6
« เมื่อ: ก.พ. 25, 2009, 12:07 PM »
คณะใหม่ : ในเชิงรุก
ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง พวกเก่า ( โกมตัว ) พวกใหม่ (โกมมูดา ) ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมมุสลิมของเรา นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังพูดถึงกันอยู่ตามจังหวะ โอกาส สถานที่จะเอื้ออำนวย พูดกล่าวพาดพิงซึ่งกันและกัน
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1970 องค์การสันนิบาติอาหรับ (อัร - รอบีเฏาะห์) ได้ให้ทุนนักศึกษากับพี่น้อง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศอาหรับ ผลิตนักศึกษาที่มีแนวคิดตามนักศาสนาสมัยใหม่ หรือ “โกมมูดา” นำความรู้เข้าไปเผยแพร่ในประเทศและจังหวัดของตน ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งเติบโต มีสถานทูตคอยอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ผ่านองค์กร มูลนิธิ มอบเงินสร้างสาธารณะสถานต่างๆ , สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า , สหกรณ์การเงิน,โรงเรียนอนุบาลเด็กเล็กถึงระดับมหาวิทยาลัย ฯลฯ
ประเทศในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่มีประชากรที่ถือมัซฮับชาฟีอีย์มากที่สุด เช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย นับเป็นเป้าหมายหลัก พวกเขาทุ่มเททุนสนับสนุนขนานใหญ่ โดยให้ทุนการศึกษา เข้าไปบริจาคช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้นั้น ซึ่งมีคนนับถือสายมัซฮับชาฟีอีย์เป็นส่วนใหญ่ พวกเขาก็รุกคืบด้วยสร้างแนวร่วมมีเป็นระบบ ทั้งการศึกษา การเงิน การเมือง และสังคม ดังนั้น การเดินทางที่คืบใกล้หัวใจหลักของชาวบ้านสายชาฟีอีย์เดิมๆก็คือ มัสยิด , มัดดราซะ สถานที่ให้ความรู้อันสำคัญที่ยังมีอิทธิพลต่อวิถีการดำรงอยู่ของชาวบ้านตั้งแต่อดีต พวกเขาพยายามแทรกตัวไปในพื้นให้งบประมาณซ่อมแซมศาสนสถาน ฯลฯ ประสานผ่านผู้นำหมู่บ้านที่ไม่เข้าใจลึกซึ้งดีพอ ที่จะแยกแยะว่าไหนพวกเก่า ไหนพวกใหม่ จึงสมยอมรับเงินบริจาคเหล่านั้น ปล่อยให้เข้าถึงในหมู่บ้านเงียบๆ ผ่านการตัดสินใจของผู้นำไม่กี่คน ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ดีได้แต่ทำอะไรไม่ได้เลย
ในปัจจุบันนี้ การเผยแพร่โดยการให้เงินสนับสนุนอำพรางค่อนข้างประสบความสำเร็จ คำว่า “เงินอาหรับให้” มีคนพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็สรุปว่าเขาให้เงินก็เอาไว้ก่อน ไม่ทำตามเขาเสียอย่างใครจะทำไม ? หากคิดได้เพียงแค่นั้น ก็เท่ากับว่าได้ส่งเสริมให้พวกใหม่เติบโต กำลังสร้างสะพานให้พวกเขาเดินมาในหมู่บ้าน ให้ลูกหลานเป็น “โกมมูดา ”ในวันหน้าอย่างน่าเศร้าใจ
คณะใหม่โดยการสนับสนุนขององค์กรต่างๆในประเทศอาหรับถือว่า การล้างสมอง ที่ใช้ได้ผลก็คือระบบการศึกษานั่นเอง ไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่มันได้ผลในระยะยาว พวกใหม่กำลังเลือกใช้แผนนี้ในปัจจุบัน ด้วยการสร้างโรงเรียนทุกระดับชั้นเอาไว้เพื่อรอรับลูกหลานของพวกเราชาวสายเก่าให้เข้าไปเรียน สร้างภาพนักการเมืองเปี่ยมอุดมการณ์อิสลามให้เราเลือกเป็นตัวแทนในสภาผู้แทน ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ฝากและยืมเงิน เป็นการสร้างวงล้อมพวกเก่าทุกด้าน ทั้งการศึกษาการเมือง การเงิน และสังคม พวกเก่าหันไปทางไหนก็ติดทั้งนั้น ปรากฏการณ์เช่นนี้ ดูผิวเผินแล้วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าลองคิดดูดีๆแล้วมันน่ากลัว ในวันที่เราคนอายุ 50-60 ในวันนี้ล้มหายตายจากไป วันนั้นแหละ พวกใหม่จะยืนชูธงชัยเหนือพวกเก่าอย่างราบคาบ
สถานการณ์ในขณะนี้ถ้านับเป็นรุกรบก็นับว่าพวกเก่ากำลังอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจศาสนาอย่างลึกซึ้งดีพอ ไม่สามารถที่จะโต้แย้งหรือขัดขวางแต่ประการใด หากสังคมหมู่บ้านเป็นอยู่เช่นนี้ ก็เข้าทางพวกใหม่ทันที ดังนั้น หากเรายังมีใจรักและจิตสำนึกเพื่อวิชาการศาสนาอย่างคนรุ่นก่อน จงมาช่วยกันยับยั้งสกัดกั้นไม่ให้พวกใหม่เข้ามาในหมู่บ้านของเราทั้งในระยะสั้นระยาว
การเผยแพร่เข้าสู่หมู่บ้านของโกมมูดา
ได้เริ่มต้นตั้งแต่นักเรียนทุนที่ได้ไปเรียนที่ประเทศอาหรับนำแนวคิดของนักวิชาการสมัยใหม่มาเผยแพร่ แต่ในช่วงแรกๆ มีปัญหาการต่อต้านจากผู้รู้มากมาย ทำให้ต้องทบทวนเสียใหม่ เพราะการที่จะสลายความคิดของ “โกมตัว”ที่อยู่ในสังคมมาอย่างช้านานในสี่จังหวัดภาคใต้นั้น มันไม่ใช่เรื่องกระทำกันโดยง่ายดายนัก ดังนั้นการเผยแพร่ในลักษณะของวิชาการจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ พวกเขาเลือกไม่ชอบวิธีการตอบโต้ในเชิงวิชาการ เปลี่ยนเป็นสร้างแนวร่วมใหม่ ปฏิบัติการแบบไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าเคลื่อนไหว
เมื่อการเผยแพร่แบบใหม่ที่เป็นลักษณะ ลับ ลวง พราง ก็เริ่มต้นขึ้น กลุ่มเผยแพร่วิชาการสมัยใหม่ใช้กลยุทธ์ ที่แนบเนียนเพื่อหวังผลอย่างยั่งยืนในวันข้างหน้า มากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับผู้รู้ซึ่งยังมีอยู่อย่างมากมายในสี่จังหวัดภาคใต้ ขบวนการวาฮาบีย์ซึ่งได้จากเงินทุนจากประเทศอาหรับ ผ่านองค์กรเอกชนในนามมูลนิธิต่างๆ ก็เคลื่อนไหวออกมาเงียบๆ เป็นเปลี่ยนกลยุทธ์สร้างฐานที่มั่นก่อนนำหน้าวิชาการ พวกเขาเลือกใช้วิธีตีวงล้อมให้ค่อยเป็นไปเองตามธรรมชาติ รอวันให้ “พวกเก่า”ล้มหายไปอย่างช้าๆด้วยตัวมันเอง
กลยุทธ์ต่างๆพอนำมากล่าวถึงให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้นดังนี้
1. การศึกษา
• โรงเรียนอนุบาลเด็กเล็ก
• โรงเรียนสามัญ ป 1 - ป 6
• โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา
• มหาวิทยาลัย
2. สถาบันการเงิน
• สหกรณ์ออมทรัพย์
3. สร้างสาธารณะประโยชน์
• มัสยิด ,เงินซ่อมแซมมัดดราสะ
3. การเมือง
• มีนักการเมืองสายวาฮาบีย์ลงสมัครเลือกตั้งทุกครั้ง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบในสังคมระดับจังหวัด และหมู่บ้าน ที่คอยดึงลูกหลานของเราให้เข้าไปศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี ชักชวนพวกสายเก่าฝากเงินที่สถาบันการเงินที่พวกเขาสร้างขึ้น มอบเงินสร้างมัสยิด สาธารณะสถานเป็นในลักษณะมอบให้โดยไม่หวังผล เราเลือกนักการเมืองของพวกใหม่โดยไม่รู้ตัว เพราะได้ยินเขาพูดถึงอุดมการณ์อิสลาม
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาทั้งหมดกำหนดขึ้นอย่างจงใจ ที่จะค่อยๆกลืนพวกสายเก่า หรือสายชาฟีอีย์ดั้งเดิมแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว เป็นการเผยแพร่แนบเนียน มองไม่ออกว่าเขากำลังกลืนพวกเราเงียบๆ มันเป็นการเผยแพร่ที่แนบเนียนจนกระทั่งมีผู้รู้บางคนกล่าวว่า แม้จะเงยหน้ามอง ก็ยังมองไม่เห็น เพราะวาฮาบีย์รอการสุกงอมของวันหนึ่งข้างหน้า วันที่ลูกหลานของเราเติบโตขึ้น รอวันที่ผู้รู้ล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน พวกใหม่รอคอยวันนั้นมาถึงอย่างใจเย็น ในที่สุดก็ยอมศิโรราบให้กับพวกเขาจนหมดสิ้นในวันหน้า
ปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน
เราไม่มีอะไรจะต่อต้านบ่อน้ำของอาหรับที่มีเต็มไปด้วยเงินทุนมหาศาลที่นับวันจะมีเรี่ยวแรงและพลังมากขึ้นทุกวัน พวกเราต้องเร่งรีบให้ความรู้กับขบวนการแนวคิดใหม่นี้ลงสู่เยาวชน ชาวบ้านได้รับทราบ เป็นการติดอาวุธทางปัญญาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ให้รู้สึกหวงแหนและอนุรักษ์กับความเป็น “โกมตัว”ของเรา เพราะการเคลื่อนไหวของวาฮาบีย์ครั้งนี้ไม่ธรรมดา พวกเขากำลังปรับโครงสร้างของเราดั้งเดิมให้หมด พวกเขาจะค่อยๆกลืนให้พวกเราหายไปอย่างแนบเนียน โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเรากำลังถูกเขาเปลี่ยนเลย
ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่า มัซฮับของชาฟีอีย์นั้นฝังรากลึกอยู่ในประเทศเอเชียตะวันเฉียงใต้อย่างเหนียวแน่น จากคนรุ่นต่อรุ่น สมัยต่อสมัยตราบมาจนถึงยุคสมัยของเรา แต่ทว่า ในเวลานี้กระแสของพายุชนิดใหม่ที่พัดมาผ่านเข้ามาในรูปแบบขององค์กรช่วยเหลือในด้านเงินทุนของกลุ่มประเทศอาหรับ ส่งผลให้พวกชาวบ้านซึ่งอยู่อย่างสงบสุขอยู่ในวิถีเดิมๆ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ความขัดแย้งในด้านแนวคิดเริ่มลุกลาม ทำบุญให้คนตายไม่ได้ เยี่ยมกูโบร์ไม่ได้ อ่านกีตาบไม่ได้ เรียนซีฟัต ดัวปูโละห์ไม่ได้ ฯลฯ จะค่อยเพิ่มมากขึ้น และจะเกิดกลียุคเมื่อเกิดปะทะกันในด้านวิชาการในวันข้างหน้า ซึ่งวันนั้นมาถึงเราก็จะไม่มีพลังต่อกรอะไรได้เลย
จะขอยกตัวอย่างหมู่บ้านแห่งหนึ่งไว้เป็นกรณีศึกษา ว่าการคืบคลานเข้าหมู่บ้านทีละน้อยๆของพวกวาฮาบีย์ ได้สร้างความแตกแยกให้หมู่บ้านขนาดไหน หมู่บ้านแห่งนั้นมีมัสยิดเพียงหลังเดียว และมีมัดดราซะสามแห่งที่มีโต๊ะครูคอยสอนหนังสือทุกค่ำคืน แต่พอมีการสร้างมัสยิดหลังใหม่เกิดขึ้นความเงียบสงบที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานก็เริ่มโกลาหล มีการแบ่งกอรียะห์ใหม่ ใช้วืธีบังคับจิตใจชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว คุณไปมัสยิดโน้น คุณไปมัสยิดนั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาดแล้วผู้นำยังนำความแตกแยกมาให้ชาวบ้านเป็นของแถมอีกด้วย หากผู้นำคำนึงถึงความสามัคคี สมานฉันท์ เหมือนอย่างคนรุ่นก่อนทำเป็นตัวอย่างก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ทั้งๆ หมู่บ้านแห่งนี้ควรมีมัสยิดเดียว มีคนมาก ก็สามารถช่วยกันสร้างหลังใหม่ได้ สมัยก่อนเขาร่วมใจสร้างกันได้โดยไม่มีเงินอาหรับมาช่วยเหลือ ทำไมคนรุ่นก่อนทำได้ ชาวบ้านสมัยนี้ทำไม่ได้หรือ นี่เพราะคนรุ่นก่อนเขาร่วมมือร่วมใจกัน มีความสามัคคีกันแต่เราในวันนี้ขาดความสามัคคีใช่หรือไม่ ? ในหนึ่งหมู่บ้าน ควรจะมีมัสยิดหนึ่งเพียงหนึ่งแห่ง แสดงให้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่สมควรที่แยกเป็นสอง สาม สี่ ท่านจะหลงเหลือความภาคภูมิใจอะไรกันเล่า ในเมื่อได้มัสยิดหลังใหม่ แต่ความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นของพี่น้องในหมู่บ้านอยู่ในสภาพไม่เหมือนเดิม
ท่านผู้อ่านที่เคารพรัก มัดดราซะ หลังคารั่ว มัสยิดชำรุด ด้วยวันเวลาผ่านพ้นไปหลายสิบปี แต่ในนั้นมันมีความหมาย ความภาคภูมิใจของโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม โต๊ะละใบ ของเราที่ได้ล้มหายตายจาก ที่เขาจากไปพร้อมกับทิ้งมรดกคำสอนความเป็น “โกมตัว” แนวทางของมัซฮับชาฟีอีย์ให้กับพวกเรา เราจงช่วยกันยึดถือสายเดิมอย่างเหนียวแน่น เพียงหลังคามัดดราซะรั่วก็ร่วมมือร่วมใจกันซื้อสังกะสีแผ่นใหม่ ช่วยกันหาทุนทรัพย์มาซ่อมแซม หรือสร้างมัสยิดหลังใหม่ได้ โดยไม่ต้องเอาเงินของอาหรับมาเป็นข้ออ้าง มรดกของรุ่นโต๊ะครู โต๊ะละใบ และบรรพชนของเรานั้นมีค่ามหาศาล ไม่ใช่ราคาเพียงสามล้านหรือ สิบล้าน อย่าให้เงินทอง และภาพสวยงามผู้ใจดี มาทำลายความเชื่อดั้งเดิมของเรา ที่เราจะสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่เราล้มหายตายจาก วันที่ลูกหลานของเราขึ้นมาสืบแทนที่เลย
ทางออกที่รีบด่วนที่สุด ก็คือให้ความสำคัญกับการสอนหนังสือกีตาบอันเป็นหัวใจหลักของบรรดาโต๊ะครูที่เคยสอนเป็นตัวอย่าง เร่งฟื้นฟูความรัก ความสามัคคีในหมู่บ้าน อย่าให้ใครมาเบียนเบียนทำลาย ให้ทุกท่านมั่นใจในความยิ่งใหญ่ของอีหม่ามชาฟีอีย์ , อีหม่ามอัชอารีย์ ,อีหม่ามฆอซาลี และอูลามาห์คนสำคัญ ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธในความเป็นอูลามาห์ของพวกเขา ที่ได้ทิ้งความเป็นชาฟีอียะห์เป็นมรดกให้เราเดินตามจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตข้างหน้า จงเร่งรีบหาความรู้ใส่ตัวเพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับตนเอง และลูกหลานของเราในวันข้างหน้า
เอกสารนี้ผู้เรียบเรียงข้อมูลให้ท่านศึกษาเป็นพื้นฐาน หากพบประเด็นปลีกย่อยต่างๆ หากท่านข้องใจก็หาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างสะดวก ขอให้อ่านด้วยจิตใจที่เปิดกว้างด้วย “สำนึกสาธารณะ” ที่มองผลประโยชน์ ความสูญเสียส่วนรวมเป็นหลัก ตระหนักถึงความสูญเสียในเรื่องวิชาการศาสนา มากกว่าได้เงินสร้างมัสยิดหลังใหม่ ให้ท่านค่อยๆทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หาทางออกที่สอดคล้องกับวิถีเดิมของคนรุ่นก่อนที่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น อย่าให้มัสยิดหลังใหม่ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางความคิดที่ต่างกัน เป็นฉนวนแตกแยกเกิดขึ้นในหมู่บ้านของเราเลย
อัลเลาะฮ์ (ซบ.) ได้กล่าวในคัมภีร์อัล- กุรอ่าน :ซูเราะห์ อาลิ อิมรอน อายะห์ที่ 103 : มีใจความว่า
“วะตาซีมู บีฮับลิลลา ฮียามีเอา วาลาตาฟัรรอกู”
"และพวกเจ้าจงยึดถือสายเชือกของอัลเลาะห์โดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน"
หวังว่าท่านคงมองเห็นหน้าตาของ “นักศาสนาสมัยใหม่ หรือโกมมูดา” ในภาพที่ชัดเจนและรู้ทันความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ดีขึ้น .
บทความโดย อับบาส อาลี