بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
1. หนังสือคุณค่าอะมัล อ่านได้ครับ เพราะมีเนื้อหาที่ดีมากมาย ส่วนกรณีของฮะดิษเมาฏั๊วะนั้น สมควรต้องชี้แจงให้ทราบ เพราะฮะดิษเมาฏั๊วะเราต้องระบุให้ผู้อ่านทราบถึงฐานะของมันตามหลักการของวิชาฮะดิษ ส่วนกรณีที่บอกว่าหนังสือเล่มเขียวมีฮะดิษเมาฏั๊วะอยู่ด้วย จึงห้ามอ่านนั้น เป็นกล่าวที่อคติและไม่เป็นธรรม บางคนที่เขาเรียกอาจารย์กล่าวว่า หนังสือเล่มเขียวที่มีฮะดิษเมาฏั๊วะปะปนอยู่บ้าง เหมือนกับน้ำในแก้วที่มีหยดเหล้าตกลงไป จึงทำให้ทั้งหมดใช้ไม่ได้ ถือว่าเป็นคำพูดที่ตบตาอคติ เพราะหากเขายึดหลักการนั้นจริง หนังสือฮะดิษสุนันอัดดาริมีย์ ก็ต้องห้ามอ่าน เพราะมีฮะดิษเมาฏั๊วะมากมาย หนังสืออิจญ์มาอฺ อัลญุยูช อัลอิสลามียะฮ์ ของท่านอิบนุก๊อยยิม ที่มีผู้รู้วะฮาบีย์นำมาอ้างในเรื่องอะกีดะฮ์ของตน ก็ถือว่าอ่านไม่ได้เช่นกัน เพราะมีฮะดิษฏออีฟและเมาฏั๊วะมากมาย แล้วใครบ้างครับที่จะมีใจเป็นธรรม
2. กรณีฮะดิษฏออีฟนั้น อย่าไปทำให้อยู่ในตำแหน่งเหมือนกับฮะดิษเมาฏั๊วะ จนไม่สามารถไปแตะต้องหรือนำมาใช้ไม่ได้เลย ดังนั้น ฮะดิษฏออีฟอนุโลมนำมาใช้กับเรื่องของคุณความดีและให้เกรงกลัวการลงโทษที่มีเนื้อหาอยู่ภายใต้หลักฐานและรากฐานที่ซอฮิห์ โดยมีเงื่อนไขกำกับไว้ตามที่นักปราชญ์ฮะดิษแห่งโลกอิสลามได้ชี้แจง
เงื่อนไขในการอนุญาตให้ปฏิบัติด้วยกับหะดิษฏออีฟ
1. หะดิษต้องไม่ฏออีฟมากเกินไป ซึ่งหากว่าฏออีฟเป็นอย่างมาก ก็ไม่อนุญาตให้นำมาปฏิบัติ เงื่อนไขนี้ เป็นมติสอดคล้อง ดังที่ท่าน อัลหาฟิซฺ อัลอะลาอีย์ และท่าน ตะกียุดดีน อัสศุบกีย์ ได้กล่าวไว้ ตัวอย่างหะดิษที่ฏออีฟมากๆก็คือ มีนักรายงานหะดิษที่ถูกกล่าวหาว่าโกหก หรือผิดพลาดอย่างน่าเกลียด หรือหลงลืมเป็นอย่างมาก หรือความชั่วของเขาปรากฏให้เห็น และอื่นๆ
2. หะดิษฏออีฟต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานโดยรวมจากพื้นฐานต่างๆ ของศาสนา ดังนั้น จะไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้กับหะดิษที่อยู่นอกเหนือสิ่งดังกล่าว เช่นหะดิษนั้นให้ความหมายถึงการประดิษฐ์สิ่งหนึ่งขึ้นมาเป็นหลักการหนึ่งของศาสนา
3. ต้องไม่เชื่อมั่นอย่างร้อยเปอร์เซ็นว่า การปฏิบัติดังกล่าวนั้น ได้รับการยืนยันมาจากท่านนบี(ซ.ล.) เพื่อที่จะไม่เป็นคาดการกับพาดพิงไปยังท่านนบี(ซ.ล.)กับสิ่งที่ท่านไม่ได้กล่าวไว้
สองเงื่อนไขแรกนั้น ท่าน อิซซุดดีน บิน อับดุสลาม ได้กล่าวเอาไว้ และศิษย์ของท่าน คือ ท่าน ตะกียุดดีน อิบนุ ตะกีก อัลอีด ได้กล่าวไว้เช่นกัน และจุดมุ่งหมายด้วยการปฏิบัติหะดิษฏออีฟ ก็คือ "อนุญาตให้ปฏิบัติหะดิษฏออีฟได้ โดยบุคคลหนึ่งได้กระทู้สิ่งที่หะดิษฏออีฟส่งเสริม ด้วยเจตนาที่จะได้รับผลบุญจากการกระทำนั้น และหลีกห่างจากสิ่งที่หะดิษได้บอกเตือนให้ระวัง
ท่านอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า "บรรดาปวงปราชญ์ มีทัศนะพร้องกันว่า แท้จริงจะไม่ถูกนำมาปฏิบัติกับหะดิษฏออีฟ แต่จะถูกนำมาปฏิบัติกับหะดิษฏออีฟเกี่ยวกับเรื่องคุณงามความดี" ดู หนังสือ มิชกาฮ์ อัลมะซอบีหฺ เล่ม 3 หน้า 306
ส่วนการเล่าเรื่องราวหรือประวัติของคนศอและห์นั้น มิใช่รับฟังเพื่อนำมาเป็นความเชื่อ แต่รับฟังเพื่อนำมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ กระตุ้นให้เราทำอิบาดะฮ์ และกระทำความดีงาม เช่น ท่านอิบนุกุดามะฮ์ และท่านอิบนุเญาซีย์ ได้แต่งหนังสือ "อัตเตาวาบีน" ซึ่งบรรจุเรื่องเล่าต่าง ๆ ของผู้ทำการเตาบะฮ์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ โดยไม่มีอุลามาอ์แห่งโลกอิสลามท่านใดทำการตำหนิ แล้วทำไมหนังสือเล่มเขียวจะมีเรื่องเล่าไม่ได้ครับ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ