ผู้เขียน หัวข้อ: คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดอัร-ริฎวาน(นานา) 19 สิงหาคม 2554  (อ่าน 2641 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Bangmud

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 2821
  • Respect: +127
    • ดูรายละเอียด


การแสวงหาคืนอัลก็อดรฺ
                                                                               
19 สิงหาคม 2554

   พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺด้วยการปฏิบัติความดีและละเว้นความชั่วอย่างจริงจัง และท่านทั้งหลายจงอย่าได้ตาย จนกว่าท่านจะเป็นผู้ยอมจำนนต่ออัลอิสลามโดยสิ้นเชิง
   อัลลอฮฺดำรัสว่า



    “แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืนอัลก็อดรฺนั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือนบรรดามะลาอิกะฮฺและอัลรูฮฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขาเนื่องจากกิจการทุกสิ่ง คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ”                     อัลก็อดรฺ 97:1-5

   ในเดือนเราะมะฎอน มุสลิมทุกคนนอกจากตั้งใจจะสะสมความดีด้วยการถือศีลอด การอ่านกุรฺอาน การบริจาคทาน การเลี้ยงละศีลอด การละหมาดในยามค่ำคืน อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนวาดหวังไว้ว่าจะได้ประสบก็คือ คืนแห่งพลัง หรือ ลัยละตุลก็อดรฺ เพราะอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ทรงรับรองถึงความยิ่งใหญ่และความดีงามของคืนนี้ไว้ทั้งในอัลกุรฺอานและอัลหะดีษ ในอัลกุรฺอาน พระองค์ตะอาลาระบุชัดเจนว่า คืนนี้ดียิ่งกว่าพันเดือน ดังนั้นถ้าใครได้ทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนดังกล่าว ภาคผลที่อัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาจะตอบรับนั้นสูงค่าเทียบเท่าทำอิบาดะฮฺหนึ่งพันเดือน หรือ 83 ปี เศษ พี่น้องลองคิดดูว่า ชีวิตของมนุษย์ที่มีอายุยืนถึง 83 ปีนั้นมีสักกี่คน ดังนั้นถ้าใครได้มีโอกาสทำความดีในคืนอัลก็อดรฺด้วยอิบาดะฮฺที่บริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ด้วยอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺทรงตอบรับ ก็มีค่าเสมือนเขาทำอิบาดะฮฺตลอดทั้งชีวิต มันคุ้มไหมที่จะแสวงหาค่ำคืนนี้อย่างจริงจัง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงรับรองว่าได้รับอภัยโทษให้ทั้งในช่วงชีวิตที่ได้ล่วงไปแล้วและที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง เป็นไปตามที่พระองค์ดำรัสว่า


   “เพื่ออัลลอฮจะได้ทรงอภัยโทษความผิดของเจ้าที่ได้ล่วงไปแล้วและที่จะเกิดขึ้นภายหลังและจะทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์ครบสมบูรณ์แก่เจ้าและทรงชี้แนะทางแก่เจ้าคือทางอันเที่ยงตรง”                     อัลฟัตหฺ 48:2

   ท่านเราะสูลไม่มีความผิดที่จะต้องพิจารณา มีแต่ความดีงามที่อัลลอฮฺทรงรับรอง มีแต่สวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน แต่ท่านก็ยังแสวงหาค่ำคืนนี้ และชี้แนะ ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชาติของท่านคือพวกเราทั้งหลายแสวงหาคืนนี้ ท่านกล่าวไว้ในหลาย ๆ หะดีษ ได้แก่

مَنْ قَامَ لَيْلَةُ الْقَدْرِ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَلَهُ مَاتَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
    “ผู้ใดดำรงการละหมาดกลางคืนในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่นและด้วยความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับการ อภัย จากบาปที่ผ่านมา”          บุคอรี,มุสลิม

   ส่วนลัยละตุลก็อดรฺจะตรงกับคืนไหนนั้น  อุละมาอุ์มีความเห็นแตกต่างกันหลายความเห็น บางท่านว่า อาจเป็นคืนหนึ่งคืนใดก็ได้ภายในเดือนเราะมะฎอน บางท่านว่าเป็นคืนที่กำหนดชัดเจนแน่นอนในเดือนเราะมะฎอนและตรงกันทุกปี  บางท่านว่าเป็นค่ำคืนที่ 27 ของเดือนเราะมะฎอน บางท่านว่า สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่ความเห็นที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดก็คือ ความเห็นที่รวบรวมจากหลายหะดีษว่า คืนอัลก็อดรฺนั้นจะเป็นคืนคี่ ในสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน คือ ค่ำ 21, 23, 25, 27 หรือ 29 หลักฐานก็คือการที่ท่านเราะสูลได้ทำเอียะติกาฟในมัสญิด เพื่อแสวงหาค่ำคืนอัลก็อดริในช่วงเวลาดังกล่าว และท่านยังได้เรียกร้องให้ครอบครัวของท่านลุกขึ้นทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนเหล่านั้นด้วยความกระตือรือร้น จนกระทั่งบรรดาภรรยาของท่านติดนิสัยการเอียะติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้หญิงก็สามารถที่จะเอียะอฺติกาฟที่มัสญิดได้เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่เนื่องจากสภาพสังคมไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้มุสลิมะฮฺในหลาย ๆ พื้นที่ไม่สามารถรักษาสุนนะฮฺนี้ไว้ได้ มัสญิด บางแห่งจึงได้จัดสถานที่เป็นสัดส่วนไว้สำหรับสตรีโดยเฉพาะเพื่อการอิบาดะฮฺดังกล่าวนี้   

[/quran]
   “ผู้ใดที่กระทำความดี ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยที่เขาผู้นั้นเป็นผู้ศรัทธา แน่แท้เราจะให้เขามีชีวิตด้วยชีวิตที่ดี และเราจะให้ผลตอบแทนแก่พวกเขาด้วยผลบุญที่ดีที่สุดจากที่พวกเขาได้ปฏิบัติมา”                        อันนะหฺลิ 16:97

    จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา เล่าว่า:

أَنَّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم كاَنَ يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللهُ تَعَالَى ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ
    “ปรากฎว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮฺได้เอาชีวิตท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟหลังจากท่านต่อ”                   บุคอรียฺ (2026) มุสลิม(1172)

   ดังนั้นเราจึงไม่ควรจำเพาะเจาะจงที่จะเน้นทำอิบาดะฮฺในคืนใดเป็นพิเศษ ใครที่มีความสามารถที่จะทำได้ควรที่จะทำอิอฺติกาฟในมัสญิดในช่วง 10 คืนสุดท้าย ตามสุนนะฮฺของท่านนะบียฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีอีกรายงานหนึ่งบอกว่า ในปีสุดท้ายของชีวิตท่านเราะสูลนั้น ท่านได้อิอฺติกาฟถึง 20 วัน
    จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า:


كَانَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم يَعْتَكِفُ فِيْ كُلِّ رَمَضَانَ عَشْرَةَ أَيَّامٍ ، فَلَمَّا كَانَ العَامُ الَّذِيْ قُبِضَ فِيْهِ اعْتَكَفَ عِشْرِيْنَ يَوْماً
                  “ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟ ทุกๆ เดือนเราะมะฎอนเป็นเวลา 10 วัน แต่เมื่อครั้นปีที่ท่านได้เสียชีวิต ท่านได้อิอฺติกาฟ 20 วัน”    บุคอรียฺ


    ใครที่ไม่สามารถจะอิอฺติกาฟที่มัสญิดได้ก็ให้เพิ่มความดีในยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนให้มากทุก ๆ คืน และอิบาดะฮฺที่ทำก็คืออิบาดะฮฺทั่วไปที่เราทำอยู่ประจำ ได้แก่การละหมาดในยามค่ำคืน รอบแรก (คือละหมาดตะรอวีหฺ) การอ่านกุรอาน การซิกรุลลอฮฺ การละหมาดในยามค่ำคืนรอบสองหลังจากที่ได้นอนหลับไปแล้ว (คือละหมาดตะฮัจญุด) การละหมาดวิตริ การเตาบะฮฺตัวสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวเข้าหาอัลลอฮฺ และการขอดุอาอุ์
   ส่วนใครที่ประสงค์จะอิอฺติกาฟก็เริ่มได้เริ่มจากค่ำคืนพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นค่ำคืนที่ 21 ของเดือนราะมะฎอน อิอฺติกาฟหลายคนก็ไม่เป็นไร จะได้เป็นการฟื้นฟูสุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ได้รับการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย
   ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงดุอาอุ์ที่จะใช้ในคืนอัลก็อดรฺ ท่านสอนว่า


أَللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ (كَرِيْمٌ) تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّيْ
   “ข้าแต่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเกียรติ พระองค์ทรงรักการให้อภัย ดังนั้นโปรดให้อภัยแก่ฉันด้วยเถิด”

   ถ้าอัลลอฮฺทรงรับดุอาอุ์ของเรา ทรงอภัยโทษในความผิดบาปต่าง ๆ ของเรา เราก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง พร้อมที่จะกลับคืนไปสู่พระองค์
    ดังนั้น อยากจะฝากพี่น้องไว้ว่า เราถือศีลอดกันมาเป็นเวลาเกือบสามสัปดาห์ ทำความดีเอาไว้มากมาย และยังมีโอกาสที่จะได้รับความดีในค่ำคืนอัลก็อดรฺ ดังนั้นอย่าได้หาทางทำลายความดีงามของตนเอง พยายามหลีกห่างความไม่ดีทั้งปวง การทะเลาะวิวาท การพูดจาหยาบคาย ลามกยุแหย่ส่อเสียด มิฉะนั้นความดีจะสูญเปล่า มีคำเตือนจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า


الصِّيَامُ جُنَّةٌ، فَلَا يَرْفُثْ وَلَا يَجْهَلْ وَإِنْ امْرُؤٌ قَاتَلَهُ أَوْ شَاتَمَهُ فَلْيَقُلْ إِنِّي صَائِمٌ مَرَّتَيْنِ
    “การถือศีลอดนั้นเป็นโล่ป้องกัน ดังนั้น (เมื่อผู้ถือศีลอด) เขาอย่าได้กระทำ (หรือพูด) สิ่งอันลามกและอย่าได้ประพฤติไม่ดีเยี่ยงคนไม่รู้ และหากแม้นมีผู้ใดมาทำร้ายหรือด่าทอเขา ให้เขาตอบกลับ(ไปเพียงว่า) ِฉันถือศีลอด ฉันถือศีลอด”              บุคอรียฺ

   และอีกบทหนึ่งว่า

مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّورِ وَالْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ لِلَّهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ   
    “ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งการพูดเท็จและการกระทำอันเป็นเท็จ ดังนั้นย่อมไม่เป็นการจำเป็นสำหรับอัลลอฮฺที่เขาผู้นั้นต้องละทิ้งอาหารและเครื่องดื่มของเขา”    บุคอรียฺ

   รักษาความดีในเดือนเราะมะฎอนของเราไว้ด้วยการไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งมวล เพิ่มพูนความดีด้วยการแสวงหาคืนอัลก็อดรฺและการเอียะติกาฟ ดุอาอุ์ต่ออัลลอฮฺให้ทรงตอบแทนความดีของทุกท่านโดยทั่วกัน




 

GoogleTagged