بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
การจัดแถวละหมาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละหมาดสวยงามและสมบูรณ์ ดังนั้นการตั้งแถวในละหมาดที่สมบูรณ์ก็คือ ทำให้แถวตรง ไหล่และตาตุ่มทั้งสองข้างชิดกับผู้ร่วมละหมาด และอย่าให้เกิดช่องว่างระหว่างแถว
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายจากท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวความว่า
وَأَقِيمُوا الصَّفَّ فِي الصَّلَاةِ فَإِنَّ إِقَامَةَ الصَّفِّ مِنْ حُسْنِ الصَّلَاةِ
“พวกท่านจงทำให้แถวตรงในละหมาดเถิด เพราะแท้จริงการทำให้แถวตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากความสวยงามของละหมาด” รายงานโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ (722), ซอฮิห์อัลบุคอรีย์, หน้า 179.
ท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ اَقِيْمُوْا الصُّفُوْفَ وَحَاذٌوا بَيْنَ الْمَنَاكِبِ وَسُدُّوْا الْخِلَلَ وَلِيْنُوْا بِاَيْدِي اِخْوَانِكُمْ وَلاَ تَذَرُوْا فُرُجَاتِ لِلشَّيْطاَنِ وَمَنْ وَصَلَ صَفًّا وَصَلَهُ اللهُ وَمَنْ قَطَعَ صَفًّا قَطَعَهُ اللهُ عَزَّوَجَلَّ
“แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า พวกท่านจงทำให้แถวตรงและพวกท่านจงทำให้ไหล่ชิดเสมอกันและพวกท่านจงอย่าให้เกิดช่องว่าง(ระหว่างแถว) และหากคนชายคนหนึ่งเข้ามาในแถวพวกท่านก็จงหดไหล่เพื่อให้เขาเข้ามาในแถวได้และพวกท่านอย่าปล่อยให้มีช่องว่างสำหรับชัยฏอน และผู้ใดที่เชื่อมติดกับแถวหนึ่ง อัลเลาะฮ์ก็ทรงเชื่อมกับเขา(ด้วยการประทานความเมตตาและอภัยโทษให้แก่เขา)และผู้ใดตัดขาดจากแถว อัลเลาะฮ์ก็จะทรงตัดจากเขา” รายงานโดยท่านอัลบัยฮะกีย์ ฮะดีษลำดับที่ 5186,สุนันอัลบัยฮะกีย์, เล่ม 3 หน้า 382.
ท่านอะนัส บิน มาลิก ได้กล่าวรายงานว่า
عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ أَقِيمُوا صُفُوفَكُمْ فَإِنِّي أَرَاكُمْ مِنْ وَرَاءِ ظَهْرِي. وَكَانَ أَحَدُنَا يُلْزِقُ مَنْكِبَهُ بِمَنْكِبِ صَاحِبِهِ وَقَدَمَهُ بِقَدَمِهِ
“รายงานจากท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้กล่าวว่า พวกท่านจงทำให้แถวของพวกท่านตรง เพราะฉันเห็นพวกท่านจากข้างหลังของฉัน(และท่านอะนัสกล่าวต่อว่า) บุคคลหนึ่งจากพวกเรานั้นได้ทำให้ไหล่ของเขาติดกับไหล่เพื่อนของเขาและเท้า(ตาตุ่ม)ของเขาติดกับเท้า(ตาตุ่ม)เพื่อนของเขา” รายงานโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ (725), ซอฮิห์อัลบุคอรีย์, หน้า 180.
อิหม่ามและมะอฺมูมชายหนึ่งคน
ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า
بِتُّ فِي بَيْتِ خَالَتِي مَيْمُونَةَ فَصَلَّى رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْعِشَاءَ ثُمَّ جَاءَ فَصَلَّى أَرْبَعَ رَكَعَاتٍ ثُمَّ نَامَ ثُمَّ قَامَ فَجِئْتُ فَقُمْتُ عَنْ يَسَارِهِ فَجَعَلَنِي عَنْ يَمِينِهِ
“ตอนกลางคืนฉันนอนในบ้านน้าสาวของฉัน คือท่านนางมัยมูนะฮ์ แล้วท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำการละหมาดอีชาอฺ หลังจากนั้นท่านก็มาละหมาดอีก 4 ร็อกอะฮ์ หลังจากนั้นท่านก็นอน หลังจากนั้นท่านก็ตื่นขึ้นมาละหมาด แล้วฉันจึงไปยืน(ละหมาด)ข้างซ้ายของท่านนะบีย์ ดังนั้นท่านจึงทำให้ฉันมายืนข้างขวาของท่าน” รายงานโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ (38), ซอฮิห์อัลบุคอรีย์, หน้า 48.
ท่านอิหม่ามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ กล่าวว่า “สุนัตให้มะอฺมูมถอยหลังจากอิหม่ามเพียงเล็กน้อย โดยให้บรรดานิ้วเท้าเท่ากับซ้นเท้าของอิหม่าม เพราะมันคือมารยาท...สำหรับมะอฺมูมที่เป็นสตรี(เช่น ภรรยาละหมาดตามสามี)นั้น ก็ให้นางอยู่ข้างหลัง” ตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 1 หน้า 302.
อิหม่ามและมะอฺมูมหลังนั้นจากมีมะอฺมูมอีกคนหนึ่งเข้ามาละหมาด
การจัดแถวในละหมาดนั้น ระยะห่างระหว่างอิหม่ามกับมะอฺมูมหรือแถวหน้ากับแถวถัดไปนั้นไม่ควรให้เกิน 3 ศอก
เพราะท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า
كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَ سَلَّمَ يُصَلِّيْ وَبَيْنَهُ وَبَيْنَ القِبْلَةِ مِقْدَارُ ثَلاَثَةِ أَذْرُعٍ
“ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการละหมาด ซึ่งระยะห่างระหว่างท่านกับกิบละฮ์นั้น ขนาด 3 ศอก” รายงานโดยอิบนุฮิบบาน. ฮะดีษนี้ซอฮิห์, ศอฮิห์ อิบนุ ฮิบบาน, เล่ม 7 หน้า 481.
“ดังนั้นหากมีมะอฺมูมอีกคนหนึ่งเข้ามาละหมาด โดยมีมะอฺมูมคนแรกยืนละหมาดอยู่ข้างขวาของอิหม่ามอยู่แล้ว ก็ให้มะอฺมูมคนที่สองตักบีร่อตุลเอี๊ยะห์รอมโดยยืนข้างซ้ายของอิหม่าม หลังจากนั้นก็ให้อิหม่ามก้าวไปข้างหน้า แล้วมะอฺมูมทั้งสองคนถอยไปตั้งแถวข้างหลัง(ในระยะห่างไม่เกิน 3 ศอก)” หนังสือชัรห์ อัตตัมบีฮ์, อิหม่ามอัสสุยูฏีย์, เล่ม 1 หน้า 159 , หนังสืออัลมันฮะญุลก่อวีม, อิหม่ามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์, หน้า 267.
ท่านอัลลามะฮ์ อัชชัยค์ อับดุลหะมีด อัชชัรวานีย์ ได้กล่าวว่า
عَنْ فَتَاوَى ابْنِ حَجَرٍ مَا نَصُّهُ قَالَ الْقَاضِي وَغَيْرُهُ وَجَزَمَ بِهِ فِي الْمَجْمُوعِ السُّنَّةُ أَنْ لَا يَزِيدَ بَيْنَ الْإِمَامِ وَمَنْ خَلْفَهُ مِنْ الرِّجَالِ عَلَى ثَلَاثَةِ أَذْرُعٍ تَقْرِيبًا كَمَا بَيْنَ كُلِّ صَفَّيْنِ أَمَّا النِّسَاءُ فَيُسَنُّ لَهُنَّ التَّخَلُّفُ كَثِيرًا
“จากฟะตาวาของท่านอิบนุฮะญัร ระบุว่า ท่านอัลกอฎีย์ หุซัยน์ และท่านอื่น ๆ และท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ได้กล่าวมั่นใจ(ไม่มีการคิลาฟกัน)ว่า ซุนนะฮ์(สุนัต) อย่าให้ระยะระหว่างอิหม่ามกับมะอฺมูมผู้ชายที่อยู่ข้างหลังห่างเกิน 3 ศอกโดยประมาณ ซึ่งเสมือนกับระยะห่างระหว่างทุกๆ สองแถว สำหรับบรรดาสตรีนั้น สุนัตแก่พวกนางให้มีระยะห่างมากๆหน่อย” ฮาชียะฮ์ อัชชัรวานีย์ อะลา ตั๊วะห์ฟะติลมั๊วะห์ตาจญ์, เล่ม 2 หน้า 302
ท่านญาบิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า
قُمْتُ عَنْ يَسَارِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَخَذَ بِيَدِي فَأَدَارَنِي حَتَّى أَقَامَنِي عَنْ يَمِينِهِ ثُمَّ جَاءَ جَبَّارُ بْنُ صَخْرٍ فَتَوَضَّأَ ثُمَّ جَاءَ فَقَامَ عَنْ يَسَارِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَخَذَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِيَدَيْنَا جَمِيعًا فَدَفَعَنَا حَتَّى أَقَامَنَا خَلْفَهُ
“ฉันได้ยืนละหมาดข้างซ้ายของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้จับมือฉันแล้วเปลี่ยนฉันให้มายืนข้างขวาของท่าน หลังจากนั้นท่านญับบาร บิน ศ็อคร์ ได้มา แล้วอาบน้ำละหมาด หลังจากนั้นเขาก็มายืนละหมาดข้างซ้ายของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงจับสองมือของพวกเราทั้งหมด แล้วดันพวกเรา(ไปข้างหลัง)จนกระทั่งพวกเรายืนข้างหลังท่าน” รายงานโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ (3010),ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 4 หน้า 53.
ท่านอะบู อิสหาก อัชชีรอซีย์กล่าวว่า “ดังนั้นถ้าหากมะอฺมูชายสองคนได้มาละหมาดหรือมะอฺมูมชายและเด็กผู้ชายเข้ามาละหมาด ก็ให้ทั้งสองตั้งแถวยืนหลังอิหม่าม. หนังสือชัรห์ อัตตัมบีฮ์, อิหม่ามอัสสุยูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 159
อิหม่ามและมะอฺมูมชายหนึ่งและมะอฺมูมหญิง
ท่านอิหม่ามอะบูอิสฮาก อัชชีรอซีย์กล่าวว่า “อัซซุนนะฮ์ ให้ผู้ชายคนเดียวยืนข้างขวาของอิหม่าม ส่วนกระเทยยืนข้างหลังของอิหม่ามและมะอฺมูม(ที่ยืนอยู่ข้างขวาอิหม่าม)และผู้หญิงก็ยืนข้างหลังกระเทย. หนังสือชัรห์ อัตตัมบีฮ์, อิหม่ามอัสสุยูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 159.
ดังนั้นถ้าหาก อิหม่ามและมะอฺมูมชายหนึ่งคนยืนข้างขวาของอิหม่ามที่กำลังละหมาดกันอยู่แล้ว หลังจากมีสตรีของคนหนึ่งต้องการเข้ามาร่วมละหมาดญะมาอะฮ์ด้วย ก็ให้สตรีผู้นั้นยืนข้างหลังอิหม่ามให้ห่างมากหน่อย ส่วนมะอฺมูมชาย ก็ให้ยืนข้างขวาอิหม่ามเหมือนเดิม
ท่านอะนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَلَّى بِهِ وَبِأُمِّهِ أَوْ خَالَتِهِ قَالَ فَأَقَامَنِي عَنْ يَمِينِهِ وَأَقَامَ الْمَرْأَةَ خَلْفَنَا
“แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดพร้อมกับเขา(คือท่านอะนัส)และมารดาหรือน้าสาวของเขา, ท่านอะนัสเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้ฉันยืนข้างขวาของท่านและให้ผู้หญิงยืนข้างหลังเรา” รายงานโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ (660), ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 1 หน้า 457.
ท่านอะนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า
قَامَ عَلَيْهِ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَصَفَفْتُ أَنَا وَالْيَتِيمُ وَرَاءَهُ وَالْعَجُوزُ مِنْ وَرَائِناَ
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยืนละหมาดบนเสื่อ(ที่ทักมาจากใบอินทผาลัม) โดยฉันและเด็กกำพร้า(คนหนึ่งชื่ออิบนุฎุมัยเราะฮ์)ยืนจัดแถวของข้างหลังท่าน และหญิงชรา(ยายของท่านอะนัส)ของข้างหลังพวกเรา” รายงานโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ (658), ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 1 หน้า 457.
อิหม่ามและบรรดาผู้ละหมาดทั้งผู้ชาย, เด็ก, และผู้หญิง
ท่านอะบี มัสอูด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَمْسَحُ مَنَاكِبَنَا فِي الصَّلَاةِ وَيَقُولُ اسْتَوُوا وَلَا تَخْتَلِفُوا فَتَخْتَلِفَ قُلُوبُكُمْ لِيَلِنِي مِنْكُمْ أُولُو الْأَحْلَامِ وَالنُّهَى ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สัมผัสใหล่ของพวกเรา(เพื่อจัดแถวในละหมาด) และกล่าวว่า พวกท่านจงยืนให้แถวตรง และพวกท่านอย่าขัดแย้งกัน(ด้วยกับร่างกายของพวกท่าน ซึ่งเป็นเหตุทำให้หัวใจของพวกท่านขัดแย้งกัน(ด้วยการโกรธเคืองและเป็นศัตรูต่อกัน) ดังนั้นจงทำให้ผู้ที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะอยู่แถวถัดจากฉัน หลังจากนั้นบรรดาผู้ที่ถัดจากเขา(คือเด็กผู้ชาย) หลังจากนั้นบรดาผู้ที่ถัดจากพวกเขา(คือผู้หญิง)” รายงานโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ (432), ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 1 หน้า 323.
ท่านอบูอิสหาก อัชชีรอซีย์กล่าวว่า “ถ้าหากมีผู้ชายหลายคน มีเด็กๆ มีกระเทย และมีผู้หญิงหลายคน ก็ให้บรรดาผู้ชายยืนแถวหน้า ถัดจากนั้นเป็นแถวของเด็ก ถัดจากนั้นแถวของกระเทย และถัดจากนั้นแถวของผู้หญิง” หนังสือชัรห์ อัตตัมบีฮ์, อิหม่ามอัสสุยูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 160.
แต่ถ้าหากแถวผู้ใหญ่ยังไม่เต็ม ก็ให้เด็กผู้ชายเข้ามาเสริมให้เต็มแถว เนื่องจากเด็กก็เป็นเพศชายเหมือนกัน และถ้าหากว่าเด็กเข้ามาละหมาดก่อนผู้ใหญ่ แน่นอนเด็กย่อมมีสิทธิ์ในแถวนั้นมากกว่า. ดู หนังสืออัลมันฮะญุลก่อวีม, อิหม่ามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์, หน้า 268, และหนังสือบุชรอ อัลกะรีม, อัชชัยค์ สะอีด มุฮัมมัด บาอิชัน. ยุซ 1 หน้า 125.
การเป็นอิหม่ามของสตรี
ท่านนางรออิเฏาะฮ์ อัลหะนะฟียะฮ์ ได้กล่าวรายงานว่า
أَنَّ عَائِشَةَ أَمَّتْ نِسْوَةً فِي الْمَكْتُوْبَةِ فَأَمَّتْهُنَّ بَيْنَهُنَّ وَسَطاً
“แท้จริงท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้เป็นอิหม่ามนำบรรดาสตรีในละหมาดฟัรดู ดังนั้นท่านนางเป็นอิหม่ามโดย(ยืน)อยู่ตรงกลางพวกนาง” รายงานโดยอัลบัยฮะกีย์ ฮะดีษลำดับที่ (5355), สุนันอัลบัยฮะกีย์, เล่ม 3 หน้า 441.
กรณีที่มีสตรีกลุ่มหนึ่งต้องการละหมาดญะมาอะฮ์ ก็ให้สตรีคนหนึ่งเป็นอิหม่ามโดยยืนกลางแถวละหมาด กล่าวคือให้อิหม่ามผู้หญิงยืนกลางแถวโดยให้เท้าของอิหม่ามกับบรรดามะอฺมูมผู้หญิงเท่ากัน(ห้ามล้ำหน้าอิหม่าม)หรือให้เท้าของอิหม่ามที่เป็นผู้หญิงล้ำหน้าเล็กมะอฺมูมเล็กน้อย เพราะดังกล่าวเป็นการมิดชิดยิ่งกว่า. หนังสือบุชรอ อัลกะรีม, อัชชัยค์ สะอีด มุฮัมมัด บาอิชัน. ยุซ 1 หน้า 125.
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ