หนังสือมุนยะฮ์อัลมุศ็อลลีย์ ถือเป็นหนังสือที่ท้าทายเล่มหนึ่ง ความรู้สึกท้าทายนี้ ไม่ใช่เป็นที่ผู้เขียน แต่กลับเป็นที่ผู้อ่าน ที่จะต้องลุ้นกับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ ผู้อ่านที่ผมหมายถึงคือ ผู้อ่านประเภทที่ต้องการตรวจสอบเนื้อหา เพราะบางครั้ง บางหะดีษที่ผู้เขียน (เชคดาวูดฯ ร็หิมะฮุลลอฮฺ) ยกในหนังสือเล่มนี้ เป็นการยกแต่เพียงเค้าเรื่องของหะดีษ หรือไม่ก็เนเฉพาะคำแปลของตัวบทหะดีษ ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้ง ที่นักตรวจสอบหะดีษ มักจะหุกุมหะดีษที่ปรากฏในมุนยะฮ์อัลมุศ็อลลีย์ ว่าฎ็อีฟบ้าง ศ็ฮี๊หฺบ้าง บางหะดีษ เป็นหะดีษเดียวกันแต่ถูกหุกุมต่างกันก็มี บางหะดีษที่บางคนหุกุมว่าไม่มีในตำราหะดีษ แต่บางคนกลับเจอมัน แม้จะด้วยสำนวนอื่นก็ตาม ฉะนั้น การฟันธงหะดีษใดๆ ในหนังสือมุนยะฮ์อัลมุศ็อลลีย์ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเดาได้จริงๆ เพราะบางหะดีษที่ผู้เขียนยกมานั้น ได้ปรากฏเป็นหลายสำนวน ซึ่งก็มีทั้งที่อ่อน และแข็งแรง
อีกประการหนึ่งที่น่าท้าทายคือ การแปลศัพท์บางตัวที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ย่อมแย้งไม่ขึ้นมา ศัพท์และสำนวนที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ บ่งชี้ถึงความเป็นชาวฟฏอนีย์อย่างชัดเจนของตัวผู้เขียน แม้หนังสือเล่มนี้จะถูกใช้สอนทั่วไปในโลกอิสลามมลายูก็ตาม ศัพท์บางตัวที่ผู้เขียนใช้ บางคำไม่มีปรากฏในพจนานุกรมของสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นศัพท์ที่ใช้กันเฉพาะในสมัยนั้น หรือเฉพาะในหมู่ชาวฟฏอนีย์ เช่นคำว่า Dandaian, gerempak เป็นต้น
อีกประการหนึ่งก็คือ การอ้างอิงข้อมูลจากงานเขียนของอุละมาอ์ท่านอื่นๆ บางครั้งด้วยสำนวนการแปลที่อาจจะเป็นที่เข้าใจยาก แต่ฮิกมะฮ์ของมันสำหรับผมแล้วนั้น ผมคิดว่า มันยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากจะค้นคว้า หรือปรารถนาอยากจะย้อนกลับไปยังต้นฉบับเดิมของแหล่งที่มาที่ถูกอ้างอิงนั้น
ผมไม่ทราบว่าทัศนคติของนักวิชาการสมัยจะมีอย่างไรกันบ้างต่อหนังสือมุนยะฮ์อัลมุศ็อลลีย จะในแง่บวกหรือลบก็ตาม แต่สำหรับผมนั้น หนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมมีกำลังใจและอยากเรียนศาสนาขึ้นมาเป็นกอง และที่อยากบอกกันให้ทราบอย่างมากก็คือ ทำให้ผมรู้สึกถึงความรุ่งเรืองทางวิชาการและความห่วงแหนต่อสังคมในเรื่องศาสนาของบรรดาอุละมาอ์ฟฏอนีย์ในอดีตขึ้นมาเป็นกองเลย - วัลลอฮุอะอฺลัม - วัสสลามุอลัยกุม