงสร้างหลักของมันไม่ใช่ Facebook ...."Muslim Brotherhood" ต่างหาก

ซึ่งการพูดถึง Muslim Brotherhood ก็ไม่ได้หมายเฉพาะ Muslim Brotherhood ... หมายถึง หะเราะกะฮฺ อิสลามียะฮฺ ที่มีจำนวนมากอีกหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบใหม่ของโลกอิสลาม นี่คือตัวแรกที่อยากจะพูดถึงว่าเราอยู่ในโลกยุคโฉมใหม่จริง ๆ เป็นการต่อสู้แบบใหม่ เป็นการโฟกัสการต่อสู้แบบใหม่

แล้วก็ผู้ปกครองโลกอิสลามกำลังได้รับผลกระทบจากการต่อสู้นี้ เริ่มต้นใหม่ ๆ พวกนี้(ผู้ปกครอง)ปราบ ปราบปรามค่อนข้างได้ผลด้วยการกดขี่ แต่อัลลอฮฺให้เห็นนะ ประเทศที่มีการกระทำอย่างนี้รุนแรงที่สุดในโลกอาหรับ คือ "ตูนีเซีย" ...

ตูนีเซียในสมัยหนึ่งก่อนเบนอาลี ห้ามถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยซ้ำ เป็นประเทศอาหรับมุสลิมที่มีความสมัยใหม่มากที่สุด ...มหาวิทยาลัยซัยตูนะฮฺเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่าอัซฮัรอีก แต่ว่าจัดระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีสระว่ายน้ำผู้หญิง-ผู้ชาย ว่ายน้ำด้วยกัน คือมันช็อคนะว่าพัฒนาไปถึงขั้นนั้น มัสญิดมีเวลาเปิด-ปิด ละหมาดเสร็จก็ปิดเลย แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดที่ตูนีเซีย ... เหมือนกับ"ตุรกี" เป็นประเทศที่ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่มากที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่ามาจากตุรกีมากที่สุดด้วยเหมือนกัน

นี่คือโลกมุสลิมที่เป็นโลกยุคใหม่เป็นโฉมใหม่จริง ๆ ... พวกนี้(ผู้ปกครอง)ได้กระทำกับโลกอิสลามอย่างรุนแรงและจุดที่ถูกกระทำรุนแรงอย่างที่สุดอย่างตูนีเซียและตุรกี กลับเป็นจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน

อบุลหะสัน อัล-นัดวียฺ บอกว่าตะวันตกเข้ามาทำลายคุณค่าของโลกอิสลามในจุดใหญ่ ๆ ของมัน สองสามจุดเอง ... ตุรกี-จุดที่ 1 เพราะว่าเป็นศูนย์กลางของคิลาฟะฮฺ ...อิยิปต์-จุดที่ 2 เพราะว่าเป็นศูนย์กลางของโลกอาหรับ...อินเดีย-จุดที่ 3

สามจุดนี้เป็นจุดหลักที่ตะวันตกเข้ามาทำลายคุณค่าของอิสลามแล้วก็ได้ผล แต่สามจุดนี้แหละเมื่อถูกกดมาก ๆ มันก็ระเบิด โลกอาหรับและคนอาหรับจริง ๆ แล้วเขามีเกียรติภูมิ เขาเป็นคนที่มีความทรนงแต่ดั้งแต่เดิม แต่ตะวันตกกระทำมากเกินไป เช่น ไปเฉือนซูดาน กระทบกระเทือนจิตใจคนอาหรับมาก ... เข้าไปยึดอิรักแล้วก็มอบอิรักให้กับพวกชีอะฮฺ กระทบกระเทือนโลกอาหรับซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนหนี่

อียิปต์เป็นการระเบิด ... ผมมองว่าเป็นการระเบิดเพราะมันทนไม่ไหวแล้ว แต่ตะวันตกไม่ได้โง่ เขาไม่ได้ยับยั้งในงานนี้ เขาถือว่าเขาหยุดไม่ได้ เรื่องในอียิปต์และตูนีเซีย ตะวันตกต้องการให้มันเป็นไป แต่จะเป็นไปแบบไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเขาหยุดไม่ได้ เราจะสังเกตว่าเขาไม่คัดค้านเรื่องพวกนี้ ... นี่เป็นข้องสังเกตุของผม


ทีนี้มีอีกคำหนึ่งที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของอียิปต์รอบนี้และมีการพูดถึง Muslim Brotherhood แล้วก็มีการเปรียบว่า ตอนสุดท้ายอียิปต์อาจจะเป็นเหมือน "อิหร่าน"

"อิหร่าน" เป็นอีกคำหนึ่งที่โผล่เข้ามาในการวิเคราะห์ของคนตะวันตก หรือว่าสื่อต่าง ๆ หรือว่านักวิชาการ ... "อียิปต์จะเป็นแบบอิหร่านหรือเปล่า ?" คนที่พูดว่าอียิปต์จะเป็นเหมือนแบบอิหร่านคือคนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ แต่ดูว่าอิควานเองกับรัฐบาลของอิหร่านก็เหมือนจะใกล้ชิดกัน แต่เมื่อที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าเบสิคของประวัติศาสตร์ ภูมิหลังของประวัติศาสตร์ เมื่อที่สุดแล้วถ้าฝ่ายสุนหนี่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐอิสลาม อิหร่านก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐอิสลามก่อนหน้านี้แล้ว จะเกิดการขัดแย้งกันรุนแรงมากระหว่างสองทฤษฎี

ทฤษฎีหนึ่งก็คือทฤษฎีอิมามะฮฺของอิหร่าน ซึ่งเชื่อในการเป็นอิหม่าม ของอิหร่านก็สิบสอง ... แล้วก็อีกทฤษฎีของสุนหนี่ คือทฤษฏ๊คิลาฟะฮฺ ซึ่งเชื่อในระบบของคิลาฟะฮฺ สองทฤษฎีนี้ดแย้งกันตั้งแต่สมัยแรก ๆ แล้ว


เราอย่าลืมว่าโลกมุสลิมที่เป็นโลกคลาสสิก ... คำว่า "โลกคลาสสิก" คือ โลกมุสลิมที่อยู่ในดินแดนสมัยเคาะลีฟะฮฺอัรฺ-รอชิดีน หรือสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ บิน ค็อฏฏอบ ขยายดินแดน ซึ่งเขาเรียกโลกมุสลิมคลาสสิก เมื่อประมาณ 1300 ปี ก่อน ดินแดนมันไม่ได้เท่าทุกวันนี้ มันจะอยู่แค่อียิปต์ไปจนถึงอิหร่าน แล้วก็ชาม มีอยู่แค่นี้ ซึ่งโลกมุสลิมคลาสสิกเนี่ย เป็นโลกมุสลิมที่มีผลกระทบสูงที่สุดต่อโลกมุสลิมส่วนอื่น - อียิปต์ ชาม อิรัก สามส่วน รวมทั้งคาบสมุทรอาหรับด้วยแต่ยังไม่เท่า(ยังไม่สำคัญเท่าสามดินแดนนั้น)

มีไคโร ดามัสกัส แบกแดด (เมืองหลวงของ) สามส่วน, โลกมุสลิมคลาสสิกตรงนี้ ถ้ามันเปลี่ยน อะไรมันก็จะเปลี่ยน ...

ในสมัยยุค หลังสลัฟ เป็นประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ ... อียิปต์หลังปี ค.ศ.900 หลังยุคสลัฟไม่นาน ก่อนสงครามครูเสด อียิปต์ถูกยึดครองโดยชีอะฮฺ และไคโรเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮฺของชีอะฮฺ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ถูกก่อตั้งโดยชีอะฮฺ แล้วก็สถาปนาทฤษฎีอิมามะฮฺขึ้นมาที่นั่น ไคโรเคยเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของชีอะฮฺมาก่อน จนถึงทุกวันนี้ชีอะฮฺที่สามารถสถาปนาขึ้นเป็นรัฐได้เนี่ยไม่มี แม้แต่ของอิหร่านในปัจจุบัน ไม่มีใครเทียบของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮฺที่สถาปนาขึ้นที่ไคโรได้ อียิปต์เมื่อก่อนเป็นชีอะฮฺ

ศูนย์กลางของสุนหนี่นั้น ไม่ได้อยู่ที่อียิปต์ อยู่ที่อิรัก สมัยเดียวกันเนี่ย ที่อิรักถูกครอบครองโดยราชวงศ์สัลญู้ก เป็นพวกเติร์ก แล้วก็เป็นสุนหนี่ เป็นสุนหนี่จัดด้วย ความขัดแย้งช่วงนั้นในช่วงก่อนสงครามครูเสดเป็นความขัดแย้งของโลกอิสลามคลาสสิก ระหว่างอียิปต์ซึ่งเป็นชีอะฮฺ กับอิรักซึ่งเป็นสุนหนี่ ...

แต่ทุกวันนี้กลับด้านกัน... อียิปต์หลังจากที่เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ ไปยึด เปลี่ยนเป็นสุนหนี่ ...หลังจากนั้นอีกสองสามร้อยปีต่อมา อิรัก(บางส่วน)และอิหร่านถูกราชวงศ์เศาะฟาวียะฮฺเข้าไปยึดแล้วก็เปลี่ยนเป็นชีอะฮฺ

โลกอิสลามทุกวันนี้กลับด้านกัน ... ด้านตะวันตก อียิปต์กลายเป็นดินแดนสุนหนี่ที่ใหญ่โต แทบจะไม่มีชีอะฮฺอยู่ วันก่อนมีชีอะฮฺปรากฏจำนวนออกมาสามสี่ร้อยคน ยูสุฟ เกาะเราะฎอวียฺ โมโหมากเพราะอียิปต์เรียกว่าเขตปลอดชีอะฮฺ ...อิหร่านแล้วก็รวมถึงอิรัก(บางส่วน)ปัจจุบันเป็นเขตยึดครองของชีอะฮฺ ... กลับด้านกัน

แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ เยรูซาเล็มถูกยึดครอง ซึ่งมันก็คล้าย ๆ กับตอนที่ฟาฏิมียะฮฺขัดแย้งกับสัลญู้กนั้น ครูเสดเข้ามายึดครองเยรูซาเล็ม ... นี่คือบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่ถ้าเราได้ทบทวนบทเรียนนี้ เราจะสามารถพูดถึงอนาคตของอียิปต์ ซีเรีย และปาเลสไตน์ รวมถึงอิรักได้ไม่ยาก

สมัยนั้นที่เกิดความขัดแย้ง เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ เริ่มต้นฐานอำนาจที่ชาม ในซีเรีย แล้วเข้าไปยึดไคโร ใช้ไคโรเป็นฐานในการยึดปาเลสไตน์กลับมา ยึดเยรูซาเล็มกลับมา ไคโรเป็นศูนย์กลางในการยึดเยรูซาเล็มกลับมา ทั้ง ๆ ที่คนที่เข้ามายึดไคโรนั้นมาจากซีเรีย ก็ถือว่าเป็นสุลต่านของชาม ที่เข้ามายึดไคโรและใช้ไคโรเป็นศูนย์กลางต่อต้าน(ครูเสด) ถ้าเราดูแผนที่จะเห็นว่าไคโรไม่ไกลจากเยรูซาเล็ม ไคโรเป็นศูนย์กลางที่สำคัญมาก ถ้าไม่ยึดมาก่อน จะยึดปาเลสไตน์กลับมาไม่ได้ นี่เป็นตัวที่สำคัญที่สุด

แม้แต่ตอนหลังตอนที่อิรักถูกยึดครองประมาณสักไม่ถึงสองร้อยปี ไคโรเป็นฐานในการต่อต้านพวกมองโกลที่แบกแดด สงครามที่ใหญ่ที่สุดที่มุสลิมทำกับมอลโกลนั้นเกิดขึ้นในเขตปาเลสไตน์ ศูนย์กลางการต่อต้านพวกมองโกลนั้นอยู่ที่ไคโร ไคโรมีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์อิสลาม...

ไคโรถูกตั้งเป็นฐานในการต่อต้านครูเสด โดยเศาละลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ ชนะ ...ไคโรถูกตั้งเป็นฐาน ศูนย์กลางใหญ่ในการต่อต้านพวกมองโกล ซึ่งครอบครองทั่วโลก แล้วก็ชนะที่ปาเลสไตน์ด้วย ไคโรสำคัญมาก ... คนไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไคโร ไคโรสำคัญมาก ๆ ในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของโลกเก่าและยังมีผลกระทบต่อโลกอิสลามในส่วนอื่น ๆ ด้วย

รอชีด ริฎอ เป็นคนเลบานอน เคลื่อนไหวแนวคิดสลาฟียฺ ท่านได้ย้ายตัวเองมาอยู่ที่ไคโร หลังจากนั้นแนวคิดสลาฟียฺก็กระจายไปทั่วโลก ... หะสัน อัล-บันนา เคลื่อนไหวตั้งขบวนการอิควานอยู่ที่อิสมาฮีลียะฮฺ แล้วต่อมาก็ย้ายฐานเข้าไปในไคโร ทำให้ขบวนการอิควานแพร่หลายเข้าไปในโลกอาหรับ

ไคโรกลายเป็นศูนย์กลางการต่อต้านและการเผยแพร่อะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมด นี่คือความสำคัญของไคโรที่มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นไอ้ตัวนี้เป็นประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผมให้ข้อสังเกตพวกเราไว้ว่า เรามองอียิปต์ทุกวันนี้ เราอาจจะอธิบายถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมด ... แต่ถ้าเรามองกลับไปยังประวัติศาสตร์ เราจะมองไคโร การต่อสู้ของไคโรใหม่

ยูสุฟ เกาะเราะฎอวียฺ กลับไปเมื่อวาน(ศุกร์ที่ 18 กพ. 54) ไปคุฏบะฮฺวันศุกร์ ดุอาอ์ที่อ่านก็คือดุอาอ์ที่จะกลับไปที่ดุอาอ์อัล-กุดส์ ให้ได้รับชัยชนะในอัล-กุดส์ ตัดสินใจกลับไปนำละหมาด ก็มีคนละหมาดเป็นล้านคน ที่จตุรัสตะหฺรีรฺ นี่คือภาพที่สะท้อนออกมาทางมุมมองทางประวัติศาสตร์

มีคนบอกว่า ถ้าอย่างนั้นการยึดครองปาเลสไตน์กลับมาก็ไม่ยาก ?

ปาเลสไตน์ถูกยึดเป็นครั้งแรก ฐานการต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ในยคครูเสดนั้นเริ่มต้นขึ้นที่ซีเรีย เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺอยู่ซีเรีย นูรุดดีน ซันกียฺ เป็นหัวหน้า เป็นนายเก่า เป็นสุลต่านคนเก่า ซึ่งต่อต้านเริ่มต้นจากซีเรียเข้าไปในอียิปต์ กลับไปยึดเยรูซาเล็ม

เชื่อมั่นในประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่า "ถ้าอียิปต์กับซีเรียไม่ผนึกกำลังกัน ไม่มีวันที่จะยึดปาเลสไตน์กลับมาได้" เพราะว่าในประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ทำแบบนี้ทุกครั้ง

ซีเรีย ... สุลต่านของซีเรียต้องเข้าไปยึดอียิปต์แล้วก็ยึดปาเลสไตน์ได้ ในการต่อต้านมองโกล สุลต่านของอียิปต์ซึ่งครอบครองอำนาจไปยังชามด้วย คือราชวงศ์มัมลู้ก ใช้ฐานของชามและอียิปต์ในการต่อต้านมองโกล ... จุดนี้น่าสนใจมากระหว่างซีเรียและอียิปต์


มีหะดีษเศาะฮีหฺรายงานโดยอิหม่ามมุสลิม ซึ่งชัยคุลอิสลาม อิบนิตัยมียะฮฺ ยกขึ้นมาอ้างในสมัยการต่อต้านมองโกล

لايزال أهل الغرب ظاهرين على الحق حتى تقوم الساعة

"จะยังมีอย่างต่อเนื่อง ผู้คนที่อยู่ในดินแดนตะวันตก ที่ต่อสู้ชนะบนสัจธรรมจนถึงวันสิ้นโลก"

อะหฺลุล ฆ็อรฺบิ ผู้คนแห่งตะวันตก- คือใคร ? ... อิบนิตัยมียะฮฺ บอก ท่านนบีกล่าวคำนี้ คำว่า "อะหฺลุลฆ็อรบิ ผู้คนแห่งตะวันตก" ....ท่านนบีกล่าวคำนี้ว่า "ผู้คนแห่งตะวันตก จะชนะจนถึงวันสิ้นโลก" ท่านนบีกล่าวที่นครมะดีนะฮฺ ตะวันตกคือด้านที่อยู่ตะวันตกของนครนี้ ลองดูแผนที่ให้ดี ท่านนบีพูดที่มะดีนะฮฺ ดังนั้น ตะวันตกคือตะวันตกของมะดีนะฮฺ

ชาวมะดีนะฮฺเรียกชาวชามว่า "อะหฺลุล ฆ็อรฺบิ ผู้คนแห่งตะวันตก" อียิปต์และเมืองอื่นก็เข้าข่าย คำว่า "อะหฺลุล ฆ็อรบิ ผู้คนแห่งตะวันตก" ชามและอียิปต์ถูกท่านนบีเรียกว่า "อะหฺลุล ฆ็อรฺบิ" เขาจะสู้และเขาจะชนะ ...

และประวัติศาสตร์อิสลามก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหลังยุคสลัฟเป็นต้นมา อียิปต์และซีเรียเป็นศูนย์กลางการต่อต้านทุกเรื่อง และชนะทุกเรื่อง ... ครูเสด อียิปต์และซีเรียผนึกกำลังกัน เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ เขาเรียกว่าสุลต่านของชามและอียิปต์ ...มองโกลถูกต่อต้านโดยราชวงศ์มัมลู้กซึ่งมีฐานอยู่ในชามและอียิปต์

นักวิชาการอิสลามยุคหลังสลัฟ ส่วนใหญ่จะอยู่ในชามและอียิปต์ ในยุคสลัฟนักวิชาการส่วนใหญ่อยู่ในอิรัก อิหม่ามอะหฺมัด อิบนิฮัมบัล อิหม่ามชาฟิอียฺ เข้าไปเคลื่อนไหวในอิรักเพราะเป็นเมืองหลวงของอิสลาม แต่หลังยุคลสลัฟเป็นต้นมานักวิชาการอิสลามในเขตอื่นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในชามและอียิปต์

ชัยคุลอิสลาม อิบนิตัยมียะฮฺ อยู่ดามัสกัส ชาม หลังมองโกลทำลายแบกแดดไปแล้ว...นาวาวียฺ อยู่ชาม ... อัซซะฮาบียฺ อยู่ชาม ...อิบนิฮาญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ อยู่อียิปต์ ... อิหม่ามสะยูฏียฺ อยู่อียิปต์ ... และอีกหลาย ๆ คนอยู่ในดินแดน "อะหฺลุล ฆ็อรฺบิ" (ผู้คนแห่งตะวันตก) ทั้งนั้น

เราสังเกตตรงนี้ เพราะฉะนั้นโลกมุสลิมโฉมใหม่มันก็ไม่ได้โฉมใหม่อะไรมาก ถ้าเราศึกษาแล้ว หลังมุบาร็อกถูกขับไล่มันจะเกิดอะไรขึ้น ...

ผมคิดว่าไม่มีใครห้ามการก้าวต่อไป การเคลื่อนต่อไปของเส้นทางประวัติศาสตร์ได้

[ญะซากุมมุลลฮุ ค็อยร็อน Ummah Islam ... ที่ถอดเทป]
ฟังไฟล์เสียงที่ .... http://islam.in.th/muslimworld-aftermubarak
http://islam.in.th/muslimworld-aftermubarak...

 

GoogleTagged