« เมื่อ: มิ.ย. 30, 2011, 09:33 PM »
0
คำอธิบายประกอบสูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ (المائدة - สำรับอาหาร)เป็นสูเราะฮฺมะดะนียะฮฺ มี 120 อายะฮฺตามการนับของชาวกูฟะฮฺ และ 122 อายะฮฺ ตามการนับของชาวฮิญาซ และ 123 อายะฮฺ ตามการนับของชาวบัศเราะฮฺ (ในการนำเสนอนี้ ใช้การนับแบบ 120 อายะฮฺ ตัวเลขกำกับอายะฮฺจึงอาจไม่ตรงกันกับบางต้นฉบับโดยเฉพาะ R2 และ R5 ซึ่งนับแบบ 123 อายะฮฺ)บทนำ (R3.) ชื่อ: ซูเราะฮฺนี้ได้ชื่อมาจากอายะฮฺที่ 112 ที่มีคำว่า “มาอิดะฮฺ” ปรากฏอยู่ เช่นเดียวกับชื่อของซูเราะฮฺอื่น ๆ อีกหลายซูเราะฮฺ ชื่อนี้ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษอันใดเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของซูเราะฮฺ แต่ชื่อนี้ถูกใช้เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นความแตกต่างจากซูเราะฮฺอื่นเท่านั้น
ระยะเวลาของการประทานวะฮีย์: จากโครงเรื่องของซูเราะฮฺและจากการสนับสนุนของบรรดาหะดีษชี้ให้เห็นว่าซูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาหลังจากการทำสัญญาหุดัยบียะฮฺในตอนท้ายปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 6 หรือตอนต้นปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 7 นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมซูเราะฮฺนี้ถึงได้พูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสัญญาฉบับนี้
ในเดือนซุล-เกาะดะฮฺ ของปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 6 ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)พร้อมบรรดามุสลิมประมาณ 1,400 คนได้เดินทางไปยังมักกะห์เพื่อทำอุมเราะฮฺ แต่พวกกุเรชที่เป็นศัตรูต่อท่านไม่ยอมให้ท่านนบีฯ เข้าไปทำ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการขัดต่อประเพณีทางศาสนาทั้งหมดของอารเบียก็ตาม หลังจากที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างดุเดือด ทั้งสองฝ่ายก็ได้ตกลงทำสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่งที่หุดัยบียะฮฺ ซึ่งตามสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะให้ท่านนบีฯมาทำอุมเราะฮฺในปีถัดไป ถึงแม้มุสลิมหลายคนจะไม่พอใจต่อสัญญาฉบับนี้ แต่ข้อตกลงของสัญญาฉบับนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับการสอนมุสลิมให้ไปทำอุมเราะฮฺที่นครมักกะห์อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ท่านนบีฯได้สั่งกำชับมิให้มุสลิมบรรดาผู้ปฏิเสธเข้ามาทำพิธีทางศาสนาที่มักกะห์ เป็นการโต้ตอบพฤติกรรมอันเลวทรามของคนพวกนี้ ซึ่งมิใช่เรื่องยากเลย เพราะในการเดินทางไปมักกะห์นั้น บรรดาผู้ปฏิเสธจะต้องเดินทางผ่านดินแดนของมุสลิม นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมอายะฮฺเริ่มต้นจึงได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะห์ และได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในอายะฮฺที่ 101 – 104 ส่วนเรื่องอื่น ๆ ของซูเราะฮฺนี้ ก็ปรากฏว่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
เรื่องราวที่ดำเนินต่อเนื่องกัน แสดงให้เห็นว่าซูเราะฮฺนี้เกือบทั้งหมดอาจจะถูกประทานลงมาเพื่อเล่าเหตุการณ์เรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ยังอาจเป็นไปได้ว่า บางอายะฮฺของซูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาในช่วงหลังจากนั้น และถูกใส่เข้าไปในซูเราะฮฺนี้ตรงที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม แต่ก็ปรากฏว่าในซูเราะฮฺนี้ไม่มีช่องว่างตรงไหนที่แสดงให้เห็นว่าซูเราะฮฺนี้ประกอบด้วยเหตุการณ์ 2 เรื่องหรือมากไปกว่านั้น
โอกาสในการประทานวะฮีย์ : ซูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปขากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการประทานวะฮีย์ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอนและอัน-นิซาอฺ ซึ่งในช่วงเวลานั้นการพ่ายแพ้ของมุสลิมในสงครามอุฮุดทำให้รอบเมืองมะดีนะฮฺเป็นอันตรายสำหรับมุสลิม แต่ในขณะนี้อิสลามได้กลายเป็นอำนาจที่มีความเข้มแข็ง และรัฐอิสลามก็ได้ขยายไปถึงแคว้นนัจญ์ทางด้านตะวันออก ไปถึงทะเลแดงทางด้านตะวันตก ไปถึงซีเรียทางด้านตอนเหนือและถึงมักกะห์ทางตอนใต้ ถึงแม้มุสลิมะได้รับความพ่ายแพ้อย่างหนักในสงครามอุฮุด แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นก็มิได้ทำลายเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของมุสลิมให้หมดไป ในทางตรงข้าม มันกลับทำให้มุสลิมเตรียมตัวพร้อมมากยิ่งขึ้น จากการต่อสู้และเสียสละอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่นานนักอำนาจของเผ่าต่าง ๆ ภายในรัศมี 200 ไมล์ต้องถูกทำลายลง ภยันตรายของพวกยิวที่มักจะข่มขู่คุกคามนครมะดีนะฮฺก็ถูกทำลายลงหมดสิ้นและพวกยิวในส่วนต่าง ๆ ของแคว้นฮีญาซก็ยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของรัฐแห่งมะดีนะฮฺ ความพยายามครั้งสุดท้ายของพวกกุเรชที่จะทำลายอิสลามก็ประสบกับความล้มเหลวในสงครามสนามเพลาะ หลังจากนั้นเป็นต้นมาพวกอาหรับจึงได้ประจักษ์ว่า ขณะนี้ไม่มีอำนาจใดที่จะมาทำลายขบวนการอิสลามลงได้แล้ว เดี๋ยวนี้อิสลามมิได้เป็นเพียงลัทธิความเชื่อที่ควบคุมความคิดและจิตใจของประชาชนเท่านั้น แต่มันยังได้เป็นรัฐที่ควบคุมชีวิตในด้านต่าง ๆ ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของมันด้วย ดังนั้น รัฐอิสลาม จึงทำให้มุสลิมสามารถใช้ชีวิตตามความเชื่อของพวกตนได้โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง
นอกจากนี้แล้วยังมีวิวัฒนาการอันหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลานี้ด้วย กล่าวคือ อารยธรรมของมุสลิมได้วิวัฒนาการไปตามหลักการและทัศนะของอิสลาม อารยธรรมนี้ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากอารยธรรมอื่น ๆ ทั้งหมดในเรื่องของรายละเอียด และได้แยกมุสลิมออกจากผู้ที่มิใช่มุสลิมอย่างชัดเจนในเรื่องของศีลธรรม พฤติกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม มัสญิดมากมายหลายแห่งได้ถูกสร้างขึ้นในทุกท้องที่และมีการนมาซกันประจำทุกเวลาโดยแต่ละท้องที่หรือแต่ละเผ่าจะมีอิมามของตนเอง กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาของอิสลามได้ถูกกำหนดรายละเอียดและถูกนำไปใช้โดยศาลอิสลาม การทำธุรกิจการค้าแบบใหม่ได้ถูกนำมาแทนแบบเก่า กฎหมายการแต่งงานและการหย่า การแยกเพศหญิงออกจากเพศชาย การลงโทษการผิดประเวณีและการใส่ร้ายและบทบัญญัติอื่น ๆ ของอิสลามได้ทำให้ชีวิตทางสังคมของมุสลิมถูกหล่อหลอมใหม่ในเบ้าหลอมพิเศษอันหนึ่งซึ่งทำให้พฤติกรรมทางสังคม การสนทนา การแต่งกาย การดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมของมุสลิมมีรูปแบบที่แน่นอนเป็นของตนเอง จากผลของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้บรรดาผู้ที่มิใช่มุสลิมไม่คาดคิดว่ามุสลิมจะกลับไปใช้ชีวิตแบบงมงายเหมือนเก่าอีก
ก่อนทำสัญญาหุดัยบียะฮฺ มุสลิมมัวแต่ยุ่งอยู่กับการต่อสู้กับชาวกุเรชที่มิใช่มุสลิมจนไม่มีเวลาที่จะเผยแผ่หลักการอิสลามของตนเอง แต่อุปสรรคอันนี้ได้ถูกขจัดออกไปโดยสัญญาหุดัยบียะฮฺ ที่มองเผิน ๆ แล้วจะคิดว่าเป็นการพ่ายแพ้ แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือชัยชนะ เพราะสัญญานี้ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดสันติภาพในดินแดนของมุสลิมเองเท่านั้น แต่ยังได้ให้โอกาสในการเผยแผ่อิสลามไปยังดินแดนที่อยู่รอบข้างด้วย เพราะในช่วงเวลานี้เองที่ท่านนบีฯ ได้ส่งสารเชิญชวนสู่อิสลามไปยังผู้ปกครองของอิหร่าน อียิปต์ อาณาจักรโรมันและหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ของชาวอาหรับ ในเวลาเดียวกัน คณะผู้แทนของอิสลามก็ออกเดินทางไปยังตระกูลและเผ่าต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนผู้คนเหล่านั้นให้หันมายอมรับแนวทางของอัลลอฮฺ
นี่คือสภาพเมื่อตอนที่ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ ได้ถูกประทานลงมา
หัวข้อเรื่อง : ซูเราะฮฺนี้พูดถึงเรื่องสำคัญ ๆ 3 หัวข้อดังนี้
(1) คำบัญชาและคำสั่งเกี่ยวกับชีวิตทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมืองของมุสลิม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ บทบัญญัติเกี่ยวกับการเดินทางไปทำหัจญ์ได้ถูกกำหนดขึ้น เช่นการให้การเคารพอย่างเคร่งครัดต่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ การห้าม ขัดขวาง หรือแทรกแซงผู้ที่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่กะอฺบะฮฺ นอกจากนี้แล้วก็ยังได้มีการวางกฎระเบียบที่ว่าด้วยเรื่องอาหารที่อนุมัติและอาหารที่ต้องห้าม ตลอดจนการยกเลิกข้อจำกัดแก่ตัวเองหลายประการที่เคยปฏิบัติกันมาในยุคก่อนอิสลาม ในขณะเดียวกันก็มีการอนุญาตให้มุสลิมกินอาหารของชาวคัมภีร์อละแต่งงานกับผู้หญิงของคนพวกนี้ได้ กฎระเบียบสำหรับทำความสะอาดร่างกายเพื่อทำนมาซ (วุดูอ์ การอาบน้ำและการทำ “ตะยัมมุม” (การใช้ฝุ่นดินทำความสะอาดร่างกายแทนน้ำ) การลงโทษการกบฏ การทำลายความสงบสุขและการลักขโมย การห้ามดื่มสุราและการพนันก็ได้ถูกบัญญัติไว้ในซูเราะฮฺนี้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังได้มีการวางกฎเกี่ยวกับการชดใช้ในกรณีที่ผิดคำสาบาน และมีการเพิ่มเติมบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมายที่ว่าด้วยหลักฐานด้วย
(2) การกล่าวตักเตือนต่อมุสลิม
เนื่องจากขณะนี้มุสลิมได้กลายเป็นผู้มีอำนาจปกครองแล้ว จึงเกรงว่ามุสลิมจะเสื่อมเสียเพราะอำนาจ ดังนั้น ในยุคแห่งการทดสอบนี้ อัลลอฮฺจึงได้เตือนบรรดามุสลิมครั้งแล้วครั้งเล่าให้ยึดมั่นอยู่ในความยุติธรรมและป้องกันตนเองให้พ้นจากพฤติกรรมผิด ๆ เยี่ยงที่บรรพบุรุษของพวกเขาหรือชาวคัมภีร์ปฏิบัติมา บรรดามุสลิมได้ถูกสั่งกำชับให้มั่นคงในการเชื่อฟังอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ นอกจากนั้นแล้วมุสลิมยังได้ถูกสั่งให้ปฏิบัติตามคำบัญชาใช้และงดเว้นในสิ่งที่ถูกห้าม ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันพวกเขาให้พ้นจากผลชั่วร้ายที่พวกยิวและคริสเตียนได้รับมาแล้วเมื่อมีการฝ่าฝืน บรรดามุสลิมได้ถูกสั่งให้ปฏิบัติตามคัมภีร์กุรอานในทุก ๆ ด้าน และยังถูกเตือนให้รู้ถึงทัศนคติของการสับปลับตลบตะแลงอีกด้วย
(3) การเตือนพวกยิวและคริสเตียน
เนื่องจากอำนาจของพวกยิวได้อ่อนแอลงอย่างสิ้นเชิง และพวกยิวในตอนเหนือของอารเบียได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม พวกยิวได้ถูกเตือนเกี่ยวกับทัศนคติที่ผิด ๆ ของตนเอง และได้ถูกเชิญชวนให้หันมาปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน การเชิญชวนนี้ก็มีไปถึงชาวคริสเตียนด้วย นอกจากนั้นแล้ว คัมภีร์กุรอานยังได้ชี้ให้ชาวคริสเตียนเห็นถึงความผิดพลาดในความเชื่อของพวกเขาและได้เตือนให้พวกเขายอมรับทางนำของท่านศาสดามุฮัมมัดด้วย อย่างไรก็ตาม คำเชิญชวนนี้มิได้มีต่อพวกมะยูซี (ผู้บูชาไฟ)และพวกบูชาเทวรูปในประเทศใกล้เคียง ทั้งนี้เพราะไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องกล่าวแยกไว้สำหรับคนประเภทนี้ เพราะเงื่อนไขของคนพวกนี้ได้ถูกครอบคลุมโดยคำพูดที่มีถึงพวกอาหรับที่บูชาเทวรูปแล้ว----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
R1. The Noble Qur’an (Dr.Muhammad Taqi-ud-Din al-Hilali and Dr.Muhammad Muhsin Khan.)
R2. อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทย โดย มัรวาน สะมะอุน
R3. ตัฟฮีมุลกุรฺอาน(อรรถาธิบายโดย เมาลานา ซัยยิด อบุล อลา เมาดูดี แปลโดย บรรจง บินกาซัน)
R4. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรฺ อานแห่งนครมาดีนะฮ์
R5. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย (โดย นายต่วน สุวรรณศาสน์-ฮัจยีอิสมาแอล บินฮัจยียะห์ยา)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.ค. 01, 2011, 05:55 AM โดย Bangmud »