คำอธิบายประกอบสูเราะฮฺ อัล-อันอาม (الأنعام - ปศุสัตว์) R3. บทนำ
ชื่อ: ซูเราะฮฺนี้ได้ชื่อมาจากอายะฮฺที่ 136, 138 และ 139 ซึ่งในเนื้อความได้มีการกล่าวปฏิเสธความเชื่อในเรื่องโชคลางไสยศาสตร์ของพวกอาหรับบูชารูปปั้น เกี่ยวกับการอนุมัติปศุสัตว์บางอย่างและการไม่อนุมัติปศุสัตว์บางอย่าง
ระยะเวลาของการประทานวะฮีย์ : ตามรายงานหะดีษของอิบนุอับบาส ซูเราะฮฺนี้ทั้งหมดได้ถูกประทานลงมาที่ นครมักกะฮฺ อัสมา บุตรสาวคนหนึ่งของยะซีดและเป็นลูกพี่ลูกน้องของมุอาซ บิน ญับล์ กล่าวว่า “ในระหว่างการประทานซูเราะฮฺนี้ท่านนบีมุฮัมมัด(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กำลังขี่อูฐอยู่ และฉันถือเชือกจูงจมูกมัน อูฐเริ่มมีความร็สึกว่าตัวมันเองกำลังแบกของหนักจนกระดูกของมันแทบหัก” นอกจากนั้นแล้ว เรายังได้ทราบจากหะดีษอื่น ๆ อีกว่า ท่านนบีได้บอกให้บันทึกซูเราะฮฺนี้ทั้งหมดไว้ในคืนเดียวกับที่ซูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมา
เนื้อหาเรื่องราวของซูเราะฮฺนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้ถูกประทานลงมาระหว่างปีสุดท้ายของชีวิตของท่านนบีในนครมักกะฮฺ หะดีษของอัสมาบุตรสาวของยะซีดก็ยืนยันเรื่องนี้ ในฐานะที่นางเป็นชาวอันศอรและได้เข้ารับอิสลามหลังจากที่ท่านนบีฯ ได้อพยพไปยังเมืองยัถริบ การไปเยี่ยมท่านนบีฯ ของนางที่นครมักกะฮฺจะต้องมีขึ้นระหว่างปีสุดท้ายที่ท่านนบีฯ มีชีวิตอยู่ที่นั่น เพราะก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของท่านกับผู้คนเหล่านั้นยังไม่ใกล้ชิดสนิทสนมกันจนถึงกับจะมีผู้หญิงจากที่นั่นเดินทางมาเยี่ยมท่านถึงนครมักกะฮฺ
โอกาสในการประทานวะฮีย์ : หลังจากที่ได้สินเรื่องระยะเวลาของการประทานซูเราะฮฺนี้ไปแล้ว มันเป็นการง่ายขึ้นที่จะมองภาพภูมิหลังของซูเราะฮฺนี้
ในมักกะฮฺ ท่านนบีฯใช้เวลาไป 12 ปีแล้วในการเรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่อิสลาม แต่ความเป็นศัตรูและความอาฆาตมาดร้ายก็ยิ่งป่าเถื่อนและรุนแรงยิ่งขึ้นจนมุสลิมส่วนใหญ่ต้องทิ้งบ้านช่องของตนอพยพไปยังฮะบาชะฮฺ (อะบิสสิเนีย) เหนืออื่นใด ผู้สนับสนุนคนสำคัญสองคนของท่านนบีฯ คืออะบู๖อลิบและนางคอดีญะฮฺก็ม่าจที่จะช่วยเหลือและคุ้มครองท่านได้ เพราะบุคคลทั้งสองต้องเสียชีวิตลง แต่ถึงกระนั้นก็ตามท่านก็ยังคงปฏิบัติภารกิจของท่าน ท่ามกลางการต่อต้านของฝ่ายศัตรู ผลที่ติดตามมาก็คือ ในด้านหนึ่ง คนดี ๆ ในนครมักกะฮฺและตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ก็ค่อย ๆ ทยอยกันมาเข้ารับอิสลาม ในอีกด้านหนึ่งประชาคมทั้งหมดก็โน้มไปในทางต่อต้านและปฏิเสธ ดังนั้นถ้าใครผู้ใดแสดงการเอนเอียงมาสู่อิสลาม คนผู้นั้นก็จะถูกประณามและเย้ยหยันหรือไม่ก็ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกคว่ำบาตรทางสังคม ในท่ามกลางความมืดทึบนี้เองที่รังสีแห่งความหวังได้ส่องประกายจากเมืองยัถริบ ซึ่งที่นั่นอิสลามได้เริ่มแผ่ขยายอย่างเสรีโดยความพยายามของผู้ที่มีอิทธิพลบางคนแห่งเผ่าเอาส์และคอสรอจญ์ ซึ่งมาเข้ารับอิสลามที่นครมักกะฮฺ นี่คือการเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ของอิสลาม บนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จโดยที่ไม่มีใครคาดคิดถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังในเวลานั้นเลยเพราะสำหรับผู้ที่มองอะไรอย่างฉาบฉวยแล้ว ในเวลานั้นอิสลามดูเหมือนจะเป็นเพียงขบวนการที่อ่อนแอ ไม่มีการหนุนหลังทางด้านวัตถุใด ๆ ยกเว้นการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากครอบครัวของท่านนบีฯเอง และจากผู้ร่วมขบวนการที่ยากจนเพียงไม่กี่คน ซึ่งผู้สนับสนุนประเภทหลังนี้ก็ไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลืออะไรได้มากเพราะพวกเขาเองก็ถูกจองเวรจากผู้คนที่กลายมาเป็นศัตรูของพวกเขาด้วยเช่นกัน
หัวข้อเรื่อง : ที่กล่าวมานั้นคือสถานการณ์?อายะฮฺต่าง ๆ ในซูเราะฮฺนี้ได้ถูกประทานมา เรื่องสำคัญ ๆ ที่ได้มีการพูดถึงในซูเราะฮฺนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 7 หัวข้อด้วยกัน คือ :
1) การปฏิเสธ “ชิริก” (การตั้งภาคีเทียบเทียมอัลลอฮฺ) และการเชิญชวนสู่ “เตาฮีด” (การเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว)
2) การวางหลักการเรื่องชีวิตหลังความตายและการปฏิเสธความคิดผิด ๆ ที่ว่าหลังจากชีวิตโลกนี้แล้วไม่มีอะไร
3) การปฏิเสธเรื่องโชคลางไสยศาสตร์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น
4) การกำหนดหลักการทางด้านศีลธรรมสำหรับการสร้างสังคมอิสลาม
5) การตอบข้อคัดค้านที่ถูกยกขึ้นมาต่อต้านคนของท่านนบีฯ และภารกิจของท่าน
6) การปลอบใจและให้กำลังใจแก่ท่านนบีฯ และบรรดาสาวกของท่านซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาพวิตกกังวลและสิ้นหวังเพราะการปฏิบัติภารกิจไม่ประสบผลสำเร็จ
7) การเตือนและการขู่บรรดาผู้ปฏิเสธและฝ่ายตรงข้ามให้เลิกความอาฆาตแค้นและความเป็นศัตรูของพวกตนเสีย อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจว่าซูเราะฮฺนี้มิได้กล่าวถึงหัวข้อทั้งเจ็ดดังกล่าวมาทีละหัวข้อโดยแยกกัน แต่ได้กล่าวรวมกันไป โดยที่ได้มีการพูดถึงเรื่องที่กล่าวมานั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในลักษณะใหม่ ๆ และแตกต่างกันออกไป
พื้นฐานของซูเราะฮฺมักกียะฮฺ (ซูเราะฮฺที่ประทานลงมาในมักกะฮฺ) ในฐานะที่ซูเราะฮฺนี้เป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺที่ยาวเป็นอันดับแรกในการเรียงลำดับของการรวบรวมกุรฺอาน ดังนั้นมันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าหากว่าได้มีการอธิบายถึงพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของซูเราะฮฺมักกียะฮฺโดยทั่วไปเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจถึงซูเราะฮฺมักกียะฮฺและการอ้างอิงถึงขั้นตอนต่าง ๆ ของมันที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายความหมายของเรา
ก่อนอื่น ผู้อ่านจะต้องเข้าใจว่า หากจะเปรียบเทียบแล้ว ข้อมูลหรือวัตถุดิบเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานของการประทานซูเราะฮฺมักกียะฮฺนั้นมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่ระยะเวลาของการประทานซูเราะฮฺมะดะนียะฮฺ (ซูฌราะฮฺที่ถูกประทานลงมาในมะดีนะฮฺ)นั้น เป็นที่รู้กันหรือสามารถที่จะกำหนดได้โดยไม่ยาก นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานที่เชื่อถือได้อีกมากมาย แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาสในการประทานอายะฮฺส่วนใหญ่ ในทางตรงข้าม เรากลับไม่มีรายละเอียดเช่นนั้นเกี่ยวกับสูเราะฮฺมักกียะฮฺเลย จะมีก็แต่เพียงไม่กี่ซูเราะฮฺและอายะฮฺเท่านั้นที่จะมีรายงานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเวลาและสาเหตุของการประทานมันลงมา นี่เป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ท่านนบีฯอยู่ในมักกะฮฺนั้นมิได้มีการรวบรวมรายละเอียดไว้เหมือนกับช่วงเวลาที่ท่านนบีฯอยู่ในนครมะดีนะฮฺ ดังนั้น เราจึงต้องอาศัยหลักฐานภายในของซูเราะฮฺเหล่านี้สำหรับตัดสินช่วงเวลาของการประทานวะฮีย์ ตัวอย่างเช่น หัวข้อเรื่องที่พูด ลีลาการพูด การอ้างอิงโดยตรงหรือโดยอ้อมถึงเหตุการณ์และโอกาสของการประทานวะฮีย์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโดยอาศัยหลักฐานดังกล่าวมานี้ เราไม่สามารถกล่าวได้อย่างแม่นยำว่าซูเราะฮฺนั้นหรืออายะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาในโอกาสนั้นหรือในโอกาสนี้ อย่างมากที่สุดที่เราสามารถทำได้ก็คือการเปรียบเทียบหลักฐานภายในของซูเราะฮฺกับเรื่องราวชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ที่นครมักกะฮฺ แล้วถึงจะมาสรุปว่า ซูเราะฮฺนี้จะอยู่ช่วงไหน
ถ้าหากเราใช้สิ่งที่กล่าวมาเป็นข้อพิจารณาแล้ว ประวีติศาสตร์ภารกิจของท่านนบีฯที่มักกะฮฺสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นแรก เริ่มต้นด้วยการถูกแต่งตั้งเป็นรอซูลุลลอฮฺและไปสิ้นสุดตรงที่ท่านประกาศตัวเป็นนบี 3 ปีหลังจากนั้น ในช่วงระยะเวลานี้การเผยแผ่สารของอัลลอฮฺได้กระทำกันอย่างลับ ๆ ไปยังคนบางคนที่ถูกคัดเลือกไว้เท่านั้น โดยที่คนทั่วไปในมักกะฮฺยังไม่รู้
ขั้นที่ 2 กินระยะเวลา 2 ปี หลังจากการประกาศตนเป็นนบี มันเริ่มต้นด้วยการต่อต้านโดยบุคคลต่าง ๆ ก่อนหลังจากนั้นก็กลายมาเป็นการประกาศตนเป็นศัตรู การหัวเราะเยาะ การประณาม การกล่าวร้าย การทารุณ และการโฆษณาชวนเชื่ออย่างผิด ๆ หลังจากนั้นก็มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทารุณทำร้ายบรรดามุสลิมที่ยากจนและอ่อนแอกว่า
ขั้นที่ 3 กินระยะเวลาประมาณ 6 ปี จากการเริ่มต้นทารุณทำร้ายมุสลิมไปจนถึงการตายของอะบูตอลิบและท่านหญิงคอดีญะฮฺมนช่วงปีที่สิบของการเป็นนบีฯ ในช่วงเวลานี้ การหนีไปยังฮะบาชะฮฺ (อบิสสิเนียหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน) การคว่ำบาตรทางสังคมและเศรษฐกิจได้ถูกนำมาใช้กับท่านนบีฯ และสมาชิกในครอบครัวของท่าน และบรรดามุสลิมที่ยังคงอยู่ในมักกะฮฺก็ถูกบังคับให้ต้องเข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของอะบูตอลิบซึ่งก็ถูกปิดล้อมอยู่ด้วยเช่นกัน
ขั้นที่ 4 กินระยะเวลาประมาณ 3 ปี นับจากปีที่ 10 ถึงปีที่ 13 ของการเป็นนบี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบอย่างหนักและเป็นช่วงเวลาแห่งการทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสสำหรับท่านนบีฯ และบรรดาสาวกของท่าน เพราะชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเหลืออดเหลือทนแล้วต่อสถานการณ์ในมักกะฮฺ และก็ดูเหมือนจะไม่มีที่หลบภัยที่ไหนให้พึ่งพิงแม้แต่นอกมักกะฮฺ แม้ท่านนบีจะเดินทางไปยังเมืองตออีฟ คนที่นั่นก็ไม่ให้ที่พักหรือการคุ้มครองแก่ท่าน นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงเวลาการทำฮัจญ์ เมื่อท่านเรียกร้องเชิญชวนชาวอาหรับตระกูลต่าง ๆ ทุกตระกูลให้เข้ารับอิสลาม ท่านได้ถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย และในเวลาเดียวกันนั้นเอง คนในมักกะฮฺก็ประชุมปรึกษาหารือกันในการที่จะกำจัดท่านโดยการฆ่าหรือคุมขังหรือเนรเทศท่านออกไปจากเมือง ในช่วงเวลาอันวิกฤตนี้เองที่อัลลอฮฺได้เปิดหัวใจให้อิสลามแก่ชาวอันศอรที่เมืองยัถริบ ซึ่งที่นั่นท่านได้อพยพไปตามการเชิญชวนของชาวเมือง
เมื่อเราแบ่งชีวิตของท่านนบีฯ ที่นครมักกะฮฺออกเป็น 4 ขั้นตอนแล้ว ก็จะเป็นการง่ายขึ้นสำหรับเราที่จะพอบอกได้ว่าขั้นตอนไหนที่ซูเราะฮฺมักกียะฮฺถูกประทานลงมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าซูเราะฮฺที่อยู่ในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดนั้นสามารถที่จะจำแนกได้จากซูเราะฮฺที่อยู่ในอีกขั้นตอนหนึ่งโดยอาศัยเนื้อหา เรื่องราวและลีลาของซูเราะฮฺนั้นเป็นเครื่องช่วย นอกจากนี้แล้ว ซูเราะฮฺเหล่านั้นยังมีข้ออ้างอิงที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และเรื่องราวที่เป็นภูมิหลังของการประทานวะฮีย์อีกด้วย ในซูเราะฮฺมักกียะฮฺที่ตามมาภายหลังนั้น เราจะตัดสินและชี้แจงให้เห็นว่าในขั้นตอนไหนที่ซูเราะฮฺมักกียะฮฺถูกประทานลงมาโดยอาศัยจากลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละขั้นตอนเป็นข้อพิจารณา----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
R1. The Noble Qur’an (Dr.Muhammad Taqi-ud-Din al-Hilali and Dr.Muhammad Muhsin Khan.)
R2. อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทย โดย มัรวาน สะมะอุน
R3. ตัฟฮีมุลกุรฺอาน(อรรถาธิบายโดย เมาลานา ซัยยิด อบุล อลา เมาดูดี แปลโดย บรรจง บินกาซัน)
R4. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรฺ อานแห่งนครมาดีนะฮ์
R5. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย (โดย นายต่วน สุวรรณศาสน์-ฮัจยีอิสมาแอล บินฮัจยียะห์ยา)--------------------------------------------------------------