แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - นักเดินทาง

หน้า: [1] 2 3 ... 5
1
 :salam:
ใครพอจะมีหนังสือ หรือบทความ ที่เขียนเกี่ยวกับท่านอดีตจุฬา ต่วน สุวรรณศาสน์ บ้างครับ หรือหนังสือที่เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับการแปลและอรรถาธิบายอัลกุรอานของท่าน
..หนังสือเล่มนี้พอจะหาได้ที่ใหนบ้าง  myGreat: myGreat:

2
บทที่ 3
มารยาทในการอาบน้ำละหมาด

      เมื่อท่านเสร็จสิ้นจากการทำความสะอาด(หลังจากปลดทุกข์) ก็จงอย่าละเลย “อัซ-ซีว๊าก” (ไม้แปรงฟัน) เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้ปากสะอาด ทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอใจ และทำให้ชัยฏอนโกรธ  และการละหมาดที่ใช้ซีว๊าก(ทำความสะอาดก่อน)นั้น ดีเลิศกว่าการละหมาดที่ไม่ใช้ซีว๊ากถึงเจ็ดสิบเท่า  และได้รายงานจากท่าน อะบี ฮูรัยเราะฮ์ (รอฎิยัลลอฮุอันฮู) กล่าวว่า  ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “ หากไม่เป็นการลำบากแก่ประชาชาติของฉัน ฉันจะสั่งพวกเขาให้ใช้ซิว๊ากในทุกๆการละหมาด ”  และท่านได้กล่าวอีกว่า “ ฉันถูกสั่ง(จากอัลลอฮฺ)ให้ใช้ซิว๊าก จนกระทั่งฉันกลัวว่ามันจะถูกเขียน(ให้เป็นสิ่งจำเป็น)แก่ฉัน(และประชาชาติของฉัน) ”
      หลังจากนั้นจงนั่งเพื่ออาบน้ำละหมาด โดยหันหน้าไปยังกิบลัต  และ(สมควร)ให้นั่งบนสถานที่ยกสูง เพื่อจะได้ไม่โดนละอองน้ำ และจงกล่าวว่า...........


بِسْمِ اللهِ الرَّحْمنِ الرَّحِيمِ رَّبِّ أَعُوذُ بِكَ مِنْ هَمَزَاتِ الشَّيَاطِينِ وَأَعُوذُ بِكَ رَبِّ أَن يَحْضُرُونِ

“ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงเมตตาเสมอ  โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ท่าน ให้พ้นจากเสียงกระซิบกระซาบของซาตาน  และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ท่าน โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ให้พ้นจากการที่พวกมันจะนำความชั่วร้ายมาสู่ฉัน ”

      หลังจากนั้นจงล้างสองมือของท่านสามครั้ง ก่อนจุ่มมันลงในภาชนะ(ที่ใช้อาบน้ำละหมาด) และจงกล่าวว่า...........


اللهم إني أسألك اليُمنَ والبركة، وأعوذ بك من الشؤم والهَلَكة

“ โอ้อัลลอฮฺ ข้าพเจ้าวอนขอความผาสุก และความเป็นสิริมงคลจากพระองค์  และข้าพเจ้าขอความคุ้มครองต่อพระองค์ จากเคราะห์ร้ายและความพินาศ ”
   

3
บทที่ 2
มารยาทในการเข้าห้องน้ำ

       เมื่อท่านได้มุ่งไปยังห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ ก็จงเริ่มก้าวเข้าไปด้วยเท้าซ้ายและออกด้วยเท้าขวา  จงอย่านำสิ่งใดที่มีนามชื่อของอัลลอฮฺและรอซูลเข้าไปในนั้น  จงอย่าเข้าไปในสภาพที่ศีรษะของท่านไม่มีสิ่งปกปิดและเท้าเปล่า  และจงกล่าวขณะ(ต้องการจะ)เข้าไปว่า...

بِاسْمِ اللَّهِ اَعُوذُ بِاللَّهِ مِنَ الرِّجْسِ النَّجِسِ الْخَبيثِ الْمُخْبِثِ الشَّيْطانِ الرَّجيمِ
“ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ข้าพเจ้าขอความคุ้มครองต่อพระองค์ จากความสกปรก ความโสโครกที่มีความโสมม และยังความโสมมแก่สิ่งอื่น มันนั้นคือมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง ”

และขณะออกมาให้กล่าวว่า...

غفرانك ، الحمد لله الذي أذهب عني ما يؤذيني وأبقى في ما ينفعنىي
“ ขอพระองค์โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้า  มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ที่ได้ขจัดความเดือดร้อนออกจากตัวของข้าพเจ้า และให้สิ่งที่ยังประโยชน์คงอยู่แก่ข้าพเจ้า ”
       ท่านสมควรเตรียมก้อนหิน(ที่ใช้ในการชำระ)เอาไว้ ก่อนจะปลดทุกข์  และจงอย่าชำระด้วยน้ำในสถานที่ปลดทุกข์(หากไม่ใช่สถานที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อการนั้น เพราะกลัวว่าจะเปื้อนนายิส  แต่หากเป็นสถานที่ที่ถูกเตรียมไว้เพื่อปลดทุกข์ เช่น ห้องน้ำ ก็ไม่เป็นไร)
       หากท่านอยู่ในทะเลทราย(ที่โล่ง) ก็จงให้ห่างไกลจากสายตาผู้คน และจงปกปิดเอาเราะฮฺ  และจงอย่าเปิดเผยเอาเราะฮฺของท่านก่อนถึงสถานที่ปลดทุกข์  ท่านอย่าได้ผินหน้าไปหาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และจงอย่าผินหน้าและผินหลังไปทางกิบลัต  ท่านอย่าได้นั่ง(เพื่อปลดทุกข์)ในสถานที่(รวมตัวเพื่อ)พูดคุยกันของมนุษย์ และอย่าได้ปัสสาวะ(และอุจจาระ)ในน้ำนิ่ง ใต้ต้นไม้ที่ออกผล และในที่เป็นโพรง หลุม
       ท่านจงระวัง(ในการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ)บนดินแข็งและที่ลมแรง เพื่อป้องกันจากละอองนะยิส เพราะท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม)กล่าวว่า.... “ แท้จริงการลงโทษในหลุมฝังศพส่วนใหญ่เกิดจากมัน ”
       ท่านจงเทน้ำหนักขณะนั่งไปที่เท้าซ้าย และอย่ายืนปัสสาวะนอกจากมีความจำเป็น  จงชำระด้วยก้อนหินและน้ำ(จะเป็นการดีที่สุด) แต่ถ้าต้องการจะใช้เพียงอย่างเดียว น้ำย่อมดีกว่า และหากท่านต้องการใช้ก้อนหิน(เพียงอย่างเดียว) จงใช้ก้อนหินที่สะอาด 3 ก้อน ขจัดตัวของนะยิสโดยไม่ให้เปื้อนในส่วนอื่น และหาก 3 ก้อน ไม่เพียงพอ ก็จงใช้ 5 ก้อน หรือ 7 ก้อน จนกว่าจะสะอาด โดยส่งเสริมให้เป็นจำนวนคี่ 
       ท่านอย่าได้ชำระนะยิสนอกจากด้วยมือซ้าย และจงกล่าวเมื่อเสร็จจากการชำระล้างว่า....


اللَّهُمَّ طَهِّرْ قَلْبِي مِنْ النِّفَاقِ وَحَصِّنْ فَرْجِي مِنْ الْفَوَاحِشِ
“ โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดทำให้หัวใจของฉันปราศจากการบิดพลิ้ว และโปรดรักษาอวัยวะเพศของฉันจากความชั่วช้าทั้งหลาย ”
       เมื่อเสร็จจากการชำระ จงเช็ดมือของท่านกับพื้นดินหรือฝาผนัง(หรือผ้า เพื่อขจัดนะยิส)และจงล้างมือของท่านให้สะอาด

4
บทที่ 1
มารยาทในการตื่นนอน

        เมื่อท่านตื่นนอน ก็จงพยายามตื่นก่อนแสงอรุณขึ้น  และจงให้สิ่งแรกที่ไหลเวียนอยู่ในหัวใจและลิ้นของท่าน เป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ  และจงกล่าวขณะตื่นว่า
اَلْحَمْدُ للهِ الَّذِيْ أَحْيَانَا بَعْدَمَا أَمَاتَنَا وَإِلَيْهِ النُّشُوْرُ
“ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้ทรงทำให้เรามีชีวิตหลังจากพระองค์ทำให้เราตาย(แบบเล็กด้วยการนอนหลับ) และยังพระองค์นั้นเราได้ฟื้นคืนชีพ ”

أَصْبَحْنَا وَأَصْبَحَ الْمُلْكُ للهِ وَالْعَظَمَةُ وَالسُّلْطَانُ للهِ، وَالْعِزَّةُ وَالْقُدْرَةُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ
“ เราได้อยู่ยามเช้า(ภายใต้กรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ) และอำนาจทั้งมวลนั้นเป็นของอัลลอฮฺ  ความยิ่งใหญ่และการปกครองเป็นของอัลลอฮฺ  เกียรติและเดชานุภาพเป็นของอัลลอฮฺ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ”

أَصْبَحْنَا عَلىَ فِطْرَةِ الإِسْلاَمِ، وَعَلىَ كَلِمَةِ الإِخْلاَصِ، وَعَلىَ دِيْنِ نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، وَعَلىَ مِلَّةِ أَبِيْنَا إِبْرَاهِيْمَ حَنِيْفاً مُسْلِماً وَمَا كَانَ مِنَ الْمُشْرِكِيْنَ
“ เรามีชีวิตอยู่ในเช้านี้ด้วยฟิฎเราะฮฺ(ความบริสุทธิ์)แห่งอิสลาม และบนถ้อยคำที่บริสุทธิ์ (คำปฏิญานตน ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ มูฮัมหมัด รอซูลุลลอฮฺ) และบนศาสนาของนบีของพวกเรา มูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม  และบนศาสนาของบิดาของพวกเรา นบีอิบรอฮีม ผู้ที่ยึดมั่นอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรงและยอมจำนนเสมอ และเขาไม่ใช่คนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี ”

اَللَّهُمَّ بِكَ أَصْبَحْنَا وَبِكَ أَمْسَيْنَا، وَبِكَ نَحْيَا وَبِكَ نَمُوْتُ وَإِلَيْكَ النُّشُوْرُ
“ โอ้อัลลอฮฺ เราอยู่ยามเช้าโดยพระองค์ และเราอยู่ยามเย็นโดยพระองค์  เรามีชีวิตโดยพระองค์ และเราเสียชีวิตโดยพระองค์  และยังพระองค์นั้นเราได้ฟื้นคืน ”

اَللَّهُمَّ إِنَّا نَسْأَلُكَ أَنْ تَبْعَثَنَا فِي هَذَا الْيَوْمِ إِلَى كُلِّ خَيْرٍ، وَنَعُوْذُ بِكَ أَنْ نَجْتَرِحَ فِيْهِ سُوْءًا أَوْ نَجُرَّهُ إِلَى مُسْلِمٍ، أَوْ يَجُرَّهُ أَحَدٌ إِلَيْنَا، نَسْأَلُكَ خَيْرَ هَذَا الْيَوْمِ وَخَيْرَ مَا فِيْهِ وَنعُوْذُ بِكَ مِنْ شَرِّ هَذَا الْيَوْمِ وَشَرِّ مَا فِيْهِ
“ โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงเราขอวิงวอนต่อพระองค์ ได้โปรดส่งเรา(ให้ตื่นขึ้นจากการนอน)ในวันนี้ ไปสู่ทุกๆ ความดีงาม  และเราขอความคุ้มครองต่อพระองค์ อย่าให้เราประพฤติชั่วในวันนี้ และอย่าให้เราชักนำความชั่วไปสู่มุสลิม หรืออย่าให้บุคคลหนึ่งชักนำความชั่วมาสู่เรา  เราวอนขอต่อพระองค์ กับความดีงามของวันนี้ และความดีงามของสิ่งที่อยู่ในวันนี้  และเราขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายในวันนี้ และความชั่วร้ายของสิ่งที่อยู่ในวันนี้ ”
        และเมื่อท่านได้สวมใส่เสื้อผ้า ก็จงตั้งเจตนาว่าเพื่อสนองคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺในการปกปิดเอาเราะฮฺ  และจงระวังจากการที่ท่านมีเจตนาในการสวมใส่เสื้อผ้า เพื่ออวดให้มนุษย์เห็น  เพราะจะทำให้ท่านพบกับความเสียหาย

5
        และพึงทราบเถิดว่า  อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮู วะตะอาลา) พระองค์ทรงรอบรู้ถึงภายในจิตในของท่าน  ทรงมองเห็นทั้งภายนอกและภายใน  และ(ความรู้ของพระองค์)ครอบคลุมทุกๆ ความนึกคิด  ทุกๆ ก้าวเดิน  และทุกๆ การหยุดนิ่งและการเคลื่อนไหวของท่าน  และไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คน หรือขณะที่ปลีกตัวอยู่คนเดียว ท่านก็ยังอยู่เบื่องหน้าพระองค์  ดังนั้น ไม่มีสิ่งใดในสากลจักรวาลจะหยุดนิ่ง หรือเคลื่อนไหว  เว้นแต่พระองค์ทรงรอบรู้ถึงสิ่งนั้น “ พระองค์ทรงรอบรู้ถึงบรรดาสายตาที่ทรยศ และสิ่งที่ทรวงอกปกปิดอยู่ ” [ ฆอฟิร : 19 ] “ พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับ และสิ่งซ่อนเร้น ” [ ฏอฮา : 7 ] 
        ดังนั้น โอ้ผู้ต่ำต้อยเอ๋ย  จงมีมารยาททั้ง(อวัยวะ)ภายนอกและภายในต่อเบื้องหน้าอัลลอฮฺ(ตะอาลา)  เฉกเช่น ทาสผู้ต่ำต้อยที่กระทำบาป ได้มีมารยาทต่อนายผู้เกรียงไกร  และจงพยายามอย่าให้พระองค์ต้องเห็นท่านอยู่ในสถานที่ที่พระองค์ทรงห้าม และ(จงพยายาม)อย่าให้พระองค์ไม่เห็นท่านอยู่ในสถานที่ที่พระองค์ทรงใช้ (หมายถึง จงพยายามออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม และพยายามปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ เพื่อท่านจะได้ถึงไปยังจุดมุ่งหมายที่ต้องการ)  และท่านจะไม่สามารถกระทำอย่างนั้นได้ เว้นแต่จะต้องจัดสรรเวลา และจัดลำดับหน้าที่ต่างๆ ของท่าน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น  ฉะนั้น จงโน้มเอียงไปยังบรรดาคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺที่ได้มายังท่าน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งท่านได้เข้านอนอีกครั้ง

6
หมวดที่ 1  ว่าด้วยเรื่อง “ อัฏฏออาต ”
( การภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า )

         พึงทราบเถิดว่า บรรดาคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺมีทั้งฟัรดูและสุนัต  ฟัรดูนั้นเปรียบเสมือนต้นทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการค้า และด้วยมันนั้นจะทำให้เกิดความสำเร็จ  ส่วนสุนัตคือผลกำไร และด้วยมันจะทำให้ได้รับชัยชนะหลายระดับขั้น  ท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “ อัลลอฮฺ(ตะบารอกา วะตะอาลา) กล่าวว่า : บรรดาผู้สร้างความใกล้ชิด(จากบรรดาปวงบ่าวของข้า) ไม่ได้สร้างความใกล้ชิดยังข้า(ด้วยสิ่งใด) จะเทียบเท่ากับการปฏิบัติในสิ่งที่ข้าได้กำหนด(ฟัรดู)แก่พวกเขา  และบรรดาปวงบ่าวยังคงสร้างความใกล้ชิดยังข้าด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสุนัต จนกระทั่งข้าได้รักเขา  ดังนั้นเมื่อข้ารักเขาแล้ว ข้าก็จะเป็นหูที่เขาใช้ฟัง เป็นตาที่เขาใช้มอง เป็นลิ้นที่เขาใช้พูด เป็นมือที่เขาใช้หยิบจับ และเป็นเท้าที่เขาใช้เดิน ” (หมายถึงพระองค์จะทรงรักษาอวัยวะต่างๆของเขาผู้นั้น จากการปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ไม่พอพระทัย)
         โอ้นักศึกษาเอ๋ย ท่านไม่สามารถถึงไปยัง(มะกอมเอียะห์ซาน ซึ่งเป็นแก่นแท้ของ)การปฏิบัติตามคำสั่งใช้ต่างๆของอัลลอฮฺ  เว้นแต่หัวใจของท่านและทุกๆอวัยวะของท่าน จะต้องจดจ่ออยู่กับพระองค์ในทุกช่วงเวลาและทุกลมหายใจ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

7
ชี้แจงเกี่ยวกับก้าวแรกแห่งทางนำ

        ดังนั้นหากท่านถามว่า อะไรคือก้าวแรกของการได้รับทางนำ เพื่อฉันจะได้นำมาทดสอบจิตใจ(อันใฝ่ต่ำ)ของฉัน ? :  ก็จงทราบไว้เถิดว่า จุดเริ่มต้นของการได้รับทางนำ คือการเกิดความตักวา(ยำเกรง)ทางภายนอก และจุดสิ้นสุดของมัน คือการเกิดความตักวาภายใน  ดังนั้นจะไม่มีการได้รับโชคผลใดๆ นอกจากด้วยความยำเกรง และไม่มีการชี้นำ นอกจากแก่ผู้ที่มีความยำเกรง 
        และความยำเกรงนั้น คือ การปฏิบัติตามบัญชาใช้ของอัลลอฮฺ และออกห่างจากบัญญัติห้ามของพระองค์  ซึ่งทั้งสอง(คือการทำตามบัญชาใช้และออกห่างจากข้อห้าม)นั้น มีอยู่ 2 ประเภท  และฉันจะขอแจกแจงให้ท่านได้ทราบ ด้วยถ้อยสำนวนที่กะทัดรัด ถึงความรู้เกี่ยวกับความยำเกรง ไว้ในทั้งสองประเภทนี้  และจะติดตามมาด้วยประเภทที่สาม(คือมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น) เพื่อให้หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและเพียงพอ... และอัลลอฮฺเท่านั้นที่ถูกขอความช่วยเหลือ

8
        ...และเขาเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า “ ฉัน.. มีสิ่งอื่นจากดัจญาล ที่กลัว(ว่าจะประสบ)แก่พวกท่าน มากกว่าดัจญาลเสียอีก ” มีผู้ถามว่า : สิ่งนั้นคืออะไรหรือ โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ?  ท่านจึงกล่าวว่า : “ คือบรรดาผู้รู้ที่ชั่ว ”  และนี่ก็เนื่องจาก ดัจญาล เป้าหมายของมันคือทำให้หลง(ออกจากความถูกต้อง)  ซึ่งเสมือนกับผู้รู้นี้  ถึงแม้คำพูดของเขาจะชี้นำมนุษย์ให้ออกห่างจาก(ความลุ่มหลงต่อ)โลกดุนยา แต่การกระทำและสภาพของเขากลับเป็นตัวชักนำ(ให้ลุ่มหลง)ต่อมัน 
        และ..เพราะการกระทำนั้นย่อมดังกว่าคำพูด และธรรมชาติของมนุษย์มักคล้อยตามการกระทำมากกว่าคำพุด  ดังนั้นสิ่งที่ผู้ถูกหลอก(จากชัยฏอน)ผู้นี้ได้สร้างความเสียหายด้วยการปฏิบัติของเขา ย่อมมีมากกว่าสิ่งดีๆ ที่เขาไดชี้นำด้วยคำพูด  เนื่องจากคนโง่ไม่อาจหาญหลงใหลในดุนยา นอกจากจะมีความอาจหาญของบรรดาอุลามาอฺ(กระทำสิ่งนั้นเสียเองก่อน)  ด้วยเหตุนี้ความรู้ของเขา(บุคคลที่สามนี้) จึงกลายเป็นสาเหตุให้ปวงบ่าวของอัลลอฮฺ กล้ากระทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อคำบัญชาของพระองค์  และจิตใจอันโง่เขลาจะแนะนำเขา(บุคคลประเภทที่สาม)ผู้นี้  ให้มีความหวัง(ว่าจะได้รับในสิ่งที่เขายากจะได้รับมัน เช่น สรวงสวรรค์ และผลบุญอันยิ่งใหญ่)  และให้มีความปรารถนา(ในสิ่งที่เขาสามารถได้รับมาโดยง่าย เช่น ทรัพย์สิน และผู้ติดตามอย่างมากมาย)  และอีกทั้ง(หัวใจของเขา)ยังจะชักนำให้เขารู้สึกภาคภูมิต่ออัลลอฮฺ ด้วยความรู้ของเขา(เช่นจิตใจเขากล่าวว่า โอ้ผู้อภิบาลของข้า ตัวฉันมีความรู้อย่างนั้น อย่างนี้ เท่านั้น เท่านี้ เป็นต้น) โดยจิตใจของเขาจินตนาการไปว่า ตัวเขาดีเลิศกว่าบรรดาปวงบ่าวอีกมากมายของอัลลอฮฺ 
        โอ้นักศึกษาเอ๋ย  ท่านจงเป็นบุคคลกลุ่มที่หนึ่ง  และจงระวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่สอง  เพราะกี่มากน้อยแล้วที่ผัดวันประกันพรุ่ง แล้วความตายได้ประสบแก่เขาอย่างกระทันหันก่อนจะทันกลับตัว เขาจึงเป็นผู้ขาดทุน  และท่านจงระวัง..จงระวัง ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่สาม เพราะท่านจะเสียหายอย่างไม่สามารถที่จะหวังความผาสุกได้เลย

9
    ระดับขั้นของผู้ใฝ่หาความรู้

        จงทราบไว้เถิดว่า มนุษย์..ในการแสวงหาความรู้นั้นมีอยู่ 3 ประเภท
   1. บุคคลที่แสวงหาความรู้ เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้เป็นเสบียงสู่สัมปรายภพ  เขามิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจาก(ความพึงพอพระทัยของ)อัลลอฮฺและวันแห่งการตอบแทนเท่านั้น  ดังนั้นเขาผู้นี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนที่ได้รับชัยชนะ
   2. บุคคลที่แสวงหาความรู้ เพื่อนำมาเป็นตัวช่วยในชีวิตปัจจุบัน  และเพื่อให้เขาได้รับเกียรติ ตำแหน่ง ทรัพย์สิน  ซึ่งเขาถูกนับว่าเป็นผู้รู้ ด้วย(เหตุที่มีเป้าหมาย)ดังกล่าว โดยได้ซ่อนเร้นความอ่อนแอ และความต่ำช้าไว้ภายในจิตใจของเขา  ดังนั้นเขาผู้นี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มผู้ที่อยู่ในอันตราย ซึ่งหากความตายได้มาเยือนเขาก่อนการเตาบะฮฺ(กลับตัว) เกรงว่าเขาจะมีจุดจบที่เลวร้าย  และสภาพของเขาอยู่ในความเสี่ยงของความประสงค์(ของอัลเลาะฮ์  หากพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะอภัยโทษให้  และหากไม่ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะไม่อภัยให้)  และหากเขาได้รับการชี้นำให้ทำการเตาบะฮฺก่อนชีวิตจะจบลง และนำเอาความรู้ที่ได้มา ไปปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งพระองค์ ชดใช้สิ่งที่เขาละเลยจากบรรดาความบกพร่องทั้งหลาย  เขาย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนที่ได้รับชัยชนะ
   3. บุคคลที่สาม คือผู้ที่ชัยฏอนได้ครอบงำเขา  ดังนั้นเขาจึงได้ยึดเอาความรู้เป็นช่องทางในการเพิ่มพูนทรัพย์สิน พยายามแข่งขันให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง กลายเป็นคนที่มีอำนาจด้วยสาเหตุมีผู้ติดตามากมาย  เขาได้นำความรู้เข้าไปทุกลู่ทางเพื่อหวังสนองความต้องการจากดุนยา  และพร้อมกันนั้น เขามีความรู้สึกในใจว่า ตัวเองมีตำแหน่ง(ใกล้ชิด) ณ ที่อัลลอฮฺ เนื่องจากเขาได้ยึด(ปฏิบัติ) ด้วยบรรดาคุณลักษณะของผู้รู้ ทั้งในด้านการแต่งกาย และคำพูด  ขณะเดียวกันเขาก็ยึดติดในดุนยาทั้งภายนอกและภายใน  ดังนั้นเขาผู้นี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนที่เสียหาย โง่เขลา และถูกหลอก(จากชัยฏอน) เพราะความหวังในการกลับตัวได้ขาดสะบั้น เนื่องจากเขาคิดว่า ตัวเขาเองเป็นหนึ่งจากบรรดาผู้กระทำดีแล้ว โดยลืมพระดำรัสแห่งองค์อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เหตุใดพวกท่านจึงพูด ในสิ่งที่พวกท่านไม่ได้ปฏิบัติ ”....


10
        เหนือสิ่งอื่นใด ท่านจะต้องรับรู้ว่าฮิดายะฮฺ(ทางนำ) ซึ่งหมายถึงผลิตผลของความรู้นั้น มีจุดเริ่มต้นและจุดหมาย มีภายนอก(ด้วยการปฏิบัติ) และภายใน(จิตใจ) จะไม่บรรลุสู่จุดหมายของอิบาดะฮฺ นอกจากต้องมีการเริ่มต้นกับมัน  และจะไม่สามารถรับทราบถึงสิ่งภายใน(ตะเซาวุฟ)ได้เว้นแต่จะต้องประจักษ์ถึงสิ่งภายนอก(เกี่ยวกับฟิกฮฺ)เสียก่อน 
        เรา ขอชี้แนะท่านด้วย “บิดายะฮฺ อัลฮิดายะฮฺ” เพื่อทดสอบตัวท่าน และทดลองใจท่าน หากใจของท่านมีความโน้มเอียงไปสู่ทางนำ และจิตใจของท่านมีความปรารถนาในสิ่งนั้น ท่านก็จงนำสิ่งดังกล่าวมาเป็นการก้าวขึ้นไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง และเข้าไปในทะเลแห่งวิชาความรู้เถิด  แต่ถ้าหากท่านพบว่าหัวใจของท่านขณะที่เผชิญอยู่กับการได้รับทางนำ มีความเฉื่อยชา(โดยที่มันกล่าวว่าต่อไปฉันจะทำสิ่งดังกล่าว - แบบผลัดวันประกันพรุ่ง) และด้วยการปฏิบัติตามนัยยะแห่งทางนำแบบประวิงเวลา  ดังนั้นท่านโปรดรู้ไว้เถิดว่า จิตใจของท่านที่โน้มเอียงไปสู่การแสวงหาความรู้นี้เป็นจิตใจที่ใฝ่ต่ำ  ซึ่งมันได้กระตุ้นให้น้อมตามชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง เพื่อที่มารร้าย มันจะได้ชักนำท่านไปสู่บ่วงเชือกแห่งมายา  โดยมันจะหว่านล้อมท่านทีละน้อย ๆ ด้วยกลลวง จนกระทั่งนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรง  และเป้าหมายของมัน คือให้ความชั่วแพร่ลามอยู่ในหนทางแห่งความดีของท่าน จนกระทั่งทำให้ท่านตกอยู่ในกลุ่มชนที่ขาดทุนในการปฏิบัติอามั้ล(คือคิดว่ามันเป็นการปฏิบัติที่ดี แต่ความจริงกลับกลายเป็นความเสียหาย) เสมือนกับบรรดาผู้เพียรพยายามขวนขวายในชีวิตดุนยา(เพราะตามชัยฏอน) โดยที่พวกเขาเข้าใจไปเองว่าได้กระทำดีแล้ว
        และในขณะดังกล่าว(คือ ในขณะที่ชัยฏอนมีเป้าหมายให้ความชั่วไปแทรกอยู่ในรูปแบบของความดี) มันจะพร่ำบอกแก่ท่าน ถึงความประเสริฐของวิชาความรู้  ฐานันดรของอุลามาอฺ  และบรรดาฮาดิษและคำกล่าวของซอฮาบะฮฺ ที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องวิชาความรู้  และชัยฏอนมันจะทำให้ท่านหลงลืมคำกล่าวของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า “ ผู้ใดที่ได้เพิ่มพูนวิชาความรู้โดยไม่ได้เพิ่มพูนทางนำเลย เขาจะไม่ได้รับการเพิ่มใดๆ จากอัลลอฮฺ นอกจากความห่างไกล ” และคำกล่าวของท่านที่ว่า “ มนุษย์ที่ถูกลงโทษรุนแรงที่สุดในวันกิยามะฮฺ  คือผู้รู้ที่อัลลอฮฺไม่ทำให้เขาได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขา ” และท่านรอซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าว(อยู่บ่อยครั้งในดุอาอฺ เพื่อเป็นการสอนแก่ประชาชาติของท่าน) ว่า “ โอ้พระเจ้าของฉัน  ฉันขอความคุ้มครองด้วยพระองค์จากความรู้ที่ไม่มีประโยชน์  จากหัวใจที่ไม่นอบน้อม  จากการปฏิบัติที่ไม่ถูกตอบรับ  และจากดุอาอฺที่ไม่ถูกรับฟัง ” และมัน(ชัยฏอน) จะทำให้ท่านหลงลืมคำกล่าวของท่านรอซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า “ ในคืนอิสรออฺ ฉันได้เดินทางผ่านชนกลุ่มหนึ่งที่ริมฝีปากของพวกเขาถูกหนีบด้วยกรรไกรจากไฟนรก  ฉันจึงถามว่า : พวกท่านเป็นใครกัน ?  พวกเขาตอบว่า : เราเคยกำชับให้กระทำความดีแต่เรามิได้ทำมัน  และเราคอยห้ามมิให้กระทำความชั่วแต่เรากลับทำมัน ”
        ดังนั้นพึงระวัง โอ้ผู้ต่ำต้อยเอ๋ย  ต่อการน้อมตามคำโกหกของมัน และการชักนำท่านสู่บ่วงเชือกแห่งมายา ที่มันได้ชักใยอยู่  ฉะนั้นความหายนะจะประสบแก่คนโง่ที่ไม่ใฝ่หาความรู้ แม้เพียงซักครั้ง(ในชีวิต)  และความวิบัติจะประสบแก่ผู้รู้ที่ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่รู้มา เป็นพันครั้ง

11
بسم الله الرحمن الرحيم

         ท่านอีหม่าม อัล-อาเล็ม อัล-อัลลามะฮฺ ฮุจญตุ้ลอิสลาม อบู ฮามิด มูฮัมหมัด อัล-ฆ๊อซซาลียฺ กล่าวว่า.......

         ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงเมตตาปราณี  มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิอันคู่ควรแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว ของความสันติ พึงมีแด่มนุษย์ผู้ประเสริฐ ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) ตลอดจนเครือญาติและมิตรสหายทั้งผองของท่านด้วยเทอญ

    คำตักเตือนแด่นักศึกษา

        โอ้บรรดาผู้มุ่งมั่นในวิชาความรู้ ผู้ซึ่งได้ทำให้ความปรารถนาและความกระหายต่อสิ่งนั้น ได้ปรากฏออกมาจากใจของเขา พึงทราบเถิดว่า หากท่าน  ตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้เพียงเพื่อชื่อเสียง เกียรติยศ เพื่อเอาชนะผู้อื่นหรือเพื่อให้ผู้คนสนใจในตัวท่าน  แน่แท้ท่านกำลังทำลายศาสนาและชีวิตของท่านเอง ท่านกำลังขายโลกหน้าด้วยโลกนี้  ฉะนั้นท่านก็จะได้รับแต่ความขาดทุน และการค้าขายของท่านก็มีแต่จะพบกับความเสียหาย  ส่วนอาจารย์ของท่านคือผู้ที่ช่วยเหลือท่านต่อการฝ่าฝืนนั้น และเขาก็มีหุ้นส่วนในความขาดทุนของท่าน  เขา..เปรียบเสมือนกับคนที่ขายดาบให้กับโจรปล้นสะดม  ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “ ใครก็ตามที่ให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องความชั่ว แม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคำพูด ก็เท่ากับเขาได้เป็นหุ้นส่วนกับสิ่งนั้นแล้ว ”    
        แต่สำหรับท่านที่มุ่งศึกษาหาความรู้ โดยหวังจะได้รับทางนำจากอัลลอฮฺ ก็จงรับฟังข่าวดีเถิด เนื่องจากมวลมะลาอีกะฮฺจะสยายปีกโอบอุ้มท่าน และบรรดาปลาใหญ่น้อยในท้องทะเลจะขออภัยโทษแก่ท่าน ตราบที่ท่านได้ท่องไปในหนทางนั้น.

12


بسم الله الرحمن الرحيم
      الحمد لله والصلاة والسلام على من لا نبي بعده ، أما بعد

         หนังสือ  بداية الهداية  “ก้าวแรกแห่งทางนำ”  เป็นหนังสือที่ท่านอิหม่าม อัล-ฆ๊อซซาลียฺ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้ประพันธ์ขึ้น  ในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบรรดาเนื้อหาที่แฝงไปด้วยปรัชญาการดำรงชีวิตตามหลักการของอัลอิสลามอย่างแท้จริง  และอีกทั้งเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะดำเนินสู่หนทางของอัลลอฮฺนั้น จะขาดเสียมิได้
        จึงหวังว่าการถ่ายทอดหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย จะยังประโยชน์แก่บรรดาผู้ใฝ่หาความรู้ได้ไม่มากก็น้อย

13
1. มูอาวียะฮ์ บิน อะบีซุฟยาน ( ฮ.ศ. 41-60 ค.ศ. 661-680 )

         ท่านมีชื่อเต็มว่า มูอาวียะฮ์ บิน อะบีซุฟยาน บิน ฮัรบฺ บิน อุมัยยะฮ์ บิน อับดิชชัมสฺ บิน อับดิลมานาฟ บิน ก็อยซฺ มารดาชื่อฮินดฺ บินติ อุกบะฮ์ บิน รอบีอะฮ์ บิน อับดิชชัมสฺ บิน อัลดิลมานาฟ

         ท่านเกิดในนครมักกะฮ์ ก่อนที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จะถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดา 5 ปี และได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามพร้อมกับบิดา มารดา และพี่ชายของเขา ขณะนั้นเขามีอายุได้ 25 ปี และท่านรซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นอาลักษณ์ทำการบันทึกอัลกุอาน ท่านคอลีฟะฮ์อุมัร ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองประเทศชามส่วนหนึ่ง ต่อมาท่านคอลีฟะฮ์อุษมานได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองดินแดนชามทั้งหมด หลังจากที่ท่านคอลีฟะฮ์อุษมานได้เสียชีวิตลง มุอาวียะฮ์ได้แยกอาณาจักรชามเป็นอิสระ และหลังจากที่เขาสามารถสถาปนาอาณาจักรอุมัยยะฮ์ได้แล้ว ก็ได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามจากนครมาดีนะฮ์ไปอยู่ที่นครดามัสกัส ในประเทศชาม

         ท่านมุอาวียะฮ์ เป็นผู้ที่มีสติปัญญาปราดเปรื่อง มีสายตาอันกว้างไกล มีความสุขุม มีความชำนาญทางด้านการเมือง และมีความสุภาพอ่อนโยน ทั้งนี้เนื่องจากว่าความสุภาพอ่อนโยน เป็นคุณลักษณะของหัวหน้าเผ่าต่างๆ ของอาหรับ ท่านสามารถข่มความรู้สึกได้ เมื่อได้รับการพูดจาถากถาง หรือบริภาษจากผู้อื่น พร้อมกับได้ให้อภัยในส่วนที่ควรให้อภัย มุอาวียะฮ์รู้ดีว่าตัวของท่านเองและบรรดาวงศ์วานของท่านไม่สมควรได้คัดค้านการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่าน โดยเหตุนี้จึงจำเป็นที่ท่านจะต้องปฏิบัติกับประชาชนด้วยความสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาปฏิบัติและแสดงออกถึงความโอบอ้อมอารีเพื่อว่าจะได้จับผู้ที่เป็นศัตรูต่อท่านและเพื่อที่ท่านจะได้จ่าย ทรัพย์สินเงินทองเพื่อปิดปากและยุติการทำร้ายของพวกเขาเหล่านั้น ด้วยการดำเนินนโยบายอันแยบยลของมุอาวียะฮ์เช่นนี้ ประชาชนทั้งหลายจึงยุติการกล่าววิจารณ์ และยอมรับการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่าน

         ถึงจะอย่างไรก็ตาม มุอาวียะฮ์ก็มิได้ละเลยกิจการของอิสลามและรัฐแต่ประการใด ท่านได้ทำการขยายดินแดนของอาณาจักรอิสลามออกไปอีก พร้อมกับได้แต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสม มีความสามารถ และมีความชำนาญให้ทำการบริหารตำแหน่งต่างๆในอาณาจักรอิสลาม ท่านได้คัดเลือกผู้ปกครองที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เขาเหล่านั้นบริหารอาณาจักรอิสลามด้วยความเด็ดเดี่ยว บริสุทธิ์ใจ และมีสมถะ จึงให้ความผาสุก และความสงบแผ่ไปทั่วอาณาจักรอิสลาม
มุอาวียะฮ์เป็นชาวอาหรับแท้ ซึ่งแสดงออกให้ปรากฏทางด้านอุปนิสัยและความประพฤติของท่าน ท่านชอบใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยหรือเครื่องนุ่งห่ม มีผู้กล่าวว่า ท่านรับประทานอาหารมาก คำพูดนี้เป็นความจริงเพราะว่าท่านเป็นคนอ้วน แต่ทว่าการรับประทานอาหารมากของท่านก็เป็นเช่นเดียวกับอาหารที่ท่านได้เคยรับประทานมาก่อน มิได้เป็นอาหารที่ดีเลิศกว่านี้แต่ประการใด สิ่งที่ท่านชอบรับประทานคือ ขนมปังหยาบ เนื้อต้ม และเนื้อย่าง

         การปกครองของอาณาจักรมุอาวียะฮ์นั้น ท่านไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา ถึงแม้ว่าท่านได้ทำการปกครองประเทศเป็นระยะเวลานานก็ตาม แต่ทว่าระเบียบการปกครองท่านเป็นไปอย่างง่ายๆ ท่านจะเปิดประตูรับประชาชนทุกคนที่ปรารถนาจะเข้าไปพบ เพื่อส่งเรื่องราวร้องทุกข์ตามที่เขาปรารถนา น้อยคนนักที่มาเยือนท่าน และกลับออกไปโดยมิได้รับของขวัญติดมือ ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นศัตรูกับท่านก็ตาม ท่านได้ปูนบำเหน็จให้กับสาวกของท่านรซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บรรดาลูกๆของเขาเหล่านั้น บรรดาผู้นำของเผ่าต่างๆ และบรรดานักปราชญ์อย่างมากมาย

คุณลักษณะและอุปนิสัยของท่าน

         ท่านเป็นคนที่รูปร่างสูง ผิวขาว ใบหน้ากลม ดูสง่าน่าเกรงขาม ท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม เป็นผู้มีความรู้ กล้าหาญ เข้มแข็ง มีความความอดทนอย่างสูง มีจุดยืนที่มั่นคง คล่องแคล่ว อ่อนโยนในสิ่งที่ควรอ่อนโยน และแข็งข้อในสิ่งที่ควรแข็ง แต่ความอ่อนโยนของท่านนั้นสามารถเอาชนะความแข็งกระด้างได้ ท่านเป็นผู้มีความให้อภัยผู้อื่น ชอบบริจาคทรัพย์สิน

จุดเด่นของคอลีฟะฮ์มุอาวียะฮ์

1. มุอาวียะฮ์ คือคอลีฟะฮ์ที่ถูกบอกข่าวโดยท่านรซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม
         จากอับดุลมาลิก บิน อับดุลมาลิก ได้กล่าวว่า : มุอาวียะฮ์ได้กล่าวว่า : ฉันเคยอยากเป็นคอลีฟะฮ์ตั้งแต่ท่านท่านรซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า : “ โอ้ มุอาวียะฮ์ เมื่อไรเจ้าได้เป็นผู้ปกครอง เป็นสิ่งที่ดียิ่ง ”

2. มุอาวียะฮ์คือคอลีฟะฮ์ที่เชี่ยวชาญ
         จากอิบนิ มุลัยกะฮ์ : ได้กล่าวว่า ได้มีคนกล่าวแก่อิบนิ อับบาส ว่า : ท่านเคยรู้เรื่องของมุอาวียะฮ์บ้างไหม เขาไม่เคยทำการละหมาดวิตรฺ นอกจากหนึ่งรอกะอัตเท่านั้น. ท่านได้กล่าวว่า : “ เขาคือเชี่ยวชาญ ”

3. มุอาวียะฮ์คือศอฮาบะฮ์ที่ถูกดุอาอฺโดยท่านท่านรซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม
         จากอับดุรเราะห์มาน บิน อมีเราะฮ์ จากท่านนบี ได้กล่าวแก่มุอาวียะฮ์ว่า :
“ اللهم اجعله هاديا مهديا ” หมายความว่า : “ โอ้ พระเจ้าของฉัน จงทำให้เขาเป็นผู้ชี้นำ และได้รับทางชี้นำ ”

4. มูอาวียะฮ์เป็นผู้เขียนวะฮฺยู
         อบูซุฟยานได้ขอจากท่านท่านรซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ให้แต่งตั้งมูอาวียะฮ์ เป็นผู้เขียนต่อหน้าเขา ดังนั้นท่านรซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้ตอบรับคำขอนั้น.

การขยายดินแดนในสมัยของมุอาวียะฮ์

         มุอาวียะฮ์มีทัศนะว่า หนทางที่จะทำให้บรรดามุสลิมละทิ้งความสนใจต่อกิจการภายในอาณาจักรอิสลามและปัญหาพิพาทกันเกี่ยวกับผู้มีสิทธิในการดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ คือ การส่งให้เขาเหล่านั้นออกไปพิชิตและแผ่ขยายอาณาจักรอิสลาม ทำให้อาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่เกรงขามของข้าศึก และทำให้ตำแหน่งของท่านมีความมั่นคงขึ้นท่ามกลางผู้ที่นิยมในตัวท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ
 
         ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีการจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นในอาณาจักรอิสลามพร้อมกับมีการเพิ่มจำนวนเรือ ทหารเรือและจัดการปรับปรุงกำลังทหารของอิสลามให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ก็ได้มีการจัดระเบียบการรับราชการทหารขึ้น โดยมีชื่อว่า “ ภาคร้อน ภาคหนาว ” ตามนัยนี้ หมายถึงการจัดตั้งกำลังทหารขึ้น โดยทำหน้าที่รักษาเขตแดนของอาณาจักรอิสลามให้พ้นจากการโจมตีและรุกรานของข้าศึก  ซึ่งมีอยู่เสมอ ทั้งในฤดูร้อน และฤดูหนาว ทำให้กำลังทหารของมุสลิมมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อการทำการสงคราม ณ ที่นี้ เราจะกล่าวถึงการพิชิตของเขาเหล่าทหารมุสลิมในสมัยมุอาวียะฮ์พอเป็นสังเขป

ก.- การพิชิตดินแดนทางภาคตะวันออก

         ในสมัยของคอลีฟะฮ์อุมัร บิน ลคอฏฏ๊อบ บรรดามุสลิมได้แผ่ขยายดินแดนออกไปจนเกือบจะถึงพรมแดนของประเทศปากีสถานในปัจจุบัน บรรดาประชาชนในสมัยนั้นยังคงเคารพบูชาไฟ และรูปเจว็ด และเขาเหล่านั้นได้แสดงความกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อมต่อมุสลิม ขณะที่ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างมุอาวียะฮ์และคอลีฟะฮ์อะลี โดยเหตุนี้จึงได้มีคำสั่งให้ทำการปราบปราม เพื่อให้เขาเหล้านั้นอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้โดยการจัดส่ง อับดุลลอฮฺ บิน เซาวาร ยกกองทัพไปทางทิศตะวันออก 2 ครั้ง สามารถพิชิตรัฐสินธ์ คือ ปากีสถานในปัจจุบันได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้จัดส่ง อัลมุลฮับ บิน อะบีซ๊อฟเราะฮ์ อัล-อัซดีย์ ให้คุมกำลังทหารมุสลิมจำนวนมากไปยังภาคตะวันออก ซึ่งสามารถพิชิตแคว้นสินธ์ได้ทั้งหมด และได้เข้าไปยังเมืองลาโฮร์ พร้อมกับปรับปรุงเมืองนี้ให้เป็นเมืองมุสลิม
หลังจากนั้นมุอาวะยะฮ์ได้ส่งก็อยสฺ บิน อัล ฮัยซัม ไปพิชิตทางภาคตะวันออกของเมืองคูรอซาน โดยบุกเข้าไปในเมือง บัลคฺ (بلخ) ซึ่งอยู่ในอัฟกานิสถานในปัจจุบันและได้ทำการสร้างมัสยิดขึ้น ต่อจากนั้นก็ได้พิชิตเมืองเฮราต ( هراة ) โดยอับดุลลอฮฺ บิน ฮาชิม ตลอดจนเมืองอื่นอีก เช่น บุคอรอ ( بخارى ) และสมารกอนดฺ (سمرقند )

การปรับปรุงกองทัพเรือของมุสลิม

         มุอาวียะฮ์ได้ให้ความสนใจอย่างกว้างขวางต่อกองทัพเรือและการทำสงครามทางเรือนับตั้งแต่ท่านเป็นผู้ปกครองเมืองชามสมัยคอลีฟะฮ์อุมัร บิน คอฏฏ๊อบ ท่านได้จัดตั้งกองทัพเรือขนาดใหญ่ และได้พิชิตเกาะต่างๆ เช่น เกาะโรดส์ และเกาะไซปรัส
นอกจากนี้ มุอาวียะฮ์ยังได้จัดตั้งอู่ต่อเรือตามท่าเรือต่างๆ เช่นที่เมืองซูร ซอยดา อัสกอลาน และกาซา และบรรดาท่าเรือที่อียิปต์ เช่น ดิมยาฎ และอเล็กซานเดรีย ท่านได้ให้ความสนใจต่อเรือรบ และฝึกซ้อมเหล่าทหารมุสลิมให้มีความชำนาญในการสงครามทางทะเล เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ก็ได้ให้ความสนใจทางด้านกองทัพเรือของมุสลิมในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนมากยิ่งขึ้น และได้ทำให้จำนวนเรือรบของมุสลิมมีถึง 100 ลำ

ข. - ความพยายามในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

         ในปี ฮ.ศ.48 (ค.ศ.668) มุอาวียะฮ์ได้จัดเตรียมกองทัพทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อทำการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยให้ซุฟยาน บิน เอาฟฺ เป็นแม่ทัพ        กำลังทหารของมุสลิมได้เดินทางไปจนถึงกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล และได้ทำการสู้รบกับพวกโรมันไบเซ็นตีนอย่างรุนแรง แต่ไม่สามารถพิชิตเมืองนี้ได้ เพราะว่ากำแพงเมืองมึความแข็งแรงมาก ประกอบด้วยขณะนั้นเป็นช่วงฤดูหนาว มีหิมะตกมาก นอกจากนั้น พวกโรมันไบเซ็นติน ยังได้ใช้อาวุธชนิดหนึ่งเรียกว่า “ ปีนไฟของกรีก ” ระดมยิงมายังเรือของมุสลิม ทำให้เรือเกิดไฟไหม้และเสียหายอย่างใหญ่หลวง บรรดามุสลิมจึงประสบความปราชัยอย่างย่อยยับและต้องถอยทัพกลับ
 
ค- การพิชิตอัฟริกา

          ในปี ฮ.ศ.50 (ค.ศ. 670) มุอาวียะฮ์ได้จัดส่งกำลังทหารจำนวน 10,000 คน ไปให้กับอุกบะฮ์ บิน นาเฟียะอฺ ผู้ปกครองบัรเกาะฮ์ ตั้งแต่สมัยของอัมรฺ บิน อาศ เป็นผู้ปกครองอียิปต์ เพื่อให้ทำการพิชิตอัฟริการตะวันตก อุกบะฮ์จึงพากำลังทหารของมุสลิมบุกเข้าไปยังอัฟริกา และสามารถพิชิตดินแดนส่วนนั้นได้จนถึงตูนีเซียในปัจจุบัน ขณะที่ทำการพิชิตดินแดนส่วนนี้นั้น พวกเบอร์เบอร์ จำนวนมากได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม แต่อย่างไรก็ตามบรรดามุสลิมต้องประสบกับอุปสรรคอย่างมากมายหลังจากที่ได้ทำการพิชิตอัฟริกา ทั้งนี้เนื่องจากดินแดนนี้อยู่ใกล้กับเกาะซิชิลี จึงทำให้พวกโรมันสามารถจัดส่งเสบียงสัมภาระมาให้กำลังทหารของตนได้อย่างสะดวก นอกจากนี้แล้วพื้นเพทางภูมิศาสตร์ของอัฟริการเป็นภูเขาจึงทำให้พวกเบอร์เบอร์หลบซ่อนตัวอยู่แถบหุบเขาเพื่อซุ่มดักโจมตีกำลังทหารของมุสลิม โดยเหตุนี้การพิชิตอัฟริกาโดยสมบูรณ์จึงใช้เวลามากกว่า 60 ปี

           เมื่ออุกบะฮ์สามารถเอาชนะเบอร์เบอร์ได้แล้ว จึงได้ยกทัพลงไปทางตอนใต้ของตูนีเซียและได้จัดสร้างเมืองก็อยรอวาน ขึ้นไปในปี ฮ.ศ.55 โดยเป็นเมืองแรกที่มุสลิมได้จัดสร้างในอัฟริกา เป็นเมืองที่สี่ที่มุสลิมได้จัดสร้างขึ้นหลังจากกุฟะฮ์ บัสเราะฮ์ และฟุสฏ๊อฏ การสร้างเมืองก็อยรอวาน ดำเนินไปเป็นเวลา 5 ปี จึงเสร็จเรียบร้อย และได้มีการจัดสร้างมัสยิดญามิอฺขึ้นด้วย ซึ่งถือได้ว่ามัสยิดหลังนี้เป็นมัสยิดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอิสลาม

           ด้วยการสร้างมัสยิด ทำให้ก็อยรอวานกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามภาคตะวันตกของทวีปอัฟริกา และเป็นที่ป้องกันภัยของมุสลิมจากการโจมตีของเบอร์เบอร์

การมอบอำนาจการเป็นคอลีฟะฮ์ของมุอาวียะฮ์ให้แก่ยาซีดผู้เป็นบุตร

          มุอาวียะฮ์มีความเห็นว่า ควรแต่งตั้งให้ยาซีดผู้เป็นบุตรดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์สืบต่อไป และจำกัดอำนาจการปกครองอาณาจักรอิสลามแก่บุคคลภายในตระกูลของตน โดยเหตุนี้เขาจึงเริ่มทำการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่ประชาชนโดยทั่วไปถึงข้อดีเกี่ยวกับการกระทำเช่นนี้ ทั้งนี้โดยอาศัยบรรดาผู้ซื่อสัตย์ต่อราชวงศ์อุมัยยะฮ์เป็นสื่อกลาง ด้วยการใช้วิธีเช่นนี้จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบต่อการคัดเลือกให้ยาซีดดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์สืบต่อไป และเนื่องจากความหวั่นเกรงต่อความยุ่งเหยิงอันอาจจะเกิดขึ้นอีก หลังจากมุอาวียะฮ์สิ้นชีวิตไป โดยมิได้แต่งตั้งให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์แทน บรรดาหัวเมืองต่างๆจึงได้จัดส่งคณะผู้แทนมาขอร้องให้มุอาวียะฮ์จัดการให้สัตยาบันแก่ยาซีดเพื่อให้ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งมุอาวียะฮ์ก็เห็นชอบด้วย โดยที่ท่านก็มีเจตนารมณ์ที่จะกระทำเช่นนั้นอยู่แล้ว โดยเหตุนี้การให้สัตยาบันทั่วไปแก่ยาซีดจึงเกิดขึ้น โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเลยนอกจากชาวฮิญาซ ( حجاز ) ดังนั้นมุอาวียะฮ์จึงเดินทางไปยังแคว้นฮิญาซเพื่อบีบบังคับให้อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร,อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบร, อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส และอัล-หุเซน บิน อะลี ให้การสัตยาบันต่อการเป็นคอลีฟะฮ์ของยาซีด ดังนั้นจึงเป็นคอลีฟะฮ์ของอาราจักรอิสลามสืบต่อจากผู้เป็นบิดา ขณะที่บิดาของเขายังมีชีวิตอยู่

การเสียชีวิต

           มูอาวียะฮ์ได้เสียชีวิตในเดือนรอญับ ปีที่60 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช ด้วยอายุ 78 ปี ที่เมืองซีเรีย เนื่องด้วยถูกโรคร้าย หลังจากที่ปกครองอาณาจักรอิสลามนานถึง 20 ปี

 

14
คอลีฟะฮ์แห่งราชวงค์อุมัยยะฮ์


      สายซุฟยานีย์
1.   มุอาวียะฮ์ ที่ 1 บิน อบีซุฟยาน จาก ปี ฮ.ศ. 41 – 60 ( ค.ศ. 661 – 680 )
2.   ยะซีด ที่ 1 บิน มุอาวียะฮ์ ที่ 1 จาก ปี ฮ.ศ. 60 – 64 ( ค.ศ. 680 – 683 )
3.   มุอาวียะฮ์ ที่ 2 บิน ยะซีด ที่ 1 จาก ปี ฮ.ศ. 64 – 64 ( ค.ศ. 683 – 683 )

      สายมัรวานีย์
4.   มัรวาน ที่ 1 บิน ฮะกัม จาก ปี ฮ.ศ. 64 – 65 ( ค.ศ. 683 – 684 )
5.   อับดุลมะลิก บิน มัรวาน ที่ 1 จาก ปี ฮ.ศ. 65 – 86 ( ค.ศ. 684 – 705 )
6.   วะลีด ที่ 1 บิน อับดุลมะลิก จาก ปี ฮ.ศ. 86 – 96 ( ค.ศ. 705 – 715 )
7.   สุไลมาน บิน อับดุลมะลิก จาก ปี ฮ.ศ. 96 – 99 ( ค.ศ. 715 – 718 )
8.   อุมัร บิน อับดุลอะซีซ จาก ปี ฮ.ศ. 99 – 101 ( ค.ศ. 718 – 720 )
9.   ยะซีด ที่ 2 บิน อับดุลมะลิก จาก ปี ฮ.ศ. 101 – 105 ( ค.ศ. 720 – 724 )
10.   ฮิชาม บิน อับดุลมะลิก จาก ปี ฮ.ศ. 105 – 125 ( ค.ศ. 724 – 743 )
11.   วะลีด ที่ 2 บิน ยะซีด ที่ 2 จาก ปี ฮ.ศ. 125 – 126 ( ค.ศ. 743 – 744 )
12.   ยะซีด ที่ 3 บิน วะลีด ที่ 1 จาก ปี ฮ.ศ. 126 – 126 ( ค.ศ. 744 – 744 )
13.   อิบรอฮีม บิน วะลีด ที่ 1 จาก ปี ฮ.ศ. 126 – 127 ( ค.ศ. 744 – 744 )
14.   มัรวาน ที่ 2 บิน มูฮัมมัด จาก ปี ฮ.ศ. 127 – 132 ( ค.ศ. 744 – 749 )



15
การขึ้นครองราชของราชวงศ์อุมัยยะฮ์

ราชวงศ์อุมัยยะฮ์
( الدولة الأموية في الشرق )
ครองราชย์ระหว่างปี ฮ.ศ. 41-132 / ค.ศ. 661-750
ศูนย์กลางการปกครองที่ซีเรีย


         การเสียชีวิตของท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน คอลีฟะฮ์อัรรอชิดูนคนที่ 3 เป็นมูลเหตุของการขัดแย้งระหว่างท่านมุอาวียะฮ์ข้าหลวงแห่งเมืองชาม (ซีเรีย) กับท่านอะลี บิน อบีฏอลิบ คอลีฟะฮ์ อัรรอชิดูนคนที่ 4 ท่านมุอาวียะฮ์เป็นข้าหลวงแห่งเมืองชามตั้งแต่สมัยคอลีฟะฮ์ อุมัร บิน อัลคอฏ - ฏ๊อบ และดำรงตำแหน่งดังกล่าวเรื่อยมากว่า 20 ปี ท่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างใกล้ชิดกับคอลีฟะฮ์อุษมาน บิน อัฟฟาน และทั้งสองสืบเชื้อสายจากตระกูลอุมัยยะฮ์ บุตรของ อับดุซซัม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ” เมื่อคอลีฟะฮ์อุษมานถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายโดยกลุ่มกบฏ พร้อมกับการขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์แทนของท่านอลี โดยการสนับสนุนจากกลุ่มกบฏ ทำให้ท่านมูวียะฮ์ปฏิเสธการให้สัตยาบันต่อท่านอะลี โดยกล่าวหาว่าท่านอะลีมีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ฆาตกรรมเหล่านี้ ความขัดแย้งระหว่างท่านอะลีกับท่านมุอาวียะฮ์ เป็นมูลเหตุแห่งการเกิดสงครามศิฟฟิน และมัจญ์ลิสตะฮ์กิมในเวลาต่อมา ซึ่งมุสลิมสูญเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมาก หลังจากมัจญฺลิสตะฮ์กีม ท่านอะลีถูกกลุ่มเคาะวาริจญ์ ลอบสังหารเสียชีวิต บรรดากลุ่มผู้ติดตามท่านอะลีก็ได้แต่งตั้งท่านหะสัน บุตรของท่านอะลีขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์แทน ท่านหะสันดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ไม่กี่เดือนก็สละตำแหน่งให้ท่านมุอาวียะฮ์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก และสูญเสียเลือดระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันมากกว่านี้

          เมื่อได้ขึ้นมาเป็นคอลีฟะฮ์แล้ว ท่านมุอาวียะฮ์ก็ได้อุทิศตนให้แก่การทำให้อาณาจักรอิสลามผนึกเข้าเป็นปึกแผ่น เรียกร้องความสามัคคีในชาติ ซึ่งแตกสลายและไร้ความสงบสุขมาตั้งแต่ท่านคอลีฟะฮ์อุษมานถูกฆาตกรรม เมื่อตั้งตัวได้สำเร็จแล้ว ท่านมุอาวียะฮ์เริ่มหาทางพิชิตดินแดนอื่นๆ สานต่อจากคอลีฟะฮ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิชิตแอฟริกาเหนือภายใต้การนำของแม่ทัพอุกบะฮฺ บิน นาเฟียะอฺ (عقبة بن نافع ) ท่านอุกบะฮฺได้ทำการต่อสู้กับชาวโรมันเป็นเวลานาน ในที่สุดก็เอาชนะชาวโรมันและได้ครองแอฟริการเหนือ พร้อมกับสร้างเมืองก็อยรอวาน (القيروان)  ขึ้งทางใต้ของตูนิสเมื่อ ปี ฮ.ศ. 50 นอกจากนี้ท่านมุอาวียะฮ์ ได้ขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกอย่างกว้างขวาง เมือเฮรัต ( هراة) ซึ่งแข็งข้อขึ้นก็ถูกตีได้ เมื่อฮ.ศ.41 อีกสองปีต่อมาก็พิชิตเมืองกาบูลได้ ส่วนเมืองฆอสนา( غزنة )เมืองบัลก์( بلخ ) เมืองกอนดาฮาร์ ( قندهار ) บูคอรอ  ( بخارى ) สะมารคานด์(سمرقند ) และเมืองติรมิด( ترمذ ) ก็ถูกผนวกเข้าเป็นรัฐอิสลามในสมัยของคอลีฟะฮ์มุอาวียะฮ์ ไม่เพียงแต่รวมกำลังอย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังขยายอาณาเขตการปกครองออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย

          ท่านมุอาวียะฮ์เป็นผู้บริหารที่ดี ทรงเป็นคนแรกที่จัดตั้งกรมสารบรรณ ( ديوان الخاتم ) และกรมไปรษณีย์ขึ้น จัดตั้งกองกำลังตำรวจและกองทหารองครักษ์ ทรงแต่งตั้งเจ้า เมืองให้ทำการบริหารส่วนท้องถิ่น และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษให้เป็นผู้บริหารเงินรายได้ของแผ่นดิน ท่านมุอาวียะฮ์เป็นท่านแรกที่ทรงเปลี่ยนสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรอิสลามและเป็นคนแรกที่สร้างตำแหน่งคอลีฟะฮฺ ต่อมาการแต่งตั้งแบบนี้ ได้กลายเป็นตัวอย่างในการแต่งตั้งคอลีฟะฮ์ต่อๆมา ตลอดจนราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ทั้งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ และอื่นๆอีกด้วย

           พวกอุมัยยะฮ์สืบเชื้อสายมาจาก อุมัยยะฮ์ อิบนิ อับดุซซัม ซึ่งเป็นบุคคลชั้นแนวหน้าคนหนึ่งในเผ่ากุเรช สมัยอนารยยุค (ญาฮิลิยะฮ์) ซึ่งมีเกียรติทัดเทียมกับตระกูลของผู้เป็นลุงของท่าน คือ ฮาชิม ปู่ของท่านศาสดามุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แต่พวกอุมัยยะฮ์มีทรัพย์สิน เงินทอง และลูกหลานมากกว่าพวกฮาชิม ในสมัยก่อนนั้นตระกูลทั้งสองต่างแก่งแย่งอำนาจกันในการเป็นผู้นำของเผ่ากุเรช เมื่อการเป็นศาสดาได้ปรากฏขึ้นในตระกูลฮาชิม พวกฮาชิมจึงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามก่อนตระกูลอุมัยยะฮ์ และได้ให้การสนับสนุนต่อท่านรซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ส่วนตระกูลอุมัยยะฮ์ มีบุคคลเพียงจำนวนน้อยที่ให้การสนับสนุนท่านรซูล และส่วนใหญ่ได้ต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม สำหรับผู้เป็นหัวหน้าเผ่านี้ได้แก่ อะบูซุฟยาน บิน ฮัรบฺ ซึ่งได้ขัดขวางการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม จนกระทั่งศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำการพิชิตนครมักกะฮ์ เขาจึงได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งบุคคลในตระกูลอุมัยยะฮ์ด้วย

หน้า: [1] 2 3 ... 5