มีอาจารย์ที่ชื่นชอบอยู่ 2 ท่านครับ 1 คือโต๊ะครูย๊ะโกบ สุมาลี ปอเนาะทุ่งจีน นครศรี
ชีวประวัติท่านอัลมัรฮูม ฮัจยียะโกบ สุมาลี ท่านเป็นอูลามะอฺ (นักปราชญ์) คนหนึ่งของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในรัฐกลันตัน แต่ได้รับการศึกษาและมีครอบครัวในกลันตัน ท่านเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอูลามะอฺที่ได้สละเวลา ความรู้ เพื่อการอบรมสั่งสอนสังคมมุสลิม จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากมุสลิมทั้งในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย
อาจารย์ฮัจยียะโกบ สุมาลี มีชื่อเต็มว่า ยะโกบ บิน อิสมาแอล บินอับดุร เราะห์มาน เป็นอูลามะอฺที่เชี่ยวชาญในการสอน และมีความสามารถสูงในหลายสาขาวิชาความโดดเด่นของท่านเป็นที่ยอมรับของมุสลิมในสมัยนั้น ท่านเป็นคนหนึ่งที่ได้ทำการสอนในมัสยิดกลางเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และมัสยิดฮารอมนครมักกะฮ์ ซาอุดิอาระเบีย ผลจากการสอนของท่านทำให้ท่านมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากที่ได้เจริญตามแนวทางของท่านเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านต่อไป
กำเนิดท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบ สุมาลี ได้ถือกำเนิดในวันศุกร์ เดือนมีนาคม พ.ศ.2435 เวลา 12.00 น.ที่บ้านใหม่ สี่แยกตลาดแขก ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มารดาของท่านมีนามว่า อาซียะห์
การศึกษาในขณะที่ท่านมีอายุได้ 7 ปี ท่านได้เริ่มเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน และเรียนจบในขณะที่ท่านมีอายุได้เพียง 10 ปี ปู่ของท่านได้มองเห็นถึงความฉลาด จึงได้ส่งหลานรักไปเรียนต่อในเมืองอัลฟัลฎอนี (จังหวัดปัตตานี) ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รู้จักและยอมรับของมุสลิมว่าเป็นศูนย์กลางแหล่งความรู้ของมุสลิมในแหลมมลายู สถานที่แรกที่ท่านไปศึกษาคือ ปอเนาะฮัจยีอิบรอฮิม บือแนกูแว ซึ่งเป็นปอเนาะที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมเป็นอย่างสูงแห่งหนึ่งในสมัยนั้น
การศึกษาหาความรู้ศาสนา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น ด้วยเหตุนี้เองท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบจึงหมั่นเพียรและมานะอดทน ไม่ว่าจะต้องตรากตรำและ ต้องท่องจำตำราในหลายสาขาวิชา และปัญหาสำคัญคือ ปัญหาด้านภาษา ซึ่งท่านมีพื้นภาษามลายูน้อย ในขณะที่อาจารย์ใช้ภาษามลายูในการบรรยาย ท่านได้ศึกษาที่ปอเนาะแห่งนี้เป็นเวลานานถึง 14 ปี ด้วยความสามารถทั้งในด้านการเรียนและการเป็นผู้นำของท่านในระหว่างการศึกษาที่นี่ อาจารย์ของท่านจึงได้แต่งตั้งท่านให้เป็นหัวหน้ามูตอลาอะห์ ทำหน้าที่สอนให้กับศิษย์รุ่นน้อง และท่านก็ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี เป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์อิบรอฮีม อาจารย์จึงเสนอให้ท่านไปศึกษาต่อ ณ ปอเนาะโต๊ะครูกนาลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย อูลามะอฺผู้มีชื่อเสียงสูงสุดในคาบสมุทรมลายูในสมัยนั้น
ในปีพ.ศ.2456 ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 21 ปี ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษากับโต๊ะครูกนาลี เพียงในเวลาไม่กี่ปี โต๊ะครูกนาลีได้ให้ความใว้วางใจให้เเป็นตัวแทนท่านในการตอบปัญหาศาสนาอยู่เสมอ จากการบอกเล่าของบรรดาศิษย์ของโต๊ะครูกนาลีได้เล่าว่า ปัญหาศาสนาที่มีผู้มาสอบถามโต๊ะครูกนาลีนั้น โต๊ะครูกนาลีมักมอบหมายให้ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบเป็นผู้ตอบแทนท่านเป็นส่วนใหญ่
การสอนหลังจากการศึกษาที่ปอเนาะโต๊ะครูกนาลี 5 ปี ท่านจึงได้รับความไว้วางใจอีกครั้งจากโต๊ะครูกนาลีให้ได้ไปสอน ณ มัสยิดกลาง (มัสยิดมูฮัมมาดีย์) เมืองโกตาบารู มัสยิดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของบรรดานักปราชญ์แทบทั่วสารทิศ ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบได้เริ่มสอนในมัสยิดแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2462 เป็นอาจารย์ประจำพร้อมกับอาจารย์ของท่าน (โต๊ะครูกนาลี) และนักปราชญ์อีกหลายคน ชีวิตของท่านในเมืองโกตาบารูหมดไปกับการสอนหนังสือ เริ่มเช้าตรู่ของทุกวันจรดเที่ยง หลังซุอริท่านกลับบ้านพักผ่อน แล้วกลับมาสอนอีกครั้งหลังอัสริ สอนจนถึงเย็น ช่วงค่ำก็สอนหนังสือมิได้เว้น ในระหว่างสอนท่านมักจะสอดแทรกคติสอนใจและมีการเล่าเรื่องคลายเครียดสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานบ้างในบางครั้ง จึงทำให้บรรดาศิษย์ไม่เบื่อหน่ายในการเรียน และชอบที่จะเรียนกับท่าน
บุคลิกภาพท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบ มีบุคลิกลักษณะถ่อมตน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ชอบโพกผ้าสารบั่น เมื่ออยู่บ้านมักจะสวมเสื้อคอกลม เมื่อออกจากบ้านจะมีเสื้อนอกคอตั้งสวมทับ มีเข็มขัดเส้นใหญ่สีเขียวคาดทับผ้าโสร่ง เดินถือไม้เท้าทักทายผู้คน ท่านชอบการคบหาสมาคมกับคนรอบด้าน เป็นคนรักการอ่านหนังสือและสอนหนังสือ ชอบการถกเถียงปัญหาด้านศาสนา ชีวิตประจำวันของท่านส่วนใหญ่ถ้าไม่สอนหนังสือ ท่านก็มักจะอยู่กับตำรา
ตามคำบอกเล่าจากฮัจยีฮุสเซน สุมาลี เมื่อใดที่ท่านมีเวลาว่าง เมื่อไม่ได้สอน และไม่ได้อยู่กับตำรา ท่านก็มักจะไปตกปลากับบรรดาศิษย์ เมื่อได้ปลามา ท่านจะเป็นคนปรุงอาหารให้บรรดาศิษย์ได้ทานกันอย่างทั่วถึง หลังจากนั้นก็จะสอนและถกเถียง ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาศาสนากัน ท่านเป็นคนร่าเริง จึงเป็นที่รักยิ่งของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย
ภารกิจท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบ สุมาลี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาอูลามะอฺของรัฐกลันตัน ด้วยรัฐบาลกลันตันได้เล็งเห็นถึงความรู้และบทบาทที่ท่านได้สละให้กับมุสลิมกลันตันมาโดยตลอด ท่านได้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ จนกระทั่งมีศิษย์เป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นอูลามะอฺในสังคมที่รับผิดชอบภารกิจงานศาสนา ท่านฮัจยียะโกบ สุมาลี ได้ใช้ชีวิตกับการเผยแพร่อิสลามจนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว ในบรรดาศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงในขณะที่สอนที่โกตาบารู ได้แก่ เช็ค อิดรีส มัรบาวี ผู้แต่งกอมูส (พจนานุกรม) มัรบาวี, ฮัจยี ฮะซัน ยูนุส (ผู้พิพากษารัฐยะโฮ), ฮัจยี อุสมาน ดาวูด (ผู้พิพากษารัฐปาหัง) เป็นต้น
หลังจาก 17 ปีผ่านไปกับการทำหน้าที่สอนศาสนาในมัสยิดกลาง โกตาบารู ในปีพ.ศ. 2479 ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบพร้อมกับลูกชายคนแรกของท่านคือฮัจยีฮุสเซน สุมาลี ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ขณะที่อยู่ในนครมักกะฮ์ ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบได้ถูกเรียกร้องให้ทำการสอนหนังสือในมัสยิดฮารอม ท่านจึงสอนอยู่ที่มัสยิดฮารอม นครมักกะฮ์เป็นเวลา 3 ปี ปีพ.ศ.2482 ท่านเดินทางกลับเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และท่านเห็นว่ามาตุภูมิของท่านที่นครศรีธรรมราชยังไม่มีสถานที่สอนศาสนาเหมือนกับที่ปัตตานีและโกตาบารูรัฐกลันตัน ท่านจึงตั้งใจเดินทางกลับมาตุภูมิ เพื่อรับผิดชอบภารกิจในฐานะที่เป็นผู้รู้ที่ต้องรับผิดชอบสังคมมุสลิมตลอดไป
ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้เริ่มสอนที่บ้านตาลเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นต้องย้ายสถานที่สอนหลายครั้งตามคำเชิญของชาวบ้าน จากบ้านตาลย้ายไปสอนที่บ้านนาเคียน เป็นเวลา 5 ปี ย้ายไปบ้านวัดโหนด 1 ปี แล้วมาสร้างปอเนาะถาวรที่บ้านทุ่งจีน ในการสอนประจำที่ปอเนาะบ้านทุ่งจีนนั้น ท่านยังคงต้องเดินทางไปสอนตามหมู่บ้านต่างๆอยู่เสมอ นอกจากการสอนแล้ว ท่านยังรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย
สำหรับการสอนที่ปอเนาะนั้น ท่านได้มอบให้ลูกชายของท่าน คือ ฮัจยีฮุสเซน สุมาลี รับผิดชอบในการสอนแทนท่าน
ครอบครัวในระหว่างที่ท่านทำการสอนที่มัสยิดกลางโกตาบารูนั้น ท่านได้แต่งงานครั้งแเรกกับฮัจยะฟาตีมะฮ์ บินตี ฮัจยีดาวุด บุตรีของฮัจยีดาวุด ซึ่งเป็นสมาชิกสภาอูลามะอฺของรัฐกลันตันและสอนที่มัสยิดดังกล่าวด้วย ท่านมีบุตรกับฮัจยะฮ์ ฟาตีมะฮ์ 7 คน (ชาย 5 คน หญิง 2 คน) และแต่งงานครั้งที่ 2 ที่นครมักกะฮ์กับฮัจยะฮ์ไซหนับ บินตี ฮัจยีหมัดดียะฮ์ มีบุตรชาย 1 คน (ต่อมาได้หย่ากัน) และแต่งงานครั้งที่ 3 กับฮัจยะฮ์ซารีป๊ะฮ์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบุตร 10 คน (ชาย 9 คน หญิง 1 คน)
กลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์อัลเลาะห์ตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้ใช้ชีวิตเพื่อการศึกษา เพื่อสังคมมุสลิมโดยการอบรมสั่งสอนจนลมหายใจสุดท้าย ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบ สุมาลี ได้ถึงแก่กรรมในเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2514 ด้วยโรคความดันโลหิตสูง รวมอายุของท่าน79 ปี
ท่านอาจารย์ฮัจยียะโกบไม่ได้แต่งหนังสือไว้มากนัก เพราะท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการสอนหนังสือมากกว่าการเขียนหนังสือ เท่าที่มีก็เพียงบทความสั้นๆ ที่ไม่ได้พิมพ์ ส่วนหนังสือของท่านที่ได้พิมพ์เป็นหนังสือ มีนามว่า "นูร อัล ซาลาม" แต่งเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2478 พิมพ์ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย หนังสือของท่านที่แต่งขึ้นนี้มีเรื่องเกี่ยวกับรุก่นอีหม่าน ซีฟัตวายิบ สำหรับอัลเลาะห์และรอซูล และยังมีเกี่ยวกับการชักจูงให้มนุษย์ได้ประกอบแต่ความดี ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งอิสลาม เพื่อจะได้เป็นบ่าวที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์
โรงเรียนมุสลิมสันติธรรมปอเนาะโต๊ะครูแก่