الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛
เมื่ออายะห์มุบาฮะละฮ์ได้ถูกประทานยังศาสดา(ศ) นบีก็ได้เชิญชวน อะลี ฟาตีมะฮ์ ฮาซัน และฮุเซ็น แล้วก็ได้กล่าวว่า:โอ้อัลลอฮ์ เหล่านี้คืออะห์ลุลบัยตของฉัน (มุสนัดอะห์มัด บิน ฮันบัล เล่ม1หน้า185,ศอหิฮ์มุสลิมเล่ม7หน้า120, ศอหีฮ์ ติรมิซี เล่ม5 หน้า596)
เป็นหะดีษที่บันทึกถึงมูลเหตุของการประทานอายะฮฺ มุบาฮะละฮฺ และระบุถึงรายละเอียดของบุคคลที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์มุบาฮะละฮฺ สถานภาพของหะดีษบทนี้คือ เศาะฮีหฺ และอายะฮฺมุบาฮะละฮฺ (آية الْمُبَاهَلَةِ) คือ อายะฮฺที่ 61 สูเราะฮฺอาลิอิมรอน
และอายะฮฺนี้พวกเขาถือเป็นหนึ่งจากหลักฐานในอัล-กุรอานที่ยืนยันถึงการเป็นอิหม่ามและเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) หลังจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) (ดู ดิรอสาตฺ ฟี อะกออิดฺ อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ ; สัยยิด มุฮัมหมัด อะลี อัล-หะสะนัยฺน์ หน้า 77 เป็นต้นไป)
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วอายะฮฺนี้ไม่ได้กำหนดเป็นตัวบทในการแต่งตั้งผู้ใดให้เป็นอิหม่ามหรือเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ระบุในหะดีษที่ยกมาก็คือ เมื่อมีการท้าให้มุบาฮะละฮิระหว่างพวกนะศอรอกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ลำพังการขอดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นก็เพียงพออยู่แล้วในการสร้างความประหวั่นพรั้นพรึงแก่พวกนะศอรอ เพราะถ้าหากท่านเป็นนบีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จริง ความวิบัติก็จะเกิดขึ้นกับคนพวกนั้นในฉับพลัน
แต่การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เรียกท่าน อะลี (ร.ฎ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านหะสัน (ร.ฎ.) และท่านหุสัยนฺ (ร.ฎ.) มาร่วมอยู่คืออะฮฺลุลบัยตฺ คือครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุดของท่าน ย่อมเป็นการยืนยันว่าท่านมั่นใจในความสัจจริงของท่านอย่างที่สุดแล้ว ถึงขึ้นเรียกบุคคลที่เป็นที่รักยิ่งของท่านและเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่านเข้ามาร่วมในการนี้ด้วย
นั่นเป็นข้อยืนยันว่าท่านไม่ลังเลแม้แต่น้อยในความสัจจริงของท่าน ถึงแม้ว่าจะต้องเสียสละบุคคลที่เป็นที่รัก และท่านก็มั่นใจว่าพวกนะศอรอเหล่านั้นเป็นพวกที่หลงผิดและมุสา อายะฮฺนี้จึงเป็นการอธิบายในทำนองที่กล่าวมา แม้นักตัฟสีรของพวกเขาก็อธิบายในทำนองนี้เช่นกัน (ดู อัล-มีซาน ฟี ตัฟสีรฺ อัล-กุรอาน ; สัยยิด มุฮัมหมัด หุสัยนฺ อัฏ-เฏาะบาเฏาะบาอียฺ 3/244)
หากอายะฮฺนี้เป็นหลักฐานในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน อะลี (ร.ฎ.) ต่อจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) และยืนยันว่าท่านได้รับการแต่งตั้งตามตัวบทของอายะฮฺนี้ นับแต่เวลานั้น (ขณะที่ถูกเรียกมาร่วมในการมุบาฮะละฮฺ) แล้วท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) และ อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ทั้งสามท่านนี้เล่าพวกเขาจะมีสถานภาพเหมือนท่านอะลี (ร.ฎ.) หรือไม่
เพราะท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้หญิง และท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ทั้งสองท่านยังเยาวฺวัยอยู่ ผู้หญิงและเด็กจะมีคุณสมบัติในการเป็นเคาะลีฟะฮฺได้อย่างไร
หากพวกเขาค้านว่า อายะฮฺนี้มุ่งหมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) เพราะคำว่า “อัมฟุสะนา” ในอายะฮฺบ่งชี้ถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่เสมอเหมือนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) (ดู กัชฟุลมุรอด ฟี ชัรหิ ตัจญรีดิล อิอฺติกอด ; อัล-หะสัน อิบนุ ยูสุฟ อิบนุ อัล-มุเฏาะฮฺฮิร อัล-หิลลียฺ หน้า 304 / มิศบาหุลฮิดายะฮฺ ฟี อิษบาตฺ อัล-วิลายะฮฺ ; อะลี อัล-มูสาวียฺ อัล-บะฮฺบะฮานียฺ หน้า 99-103)
ก็แสดงว่าไม่รวมท่าน อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) นอกเหนือจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) ที่เป็นสตรี ถ้าเป็นอย่างที่พวกเขาอ้าง แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะกล่าวทำไมว่า : “โอ้ อัลลอฮฺ เหล่านี้คืออะฮฺลุลบัยตฺของฉัน” เพราะประโยคนี้ (อัมฟุสะนา) หมายถึงท่านอะลี (ร.ฎ.) เพียงผู้เดียว
แต่ถ้าหากพวกเขาค้านต่อไปว่า ทั้งหมดเป็นอะฮฺลุลบัยตฺ ส่วนท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้น นอกจากท่านเป็นส่วนหนึ่งจากอะฮฺลุลบัยตฺแล้วถ้อยคำที่ว่า “อัมฟุสะนา” เป็นการระบุคุณสมบัติและสถานภาพอันสูงส่งของท่าน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าท่านจะได้เป็นเคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)
หากอ้างเช่นนี้ เราก็บอกได้ว่า ถ้าเป็นอย่างที่พวกเขาเข้าใจซึ่งไม่มีระบุในอายะฮฺว่าจะเป็นเคาะลีฟะฮฺเมื่อใด การเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ภายหลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็ย่อมหมายถึงการเป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เช่นกัน แต่ถ้าเจาะจงว่าเป็นต่อจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรงก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วตรงไหนของอายะฮฺเล่าที่ระบุเอาไว้?والله اعلم بالصواب
وصلى الله على سيدنا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين
ที่มา :
http://alisuasaming.com/webboard/index.php?topic=2025.0