แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - suksara

หน้า: [1] 2 3 4
1
 การพัฒนาไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่
   
   หากพูดถึงการพัฒนา หลายคนมองถึงการต้องสร้างโน่นสร้างนี่ใหม่ แต่การพัฒนาเช่นนั้น ย่อมจะขาดความยั่งยืน เพราะไม่มีพื้นฐานความถนัดเดิมของชุมชนเป็นตัวรองรับ
   การพัฒนาในสิ่งที่คนในชุมชนไม่เชี่ยวชาญ ทำไม่นานก็ฝ่อ
   แนวทางการสร้างชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะของหมู่บ้านยายม่อม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ที่แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยเข้าไปดำเนินการจึงเน้นไปที่การแก้ปัญหาหลักของชุมชน ก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าทางชุมชนบ้านยายม่อมจะมีพื้นที่เป็นของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถนำมาพัฒนาพัฒนาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ เนื่องจากขาดทักษะความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมไปถึงการไม่สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการประมงเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ส่วนการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านก็มีปัญหาเพราะระบบนิเวศน์ถูกทำลายโดยการทำประมงขนาดใหญ่ และการที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้น ก็ทำให้การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
   การสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข็มแข็งจึงเป็นทางออก และเศรษฐกิจชุมชนที่ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยเลือกมาพัฒนาก็คือ การประมง นั่นเอง
   เริ่มจากการนำพื้นที่ของมัสยิดที่รกร้างว่างเปล่ามาพัฒนาจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะ  โดยการทำบ่อเลี้ยงปลากะพงด้วยการใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายๆ การปลูกป่าโกงกาง การทำบ่อเลี้ยงปูในป่าโกงกาง การปล่อยไขปูนอกกระดองลงทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณปู การติดเสาเรือใบในเรือประมง เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากน้ำมันในการทำประมง
   และเนื่องจากบ้านยายม่อมมีความสัมพันธ์ในชุมชนค่อนข้างแน่นแฟ้น ทำให้มีระดับความปลอดภัยสูง ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยจึงได้ผลักดันให้เกิดสวนสุขภาพป่าชายเลนเพื่อก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
   ผลจากการลงมือผลักดันชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะให้เกิดขึ้น หมู่บ้านยายม่อมในวันนี้จึงกลายเป็นเป็นศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ และสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดตราดก็ขอความร่วมมือแกนนำชุมชนบ้านยายม่อม ไปร่วมเป็นวิทยากรในการติดเสาเรือใบในเรือประมง
   จากชุมชนที่หาทางออกให้กับตัวเองไม่เจอ วันนี้บ้านยายม่อมกลับกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ใครๆต่างก็อยากจะเจริญรอยตาม
   หลายสิ่งที่ชาวบ้านทำในวันนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ ต่างเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนรู้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยลงมือทำอย่างจริงจัง และขาดคนมาชี้ทางให้
   จนเมื่อแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยมาช่วยผลักดันและชี้ทาง การพัฒนาที่บ้านยายม่อมจึงรุดหน้าอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดสุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

2
 ชุมชนรักษ์สุขภาวะคืออะไร   

   โครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) นับเป็นโครงการทางด้านสุขภาวะที่ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่เป็นการทำให้สุขภาวะที่ดีแทรกซึมไปในฐานรากที่สุดของสังคม
   การจะทำความรู้จักกับโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย หากไปทำใครก็คงได้คำตอบไม่ละเอียดลออเท่าจากปากของผู้ประสานงานโครงการ และคนที่จะพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คงไม่พ้นคุณพคาน บุญพันธ์

สุขสาระ : เป้าหมายของโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะคืออะไรครับ?
   คาน : คือว่าเวลาลงพื้นที่จริงๆแล้วมันเป็นการไปกระตุ้นปลูกจิตสำนึก เพื่อหาอาสาสมัครมาให้กับแผนงานอาสาสมัครที่จะมาทำงานด้านสุขภาวะในชุมชนให้กับเรา ในระยะแรกเวลาทำงานจะเป็นลักษณะการสร้างกระแสเพื่อให้เขาได้รู้จักกับแผนงานก่อน  พอระยะที่สองเป็นการสร้างเครือข่าย พอระยะที่สามเป็นการกำหนดกับเครือข่ายว่าคุณจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือลักษณะของการลงมือทำงานด้านการชุมชน

สุขสาระ : ในช่วงแนะนำโครงการ ก็จะเป็นพวกกิจกรรมพาไปสัมมนาไปดูงานหรือเปล่าครับ?
คาน : มันแล้วแต่ใครที่รับผิดชอบงานนี้ แต่ของเรามันเป็นงานซึ่งเราลงไปอยู่กับชุมชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อสร้างภูมิปัญญา แต่งานแรกของเราก็คือว่าเราต้องสร้างความสนิทสนม เราก็ต้องรู้ให้ได้ว่า ในพื้นที่นี้ใครเป็นอะไรยังไง ก็คือเข้าใจคนในพื้นที่ แล้วเราก็จะรู้ว่าเมื่ออยู่ในพื้นที่ว่านี้เราสามารถจะสร้างเรื่องสุขภาวะในพื้นที่ในเรื่องอะไรได้บ้าง จะเป็นลักษณะนั้น  แต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน อย่างที่ไปทำที่จังหวัดตราดตรงนั้นใช้พื้นที่ร้างของมัสยิดทำเป็นที่เลี้ยงปลากระพงสัมพันธ์ให้กับชุมชน

สุขสาระ : เลี้ยงปลากระพงสัมพันธ์ที่ชุมชนไหนครับ?
   คาน : ทำที่ชุมชนบ้ายยายม่อม จังหวัดตราด คือตรงนั้นใช้พื้นที่ร้างของมัสยิดเลี้ยงปลากระพง โดยกรมประมงเข้ามาช่วย อย่างตอนนี้เราก็ทำปูไข่นอกกระดองเข้ามา เพิ่มปริมาณปู ชาวบ้านเขารู้กันอยู่แล้วว่าปูไข่นอกกระดองนี่สามารถสร้างประชากรได้มากถึงแสนถึงห้าแสนตัว แต่ว่าเขาไม่ได้ทำ เวลาเราทำให้ดู พอปูมันเพิ่มขึ้น ที่นี้เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งแล้ว เขาทำกันเอง

สุขสาระ :  ในกรณีที่ชุมชนรักษ์สุขภาวะที่ท่าสูงบน จ.นครศรีธรรมราช มีจุดเริ่มต้นยังไง?
คาน : ที่ท่าสูงเราทำโครงการออกกำลังกาย ทำเรื่องเลิกบุหรี่ แล้วก็เรื่องของสภาพแวดล้อม การเก็บขยะ การปลูกต้นสน การออกกำลังกายตอนแรกที่ตรงพื้นที่โรงเรียน ต่อมาก็มาเพิ่มตรงริมหาด จริงๆที่ทำตอนเริ่มมันไม่มีอะไร แต่ว่าพอไปทำแล้วมันกลายเป็นว่า ชาวบ้านเขาชอบ เพราะสามารถทำให้เขาออกกำลังได้ อีกอย่างนึงถ้าไปดูในพื้นที่จะเห็นว่าเขามีอาชีพทำกุ้งแห้ง กุ้งแห้งเขาจะใส่สีแดงสดเลย แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีสองสีแล้ว เขาเริ่มลดสีลง เพราะเขาเริ่มรู้แล้วว่ามีผลเสียอะไร

สุขสาระ : อย่างเรื่องของสีผสมอาหารทางโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะเข้าไปกระตุ้นยังไง?
คาน : จุดดีอย่างหนึ่งของแผนงานก็คือว่า เวลาเราไปทำ เราก็จะเอาความเป็นอิสลามลงไปบอก เวลาเราไปทำงานด้านสุขภาวะนี่ จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องจำเป็นของคนมุสลิมเรา ที่ต้องดูแลสุขภาวะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ทางสังคมมุสลิมก็เริ่มรับว่า เวลาจะกินอาหารก็ต้องระวังแล้วว่าอย่ามีสิ่งเจือปน อย่ามีสิ่งแปลกปลอม ที่ภาคใต้นี่ ไม่ว่าอะทำไร  มันต้องเป็นสีแดงหมดนะ มันเป็นลักษณะที่เขาชอบมาก แต่วิธีของเราคือว่า เราค่อยๆให้เขาดูแลเรื่องอาหารกิน เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสุขภาวะเรื่องทั่วๆไป ประเด็นตอนนี้คือ เขาเริ่มแล้ว เมื่อก่อนมันจะมีแต่สีแดงอย่างเดียวเลย

สุขสาระ :  ถ้าพูดถึงเรื่องของชุมชนสุขภาวะที่ทำมา ชุมชนไหนที่ประสบความสำเร็จที่สุด?
คาน : ถ้าเอาว่าเป็นจากมากเลยนะ ขนาดนายกฯยังไปดูมาแล้วคือที่ปาตาบาระที่ปัตตานี เขาทำเศรษฐกิจชุมชน ขายเดือนนึงล้านกว่าบาท เขาไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะว่าเขามีปลากะพง เขามีกระชัง แต่ว่าเขามีปัญหาเรื่องแมลงวันทั้งเมืองเลย เพราะว่าเขาทำกรือโป๊ะเยอะ เขาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาวะมันก็แย่ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้เหมือนกันว่าเราจะเอาเรื่องอะไร ถ้าเราจะเอาเรื่องเศรษฐกิจ บางทีก็จะขาดเรื่องสุขภาวะ ตอนนี้ก็กำลังคุยอยู่ว่าจะแก้ยังไง แล้วก็ยกตัวอย่างที่มัสยิดบ้านเหนือ สงขลา ซึ่งชาวบ้านมีบ้านอยู่ริมคลอง อิหม่ามก็ให้เขาย้ายบ้านจากริมคลองมาไว้ข้างบนเลย เพื่อจะดูแลริมคลอง เราลงไปกระตุ้น แล้วเขาเห็นด้วยที่จะดูแลเรื่องแม่น้ำลำคลอง ทีนี้ที่บ้านเหนือบรรยากาศทุกอย่างดีหมดเลยนะ แต่ก็มีปัญหาว่าเน้นเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้

สุขสาระ : แล้วเขามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไหม?
คาน : ไม่มี ตรงนั้นสมัยก่อนก็มันเป็นแพปลา โดยรวมก็ถือว่าเป็นคนไม่ลำบาก เป็นคนสร้างฐานะปานกลาง การสร้างมัสยิดเขาใช้เงินบริจาคจากชาวบ้าน สิบสองปีน่ะเขาจัดกิน ทุกศุกร์จะมีร้านของมัสยิด ใครมาเขาก็กินในร้านแล้วก็ทำบุญด้วยจ่ายตังค์ด้วยน่ะ สิบสองปีก็มีเงิน 25 ล้าน เขาก็สร้างทั้งหมด แล้วก็อิหม่ามแกจบด๊อกเตอร์นะ แกจะซื้อที่หมด เราก็ถามว่าซื้อที่ทำไม เขาก็บอกว่าจะได้สร้างชุมชน ตอนนี้แกให้ชาวบ้านผ่อนอยู่เดือนละ 500 บาท ทำมาสิบห้าปีแล้ว ปีๆนึงแกสร้างบ้านให้คนจนปีละหลัง มีซะกาตปีละสองแสน ปีนึงแกกำหนดเลย สร้างบ้านให้คนนึง ปีนี้คนนึง แกก็แฮปปี้ แต่ว่าไม่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ เน้นสร้างความสุขในชุมชน

สุขสาระ : จะมีข้อแนะนำอะไรบ้างสำหรับการพัฒนาชุมชน?
คาน : เราคิดว่าหัวใจสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านมันอยู่ที่ผู้ประสานงาน มันเหมือนมหาวิทยาลัย คนที่มีความรู้ต้องลงมาช่วยผู้ที่ไม่มีความรู้ คนรวยต้องลงไปช่วยคนจน มันต้องเป็นในลักษะนั้น เช่นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร แต่คนข้างนอกเขาตื่นเต้น คนที่เป็นผู้ประสานงานก็จะลงไปช่วยเรื่องนี้ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดขึ้น คือความรู้สึกของคน เขาจะไม่เชื่อถือคนกันเอง แต่พอคนอื่นเข้าไปเขาเชื่อ ทั้งๆที่คนในชุมชนเก่งกว่าเยอะ แล้วอีกอันนึงคือคนที่อื่นสามารถช่วยเชื่อมกับรัฐบาลได้ ซึ่งในความเป็นจริงเนี่ยรัฐบาลจ้างราชการมาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านแต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอย่างไร ผู้ประสานงานก็ไปช่วยตรงนั้น

3
 ใครว่าการอบรมสัมมนาคือการไปเที่ยว?
ไปงานสัมมนาแล้วได้อะไร?
หลายคนอาจแค่ได้ไปเที่ยว ได้ไปนั่งตากแอร์ ได้เงินค่าเดินทาง หรือบางคนกลับไปมือเปล่า แต่หลายคนที่มาเข้าโรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิม กลับไม่ได้กลับไปมือเปล่า 
โรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิม เป็นโครงการที่มีแนวทางการอบรมสัมมนาหลักสูตรการพัฒนาผู้นำองค์กรมุสลิม โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย(สสม.)
   โครงการฝึกอบรมหลักสูตรนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมีประสิทธิภาพในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น
   เนื้อหาในการฝึกอบรมของโรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิมจะประกอบไปด้วยเรื่องจิตสำนึกและความรับผิดชอบของผู้นำในการเสริมสร้างสุขภาวะ, กระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง และเนื้อวิชาสุดท้ายก็คือการศึกษาเรียนรู้ด้วยการดูงานชุมชนตัวอย่าง
   แล้วคนที่ผ่านการอบรมจากโรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิม เมื่อกลับไปยังชุมชนของตน เขากลับไปทำอะไรกันบ้าง
   ตัวอย่างแรกคือ คุณอำนวย หมุดทอง ประธานชุมชนสะและห์น้อย เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ สิ่งสำคัญที่คุณอำนวยนำไปใช้ก็คือการเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เขาได้เขียนโครงการขอสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ศูนย์ประสานงานภาคกลาง ใน “โครงการอบรมผู้สูงอายุ และอาหารสมุนไพร” จำนวน 54,000 บาท ขอการสนับสนุนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำนวน 13,000 บาท เพื่อจัดทำโครงการคุณโทษของยาเสพติด และ”โครงการค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อน” ก็ของบประมาณสนับสนุนจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 30,000 บาท
ผู้เข้ารับการอบรมท่านต่อมาคือ คุณอับดุลเลาะ ยิ่งนิยม ผู้นำชุมชนมัสยิดแก้วนิมิตร คลองหนึ่ง ปทุมธานี เมื่อกลับมาจากการอบรม เขาก็ได้นำความรู้เรื่องการเขียนโครงการไปขอรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลคลองหลวงเพื่อจัดทำโครงการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนและคลองสวยน้ำใส เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
ส่วนคุณมะเหรม ดาราไก และคุณยูโสป เทพรัตน์ ผู้นำชุมชนมัสยิดบ้านท่าสูง อ. ท่าศิลา จ.นครศรีธรรมราช หลังจากผ่านดารอบรมโรงเรียนผู้นำฯ รุ่นที่1 ได้กลับมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับสมาชิกในชุมชน จำนวน 20 คน ไปศึกษาดูงานที่หมู่บ้านปาตาระ อ. สายบุรี จ. ปัตตานี และได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และเยาวชนได้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ และรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆก็คือ คุณหมาดสะ หมานหนำ อิหม่ามมัสยิดดะว้าตุ้ลมัสลีมีนและผู้ใหญ่บ้านห้วยปลิง จ.ระนอง ซึ่งได้เข้าอบรมในโรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิม รุ่นที่ 2 เมื่อกลับมาจากการอบรมอิหม่ามหมาดสะได้ประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในหมู่บ้าน รวมไปถึงการสร้างเสริมอาชีพด้วยการนำทะลายปาล์มที่โรงงานปาล์มสกัดลูกออกจากทะลายจนเหลือแต่วัตถุดิบทิ้งเปล่า มาเพาะเห็ดฟาง โดยใช้ทะลายปาล์มแทนฟาง แล้วเชิญเกษตรจังหวัดมาให้ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดจากทะลายปาล์มพร้อมทำการตลาดเห็ดฟางให้ด้วย
เมื่อมีความรู้ในการทำเห็ดฟางแล้ว ทางอิหม่ามหมานสะก็เขียนโครงการของงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปลิงเพื่อทำโครงการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม ซึ่งก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 60,000 บาท
ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 5 คนจากโรงเรียนผู้นำสุขภาวะมุสลิมไทยเป็นตัวอย่างได้ดีถึงการอบรมสัมมนาที่ไม่แค่จัดโครงการให้เสร็จๆไป
แต่ทว่าเป็นโครงการที่แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยสามารถสร้างผู้นำคนแล้วคนเล่าให้กลับไปสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน

4
      สุขภาวะดีๆที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างที่มัสยิดบ้านเหนือ

   ชุมชนที่มีสุขภาวะที่ดีนั้นเป็นอย่างไร หากแปลตามตัวแบบไม่คิดอะไรมาก ก็คงตอบแบบง่ายๆได้ว่า ก็หมายถึงชุมชนที่มีความสุข
   และหากจะหาตัวอย่างชุมชนที่มีความสุข คุณจะพบสิ่งเหล่านั้นได้ที่มัสยิดบ้านเหนือ บ้านคูเต่า จ.สงขลา
   ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือนับได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ การมีสมาชิกในชุมชนร่วม 2,000 คนทำให้การดูแลค่อนข้างจะไม่ทั่วถึงนัก ปัญหาด้านสุขภาวะพบได้ทั่วไปในชุมชน
   จนกระทั่งการมาของโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย จึงทำให้ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ เริ่มขยับปรับเปลี่ยนด้านสุขภาวะมากขึ้น
   เหตุปัจจัยความสำเร็จของงานด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีของชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ น่าจะเป็นเพราะความเป็นชุมชนที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นทุนเดิม
   ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ช่วงปี 2540 เมื่อสัปบุรุษเพิ่มจำนวนขึ้น จนมัสยิดบ้านเหนือไม่สามารถรองรับสัปบุรุษที่ละหมาดได้ทั้งหมด ทำให้แกนนำชุมชนซึ่งมีฮัจยีแอ ศรีอาหมัด เป็นอิหม่ามในขณะนั้นหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา จนในที่สุดก็มีมติร่วมกันให้สร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นในพื้นที่ซึ่งได้มีการซื้อไว้ก่อนแล้ว
   การจัดสร้างมัสยิดซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยไม่ได้ไปขอบริจาคมาจากหน่วยงานองค์กรไหน และไม่ได้มีองค์กรต่างประเทศมาสนับสนุนด้วย แต่เงินในการสร้างมาจากการบริจาคของชาวบ้าน
   วิธีการหาเงินมาสร้างมัสยิดของที่นี่ทำง่ายๆโดยการการจัดเลี้ยงน้ำชาขึ้น ณ มัสยิด เป็นประจำทุกวันศุกร์ เพื่อให้พี่น้องชาวชุมชนได้มาดื่มน้ำชาและร่วมบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างมัสยิด ซึ่งมีเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากการเลี้ยงน้ำชาวันศุกร์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10,000 บาท    ปัจจุบันมัสยิดบ้านเหนือใช้งบประมาณในการก่อสร้างมัสยิดไปแล้ว 16,000,000 บาท สิบหกล้านบาทที่มาจากมือของชาวบ้านเอง
   เช่นกัน เมื่อแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยได้เริ่มดำเนินการโครงการประมงบ้านเหนือรักษ์สุขภาวะ  โดยใช้รูปแบบการบริหารที่มีอยู่เดิมของชุมชน นั่นก็คือการที่องค์กรมัสยิดเป็นแกนกลางในการบริหารชุมชน โดยผ่านการเป็นแกนนำและสนับสนุนอย่างแข็งขันในทุกกิจกรรมโดยอิหม่ามวิสุทธ บิลล่าเต๊ะ จึงทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี
   โดยทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยเริ่มจากการอบรมสัมมนาแกนนำชุมชน แกนนำเยาวชน แกนนำสตรี จนก่อให้เกิดความร่วมมือจากคนในชุมชนในการงดสูบบุหรี่ในพื้นที่มัสยิด การตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของกลุ่มแม่บ้าน และที่นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือ การดูแลภูมิทัศน์ของลำคลองอู่ตะเภา
   เนื่องจากลำคลองอู่ตะเภาจะมีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆรุกล้ำลำคลอง และยังมีผักตบชะวาแพร่กระจายไปทั่ว ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยจึงแนะนำให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนอย่างดียิ่ง โดยอิหม่ามวิสุทธเป็นคนจัดการเรื่องที่ดินผืนใหม่ที่ให้ชาวชุมชนไปตั้งรกราก
   ทางโครงการประมงบ้านเหนือรักษ์สุขภาวะยังได้จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาทางน้ำในคลองอู่ตะเภา ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหามลภาวะทางน้ำอย่างชาญฉลาด เพราะด้วยลักษณะของชุมชนที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เมื่อมีกีฬาทางน้ำ ชาวชุมชนก็เฮโลกันมาร่วมกิจกรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นก็หมายถึงการจะต้องเฮโลกันไปช่วยเก็บขยะ เก็บผักตบชวาและอื่นๆ เพื่อสร้างลำคลองสายนี้ให้สะอาดใส อันจะก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน
   นอกจากนั้นแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยก็มีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น การร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนสร้างศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน จัดตั้งสหกรณ์ชุมชนบ้านเหนือ จัดตั้งกองทุนซะกาต และรวมไปถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่เล็กน้อยอย่างการสร้างห้องสุขาของมัสยิดที่สะอาดได้มาตรฐาน
   และทั้งหมดก็คือหนทางที่ทำให้ความสุขเกิดขึ้นในชุมชนมัสยิดบ้านเหนือแห่งนี้ อันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ด้วยมือของชาวบ้านทุกคน

5
 salamชุมชนเกาะยาวน้อย : ญามาอะฮฺรักษ์สุขภาวะ
   ในศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับญามาอะฮฺมาก ดังมีฮะดีษที่ว่า มือของอัลลอฮฺอยู่บนญามาอะฮฺ ดังนั้นการทำการงานใดก็ตาม หากกระทำเป็นญามาอะฮฺย่อมจะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ
   เฉกเช่นงานการพัฒนาชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะของเกาะยาวน้อย โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย
   เกาะยาวน้อยเป็นชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งในเกาะเองก็มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่การดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะยาวอย่างยั่งยืน ป้องกันการทำลายทรัพยากร วัฒนธรรมและยังเป็นการสร้างงาน กระจายรายได้ให้แก่คนในเกาะยาวเอง
   การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้ชมรมได้รับรางวัลดีเด่นประเภทส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
   เมื่อแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย เข้าไปจัดทำโครงการเกาะยาวน้อย ชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะ ในปี 2551 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญต่อการรักษาสุขภาวะ
   ทางแผนงานเล็งเห็นถึงจุดแข็งของญามาอะฮฺที่มีอยู่เดิม แทนที่จะไปสร้างใหม่ ก็ทำของเดิมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นย่อมจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า
   โครงการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการรักษาสุขภาวะ ทางแผนงานได้รับความร่วมมือจากชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะยาวน้อย เพราะชมรมเองก็มีนโยบายในการป้องกันการทำลายทรัพยากร ในส่วนโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้และป่าโกงกางก็ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเกาะยาวน้อย เพราะโรงเรียนก็มีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
   บรรดาสรรพโครงการที่ดำเนินการก็มีตั้งแต่การปลูกต้นตะเคียนทองในชุมชน โดยใช้ปุ๋ยคอกเพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนเห็นว่าไมม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี การจัดทำศูนย์เรียนรู้ประมงรักษ์สุขภาวะ เพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องของการผลิตและทดลองใช้จุลินทรีย์อย่างกว้างขวางในท้องถิ่น และยังรวมไปถึงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าโกงกาง เลี้ยงปลาเลี้ยงปู การทำธนาคารขยะในชุมชน
   โดยทุกกิจกรรมในโครงการชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะทุกกลุ่มทำงานในเกาะยาวน้อย ต่างกุลีกุจอกันมาช่วยงาน
   นั่นเป็นเพราะทุกคนต่างเล็งเห็นว่า ไม่ว่าใครจะทำ สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นก็ตกไปอยู่ที่ชุมชนเกาะยาวน้อยนั่นเอง

6
มัสยิดครบวงจรที่ภาคอีสาน
   โครงการมัสยิดครบวงจรที่ดำเนินโดยมูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ศูนย์ประสานงานภาคอีสาน ในระยะนี้มี 3 มัสยิด ได้แก่ 1.มัสยิดนูรุ้ลฮูดา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 2.มัสยิดเสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ 3. มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม
   ผลจากการจัดโครงการในครั้งนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้กับมัสยิดที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่รณรงค์มัสยิดปลอดบุหรี่ การให้บริการหนังสือความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะ การจัดระเบียบตกแต่งมัสยิดให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น การจัดให้มีพื้นที่ในการนั่งพักผ่อนในมัสยิด การจัดให้มีชั้นวางที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสำหรับอุปกรณ์ทำอาหาร  นอกจากนี้คณะกรรมการมัสยิดยังได้มีการประชุมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น ในการสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามัสยิดให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกๆด้านต่อไป
   โดยมีผู้ประสานงานจากมูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ศูนย์ประสานงานภาคอีสาน เข้าไปดูและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน

7
 salamชุมชนรักษ์สุขภาวะคือการสร้างเครือข่ายสุขภาวะในชุมชน

   ในโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะระยะที่ 1 ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย บ้านท่าสูงบน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นับเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีการดำเนินงานโครงการดังกล่าว และก็เหมือนกับหลายชุมชนที่มีทั้งกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและกิจกรรมที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ แต่หากพูดถึงเป้าหมายในการดำเนินโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ ที่บ้านท่าสูงบนกลับบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี
    ในการดำเนินโครงการหมู่บ้านประมงรักษ์สุขภาวะบ้านท่าสูงบน ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยได้มอบหมายให้ อ.จินตนีย์ จินตรานันท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษ์ เป็นผู้ประสานงานโครงการ เนื่องจาก อ.จินตนีย์เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งในขั้นตอนการทำงาน ทาง อ.จิตนีย์ก็รวมรวมคณะทำงานโดยใช้เพื่อนๆซึ่งเป็นศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาช่วยประสานงาน เพราะเพื่อนๆแต่ละคนก็เป็นเอ็นจีโอที่คลุกคลีกับงานพัฒนาชุมชนมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยมีครูยุนัน โต๊ะแตบ ครูสอนศาสนาประจำหมู่บ้าน และคุณสุดา โต๊ะละหวี ตัวแทนจากกลุ่มมุสลิมะห์ท่าสูงบน มาช่วยประสานงานกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
   จากการดำเนินงานในเวลาไม่ถึงปี โครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะทำให้บ้านท่าสูงบนมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิกที่ใต้อาคารโรงเรียนบ้านท่าสูงบน ที่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และนับว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
   ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่นการเก็บขยะ หน้าบ้านน่ามอง ลดละเลิกบุหรี่ในมัสยิด และอีกหลายๆกิจกรรมก็ได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน ถึงแม้บางกิจกรรมจะไม่ได้มีการดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันก็ตาม
   แต่การที่กิจกรรมจะสำเร็จหรือไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ กลับไม่ใช่เครื่องวัดที่แท้จริงสำหรับโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ เพราะเวลาเพียงแค่ 8 เดือนในการดำเนินโครงการคงจะวัดอะไรได้ยากสักนิด
   คาน บุญพันธ์ ผู้ประสานงานโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยได้บอกไว้ว่า เป้าหมายของโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะคือการไปกระตุ้นปลูกจิตสำนึก เพื่อหาอาสาสมัครมาทำงานด้านสุขภาวะในชุมชน
   ซึ่งโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ ระยะที่ 2  ก็ทำให้เราได้เห็นผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว เพราะถึงแม้การดำเนินโครงการในระยะที่ 2 นี้ จะไม่ได้ดำเนินการในหมู่บ้านท่าสูงบนแล้ว แต่ได้ดำเนินการไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงแทน
   ชื่อของผู้ประสานงานโครงการครั้งนี้ ก็ไม่ใช่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยไหน และก็ไม่ใช่เอ็นจีโอจกาหน่วยงานองค์กรไหน แต่ว่าเป็นครูสอนศาสนาจากบ้านท่าสูงบนที่ชื่อว่า ครูยูนัน โต๊ะแตบนั่นเอง
   ผลจากการวิ่งช่วยงานทางคณะทำงานชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะบ้านท่าสูงบนมาโดยตลอด จนทำให้ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยได้เห็นศักยภาพในครูยูนัน ว่าจะเป็นตัวแทนจากชาวบ้านที่มาทำงานด้านสร้างสุขภาวะได้
   และครูยูนันก็คือคำตอบที่ว่า เป้าหมายที่แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยวางไว้สำหรับโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะที่บ้านท่าสูงบน บรรลุตามที่วางไว้อย่างชัดเจน

8
มูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) ขอเชิญร่วมบริจาคเพื่อช่วยพี่่น้องมุสลิมที่ประสบอุทกภัยในประเทศปากีสถาน ผ่านทางบัญชีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาถนนศรีนครินทร์ เลขบัญชี 588-1-06444-5 ชื่อบัญชี มูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) เพื่อผู้ประสบอุทกภัยปากีสถาน โดยทางมูลนิธิจะส่งความช่วยเหลือผ่านไปยังสถานทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ในช่วงหลังเดือนรอมฎอน

9
น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตร่างกายมีน้ำ 2 ใน 3 ของน้ำหนักตัวร่างกายของคนเราต้องการน้ำวันละ 6-8 แก้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีโรคหลายโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อซึ่งส่วนใหญ่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญและมองข้าม ทุกปีมีผู้ป่วยเนื่องจากการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำเป็นจำนวนมาก พบว่าตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2545 มีผู้ป่วยเป็นโรคอุจระร่วงเฉียบพลัน ปีละ 8 แสนถึงล้านคน ชี้ให้เห็นว่าเราควรให้ความสำคัญในการเลือกน้ำดื่มที่สะอ่ดปลอดภัยสำหรับครัวเรือน เพราะการมีน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอในแต่ละวันนับเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพดี
             น้ำดื่มน้ำใช้ของครัวเรือนโดยทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบทที่มาจากน้ำปะปา,น้ำบ่อบาดาล,น้ำบ่อตื้น,น้ำฝนและน้ำบรรจุขวดเมื่อนำมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพความปลอดภัยต่อการบริโภค พบว่า น้ำจากทุกแหล่งผ่านมาตรฐานไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำที่ชาวชนบทนิยมดื่ม เช่น น้ำฝน, น้ำปะปาท้องถิ่น,น้ำบ่อตื้น ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ส่วนในเขตเมืองที่ทุกคนเชื่อมั่นว่าจะได้มาตรฐานความปลอดภัย ก็พบว่า มีประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย
             ทั้งนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้น้ำไม่ได้มาตรฐาน สาเหตุที่สำคัญเกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนที่มากเกินมาตรฐาน การปนเปื้อนด้วยสารเคมี ได้แก่ แคดเมี่ยม, เหล็ก, ตะกั่ว, แมงกานิส และปัญหาทางกายภาพที่ไม่เหมาะสม คือมีความขุ่นและสีเกินมาตรฐาน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั้งในรูปของปัญหาเฉียบพลัน เช่น ท้องเสีย, บิด, อหิวาตดโรค, ไทฟอยด์ ฯลฯ และปัญหาระยะยาวจากกการสะสมสารเคมีไว้ในร่างกายเป็นเวลานาน
              จากงานวิจัยที่จัดทำโดยกรมอนามัย ชี้ให้เห็นว่า น้ำที่เราดื่มในชีวิตประจำวันที่เราดื่มนอกบ้าน เช่น ที่ร้านอาหารหรือแผงอาหารที่จัดให้ลูกค้าดื่ม หรือที่โรงเรียนจัดให้นักเรียนดื่มมีระดับคุณภาพความปลอดภัยที่น่าเป็นห่วงมาก ดังนั้น เราต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด การปนเปื้อน น้ำดื่มควรมีเครื่องกรองทำความสะอาด ขณะเดียวกันหากแหล่งน้ำไม่ดีก็ต้องเปลี่ยนหาแหล่งใหม่ และที่สำคัญทุกๆฝ่ายควรเอาใจใส่พัฒนาให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยอย่างถ้วนหน้าในทุกพื้นที่ เพราะน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้มีสุขภาพดี

10
จากสถิติที่โรงพยาบาลศิริราชติตามอุบัติการของโรคพบว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมาเป็นโรคที่ชายไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด แต่ละปชายไทยป่วยเป็นโรคมะเร้งต่อมลูกหมาก 500 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไข้รายใหม่ และพบมากในผู้สูงอายุตามปกติพบได้ประมาณ 45% ในช่วงอายุ 50-60 ปีและประมาณ 90%เมื่ออายุกว่า 80 ปี
        ส่วนสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่มีใครทราบแต่เท่าที่วิจัยพบว่าความเสียงได้แก้ อายุ พบในผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 50ปีขึ้นไป อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ประวัติครอบครัว (พันธุกรรม) พบว่าชายที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเป็นมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป เชื้อชาติ โดยชาวเอเชียจะมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนผิวขาวหรือผิวดำ อาหาร พบวว่าผู้ที่บริโภคมันจากสัตว์มากมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมาก ส่วนผู้ที่ทานผักและผลไม้จะลดโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นเช่นกัน
        ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปติ สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ ระยะกลาง คือระยะที่ 3 มะเร็งจะลุกลามทะลุออกนอกเปลือกของต่อมลูกหมากและบางครั้งจะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆอาจมีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด บางครั้งปัสสาวะไม่ออก ระยะแพร่กระจาย คือระยะที่มะเร็งลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว การรักษาให้หายขาดจึงเป็นไปได้ยาก
        สุขภาพดีเริ่มจากการดูแล หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกถือว่าโชคดี และต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตรวจร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น 



11
ประชาสัมพันธ์ทั่วไป / ชิคุนกุนยา
« เมื่อ: ส.ค. 18, 2010, 09:05 AM »
คำว่า ชิคุนกุนยา เป็นภาษาพื้นเมืองของชนเผ่ามาโกนดี ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ. 1952 ได้พบว่าในทวีปแอฟริกามีโรคหนึ่งระบาดอย่างหนัก คนเป็นโรคนี้จะปวดตามกล้ามเนื้อและข้อเป็นอย่างมาก ทำให้เวลาเดินต้องงอตัว พวกมาโกนดีเลยเรียกโรคนี้ว่า ชิคุนกุนยา แปลว่า โรคตัวงอ
           โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อมายังคนโดยผ่านยุงลายเป็นพาหะดูดเลือดจากคนที่เป็นไปสู่อีกคนหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งก็คือ จากลิงที่แอฟริก่าที่แพร่เชื้อมาสู่ยุง และจากนั้นยุงก็ไปกัดคนอีกคนหนึ่ง หลังจากนั้นโรคนี้ก็เริ่มแพร่กระจายสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก
           ในเมืองไทย โรคนี้เริ่มพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 หรือ พ.ศ.2501 หลังจากนั้นในฤดูฝนก็จะมีโรคนี้เป็นพระเอกอยู่ตลอด ที่พบมากที่สุดมักเป็นแถบภาคใต้
           โรคนี้เริ่มจากยุงลายที่มีชื่อว่า Aedes aegypti  โดยยุงลายตัวเมียไปกัดผู้ป่วยชิคุนกุนยาที่กำลังมีไข้สูง หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้เกิดอาการของโรคได้ ระยะฟักตัวจะใช้เวลาประมาณ 1-12 วัน แต่ส่วนมากถูกกัด 2-3 วันก็เห็นผลแล้ว อาการที่พบคือ มีไข้สูงมาก แล้วก็มีผื่นแดงตามตัวและแขนขา ดูคล้ายๆไข้เลือดออกแต่ไม่ใช่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ จะมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ตามข้อเป็นอย่างมาก และข้อที่ปวดก็สามารถเอลี่ยนไปตามข้ออื่นๆได้เรื่อยๆ ปวดหลังมาก ต้องงอตัว หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นแล้วหายไปเองได้ ภายในหนึ่งอาทิตย์ หรือกว่านิดหน่อย โรคนี้แม้จะคล้ายไข้เลือดออก แต่กลับไม่มีผลทำให้เส้นเลือดรั่วแต่ประการใดไม่
            การรักษานั้น ก็เป็นการรักษาตามอาการ ปวดก็ให้ยาแก้ปวด แก้ไข้ เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องแยกโรคนี้ออกจากไข้เลือดออกเด็งกีให้ได้ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนก่อน เพื่อช่วยแยกโรคให้ ให้แน่ใจว่าไม่ใช่โรคไข้เลือดออก หลังจากนั้นจึงรักษาตามอาการต่อไป
            การป้องกัน  ก็โดยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และยุงต่างๆทุกชนิด เพื่อไม่ให้มีพาหะของโรค นอนกางมุ้ง หรือพ่นควันไล่ยุง แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำไว้เสมอ เพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ วิธีการนี้ ท่านศาสดามูฮัมหมั (ซ.ล.) ได้สอนเราไว้ตั้งแต่พันสี่ร้อยกว่าปีก่อนแล้วว่า “ จงปิดฝาภาชนะ และผูกปากถุงหนังที่ใส่น้ำเถิด ในช่วงปีหนึ่งนั้นจะมีคืนหนึ่งที่มีโรคระบาด และมันจะลงในภาชนะที่ไม่ได้มีฝาปกปิดในถุงใส่น้ำที่ไม่ได้ผูกปากไว้ ทำให้เกิดเป็นโรคได้ “ (ซอเฮียะฮ.มุสลิม)
             ดังนั้น ถ้าเราทำตามท่านนบีสั่ง นอกจากได้ผลบุญเพราะทำตามซุนนะห์แล้ว ยังได้ผลประโยชน์จากการป้องกันโรคต่างๆด้วย


12

สุราจะออกฤทธิ์ทำลายร่างกายตั้งแต่อวัยวะแรกที่สัมผัสจนตลอดเส้นทางเดินของของสุราที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย ตามลำดับ ดังนี้
1.   เริ่มที่ปากและลำคอ สุราจะไปออกฤทธิ์ต่อผิวอวัยวะภายในช่องปากทำให้เกิดการระคายเคือง ชิ้นเยื่อบุที่ละเอียดอ่อนในปากและหลอดกาหารมักมีอาการร้อนซู่เมื่อผ่านลงไป
2.   เมื่อสุราผ่านลงสู่กระเพาะ จะมีผลกับผนังชั้นนอกสุดที่เป็นชั้นที่จะปกป้องกระเพาะอาหาร จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุชั้นในสุดของผนังหรือกระเพาะอาหารหรืออ่จทะลุลำไส้เล็กได้ นอกจากนั้น สุรายังเป็นอุปสรรคกับการดูดซึมอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน  B1 , กรดโฟลิก, ไขมัน, วิตามิน B6, วิตามิน B12  และกรดอมิโนต่างๆ
3.   ร้อยละ 95 ของสุราที่เข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด โดยผ่านเยื่อบุในกระเพาะอาหาร และลำไส้อย่างรวดเร็ว เมื่อถึงกระแสเลือดจะเข้าไปในเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายอย่างรวดเร็วแอลกอฮอล์ทำให้เซลล์ของเลือดเกาะเป็นก้อนเหนียว การไหลเวียนจึงช้าลง และปริมาณออกซิเจนลดต่ำลงด้วย ทำให้โลหิตจาง ดดยจะไปลดเม็ดเลือดแดงทำให้มฺดเลือดขาวทำลายแบคทีเรียช้าลงและทำให้การแข็งตัวของเกร็ดเลือดช้าลงด้วย
4.   แอลล์กอฮอล์จะทำให้เซลล์ของตับอ่อนระคายเคืองและบวมขึ้น ทำให้การไหลของน้ำย่อยไม่สามารถเข้าไปในลำไส้เล็กได้ ทำให้น้ำย่อยๆตัวตับอ่อนเอง ทำให้เกิดเลือดออกอย่างเฉียบพลัน และการอักเสบของตับอ่อน พบว่า 1 ใน 5 จะเสียชีวิตไปในครั้งแรกเมื่อมีปัยหาเกี่ยวกับตับอ่อน การสร้างอินซูลินขาดหายไป และทำให้เป็นเบาหวานในที่สุด
5.   แอลกอฮอลล์มีอิทธิพลต่อเซลล์ของตับทำให้เกิดการบวม ทำให้น้ำดีซึมผ่านไปทั่วตับ เป็นเหตูให้ตัวเหลือง รวมทั้งส่วนขอบตาและผิวหนังเป็นสีเหลืองด้วย ทุกครั้งที่ดื่มสุรานั้น เซลล์ของตับจะถูกทำลาย เป็นผลให้ตับแข็ง การเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับมีถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับคนไม่ดื่มสุรา
6.   แอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจบวม ทำให้เกิดเป็นพิษกับหัวใจ มีการสะสมของไขมันมากขึ้นและทำให้การเผาผลาญช้าลงไปด้วย
7.   แอลกอฮอลล์ทำให้เยื่อบุของกระเพาะปัสสาวะบวม ทำให้ไม่สามารถยืดได้ตามปกติ การระคายเคืองของไตทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
8.   แอลกอฮอลล์ทำให้ต่อมอัณฑะจะบวม ทำให้ความสามารถทางเพศลดลง
9.   แอลกอฮอลล์จะไปกดศูนย์กลางของสมอง ทำให้การประสานงานเสื่อมลงเรื่อยๆ สับสน ความจำเสื่อม เซื่องซึม ชา สลบหรือโคม่าและถึงตายได้ แอลกอฮอลล์จะไปฆ่าเซลล์สมอง ซึ่งเมื่อเซลล์ของสมองถูกทำลายแล้วไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ การดื่มเป็นประจำเมื่อถึงระยะหนึ่งจะทำให้ความจำ การตัดสินใจ และความสามารถในการเรียนรู้เสื่อมไป

13
 salamมัสยิดยามาอาตุ้ลอิสลาม  อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในมัสยิดครบวงจรในภาคอีสานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) ซึ่งการผลักดันให้มัสยิดยามาอาตุ้ลอิสลามก็มีวัตถุประสงค์คือ หนึ่ง สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนามัสยิดครบจร สอง เพื่อเป็นแกนกลางในการช่วยขับเคลื่อนความรู้การพัฒนาและสุขภาวะแก่ชุมชน สาม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้มัสยิดและชุมชนได้รับทราบเกี่ยวหลักการสุขภาวะทั้งกาย จิตวิญญาณและการอยู่ร่วมกันในสังคม สี่ เพื่อจะได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างมัสยิดต่างพื้นที่
   ซึ่งในโครงการดังกล่าวนอกจากมัสยิดจะมีการอบรมเรื่องสุขภาวะและยาเสพติดแล้ว ยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบริเวณมัสยิด ด้วยการปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา เช่น ต้นพิกุล  ต้นตีนเป็ด (สัตบรรณ) ต้นมะพร้าว และไม้ดอก ไม้ประดับ  ส่งผลให้มัสยิดมีความภูมิทัศน์ที่ดีเพิ่มขึ้น  ตลอดจนการนำเสนอคุตบะห์ทางด้านสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง มีการช่วยกันทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำ และปิดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิด
   หลังโครงการเสร็จสิ้นไประยะเวลาหนึ่ง ทางศูนย์ประสานงานภาคอีสานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ได้เข้าเยี่ยมเยียนพบปะพูดคุยกับอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดยามาอาตุ้ลอิสลาม
   อิหม่ามอุสมาน พันธ์พฤกษ์ บอกกล่าวว่าว่าหลังจากการเข้าร่วมโครงการมัสยิดครบวงจรของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ทางมัสยิดมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้น มีการร่วมมือกันมากขึ้น มัสยิดมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีบอร์ดประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมัสยิด มีป้ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ มีห้องน้ำสะอาด มีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น และในขณะนี้ทางมัสยิดได้มีการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในพื้นที่ประมาณ 15 คน ซึ่งใช้อาคารมัสยิดในการเรียนการสอน
   และในอนาคตต่อไปทางคณะกรรมการมัสยิดก็มีแผนที่จะพัฒนาด้านอื่นๆอีก เพราะเมื่อเริ่มต้นร่วมมือกันพัฒนาตามแบบมัสยิดครบวงจรของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย แล้ว การขยับทำงานพัฒนาอื่นๆจึงไม่ใช่เรื่องยาก
   เพื่อทำให้มัสยิดยามาอาตุ้ลอิสลามกลายเป็นมัสยิดครบวงจรที่แท้จริง ไม่หยุดเพียงแค่วันสิ้นสุดโครงการ
   
       

14
 :ameen:การพัฒนาใดจะยั่งยืนเท่าการพัฒนาคน
   การพัฒนาคนด้วยวิธีใดจะยั่งยืนเท่าการให้เขาได้ลงมือทำ
   แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ศูนย์ประสานงานภาคใต้ตอนกลาง ก็อบรมกลุ่มเยาวชนต้นแบบแห่งมัสยิดนูรุดดีนียะฮฺ บ้านหนองขวน ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ด้วยการให้เขาลงมือทำเช่นกัน
   เพราะตระหนักดีกว่า หากมัวแต่ให้อยู่แต่ในห้องแอร์แล้วรับฟังวิทยากรบรรยายตั้งแต่เช้าจนเย็น ประโยชน์ที่ได้ก็แค่ความรู้ ซึ่งหลังผ่านการอบรมไม่นาน ก็จะสูญหายไป เพราะไม่ได้ถูกนำมาใช้
   กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูป่าชายเลน จึงเกิดขึ้น
   วันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2553 แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ศูนย์ประสานงานภาคใต้ตอนกลาง นำกลุ่มกลุ่ม”เยาวชนต้นแบบ” มัสยิดนูรุดดีนียะฮฺ ไปที่กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแตะหรำ ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง โดยกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูป่าชายเลนนี้  กลุ่ม”เยาวชนต้นแบบ” มัสยิดนูรุดดีนียะฮฺจะทำกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านแตะหรำ โดยจะเป็นกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
   และท้ายที่สุดก็คือการร่วมกันปลูกป่าชายเลนซึ่งได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแตะหรำนั่นเอง
   ความรู้ก็ได้รับ ต้นไม้ก็ได้ปลูก จิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเยาวชนต้นแบบได้มีพื้นที่ในการแสดงออก แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยก็ได้สร้างคนให้เป็นนักพัฒนา เพื่อสานต่อการพัฒนาระยะยาวในพื้นที่
   นี่จึงคือการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

15
  การสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงแข็งขัน และการจับมือกันของหน่วยงานต่างๆในสังคม ก็นับเป็นเรื่องดีที่เราต้องเอ่ยถึง
   เหมือนที่องค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม) ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจ อย่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมคืนกำไรสู่ชุมชน ขึ้นมา
   โดยส่วนงานที่ลงมือปฏิบัติงานก็คือ ศูนย์ประสานงานภาคกลาง แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย นำโดยคุณวีระ มินสาคร และฝ่ายระเบียบและข้อบังคับ ส่วนธรรมาภิบาล นำโดย ดร.กรองกาญจน์ ณ นครพนม ผู้อำนวยการฝ่ายสอบทานสินเชื่อ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
   โดยมีชุมชนนำร่องคือ ชุมชนนูรุ้ลพัฒนา มัสยิดนูรุ้ลฮูดา (ซอยร่มเกล้า 14) เขตมีนบุรี กทม.
   กิจกรรมในโครงการจะประกอบไปด้วย โครงการมัสยิดครบวงจร โครงการธนาคารอาคีเราะห์ โครงการช่วยเหลือเด็กกำพร้าชุมชนนูรุ้ลพัฒนา โครงการส่งเสริมความรู้และจริยธรรมอิสลามสำหรับผู้สนใจ (มุอัลลัฟ) และงานต่อเติมซ่อมแซมสุขาและที่อาบน้ำละหมาด งานปรับปรุงทางระบายน้ำและทางเดินในชุมชน
   โดยโครงการคืนกำไรสู่ชุมชนได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
   เมื่อหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาสุขภาวะอย่างแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่มีงบประมาณสนับสนุนอย่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เราก็สามารถเบาใจไปได้เยอะว่างานนี้คงไม่มีการเอาเงินมาผลาญอีลุ่ยฉุยแฉก
   ส่วนผลงานจะออกมารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามด้วยใจระทึก  :ameen:
 

หน้า: [1] 2 3 4