ดังนั้นจึงห่างไกลจากอัลเลาะฮ์ตะอาลาเหลือเกิน ผู้ที่สร้างความอับอายให้แก่พี่น้องของเขาด้วยสาเหตุของความชั่วที่ทำขึ้น โดยไปลืมไปว่า บางทีตัวเขาเองอาจจะตกไปอยู่ในความชั่วนั้นเอง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ปราชญ์ตะเซาวุฟจึงกล่าวว่า
كُلَّ مَعْصِيَةٍ عَيَّرْتَ بِهَا أَخَاكَ فَهِيَ إِلَيْكَ
“ทุกๆ การฝ่าฝืน(ทำบาป)ที่ท่านสร้างความอับอายแก่พี่น้องของทาน การฝ่าฝืน(ทำบาป)นั้นก็จะหวนกลับไปยังท่าน”
หมายถึง การฝ่าฝืนนั้นมันจะหวนกลับไปยังท่านและท่านต้องกลับมาทำมันเองด้วยตามที่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ عَيَّرَ أَخَاهُ بِذَنْبٍ لَمْ يَمُتْ حَتَّى يَعْمَلَهُ
"ผู้ใดสร้างความอัปอายแก่พี่น้องของเขาด้วยสาเหตุของบาปหนึ่ง เขาผู้นั้นจะยังไม่ตายนอกจากเขาจะทำสิ่งนั้นด้วย" รายงานโดยอัตติรมีซีย์, ฮะดีษลำดับที่ 2429.
ดังนั้นวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำพูดหรือด้วยการแสดงอาการกระหยิ่มใจหรือสะใจเมื่อรู้ว่าพี่น้องเขาได้กระทำบาปนั้น ก็ถือว่าเป็นการด่าทอพี่น้องมุสลิมในทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอัลเลาะฮ์ตะอาลาจะทรงเมตตาพี่น้องมุสลิมที่ทำบาปแต่พระองค์จะให้บะลาอฺเกิดขึ้นแก่เขาโดยให้มีความรู้สึกว่าตนเองดีกว่าหรือตนเองมีระดับที่เหนือกว่า ความตะกั๊บบุรจึงเข้ามาอยู่ในหัวใจของเขาอย่างไม่รู้ตัว นั่นคือบะลาอฺอันร้ายแรงที่เขากำลังได้รับนั่นเอง
ดังที่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
لَا تُظْهِرْ الشَّمَاتَةَ لِأَخِيكَ فَيَرْحَمَهُ اللَّهُ وَيَبْتَلِيكَ
“ท่านอย่าเปิดเผยการด่าทอ(ด้วยคำพูดหรือการแสดงอาการดีใจเนื่องจากผู้ที่เขาไม่ชอบนั้นได้ทำความชั่วหรือได้รับการทดสอบเพราะถ้าหากท่านทำอย่างนั้น)แน่นอนอัลเลาะฮ์ก็จะเมตตาเขา(เพื่อให้ท่านตกต่ำ)และทรงทดสอบให้เกิดบะลาอฺแก่ท่าน(ด้วยการให้ท่านมีความรู้สึกตะกั๊บบุร)” รายงานโดยอัตติรมีซีย์, ฮะดีษลำดับที่ 2430.