คำอธิบายประกอบสูเราะฮฺ (R4.)เป็นบัญญัติมักกียะฮฺ มี 85 อายะฮฺ
ความหมายโดยสรุปของซูเราะฮฺ ฆอฟิรฺ - ผู้ทรงอภัย - غافر (ซูเราะฮฺมุอ์มิน - مؤمن - ชายผู้ศรัทธา)
ซูเราะฮฺฆอฟิรฺ เป็นซูเราะฮฺ มักกียะฮฺ เป็นซูเราะฮฺที่ให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับอะกีดะฮฺเช่นเดียวกับซูเราะฮฺมักกียะฮฺอื่น ๆ เรื่องที่เด่นชัดของซูเราะฮฺเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างสัจธรรมกับความเท็จและการชี้นำทางกับการหลงผิด ดังนั้นบรรยากาศของซูเราะฮฺจึงเต็มไปด้วยรูปแบบของการเข้มงวดและความรุนแรงเสมือนกับว่าเป็นบรรยากาศที่น่ากลัว ซึ่งมีการฟาดฟัน และการทิ่มแทง
ซูเราะฮฺเริ่มด้วยการสดุดี คุณลักษณะอันดีงามของอัลลอฮฺและสัญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ แล้วได้เผยถึงการโต้เถียงของพวกปฏิเสธศรัทธาในสัญญาณต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ ทั้ง ๆ ที่สัจธรรมนั้นได้ปรากฏอย่างชัดแจ้งแก่พวกเขาแล้ว กระนั้นก็ดี นักโต้เถียงและบรรดาผู้ยโสก็ยังโต้เถียงและแสดงอาการหยิ่งยโส
ซูเราะฮฺได้เผยถึงจุดจบของประชาชาติในอดีต ซึ่งอัลลอฮฺได้คร่าทำลายล้างพวกเขาด้วยการคร่าของผู้ทรงเดชานุภาพ โดยไม่มีมนุษย์หน้าไหนรอดพ้นไปได้
ท่ามกลางบรรยากาศที่น่ากลัวนี้ ก็ได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของบรรดามะลาอิกะฮฺผู้แบกบัลลังก์ ในการวิงวอนขอของพวกเขาต่อผู้ที่ยำเกรงและกลับเนื้อกลับตัว
ซูเราะฮฺได้กล่าวถึงภาพลักษณ์แห่งวันอาคิเราะฮฺและความน่ากลัวของวันนนั้น โดยที่ปวงบ่าวจะถูกนำมายืนต่อหน้าพระผู้ทรงอำนาจเพื่อการสอบสวน ความหวาดกลัวและความสะทกสะท้านได้ปกคลุมพวกเขา เสมือนกับว่าหัวใจมาจุกที่คอหอยหรือเป็นลมหมดสติไป และในท่ามกลางสภาพอันน่ากลัวและในวันที่คร่ำเคร่งเช่นนั้น มนุษย์จะได้รับการตอบแทนอย่างยุติธรรม หากทำดีก็จะได้ดี หากทำชั่วก็จะได้ชั่ว
แล้วซูเราะฮฺได้กล่าวถึงเรื่องของการอีมานศรัทธาและการละเมิดคือในการที่นะบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ได้เรียกร้องเชิญชวนฟิรเอานฺผู้ทรยศ ผู้ยโสไปสู่การอีมานและฟิรเอาน์ประสงค์ที่จะฆ่ามูซา และบริวารของเขาโดยเกรงไปว่า การอีมานจะแพร่กระจายไปตามหมู่ชนของเขา ท่ามกลางของเรื่องนี้ได้ปรากฏบทใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเมื่อได้มีการกล่าวถึงเรื่องของมูซาและฟิรเอานฺ นั่นก็คือปรากฏการณ์ของชายผู้ศรัทธาที่มาจากวงศ์วานของฟิรเอานฺ ซึ่งซ่อนการศรัทธาของเขา ยอมสารภาพต่อสัจธรรมด้วยความนอบน้อมและระมัดระวังแล้วด้วยการเปิดเผยและประกาศอย่างชัดแจ้ง เรื่องได้จบลงด้วยความหายนะของผู้ละเมืดหยิ่งยโสด้วยการจมน้ำตายในทะเลพร้อมกับบริวารและสมุนของเขา และด้วยความรอดพ้นของนักเผยแผ่ผู้ศรัทธาและบรรดามุอ์มิน
ซูเราะฮฺได้เผยถึงสัญญาณต่าง ๆ แห่งจักรวาลบางชนิดเป็นการยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ และย้ำถึงความเป็นเอกภาพของพระองค์ แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีต่อพระองค์ และปฏิเสธศรัทธาต่อบรรดาสัญญาณต่าง ๆ ของพระองค์ โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่ามุอ์มินนนั้นเป็นคนตาดี และคนกาฟิรนั้นเป็นคนตาบอด คนมุอ์มินนั้นอยู่บนเส้นทางรัศมีของอัลลอฮฺส่วนคนกาฟิรนั้นหลงทางอยู่ในความมืด
ซูเราะฮฺจบลงด้วยการกล่าวถึงจุดจบของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้ละเมิดและผู้หยิ่งยโสและภาพลักษณ์แห่งการลงโทษ ซึ่งประสบแก่พวกเขาโดยที่พวกเขาอยู่ในสภาพแห่งการหลงลืม หลงระเริง
ชื่อของซูเราะฮฺ
ซูเราะฮฺนี้ถูกขนานนามว่า “ซูเราะฮฺฆอฟิร” เพราะอัลลอฮฺตะอาลาทรงกล่าวถึงลักษณะอันยิ่งใหญ่นี้ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันสวยงามของอัลลอฮฺในตอนต้นของซูเราะฮฺ “ผู้ทรงอภัยในบาป ผู้ทรงรับการขอลุแก่โทษ” และได้กล่าวซ้ำถึงการอภัยโทษในการเรียกร้องของชายผู้ศรัทธาว่า “ขณะที่ฉันเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านไปสู่พระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงอภัยโทษอย่างเด็ดขาด” และซูเราะฮฺยังถูกขนานนามว่าซูเราะฮฺ มุอฺมิน เพราะกล่าวถึงเรื่องของชายมุอฺมินผู้ศรัทธาที่มาจากวงศ์วานของฟิรเอานฺ----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
R1. The Noble Qur’an (Dr.Muhammad Taqi-ud-Din al-Hilali and Dr.Muhammad Muhsin Khan.)
R2. อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทย โดย มัรวาน สะมะอุน
R3. ตัฟฮีมุลกุรฺอาน(อรรถาธิบายโดย เมาลานา ซัยยิด อบุล อลา เมาดูดี แปลโดย บรรจง บินกาซัน)
R4. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรฺ อานแห่งนครมาดีนะฮ์
R5. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย (โดย นายต่วน สุวรรณศาสน์-ฮัจยีอิสมาแอล บินฮัจยียะห์ยา)--------------------------------------------------------------