ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 14  (อ่าน 1598 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 14


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด



3.หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ ( المنقطع ) : คำว่า "มุงก่อเตี๊ยะอ์" นั้น ในแง่ของภาษา หมายถึง "สิ่งที่ขาดตอน" หรือ "สิ่งที่ไม่ติดต่อกัน" และในแง่ของวิชาการ ก็คือ "หะดีษที่ผู้รายงานคนหนึ่ง หรือ มากกว่า ได้ตกไปจากตอนกลางของสายรายงาน และการขาดตอนนั้น เป็นการร่วงที่ไม่ติดต่อกัน"

ความเข้าใจที่มีต่อหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์

หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นั้น เดิมทีมีความหมายรวมถึง "ทุกๆหะดีษที่มีการขาดตอนของนักรายงาน ไม่ว่าจะเป็นการขาดตอนหนึ่งคน หรือ มากกว่า และไม่ว่าการขาดตอนนั้น จะเกิดขึ้นจากตอนต้น ตอนกลาง หรือ ตอนท้ายของสายรายงานก็ตาม" ก็จะเข้าอยู่ภายใต้ขอบข่ายของหะดีษมุงกอเตี๊ยะอ์ด้วยกันทั้งสิ้น และคำนิยามนี้ ก็ยังมีผลทำให้หะดีษประเภทอื่นๆเข้ามารวมอยู่ในคำนิยามนี้ด้วย เช่น หะดีษมู่อัลลั๊ก(คือหะดีษที่นักรายงานตกไปจากตอนต้นของสายรายงาน ก็คือ ครูของมู่ซอนนิฟ) หะดีษมุรซั้ล(คือหะดีษที่นักรายงานตกไปจากตอนท้ายของสายรายงาน ก็คือ ซอฮาบะห์) และหะดีษมัวะอ์ด้อล(คือหะดีษที่นักรายงานสองคนตกไปจากตอนกลางของสายรายงาน และเป็นการร่วงที่ติดต่อกัน) เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนอันอาจจะเกิดขึ้นได้ ทำให้นักวิชาการในยุคหลังทำการจำกัดรูปแบบเฉพาะให้กับหะดีษ "มุงก่อเตี๊ยะอ์" โดยได้กล่าวเงื่อนไขไว้ดังต่อไปนี้ คือ

1. "ตกไปจากสายรายงาน หนึ่งคน หรือ มากว่า และเป็นการร่วงที่ไม่ติดต่อกัน" เงื่อนไขนี้ มีข้อบ่งชี้ว่า หากตกเพียงแค่ "คนเดียว" ก็จะทำให้เกิดข้อแตกต่างระหว่าง หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ กับ หะดีษมั๊วะอ์ด้อล เพราะหะดีษมัวะอ์ด้อลนั้น เริ่มต้นที่การตกไป "สองคน" หรือ มากกว่า ส่วนหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นั้น เริ่มต้นที่การตกไป "หนึ่งคน" หรือ มากกว่า แต่มีเงื่อนไขข้อที่สองตามมา ก็คือ หากตกไปจากตอนกลางของสายรายงาน โดยเริ่มที่ 2 คน เหมือนกัน สิ่งที่จะพิจารณาต่อไปคือ การตกไปนั้น ติดต่อกันหรือไม่ ? หากการร่วงนั้น "ติดต่อกัน" ก็จะเป็นหะดีษมั๊วะอ์ด้อล แต่หากการร่วงนั้น "ไม่ติดต่อกัน" ก็จะเป็นหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์

2. "ตกไปก่อนที่จะถึงซอฮาบะห์" เงื่อนไขนี้ มีข้อบ่งชี้ว่า หากมีนักรายงานคนหนึ่ง หรือ มากว่า ได้ตกไปก่อนที่จะถึงซอฮาบะห์ หะดีษนั้น ก็จะเป็นหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ แต่หากมีการตกไปจากบุคคลที่อยู่หลังจากตาบิอีน(ก็คือซอฮาบะห์) หะดีษนั้น ก็จะเป็นหะดีษมุรซั้ล

3. "การตกนั้น จะต้องไม่เกิดขึ้นจากตอนต้นของสายรายงาน" เงื่อนไขนี้ มีข้อบ่งชี้ว่า หากการตกไปของนักรายงานนั้น เกิดขึ้นจาก "ตอนต้น" ของสายรายงาน หะดีษบทนั้น จะเป็นหะดีษมู่อัลลั๊ก แต่หากเกิดขึ้น หลังจากนั้น(คือถัดจากครูของมู่ซอนนิฟ) หากตกไป "แบบไม่ติดต่อกัน" ก็จะเป็นหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ และหากตกไป "แบบติดต่อกัน" ก็จะเป็นหะดีษมัวะอ์ด้อล

เราจะรู้จักหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ได้อย่างไร ?

1.ได้รับการยืนยันจากอุลามาอ์ผู้เชี่ยวชาญว่า "คนทั้งสองไม่เคยพบเจอกัน" หรือ "ผู้รายงานไม่เคยได้ยินจากบุคคลที่เขาพาดพิงถึง" และไม่มีอุลามาอ์ท่านใดขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว / จากข้อนี้ ทำให้เกิดความชัดเจนว่า มีการขาดตอนระหว่างผู้รายงานทั้งสอง

2.ได้รับการยืนยันทางชีวประวัติโดยชัดเจนว่า ผู้รายงานหะดีษนั้น ถือกำเนิดขึ้นหลังจากบุคคลที่เขารับหะดีษมา ได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว / จากข้อนี้ ทำให้รู้ได้โดยชัดเจนว่า หะดีษนั้นมีการขาดตอน หรือ ตกหล่นไป อันได้แก่ "คนกลาง" ที่อยู่ระหว่างผู้รายงานหะดีษและบุคคลที่เขารับหะดีษมา เพราะเป็นที่แน่นอนว่า คนทั้งสองมิได้มีการรับหะดีษกันโดยตรง

3.ได้รับการยืนยันว่า แท้จริงการพบกันระหว่าง 2 ผู้รายงานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามอาดัต(ตามปกติวิสัย) อันเนื่องมาจากว่า คนทั้งสองอยู่กันคนละท้องถิ่น เช่น ผู้รายงานหะดีษเป็นชาวอียิปต์ ส่วนผู้ที่เขารับหะดีษมาเป็นชาวอีรัก และนักรายงานชาวอียิปต์นั้น ไม่เคยเดินทางไปยังอีรัก หรือ นักรายงานชาวอีรักนั้น ไม่เคยเดินทางไปยังอียิปต์ หรือ คนทั้งสองมิเคยอยู่ร่วมกันในสถานที่หนึ่ง / จากข้อนี้ ทำให้รู้ได้โดยชัดเจนว่า หะดีษนั้นมีการตกหล่น "คนกลาง" ที่อยู่ระหว่างนักรายงานทั้งสอง ทำให้หะดีษนั้นขาดตอน กลายเป็น "หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์"

รูปแบบและตัวอย่างของหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์ : เช่น หะดีษที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์(รฮ.)ได้รายงานไว้ใน "สุนัน" ของท่าน ว่า

 : حَدَّثَنَا أَبُو كُرَيْبٍ ، حَدَّثَنَا أَبُو خَالِدٍ الأَحْمَرُ ، عَنْ هِشَامِ بْنِ الْغَازِ ، عَنْ مَكْحُولٍ ، عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ قَالَ : قَالَ لِي رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ 

(( أَكْثِرْ مِنْ قَوْلِ لا حَوْلَ وَلا قُوَّةَ إِلا بِاللَّهِ ، فَإِنَّهَا كَنْزٌ مِنْ كُنُوزِ الْجَنَّةِ )) 

ท่านอบูกู่รอยบ์ ได้เล่าให้เราฟังว่า ท่านอบูคอลิด อัลอะห์มัร ได้เล่าให้เราฟัง จากท่านฮิชาม บิน อัลฆอซส์ จากท่านมักฮู้ล จากท่านอบีฮู่รอยเราะห์ ได้กล่าวว่า ท่านร่อซู้ล(ซล.)ได้กล่าวแก่ฉันว่า "ท่านจงทำให้มากในการกล่าวคำว่า ไม่มีพลัง และไม่มีอำนาจใดๆ(ที่จะขับเคลื่อน)นอกเสียจาก(พลังขับเคลื่อน)ที่มาจากอัลเลาะห์ แท้จริง(การกล่าวถ้อยคำนี้) ถือเป็นคลังหนึ่งจากบรรดาคลังแห่งสรวงสวรรค์)" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ หมวด การวิงวอน บทที่ว่าด้วย ความประเสริฐของการกล่าว لاحول ولا قوة إلا بالله หะดีษที่ 3601)

ท่านอบูอีซา(อีหม่ามติรมีซีย์)ได้กล่าวไว้ในช่วงท้ายของหะดีษบทนี้ว่า

 هَذَا حَدِيثٌ لَيْسَ إِسْنَادُهُ بِمُتَّصِلٍ ؛ مَكْحُولٌ لَمْ يَسْمَعْ مِنْ أَبِي هُرَيْرَةَ

ความว่า "หะดีษนี้ เป็นหะดีษที่สายรายงานไม่ติดต่อกัน(ขาดตอน) เพราะท่านมักฮู้ลไม่ได้ฟังหะดีษมาจากท่านอบูฮู่รอยเราะห์" (ดูสุนันติรมีซีย์ หมวด การวิงวอน บทที่ว่าด้วย ความประเสริฐของการกล่าว لاحول ولا قوة إلا بالله หะดีษที่ 3601)

หะดีษบทนี้ จึงเป็นหะดีษ "มุงก่อเตี๊ยะห์" เพราะมีการขาดตอนในสายรายงาน "ช่วงกลาง" โดยได้รับการยืนยันจากอุลามาอ์ผู้เชียวชาญว่า ท่านมักฮู้ล มิได้รับหะดีษโดยตรงจาก ท่านอบูฮู่รอยเราะห์

ฐานะของหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์

หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นั้น เป็นหะดีษที่ด่ออีฟ โดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ เนื่องจากได้ขาดไปซึ่งคุณสมบัติของหะดีษที่ถูกยอมรับ(มักบู้ล) โดยที่สายสนัดไม่ติดต่อกัน เพราะมีผู้รายงานคนหนึ่ง หรือ มากกว่า ตกหล่นไปในช่วงกลางของสายรายงาน และไม่ผู้ใดรู้ถึงสถานะภาพของนักรายงานที่ถูกตัดทิ้งไป

การนำมาใช้เป็นหลักฐาน

เนื่องจากหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นั้น อยู่ในข่ายของหะดีษด่ออีฟ ฉนั้น การนำมาใช้นั้น จำต้องพิจารณาถึงขอบเขตของหะดีษด่ออีฟที่ศาสนายินยอมให้นำมาใช้ได้ เช่น ในเรื่องของการสนับสนุนให้ทำความดี หรือ ในเรื่องที่เป็นการเตือนให้กลัวจากการทำบาป(ตามทัศนะของนักวิชาการที่อนุญาตให้นำหะดีษด่ออีฟมาปฎิบัติได้) แต่ไม่อนุญาตให้นำหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นี้ ไปเป็นหลักฐานอ้างอิงในเรื่องที่เกี่ยวกับ "หลักการยึดมั่น" ( عقيدة ) หรือ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ "บรรดาข้อตัดสินต่างๆ" ( أَحكام الفقه ) นอกจากจะมีหะดีษที่มาจากสายรายงานอื่น ที่ติดต่อกัน ได้มาสนับสนุนกันเอาไว้ และได้ระบุยืนยันถึงนักรายงานที่ตกหล่นไป พร้อมทั้งปรากฎว่า นักรายงานผู้นั้นเป็นคนที่ซิเกาะห์(เชื่อถือได้) เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจะสามารถนำหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นี้ไปปฎิบัติได้

แหล่งของหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์

หะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์นั้น มีอยู่มากมายในบรรดาหนังสือสุนันต่างๆ เช่น สุนันอบีดาวูด สุนันติรมีซีย์ สุนันนะซาอีย์ สุนันดารีมีย์ สุนันบัยฮ่ากีย์ และสุนันอิบนิมาญะห์ เป็นต้น



ติดตามตอนต่อไปครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.ค. 13, 2013, 09:37 AM โดย Ahlulhadeeth »

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด
บทความต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ผมเคยซักถาม อ.อารีฟีน ผมได้เอามาลงไว้ให้ เพื่อพี่น้องจะได้เข้าใจกันอย่างกระจ่างครับ

ผมขอถาม อ. ครับ คำว่า ตอนต้น กับ ตอนกลางของสายรายงาน เขานับ กันอย่างไรแน่ ?

เช่น หะดีษมู่อัลลั๊กนั้น ตกไปจากตอนต้นของสายรายงาน คือ ครูของมู่ซอนนิฟ

คำว่าตอนต้นนั้น นับยังไงครับ นับแค่ครูของมู่ซอนนิฟเท่านั้น หรือ นับถัดจากครูของมู่ซอนนิฟ และนับถัดไปอีก 1 คน หลังจากนั้น เรียกตอนกลางใช่หรือไม่ครับ ?

เพราะหะดีษมัวะอ์ด้อล กับ มุงกิเตี๊ยะอ์นั้น เริ่มนับจากตอนกลาง ผมไม่เข้าใจว่า ตอนกลางนั้น จะเริ่มนับจากคนที่เท่าไหร่ หรือ จะนับถัดจากครูของมู่ซอนนิฟ ?

รบกวน อ.ช่วยอธิบายให้ผมด้วยครับ ญ่าซากัลลอฮ์


อ.อารีฟีน แสงวิมาน อัลอัซฮะรีย์ ท่านได้ตอบว่า

หะดีษมุอัลลั๊ก คือ หะดีษที่มีนักรายงานคนหนึ่งหรือมากกว่าสองคนถูกตัดออกไปบนความต่อเนื่อง(คือนักรายงานติดต่อเรียงกัน)

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

สังเกตได้ว่า นักรายงาน ก. กับ นักรายงาน ข. ที่ถูกตัดไปนั้นต่อเนื่องกันโดยไม่มีนักรายงานอื่นมาขั้นระหว่างกลางของทั้งสอง

แต่ถ้าหากนักรายงานสองคนไม่ต่อเนื่องกัน ก็ถือว่าไม่ใช่เป็นหะดีษมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) นักรายงาน ข. (.......ตัดนักรายงาน ค. ........) จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

ตัวอย่างนี้ ไม่เรียกว่า หะดีษมุอัลลั๊ก เพราะนักรายงานทั้งสองคนไม่ต่อเนื่องกันเนื่องจากมีนักรายงาน ข. เข้ามาขั้นกลาง แต่เรียกว่า หะดีษมุงก่อเฏี๊ยะอฺ

รายละเอียด

หะดีษมุอัลลั๊ก นั้น ขาดตอนโดยเริ่มจากครูคนแรกที่เป็นนักรายงานของมุศ็อนนิฟ จะครูคนแรกเป็นเพียงเดียว หรือนักรายงานขาดตอนไปสองคนติดต่อกัน) เช่น มุศ็อนนิฟ ได้รายงานจาก ครู ก. (ซึ่งเป็นครูคนแรกที่เป็นต้นสายรายงานเลย) หลังจากนั้นก็รายงานจาก นักรายงาน ข. รายงานจาก นักรายงาน ค. รายงานจาก นักรายงาน ง. จากรายงานจากศ่อฮาบะฮ์ รายงานจากท่านนะบีย์

ดังนั้นถ้าหาก

1.มุศ็อนนิฟ (ได้ตัดการเอ่ยนักรายงานคนแรกที่เป็นครู คือ นักรายงาน ก.) แต่ไปกล่าวนักรายงาน ข. เลย ก็เป็นหะดีษมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) จากนักรายงาน ข. จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์นะบีย์

2. หรือรายงานตัดครูไปสองคนติดต่อกัน คือตัด ครู ก. และครู ข. ก็ถือว่าเป็นมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

3. หรือรายงานตัดครูสามคนติดต่อกัน คือ ตัดนักรายงาน ก. ตัดนักรายงาน ข. และตัดนักรายงาน ค. ก็ถือว่าเป็นหะดีษมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) (.......ตัดนักรายงาน ค. ........) จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

4. หรือรายงานตัดนักรายงานสี่คนติดต่อกัน เช่น ตัดนักรายงาน ก. ตัดนักรายงาน ข. ตัดนักรายงาน ค. และตัดนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์ ก็เรียกว่า หะดีษมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) (.......ตัดนักรายงาน ค. ........) (.......ตัดนักรายงาน ง. ........) จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

5. หรือตัดหมดเลยตั้งแต่สายรายงานแรกจนถึงศ่อฮาบะฮ์ ก็เป็นหะดีษมุอัลลั๊ก

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) (.......ตัดนักรายงาน ค. ........) (.......ตัดนักรายงาน ง. ........) (.......ตัดนักรายงานศ่อฮาบะฮ์ ........) ท่านนะบีย์กล่าวว่า

ดังนั้นเงื่อนไขหลักการในเป็นหะดีษมุอัลลั๊กคือ “สายรายงานแรกที่เป็นครูของมุศ็อนนิฟถูกตัด”

ดังนั้นถ้าหาก สายรายงานแรกที่เป็นครูของมุศ็อนนิฟ ไม่ถูกตัด ก็จะไม่เรียกว่า หะดีษมุอัลลั๊ก


ส่วนหะดีษมั๊วะฎ้อล นั้น ไม่ได้นับการขาดจากตอนกลางเป็นมาตรฐานหลัก แต่เขาจะนับในกรณีที่มีนักรายงาน 2 คนหรือมากกว่านั้นถูกตัดไป หากแม้ว่าจะถูกตัดเริ่มจากครูคนแรกของมุศ็อนนิฟเลยและถูกตัดนักรายงานถัดมาอีกคนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นหะดีษมั๊วะฎ้อลเช่นเดียวกัน

ซึ่งเป็นตัวอย่างเดียวกับหะดีษมุอัลลั๊กที่ผ่านมา คือ

2. ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (......ตัดนักรายงาน ก. .......) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

อาจจะมีผู้ตั้งคำถามว่า “แล้วหะดีษมุอัลลั๊กกับหะดีษมั๊วะฎ้อล” มันต่างกันอย่างไรในกรณีนี้? คำตอบก็คือ “ตัวอย่างนี้ เป็นทั้งหะดีษมุอัลลั๊กและหะดีษมั๊วะฎ้อลในเวลาเดียวกันเลย”

ทำไมต้องเป็นหะดีษมุอัลลั๊ก : ก็เพราะว่าเริ่มต้นนักรายงานถูกตัด

ทำไมต้องเป็นหะดีษมั๊วะฎ้อลด้วย :
ก็เพราะว่ามีนักรายงาน 2 คนขาดตอนอย่างต่อเนื่องกันโดยไม่คำนึงว่าจะขาดตอนต้นสายรายงานหรือตอนกลางของสายรายงาน

แต่ถ้าหาก “มีนักรายงาน 2 คนขึ้นไปขาดตอนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้ขาดตอนคนแรก ถือว่าเป็นหะดีษมั๊วะฎ้อล ตัวอย่าง
1. ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ (......ตัดนักรายงาน ก. .......) (.......ตัดนักรายงาน ข. ........) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

ตัวอย่างนี้ เป็นทั้งมุอัลลั๊ก(เพราะเริ่มต้นนักรายงานถูกตัด)และมั๊วะฎ้อล(เพราะนักรายงานสองคนขาดตอนอย่างต่อเนื่องกัน) ดังที่ได้กล่าวผ่านมาแล้ว คือ

2. ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. (......ตัดนักรายงาน ข. .......) (......ตัดนักรายงาน ค. .....) นักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

3. ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. (......ตัดนักรายงาน ค. .......) (......ตัดนักรายงาน ง. .......) จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

ตัวอย่าง มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. (......ตัดนักรายงาน ค. .......) (......ตัดนักรายงาน ง. .......) (.....ตัดนักรายงานที่เป็นศ่อฮาบะฮ์....) ท่านนะบีย์กล่าวว่า


คำว่า “ตัดขาดโดยเริ่มนับจากตอนกลาง” คือ “ต้องไม่ถูกตัดขาดที่สายรายงานคนแรก(ครูของมุศ็อนนิฟ) และถูกตัดขาดสายรายงานคนสุดท้าย(เช่น ศ่อฮาบะฮ์)” ดังนั้นบรรดานักรายงานที่อยู่ระหว่างนักรายงานคนแรกกับคนสุดท้าย ถือว่าเป็นนักรายงานตอนกลางทั้งหมด”

ดู 3 ตัวอย่างต่อไปนี้

1. เช่น มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. (...ตัดนักรายงาน ข. ...) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

2. เช่น มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. (...ตัดนักรายงาน ค. ...) จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

3. เช่น มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. จากนักรายงาน ค. (...ตัดนักรายงาน ง. ...) จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

ดังนั้น

ตัวอย่างที่ 1 นั้นนักรายงาน ข. ถือว่าเป็นนักรายงานตอนกลางที่ถูกตัด

ส่วนตัวอย่างที่ 2 นั้น นักรายงาน ค. เป็นนักรายงานตอนกลางที่ถูกตัด

ส่วนตัวอย่างที่ 3 นั้น นักรายงาน ง. เป็นนักรายงานตอนกลางที่ถูกตัด


เพราะทั้ง นักรายงาน ข. นักรายงาน ค. และนักรายงาน ง. อยู่ระหว่างนักรายงาน ก. และนักรายงานคนสุดท้ายที่เป็นศ่อฮาบะฮ์ ก็ถือว่าเป็นนักรายงานตอนกลางหมดครับ


ดังนั้นผมขอตอบคำถามของรอฟีกี ดังนี้

1. ตอนต้น นับจาก ครูคนแรกหรือนักรายงานคนแรกของมุศ็อนนิฟ

2. ตอนกลาง คือ นับจากบรรดานักรายงานหลายๆ คนที่อยู่ระหว่างนักรายงานคนแรกของมุศ็อนนิฟกับนักรายงานคนสุดท้ายที่เป็นศ่อฮาบะฮ์

3. หะดีษมุงก่อเฏียะอฺ ขาดช่วงตอนต้น ตอนกลาง และตอนท้าย โดยไม่อยู่ในหลักการของหะดีษมุอัลลั๊ก หะดีษมั๊วะฎ้อล และหะดีษมุรซัล ดัง 3 ตัวอย่างต่อไปนี้

1.) ตัวอย่างหะดีษมุอัลลั๊ก มุศ็อนนิฟ (.......ตัดนักรายงาน ก. ........) จากนักรายงาน ข. จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์นะบีย์

ตัวอย่างหะดีษมุ่งก่อเฏี๊ยะขาดตนต้น มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. (ตัดรายงาน ข.) จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์นะบีย์

ดังนั้นตัวอย่างหะดีษมุงก่อเฏียะอฺนี้ ไม่ใช่หะดีษมุอัลลั๊ก เพราะสายรายงานแรกไม่ได้ถูกตัด และไม่ใช่เป็นหะดีษมุอัลลั๊ก เพราะนักรายงานไม่ได้ถูกตัด 2 คน และไม่ใช่หะดีษมุรซัล เพราะไม่ได้ตัดนักรายงานคนสุดท้าย(คือศ่อฮาบะฮ์)

2.) ตัวอย่างหะดีษมั๊วะฎ้อล คือ มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. (......ตัดนักรายงาน ข. .......) (......ตัดนักรายงาน ค. .....) นักรายงาน ง. จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

ตัวอย่างหะดีษมุงก่อเฏี๊ยะขาดตอนกลาง คือ มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. (......ตัดนักรายงาน ข. .......) นักรายงาน ค. (...ตัดนักรายงาน ง. ...) จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์

หะดีษมุงก่อเฏี๊ยะนี้แตกต่างกับหะดีษมั๊วะฎ้อล แม้จะมีนักรายงานสองคนที่ถูกตัดไป แต่นักรายงานทั้งสองไม่ได้ต่อเนื่องกันเนื่องจากมีนักรายงาน ค. มาขั้นกลางระหว่างนักรายงาน ก. และนักรายงาน ข.

3.) ตัวอย่างหะดีษมุรซัล มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. จากนักรายงาน ค. จากนักรายงาน ง. (...ตัดนักรายงานที่เป็นศ่อฮาบะฮ์...) จากท่านนะบีย์นะบีย์

ตัวอย่างหะดีษมุงก่อเฏี๊ยะขาดตอนท้าย คือ มุศ็อนนิฟ นักรายงาน ก. จากนักรายงาน ข. จากนักรายงาน ค. (...ตัดนักรายงาน ง. ...) จากศ่อฮาบะฮ์ จากท่านนะบีย์นะบีย์

หะดีษมุงก่อเฎี๊ยะนี้ไม่ใช่หะดีษมุรซัล เพราะสายรายงานที่ถูกตัดนั้นไม่ใช่คนสุดท้าย

วัลลอฮุอะลัม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.ค. 13, 2013, 09:34 AM โดย Ahlulhadeeth »

ออฟไลน์ Muftee

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 1899
  • เพศ: ชาย
  • ตั้งใจเข้าไว้นะ มุฟตีย์น้อย
  • Respect: +190
    • ดูรายละเอียด
// อะฮฺลิสสุนนะฮฺ อัล-อะชาอิเราะฮฺ...สักวันนึง เราต้องเป็นอุละมาอฺที่ยิ่งใหญ่ อินชาอัลลอฮฺ //

 

GoogleTagged