salam
ผมอยากให้อาจารย์อธิบายถึงเงื่อนไขการปฏิบัติตามหะดิษฎออีฟในเรื่องที่เป็นความประเสริฐหรือกุศลกิจต่าง ๆ (فَضَاﺋﻞ الأَعمَال)
อาจารย์บอกว่า
อ้างถึง
1. ความอ่อนของหะดีษนั้น ๆ ต้องไม่รุนแรง
2. หะดีษนั้นเข้าอยู่ภายใต้หลักมูลฐานที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว
3. ในขณะที่นำมาปฏิบัติ จะต้องไม่ปักใจเชื่อ (อิอฺติกอด) ว่าหะดีษนั้นถูกต้องแข็งแรงและเป็นสิ่งที่แน่นอนเด็ดขาด หากแต่เผื่อเอาไว้เท่านั้น
อ้างจาก
http://www.alisuasaming.com/qa/index.php?topic=552.0 - ความอ่อนของหะดีษนั้น ๆ ต้องไม่รุนแรง
ความหมายคือ ต้องไม่เป็นหะดีษปลอม ใช่ไหมครับ
เพราะมีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า หะดิษที่อ่อนมาก ๆ สามารถเอามาปฏิบัติ
ในเรื่อง ความประเสริฐหรือกุศลกิจต่าง ๆ ได้
และความหมายของ "ความอ่อนของหะดีษนั้น ๆ ต้องไม่รุนแรง" นั้น หมายถึง
หะดีษปลอม ครับ ?
แล้วอยากให้อาจารย์อ้างอิงคำพูดของนักหะดิษด้วยครับ
- หะดีษนั้นเข้าอยู่ภายใต้หลักมูลฐานที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว
หมายความว่า อย่างไรครับ อาจารย์พอจะยกตัวอย่างได้ไหม ?
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนอาจารย์มาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ครับ
-----------------------------------
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛
บรรดานักวิชาการหะดีษมีความเห็นต่างกันในข้อชี้ขาดของการนำเอาหะดีษฎ่ออีฟมาปฏิบัติ แบ่งออกเป็นหลายทัศนะด้วยกัน ดังนี้
1) มีความเห็นว่าสามารถนำเอาหะดีษฎ่ออีฟมาปฏิบัติในเรื่องความประเสริฐของกุศล กิจ (ฟะฎออิลุ้ลอะอฺม๊าล) เรื่องจรรยามารยาท (มะการิมุลอัคล๊าก) และการชักชวนให้ทำความดี ละการป้องปรามจากความชั่ว (อัตตัรฆีบ-อัตตัรฮีบ) ได้แต่ไม่ให้นำมาปฏิบัติในเรื่องหลักศรัทธา (อะกีดะฮฺ) และข้อชี้ขาดทางศาสนา (อะหฺกาม) ทัศนะนี้เป็นความเห็นของนักหะดีษส่วนใหญ่ เช่น อิบนุ มะหฺดีย์, อิบนุ อัลมุบารอก, และอัสสะคอวีย์ เป็นต้น
2) มีความเห็นคล้ายกับกลุ่มที่ 1 แต่การนำเอาหะดีษฎ่ออีฟมาปฏิบัติต้องมีเงื่อนไขอยู่หลายประการ ดังเช่นที่เคยตอบไปแล้ว กลุ่มนี้มีนักวิชาการหะดีษบางท่านถือนำโดย อบุลหะซัน อัลกอฏฏอน และ อัลฮาฟิซฺ อิบนุ หะญัร เป็นต้น
3) ห้ามนำเอาหะดีษฎ่ออีฟมาปฏิบัติโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าในเรื่องความประเสริฐของกุศลกิจ หรือเรื่องหลักศรัทธาและข้อชี้ขาดทางศาสนา กลุ่มนี้มีนักวิชาการหะดีษเป็นจำนวนมากถือ เช่น อิหม่ามบุคอรี และ อิบนุ ฮัซมิน เป็นต้น
4) สามารถนำเอาหะดีษฎ่ออีฟมาปฏิบัติได้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อชี้ขาดหรือเรื่องความประเสริฐ เช่น อิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ, อันนะสาอีย์, อบูดาวูด เป็นต้น
ส่วนกลุ่ม ทัศนะที่ 1 ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับการคัดสรรค์ (อัลมุคต๊าร) (-ดู ดิรอซาตฺ ฟี อุลูมิลหะดีษ, ดร.มุฮัมหมัด อะลี ฟัรฮาตฺ หน้า 90-93 โดยสรุป-)
ส่วน ประเด็นที่ถามมาถึงเงื่อนไขในการนำเอาหะดีษฎออีฟมาปฏิบัตินั้นว่า ความอ่อนของหะดีษนั้นๆ ต้องไม่รุนแรง (اَنْ يَكُوْنَ الضَّعْفُ غَيْرَ شَدِيْدٍ) นี่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ อัลฮาฟิซฺ อิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) ได้กำหนดเอาไว้ (ดู ตัดรีบุรฺรอวีย์ เล่มที่ 1/298, 299) แล้วมีคำอธิบายจากเงื่อนไขข้อนี้ว่า
(فَيُخْرَجُ مَنِ انْفَرَدَ مِنَ الْكَذَّابِيْنَ وَالمُتَّهَمِيْنَ بِالْكذْبِ)
“ดังนั้น (เนื่องจากกฎข้อนี้) บุคคลที่รายงานโดดๆ จากบรรดาผู้โกหกและจากบรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโกหกจึงถูกคัดออกไป”
หมายความว่า ถ้าเป็นหะดีษที่รายงานโดยผู้ถูกกล่าวหาว่าโกหกและหะดีษนั้นไม่เป็นที่รู้กัน นอกจากผ่านมาทางรายงานของผู้นั้น และขัดแย้งกับกฎเกณฑ์อันเป็นที่รู้กัน หรือปรากฎว่าผู้รายงานนั้นเป็นที่รู้กันว่าโกหกในเรื่องที่ไม่ใช่หะดีษนั้น หรือเป็นที่รู้กันว่ามีความผิดพลาดากหรือเป็นคนฟาซิกหรือหลงลืม เป็นต้น ก็จะไม่เข้าเงื่อนไขข้อนี้ เพราะหะดีษประเภทนี้เรียกว่า หะดีษมัตรู๊ก (المتروك) ซึ่งไม่เรียกว่า หะดีษเมาฎูอฺ เพราะเพียงแค่การกล่าวหาว่าโกหกนั้นยังไม่อนุญาตให้ชี้ขาดว่าเป็นการกุหะดี ษ
(لأنَّ مُجَرَّدَالاتّهَام لايسوغ الحكم بالوضع)
และข้อชี้ขาดของหะดีษมัตรู๊ก ก็คือ ตกไปจากการได้รับการพิจารณาเนื่องจากอ่อนรุนแรง จึงไม่นำมาเป็นหลักฐานหรือถูกนำมาอ้างอิงสนับสนุน (ก่อวาอิด อุซูล อัลหะดีษ, ดร.อะหฺหมัด อุมัร ฮาชิม หน้า 120-121)
หะ ดีษมุงกัร (المنكر) ก็เช่นกันเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาชนิดของหะดีษที่อ่อนมาก (الضعيف جِدًّا) ทั้งนี้เพราะผู้รายงานบางทีมีลักษณะที่ผิดพลาดมากจนน่าเกลียดหรือหลงลืมมาก หรือเป็นคนฟาซิก หรือเป็นการรายงานของผู้ฎ่ออีฟที่ขัดแย้งในการรายงานของเขากับการรายงานของ ผู้ที่เชื่อถือได้ (อัซซิเกาะฮฺ) ซึ่งทั้ง 2 ประการมีความอ่อนที่รุนแรงปรากฎอยู่ (ตัยซีร มุสฏ่อละฮิลหะดีษ, ดร.มะหฺหมูด อัฏฏอฮฺฮาน หน้า 97)
ฉะนั้นการสรุปว่า หะดีษที่อ่อนมากๆ สามารถเอามาปฏิบัติในเรื่องความประเสริฐของกุศลกิจต่างๆ ได้ และเหมาว่าความหมายของคำว่าความอ่อนของหะดีษนั้นๆ ต้องไม่รุนแรงว่า หมายถึงหะดีษปลอม (เมาฏูอฺ) ! เท่านั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเป็นหะดีษเมาฎูอฺนั้นไม่มีนักวิชาการท่านใดพูดว่านำมาปฏิบัติได้ อยู่แล้ว ยกเว้นพวก กัรรอมียะฮฺ (الكرامية) ซึ่งเป็นพวกบิดอะฮฺ
และจริงๆ แล้วหะดีษเมาฎูอฺก็ไม่ใช่หะดีษนะบะวีอยู่แล้ว ที่นักวิชาการเรียกชื่อมันว่า “หะดีษ” ก็ถือตามคำตู่ของคนที่อุปโลกน์หะดีษเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอันใดเลยในการที่จะสรุปอย่างนั้น ถึงแม้ว่า หะดีษเมาฎูอฺจะถูกจัดอยู่ในบรรดาชนิดของหะดีษฎ่ออีฟหรือหะดีษมัรดู๊ด (المردود) ที่เลวที่สุดก็ตาม
กระนั้น ท่านอัลฮาฟิซฺ อินุ หะญัร (ร.ฮ.) ก็เรียบเรียงหะดีษในหมวดนี้จากเลวที่สุดหรือหนักที่สุดไปหาเบาว่า เมาฎูอฺ, มัตรู๊ก, มุงกัร, มุอัลลัล, มุดร็อจฺญ, มักลู๊บ และ มุฎฏ่อรีบ ตามลำดับ (อัตตัดรีบ 1/295, อันนุค่อบะฮฺ 46)
ซึ่งหะดีษ มัตรูก และมุงกัร เป็นต้นเป็นหะดีษที่มีความอ่อนรุนแรง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเมาฏูอฺ! ส่วนหะดีษอ่อนที่เข้าอยู่ภายใต้หลักมูลฐานที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว ก็เช่น หะดีษที่พูดเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ในการมีมารยาทที่งดงาม, การกระทำที่น่ารังเกียจ อะไรควรหรืออะไรไม่ควรนั่นแหล่ะมีถมไป!
والله أعلم بالصواب
http://www.alisuasaming.com/qa/index.php?PHPSESSID=cc1636bd6fdc2121e1bdbf538adb0f56&topic=1123.msg1656;topicseen#new