ข้ออ้างใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จะต้องพิสูจน์ยืนยันกันด้วยหลักฐาน ข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้น แต่ขาดการพิสูจน์ มันก็เป็นเพียงการพูดให้ร้ายเท่านั้น ข้อกล่าวหาประเภทนี้ควรจะถูกยกเลิกไปเพราะเหตุดังกล่าว
แต่แม้จะมีการนำเสนอหลักฐานพยานเพื่อเอามาพิสูจน์ข้ออ้างแล้ว ก็ยังถือว่าไม่เพียงพออยู่ดี เพราะมีเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ และนั่นก็คือความถูกต้องน่าเชื่อถือ ผู้อ้าง( หรือผู้กล่าวหา )มิได้มีความรับผิดชอบในการนำพยานหลักฐานมาแสดงตามข้ออ้างของเขาเท่านั้น แต่เขายังจะต้องแสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานของเขาถูกต้องน่าเชื่อถืออีกด้วย เพราะตราบใดที่เขาไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องน่าเชื่อถือของมันได้ ข้ออ้างของเขามิได้เป็นอะไรเลย นอกจากจะเป็นข้อกล่าวหาที่เหลวไหลและไร้แก่นสาร
นี่คือกฎเกณฑ์ทั่วๆ ไปสำหรับใช้กับข้ออ้างทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด และมิได้ใช้เฉพาะกับการทำความชั่วของเหล่าเศาะหาบะฮตามที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น ขอให้เราดูตัวอย่างของกรณี “อายะฮฺจากชัยฏอน” (satanic verses) ซึ่งถูกนายซัลมาน รุชดี ผู้อื้อฉาวนำไปใช้ประโยชน์ในทางเสียหายและมุ่งร้าย ซัลมาน รุชดีไม่ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นจากสูญญากาศ แต่เขาพบมันในหนังสือประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาไม่ได้ทำก็คือการทำให้มันดูถูกต้องน่าเชื่อถือ ทำไม? เหตุผลนั้นชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะเขามีแผนการอะไรบางอย่าง และมีความปักใจเชื่อตั้งแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อบุคคลใดก็ตามที่กล่าวหามุอาวิยะฮฺ หรือคนอื่นว่าวางยาพิษฆ่าซัยยิดุนา หะซัน โดยไม่สนใจที่จะตรวจสอบหลักฐานของตนที่นำมาใช้กล่าวหาว่ามีความถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ และที่ทำไปเช่นนั้นก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลย นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขาไม่ชอบมุอาวิยะฮฺ บุคคลเช่นนั้นมีความผิดไม่น้อยไปกว่าซัลมาน รุชดีและน้ำหมึกของเขา จงอย่าให้ความเป็นศัตรูที่ท่านมีต่อคนๆ หนึ่งเป็นเหตุจูงใจเพียงหนึ่งเดียวที่ท่านจะว่าคนนั้นคนนี้มีความผิด
“ ….. และจงอย่าให้การเกลี่ยดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน “ ( อัลมาอิดะฮ 5:8 )
มีรายงานที่เศาะเฮี๊ยะฮฺระบุว่า เมื่อซัยยิดุนา หะซันใกล้ถึงแก่กรรมเพราะถูกวางยาพิษนั้น ซัยยิดุนา หุเซน น้องชายของท่านได้เข้ามาเยี่ยมท่าน และถามว่า “ พี่ชาย! ช่วยบอกฉันหน่อยสิว่าใครวางยาพิษใส่ท่าน “ ซัยยิดุนา หะซันถามกลับว่า “ ทำไมหรือ? เพื่อเจ้าจะได้ฆ่าเขาใช่ไหม? “ ซัยยิดุนา หุเซนตอบว่า “ ใช่ “ ซึ่งทำให้ซัยยิดุนา หะซันตัดบทว่า “ ฉันจะไม่บอกสิ่งใดให้เจ้าทั้งสิ้น ถ้าคนผู้นั้น( ผู้วางยาพิษ )คือคนที่ฉันคิดไว้ เมื่อนั้นการแก้เผ็ดของอัลลอฮฺจะเกรี้ยวกราดมากกว่าเสียอีก แต่ถ้าไม่ใช่คนผู้นั้น เมื่อนั้นโดย( อำนาจของ )อัลลอฮฺ คนบริสุทธิ์จะได้ไม่ถูกฆ่าเพราะตัวฉันเป็นเหตุ “ (1)
จากรายงานที่เศาะเฮี๊ยะฮฺนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ซัยยิดุนา หะซันเองยังไม่แน่ใจถึงรูปพรรณสันฐานของผู้วางยาพิษแม้แต่น้อย เหนืออื่นใดก็คือ ท่านปฏิเสธที่จะบอกให้น้องชายของท่านทราบว่า ท่านกำลังสงสัยใครอยู่ เรื่องนี้มีความแปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะขนาดซัยยิดุนา หะซันเองยังมีความระมัดระวังอย่างมากในเรื่องนี้ แต่ผู้คนสมัยนี้ไม่ต้องกระพริบตาก็พูดโพล่งออกมาว่า “มุอาวิยะฮฺวางยาพิษฆ่าท่านหะซัน“
สิ่งที่ซัยยิดุนา หะซันกังวลเป็นอย่างมากได้แก่ การรักษาเอกภาพของอุมมะฮเอาไว้ เพราะความกังวลในเรื่องนี้นี่แหละ ท่านจึงทำข้อตกลงสันติภาพกับมุอาวิยะฮฺในปี ฮ.ศ.41 ความสำเร็จอันโดดเด่นของท่านประการนี้เคยถูกท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลฯ ตาของท่านบอกล่วงหน้าเอาไว้ในหะดีษที่รู้จักกันเป็นอย่างดีหะดีษหนึ่ง มีใจความว่า “ บุตรชายของข้าคนนี้เป็นสัยยิด( นาย ) และไม่ช้าเวลาจะมาถึง เมื่ออัลลอฮฺจะทำให้มุสลิมสองพวกปรองดองกันเพราะเขา “ ท่านมีความกังวลว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับอุมมะฮตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน ท่านมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกฝังอยู่เคียงข้างท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลฯ ตาของท่าน ในบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮ แต่ท่านกำชับซัยยิดุนา หุเซนว่าอย่าใช้ความรุนแรง ในกรณีที่พวกบนู อุมัยยะฮฺพยายามกีดกันไม่ให้ฝังท่านที่นั่น ให้ฝังท่านเคียงข้างมารดาของท่านในญันนะตุล บาเกี๊ยะฮฺก็ได้ ซัยยิดุนา หะซันพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักที่สุดของท่าน เพื่อรักษาสันติภาพและเอกภาพของอุมมะฮเอาไว้
เพราะฉะนั้น ถ้ามุอาวิยะฮฺเป็นคนที่ท่านสงสัยว่าวางยาพิษฆ่าท่าน ท่านก็คงจะบอกกับซัยยิดุนา หุเซนในทำนองว่า “ ฉันเกรงว่าเจ้าจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ถ้าเจ้าพยายามล้างแค้นเอากับคนผู้นั้นที่ฉันสงสัยอยู่ “ ความจริงท่านไม่ได้พูดพาดพิงถึงโอกาสที่จะเกิดความแตกแยกและความไม่สงบแม้แต่น้อย แต่ท่านกลับแสดงออกถึงความหวั่นเกรงว่าผู้บริสุทธิ์จะถูกฆ่าเพราะท่านเป็นต้นเหตุ ดังนั้น เราจึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่า บุคคลที่ซัยยิดุนา หะซันสงสัยว่าวางยาพิษนั้นไม่ใช่มุอาวิยะฮฺอย่างแน่นอน
ภายหลังซัยยิดุนา หะซันถึงแก่กรรมแล้ว มุอาวิยะฮฺมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสิบปีกว่า ในช่วงเวลาสิบปีกว่านั้น ซัยยิดุนา หุเซนผู้องอาจกล้าหาญยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน เช่นเดียวกับ มุฮัมมัด อิบนฺ อัล-หะนะฟียะฮฺ น้องชายของท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนฺ ญะอฺฟัรฺ และอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส ลูกพี่ลูกน้องของท่าน ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆ ของอะหลุลบัยต อย่างไรก็ตาม ในบุคคลเหล่านี้ไม่มีใครสักคนเผชิญหน้ามุอาวิยะฮฺด้วยข้อหาว่าวางยาพิษสังหารซัยยิดุนา หะซัน แท้ที่จริงแล้ว พวกเขายังรักษาความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับมุอาวิยะฮฺ โดยเเฉพาะอย่างยิ่ง อับดุลลอฮฺ อิบนฺ ญะอฺฟัรฺ และอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส พวกเขาไม่เคยพูดแม้สักคำหนึ่งว่ามุอาวิยะฮฺมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของซัยยิดุนา หะซัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่สาธารณะ หรือพูดกับมิตรสนิทที่สุดก็ตาม นี่ทำให้เรามีเหตุผลมากพอที่จะบอกปัดข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่มีมูลความจริง
ตอนนี้ขอให้เราหันมาพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในตำราทางประวัติศาสตร์ที่เป็นรากฐานของข้อกล่าวหาดังกล่าว มีรายงานเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ระบุว่ามุอาวิยะฮฺมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของซัยยิดุนา หะซัน รายงานนั้นได้มาจากมุฮัมมัด อิบนฺ อุมัร อัล-วากิดีย์ นักประวัติศาสตร์ รายงานนี้มีใจความดังนี้ :
( อัล-วากิดีย์ )กล่าวว่า “ ฉันได้ยินบางคนกล่าวว่ามุอาวิยะฮฺแอบให้คนรับใช้คนหนึ่งของเขา( ซัยยิดุนา หะซัน )ลอบวางยาพิษสังหารเขา “(2)
ในฐานะที่เป็นรายงานทางประวัติศาสตร์ คำบอกเล่านี้มีข้อบกพร่องมากยิ่งนัก ประการแรกสุด นั้นได้แก่ความไม่น่าเชื่อถือไม่น่าไว้วางใจของอัล-วากิดีย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันจนเป็นสากล รายละเอียดของความไม่น่าเชื่อถือของเขาในฐานะที่เป็นผู้รายงานอาจจะกินเนื้อที่กระดาษหลายหน้าก็ว่าได้ แต่คำพูดของอิมาม อัช-ชาฟิอีย์เพียงประโยคเดียวอาจจะสามารถย่อรายละเอียดทั้งหมดนั้นได้อย่างเหมาะสม อิมาม อัช-ชาฟิอีย์เป็นคนในสมัยเดียวกับเขาและยังรู้จักเขาเป็นการส่วนตัวด้วย ท่านกล่าวว่า “ ในมะดีนะฮ มีคนหลายคนเคยปลอมสายรายงานหะดีษ หนึ่งในบุคคลเหล่านั้นได้แก่อัล-วิกิดีย์ “ (3)
ข้อบกพร่องประการที่สองนั้นโจ๋งครึ่มยิ่งกว่าเสียอีก ขอให้สังเกตุว่าอัล-วากิดีย์ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของผู้ให้ข้อมูล( ผู้เล่าหะดีษกันต่อๆ มาจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญมากในวิชาหะดีษ – ผู้แปล ) เขาเพียงกล่าวว่า “ฉันได้ยินบางคนกล่าวว่า“ ทั้งๆ ที่ในรายงานที่อยู่ในลำดับก่อนๆ หลายรายงาน อัล-วากิดีย์ระบุถึงชื่อของผู้ให้ข้อมูลของเขาอย่างชัดเจน แต่พอมาถึงรายงานเรื่องนี้ เขากลับกล่าวเพียงว่า “ฉันได้ยินบางคนกล่าวว่า“ จากหลักฐานที่หาแก่นสารไม่ได้อันนี้ใช่ไหมที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันกล้าพอที่จะนำมาใช้กล่าวหาฆาตกร แท้จริงแล้ว สาเหตุที่ไม่แยแสสนใจบูรณาการทางวิชการอย่างนี้ไม่ใช่เพื่ออะไรทั้งสิ้น นอกจากเพื่อสนองอารมณ์และอคติส่วนตัวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกรายงานหนึ่งที่ระบุว่า ญาดะฮ บินตฺ อัล-อัชอัษ ภรรยาคนหนึ่งของซัยยิดุนา หะซัน มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางยาพิษสังหารท่าน รายงานนี้กล่าวว่า ยะซีด อิบนฺ มุอาวิยะฮฺ เป็นผู้ที่วางหมากให้เธอปฏิบัติการดังกล่าว โดยสัญญาว่าจะแต่งงานกับเธอหลังจากนั้น รายงานนี้ได้มาจากการบอกเล่าของมุฮัมมัด อิบนฺ สะลาม อัล-ญุมาฮีย์ ท่านอัล-มิซซิ นำมากล่าวซ้ำในหนังสือ “ ตะฮซีบ อัล-กะมาล “ มีใจความว่า :
มุฮัมมัด อิบนฺ สะลาม อัล-ญุมาฮีย์เล่าสืบมาจากคำบอกเล่าของอิบนฺ ญุดูบะฮว่า ญาดะฮ บุตรสาวของอัชอัษ อิบนฺ กอยส เป็นภรรยาของหะซัน อิบนฺ อะลี ยะซีดได้ส่งจดหมายลับฉบับหนึ่งให้เธอ บอกกับเธอว่า “ จงวางยาพิษสังหารหะซันเสีย แล้วฉันจะเป็นสามีของเจ้า “ ดังนั้นเธอจึงทำไปตามนั้น เมื่อหะซันตายแล้ว เธอจึงส่งจดหมายไปหายะซีดขอให้เขาปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของเขา แต่เขา( ยะซีด )กลับบอกเธอว่า “ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เราไม่ได้ยอมรับว่าเธอเป็นภรรยาของหะซันเสียหน่อย แล้วเราจะยอมรับให้เธอมาเป็นภรรยาของเราเองกระนั้นหรือ? “(4)
รายงานเล่าเหตุการณ์ไปปรากฏในตำราทางประวัติศาสตร์ในลักษณะเช่นนี้แหละ สำหรับผู้อ่านที่ไม่พินิจพิเคราะห์ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของความถูกต้องน่าเชื่อถือและการนำ( หะดีษหรือรายงาน )ไปใช้ รายงานประเภทนี้อาจจะดูเป็นพยานหลักฐานที่ยอมรับได้ สำหรับบุคคลที่อารมณ์ทั้งมวลของเขาได้ทำให้เขาโอนเอียงเข้าข้างซัยยิดุนา หะซันอย่างนิยมชมชื่น และบอกปัดยะซีดอย่างไม่มีเยื่อใย รายงานประเภทนี้ถือเป็นหลักฐานที่โต้แย้งลบล้างไม่ได้เลย แต่ผู้รู้ที่แท้จริงนั้น เขาจะไม่ยอมปล่อยให้อารมณ์เข้ามากำหนดการตัดสินใจเพื่อตัวเขา ก่อนอื่นเขาจะพิจารณาหลักฐานนั้นเสียก่อน เขาจะตรวจสอบมัน และพินิจพิเคราะห์มัน ถ้ามันควรค่าแก่การเห็นด้วยและการยอมรับ เขาก็จะยอมรับมัน สำหรับผู้รู้ที่วินิจฉัยเป็น อารมณ์จะก่อรูปขึ้นตามพยานหลักฐาน มิใช่พยานหลักฐานก่อรูปขึ้นตามอารมณ์
ตอนนี้ขอกลับไปที่รายงานที่เรากำลังพูดถึง อิบนฺ ญุดูบะฮ ที่มุฮัมมัด อิบนฺ สะลามได้รับรายงานมานั้น คือคนที่รู้จักกันในนามว่า ญะซีด อิบนฺ อียาด อิบนฺ ญุดูบะฮ บุคคลผู้นี้อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮในระหว่างสมัยของอิมามมาลิก ครั้งหนึ่งอับดุรเราะมาน อิบนฺ อัล-กอซิม ลูกศิษย์ของอิมามมาลิก เคยสอบถามอาจารย์ถึงบุคคลที่มีนามว่า อิบนฺ ซัมอัน อิมามมาลิกตอบว่า “ เขาเป็นคนโกหก “ อิบนฺ อัล-กอซิมจึงถามต่อไปว่า “ แล้วอิบนฺ ญุดูบะฮเล่าครับ “ อิมามมาลิกตอบว่า “ เขาเป็นคนโกหกที่ใหญ่ยิงกว่า เป็นคนโกหกที่ใหญ่ยิ่งกว่า “ (5) นักวิเคราะห์ผู้เล่าหะดีษ( ริญาล )คนอื่นๆ ทั้งหมดที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวสถานภาพของอิบนฺ ญุดูบะฮในฐานะที่เป็นผู้เล่าหะดีษ ล้วนเห็นพ้องกับอิมามมาลิกไม่ในลักษณะใดก็ในอีกลักษณะหนึ่ง
ยิ่งกว่านั้น อิบนฺ ญุดูบะฮยังสิ้นชีวิตในสมัยของอัล-มะฮดีย์ เคาะลีฟะฮของวงศ์อับบาสิยะฮฺ ซึ่งเคาะลีฟะฮผู้นี้ปกครองอยู่จนถึง ฮ.ศ. 169 ถ้าสมมุติว่าอิบนฺ ญุดูบะฮตายในปี 165 และมีอายุทั้งสิ้น 70 ปี เราย่อมกล่าวได้ว่าเขาเกิดประมาณปี ฮ.ศ.95 หรืออีกนัยหนึ่ง ในตอนที่อิบนฺ ญุดูบะฮลืมตาดูโลก ขณะนั้นซัยยิดุนา หะซันอำลาจากโลกไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ เพราะฉะนั้น “แผนการยะซีด-ญาดะฮ” อาจจะเป็นที่รับรู้ของเขาโดยผ่านแหล่งข้อมูลที่เขาไม่ยอมเอ่ยถึง หรือมันอาจจะเป็นผลิตผลของจินตนาการที่ไม่ซื่อสัตย์และฝันเฟื่องของเขาเองก็ได้ โดยอาศัยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่บุคคลร่วมสมัยมีต่อตัวเขา( ตัวอย่างเช่น อะหมัด อิบนฺ ศอลิฮ อัล-มิสริ กล่าวถึงเขาว่า “ ฉันคิดว่าเขาสร้างหะดีษให้ประชาชน( ฟัง ) “6 ) บุคคลอาจมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า แผนการ( ลอบสังหารซัยยิดุนา หะซัน )ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่เขากุขึ้นมาเองทั้งสิ้น หากพิจารณาถึงช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ ซึ่งตรงกับสมัยของวงศ์อับบาสิยะฮฺต้นๆ เราพบเห็นผลเหตุที่ทำให้เชื่อมากยิ่งขึ้นว่า รายงานนั้นตัวอิบนฺ ญุดูบะฮเป็นผู้ปลอมมันขึ้นมาเอง ในระหว่างอับบาสิยะฮฺตอนต้น อารมณ์ความรู้สึกเป็นไปในลักษณะต่อต้านวงศ์อุมัยยะฮฺที่เพิ่งหมดอำนาจไป บุคคลที่มีชื่อกระฉ่อนอย่างยะซีดจึงกลายเป็นแพะรับบาปได้อย่างดีที่สุด
ตอนนี้ขอกลับที่นางญาดะฮ บินตฺ อัชอัษ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ยังมีรายงานอีกรายงานหนึ่งที่เชื่อมโยงเธอเข้ากับการวางยาพิษสังหารซัยยิดุนา หะซัน แต่รายงานนี้ไม่ได้เอ่ยพาดพิงถึงยะซีดแม้แต่อย่างใด(7) เป็นรายงานจากอุมม มูซา ซึ่งเป็นทาสีของซัยยิดุนา หะซัน(

สายผู้รายงานที่สืบย้อนขึ้นไปจนถึงอุมม มูซาเป็นที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม ณ ที่นี้ เราอาจจะตั้งคำถามที่เกี่ยวกับตัวอุมม มูซา ได้ว่า นางชี้ตัวญาดะฮว่าเป็นผู้กระทำผิด เพราะนางล่วงรู้ถึงความผิดของญาดะฮ หรือว่าคำพูดของนาง ณ ที่นี้ต้องถูกตีความว่าเป็นการระเบิดทางอารมณ์ของผู้หญิงที่สิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเพียงต้องโยนความผิดให้ใครบางคนว่าเป็นต้นเหตุให้นางหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
เราไม่ได้ยกคำถามนี้ขึ้นมาเพราะความสงสัยโดยไม่จำเป็น สิ่งที่กระตุ้นให้เราต้องตั้งคำถามมีอยู่สองประการด้วยกัน : ประการที่หนึ่ง ซัยยิดุนา หะซันลังเลที่จะเอ่ยชื่อบุคคลที่ท่านสงสัย ขอให้เราจำเอาไว้ด้วยว่า ท่านเพียงแต่สงสัยเท่านั้น และท่านไม่ได้รู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริง ประการที่สอง ถ้ามีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอที่จะสงสัยญาดะฮ บุนต อัชอัษจริงๆ แล้ว คงไม่มีชายใดพร้อมที่จะแต่งงานกับเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชายจากอะหลุลบัยต แต่กับญาดะฮ เราพบว่าหลังจากซัยยิดุนา หะซันถึงแก่มรณกรรมแล้ว เธอได้แต่งงานใหม่อีกกับซัยยิดุนา อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องซัยยิดุนา อะลีเอง และเธอได้ให้กำเนิดบุตรสองคน ได้แก่ มุฮัมมัด บุตรชาย กุรอยบะฮ บุตรสาว(9)
จากที่ได้อภิปรายมาข้างต้น เราอาจจะสรุปได้ความว่า : รายงานที่เชื่อมโยงมุอาวิยะฮฺเข้ากับการวางยาพิษเป็นเรื่องที่เล่าโดย อัล-วากิดีย์ ผู้เล่าหะดีษที่เชื่อถือไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง โดยไม่ทราบสายผู้รายงานแม้แต่น้อย
รายงานที่เชื่อมโยงยะซีดและนางญาดะฮเป็นเรื่องที่เล่าโดย อิบนฺ ญุดูบะฮ คนโกหกที่เขารู้กันทั่ว คนผู้นี้เกิดหลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 50 ปี แถมยังไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของรายงานด้วยว่าได้มาจากใคร รายงานของเขาเป็นเรื่องที่โจษจันกันในสมัยต้นๆ ของวงศ์อับบาสิยะฮฺ ซึ่งมีอารมณ์และความรู้สึกต่อต้านวงศ์อุมัยยะฮฺแพร่กระจายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกต่อต้านยะซีด
รายงานที่มาจากอุมม มูซา ซึ่งพาดพิงถึงนางญาดะฮดูเหมือนจะเป็นการระเบิดทางอารมณ์ของผู้หญิงที่หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกิดจากความรู้อย่างแท้จริง ซัยยิดุนา หะซันเองปฏิเสธที่จะเปิดเผยรูปพรรณของบุคคลที่ท่านสงสัย ท่านกำชับไม่ให้ซัยยิดุนา หุเซน น้องชายของท่านดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ภายหลังมรณกรรมของซัยยิดุนา หะซัน อะหลุลบัยตยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับมุอาวะยะฮฺในเมืองดามัสกัส
จากที่เรากล่าวมาข้างต้น เราขอสนับสนุนความเห็นของท่านอิบนฺ กะษีรอย่างเต็มที่ คือความเห็นที่ระบุว่า รายงานเหล่านี้ไม่มีสักรายงานเดียวที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ( เศาะเฮี๊ยะฮฺ 10 ) เราหวังว่าการพิสูจน์ที่เราทำขึ้นนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าคำพูดของผู้หญิงที่หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง รายงานจากผู้รายงานที่ไม่ทราบนาม และรายงานปลอมที่แต่งขึ้นโดยคนโกหกที่เขารู้กันทั่ว ทั้งหมดได้ถูกยกขึ้นเป็นประวัติศาตร์ได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้แนวทางในยามที่จำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก่อนที่จะก้าวเข้าไปกล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เชิงอรรถ :
1.กรุณาดู อิบนฺ กะษีร, อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ, เล่ม 7 หน้า 41 (ดารฺ อัล-หะดีษ, ไคโร 1414/1994); อัซ-ซะฮฺาบีย์, สิยารฺ อะอลาม อัน-นุบาลาอฺ, เล่ม 3 หน้า 273 ( มุอัซซะซาต อัร-ริซาละฮฺ, เบรุต, พิมพ์ครั้งที่ 7, 1410/1990); อัล-มิซซิ, ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 6 หน้า 251 ( มุอัซซะซาต อัร-ริซาละฮฺ, เบรุต, 1413/1992); อิบนฺ ฮาญัรฺ, อัล-อิศอบะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 13 (ดารฺ อัล-กุฏุบ อัล-อิลมียะฮฺ, เบรุต, ไม่ระบุปีที่พิมพ์); อิบนฺ อับดุลบัรรฺ, อัล-อิสติออับ, เล่ม 1 หน้า 390 (ดารฺ อัล-ญิล,เบรุต 1412/1992) รายงาน(หะดีษ)จะถือว่าถูกต้องน่าเชื่อถือ(เศาะเฮียะฮฺ)ตามข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้รายงาน(ผู้เล่าหะดีษ)ทั้งหมดเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่ามีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ และสายของการรายงานสืบต่อกันมาไม่ขาดตอน ตั้งแต่ต้นจนจบ
2. อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ, เล่ม 7 หน้า 41; ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 6 หน้า 251
3. ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 26 หน้า 194
4. ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 6 หน้า 253
5. ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 32 หน้า 223
6. ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 32 หน้า 224
7. ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล, เล่ม 6 หน้า 253
8. อิบนฺ ฮาญัรฺ, ลิซาน อัล-มีซาน, เล่ม 7 หน้า 543 (ดารฺ อัล-ฟิกร, เบรุต 1407/1987)
9. อิบนฺ สะอฺด, อัต-ตะบะกอต อัล-กุบรอ, เล่ม 5 หน้า 241 (ดารฺ อัล-กุฏุบ อัล-อิลมียะฮฺ, เบรุต 1410/1990)
10. อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ, เล่ม 7 หน้า 41