ความเข้าใจและสิ่งบ่งชี้จากหะดีษ
1. ละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือ
แท้จริงการละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือในเรื่องของอิบาดะห์ มุอามาลาต มุนากาฮาต และหลักการเรื่องอื่นๆ และการปฏิบัติสิ่งที่หะลาลในทุกเรื่องนั้น จะทำให้มุสลิมมีวะเราะอฺ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ที่ครอบคลุมในการตัดการกระซิบกระซาบของชัยฏอน อันส่งผลดีอย่างใหญ่หลวงทั้งในเรื่องของดุนยาและอาคิเราะฮ์ และแท้จริงสิ่งที่หะลาลอย่างแน่ชัดนั้น จะไม่ทำให้เกิดความสงสัยคลางแคลงใจใดๆ ต่อมุสลิม ยิ่งไปกว่านั้นจิตใจจะมีความสงบและพบกับความสุขในการได้สิ่งนั้นมา ส่วนสิ่งคลุมเครือนั้น มนุษย์จะมีความยินดีแต่เพียงภายนอก และหากเราเปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่ในหัวอกของเขา เราก็จะพบกับความวิตกกังวล ว้าวุ่น และสงสัย และการลงโทษทางจิตใจนี้ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการขาดทุนเชิงนามธรรม และการขาดทุนและหายนะอันใหญ่หลวงเมื่อเขาเคยชินต่อสิ่งที่คลุมเครือ หลังจากนั้นเขาก็ได้ล่วงเกินไปสู่สิ่งที่หะรอม เพราะใครที่เลี้ยงสัตว์รอบเขตหวงห้าม เขาก็เกือบที่จะตกไปอยู่ในเขตหวงห้ามนั้นแล้ว
2. คำพูดและการกระทำของสะลัฟในการทิ้งความสงสัยไปสู่ความมั่นใจที่แน่ชัด
สำหรับชาวสะลัฟอัศศอลิห์นั้น มีทั้งคำพูดและการกระทำที่ชัดเจนในการถือปฏิบัติแต่สิ่งที่หะลาลอย่างแน่ชัด และห่างไกลจากสิ่งที่คลุมเครือ และประดับประดาด้วยการเกรงกลัวอัลเลาะฮ์ ส่วนหนึ่งจากคำพูดของพวกเขาคือ
คำพูดของอบีซัรร์ อัลฆิฟารีย์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ): ความตักวาที่สมบูรณ์คือการละทิ้งบางสิ่งที่หะลาล ด้วยเกรงว่ามันจะเป็นสิ่งหะรอม
และคำพูดของอบีย์อับดิรเราะห์มาน อัลอุมรีย์ อัซซาฮิด: เมื่อบ่าวคนหนึ่งเกรงกลัวอัลเลาะฮ์ เขาจะทิ้งสิ่งที่ทำให้เขาสงสัยไปสู่สิ่งที่ไม่ทำให้เขาสงสัย
และคำพูดของฟุฎ็อยล์: มนุษย์นั้นอ้างว่า การเกรงกลัวอัลเลาะฮ์ (วะเราะอฺ) นั้นเป็นเรื่องยาก และไม่มีสองสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นกับฉัน เว้นเสียแต่ว่า ฉันจะเลือกทำสิ่งที่ยากกว่าจากสองสิ่งนั้น ดังนั้น จงละทิ้งสิ่งที่ทำให้ท่านสงสัยไปสู่สิ่งที่ไม่ทำให้ท่านสงสัย และคำพูดของหิซาน บิน อบีย์ซินาน: ไม่มีสิ่งใดง่ายกว่าไปกว่าการวะเราะอฺ เมื่อสิ่งใดทำให้ท่านสงสัย ท่านก็จงทิ้งมัน
และจากการกระทำของพวกเขา แท้จริงท่านยะซีด บิน ซะรีอฺ ได้หลีกเลี่ยงจากมรดกห้าแสน เขามิได้เอามันแต่อย่างใด โดยที่พ่อของเขานั้นเคยทำงานให้กับบรรดาสุลต่าน และยะซีดนั้นทำงานลิใบปาล์มและยังชีพด้วยงานนี้จนถึงวาระสุดท้าย (ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตาท่าน) และมีคนกล่าวแก่ท่านอิบนิอัดฮัมว่า ท่านไม่ดื่มน้ำซัมซัมซักหน่อยหรือ เขาตอบว่า หากฉันมีกระป๋องตักน้ำ(ที่เป็นของฉันเอง) ฉันก็จะดื่ม เป็นการชี้ให้เห็นว่า กระป๋องตักน้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากทรัพย์ของสุลต่านซึ่งเป็นสิ่งคลุมเครือ
บางคนอาจกล่าวว่า คำพูดและการกระทำเหล่านี้เป็นการวะเราะอฺที่เกินเลย เราขอกล่าวว่า แท้จริงแล้วอุมมะฮ์ในทุกยุคสมัยนั้นมีความต้องการไปยังแบบอย่างที่ดีงาม และตัวอย่างแห่งอิสลามที่ปรากฏให้เห็นในตัวของผู้ปกครองผู้ตัดสิน (ฮากิม) หรือ ผู้มีความรู้ (อาลิม) ย่อมหยุดอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่หะลาลอันดีงาม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่หะรอมอันสกปรก และถ้าหากว่าคำพูดและการกระทำในการระมัดระวังจากสิ่งที่คลุมเครือเฉกเช่นที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นได้ห่างหายไปจากชีวิตของอุมมะฮ์แล้ว แน่นอนว่า มนุษย์ทั้งหลายนั้นก็จะสาละวนอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือและหะรอม และเพลิดเพลินอยู่กับมันอย่างอาจหาญ เพราะพวกเขาไม่มีผู้ชี้แนะตักเตือนและแบบอย่างที่ดีงาม
3. เมื่อสิ่งที่สงสัยขัดแย้งกับสิ่งที่แน่ชัด (ยะกีน)
เมื่อสิ่งที่สงสัยขัดแย้งกับสิ่งที่แน่ชัด ให้เรายึดถือตามสิ่งที่แน่ชัด และละทิ้งสิ่งที่สงสัย ดังกล่าวนี้มีอยู่ในกฎทางนิติศาสตร์ (ก็วาเอ็ด ฟิกฮียะฮ์) ข้อที่ 2 ซึ่งได้ระบุไว้โดย มะญัลละฮ์ อัลอะห์กาม อัชชัรอียะฮ์ และตัวบทก็คือ “สิ่งที่แน่ชัด (ยะกีน) จะไม่หมดไปด้วยการสงสัย” ตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้อาบน้ำละหมาดอย่างแน่ชัดแล้ว หลังจากนั้นเกิดความสงสัยว่า น้ำละหมาดนั้นได้หมดไปแล้วหรือยัง ก็ให้ถือว่า เรายังมีน้ำละหมาดอยู่ ดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหะดีษที่รายงานโดยมุสลิม จากท่านนบี (ศ็อลฯ) ท่านได้กล่าวว่า “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าพบสิ่งหนึ่งในท้องของเขา แล้วมันได้ทำให้เขาเกิดสงสัยขึ้นมาว่ามันได้ออกมาหรือไม่ ดังนั้น เขาก็อย่าได้ออกจากมัสยิดจนกว่าเขาจะได้ยินเสียงหรือได้กลิ่น”
4. การหยุดในเรื่องของสิ่งที่คลุมเครือสำหรับผู้ที่สภาวะของเขามีความมั่นคง
เมื่อเราได้เรียกร้องไปสู่การให้ความละเอียดลออในเรื่องของสิ่งที่คลุมเครือและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมันนั้น เราเรียกร้องผู้ที่สภาวะของเขาทั้งหมดนั้นมีความมั่นคง และอามัลต่างๆ ของเขานั้นก็มีความเสมอกันในเรื่องของตักวาและวะเราะอฺ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในสิ่งที่หะรอมอันชัดเจน หลังจากนั้นเขาก็พยายามที่จะระงับจากสิ่งหนึ่งที่เป็นความคลุมเครือปลีกย่อย แน่นอนว่าการระงับดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับเขา และจำเป็นที่เราจะต้องปฏิเสธสิ่งดังกล่าวแก่เขา โดยขอให้เขาหยุดจากสิ่งที่หะรอมอย่างชัดเจนเป็นอันดับแรกก่อน เนื่องจากสิ่งดังกล่าวนี้เอง ท่านอิบนุอุมัร (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ได้กล่าวแก่ผู้ที่มาถามท่านถึงเลือดยุงจากชาวอิรัค “พวกเขาถามฉันถึงเลือดยุงทั้งที่พวกเขาได้ฆ่าท่านฮุเซน และฉันได้ยินท่านนบี (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ทั้งสองนั้นเป็นที่โปรดปรานของฉันจากดุนยา”
และชายคนหนึ่งได้ถามท่านบิชร์ บิน อัลฮาริษ ถึงชายคนหนึ่งที่มีภรรยา และแม่ของเขาใช้ให้เขาทำการหย่านาง ท่านบิชร์ได้กล่าวว่า ถ้าหากว่าชายผู้นั้นได้ทำดีต่อแม่ของเขาในทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่เหลืออะไรอีกแล้วนอกจากการหย่าร้างภรรยาของเขา ดังนั้น เขาก็จงทำเถิด และถ้าหากว่าการที่เขาทำดีต่อแม่ด้วยการหย่าร้างภรรยาของตนเอง แล้วหลังจากนั้นเขาก็ลุกขึ้นมาตบตีแม่ของเขา ดังนั้นเขาก็จงอย่าทำ
5. การพูดจริงนั้นคือความสงบ และการโกหกนั้นคือความสงสัย (ความคิดที่ไม่ดี)
และคำกล่าวของท่านนบี (ศ็อลฯ) ในสายรายงานของอัตติรมิซีย์ “แท้จริงการพูดจริงนั้นคือความสงบ และการโกหกนั้นคือความสงสัย (ความคิดไม่ดี)” นั้นบ่งชี้ถึงการค้นหาคำพูดที่จริงและชัดเจนเมื่อมนุษย์มีความต้องการไปยังคำตอบต่อคำถาม หรือการฟัตวามัสอะละห์ และเครื่องหมายของคำพูดที่จริงนั้นก็คือการที่หัวใจมีความสงบด้วยกับมัน และเครื่องหมายของการโกหกนั้นก็คือการมีความสงสัยเกิดขึ้นด้วยคำพูดนั้น ดังนั้นหัวใจก็จะไม่สงบนิ่งกับมัน ยิ่งไปกว่านั้นหัวใจจะหนีจากมันไป
6. หะดีษบทนี้ชี้แนะให้เราสร้างหลักการต่างๆ ของเราและเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเราให้อยู่บนความแน่ชัด (ยะกีน)
7. สิ่งที่หะลาล สิ่งที่สัจจริง (อัลฮักก์) และการพูดจริง (อัศศิดกฺ) นั้นคือความสงบและพึงพอใจ ส่วนสิ่งที่หะราม สิ่งที่เสียหาย (อัลบาฏิล) และการโกหก นั้น เป็นความสงสัย ความวิตกกังลวและการหนีห่าง
อ้างอิง: ดร. มุศตอฟา อัลบุฆอ, อัลวาฟีย์ ฟี ชัรหฺ อัลอัรบะอีน อันนะวะวียะห์ (เบรุต: ดาร อิบนิกะษีร, พิมพ์ครั้งที่ 11, ค.ศ. 1999), หน้า 85-88.