ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 3  (อ่าน 3219 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 3


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด


5.การแบ่งวิชาอัลหะดีษ

วิชาหะดีษนั้น แบ่งภาคของการศึกษาได้เป็น 2 ภาค คือ

1.วิชาหะดีษริวายะห์ ( علم الحديث رواية ) คือ "วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับคำพูด การกระทำ การยอมรับ ลักษณะรูปร่างหน้าตา มารยาท และชีวประวัติของท่านร่อซู้ล(ซล.)"

2.วิชาหะดีษดิรอยะห์ ( علم الحديث دراية ) คือ "วิชาที่ที่ศึกษาเกี่ยวกับตัวผู้รายงานหะดีษ สภาพของสายรายงาน(สนัด) และตัวบทหะดีษ(มะตั่น) ว่า สามารถยอมรับหะดีษ และนำมาเป็นหลักฐานได้หรือไม่" เรียกอีกอย่างก็คือ วิชา "มุสตอละฮุ้ลหะดีษ" หรือ "หลักพิจารณาอัลหะดีษ" ซึ่งก็คือ วิชาที่เรากำลังศึกษาอยู่นั่นเอง

และเพื่อให้เกิดความง่ายดายต่อการเข้าใจ หลังจากที่เราได้ศึกษาถึงคำนิยามต่างๆมาพอสมควรแล้ว ต่อไปนี้ ผมจะขอนำเสนอ การแบ่งประเภทของหะดีษ โดยพิจารณาถึงการรับ และการไม่รับหะดีษ โดยหลักการพิจารณาดังต่อไปนี้

5.1.พิจารณาถึงการนำมาอ้างเป็นหลักฐานทางด้านของการรับและไม่รับ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.หะดีษมักบู้ล ( الحديث المقبول ) หมายถึง "หะดีษที่ได้รับการรับรอง" ก็คือ หะดีษที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้โดยเด็ดขาด ได้แก่ หะดีษที่ได้รวมไว้ซึ่งเงื่อนไขของการรับรองอย่างครบถ้วน ดังจะได้กล่าวต่อไป อินชาอัลเลาะห์

2.หะดีษมัรดู๊ด ( الحديث المردود ) หมายถึง "หะดีษที่ถูกปฎิเสธ" ก็คือ หะดีษที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้โดยเด็ดขาด เว้นแต่ต้องมีเงื่อนไข ได้แก่ หะดีษที่ขาดไปหนึ่งเงื่อนไข หรือ มากกว่า จากบรรดาเงื่อนไขของการยอมรับหะดีษ เช่น มีฮะดีษอี่นมาสนับสนุน(มุตาบะอะห์) เป็นต้น และหะดีษมัรดู๊ดนั้น มีอยู่หลายประเภท ดังจะได้กล่าวต่อไป อินชาอัลเลาะห์

หะดีษมัรดู๊ดนั้น เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "หะดีษด่ออีฟ" ( الحديث الضعيف ) หมายถึง "หะดีษที่อ่อนแอ"

5.2.พิจารณาถึงการจำแนกตามลักษณะกระแสสายรายงานของหะดีษ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.หะดีษมู่ตะวาติร ( الحديث المتواتر ) หมายถึง "หะดีษที่มีการรายงานอย่างต่อเนื่อง หรือ มากมาย" ก็คือ หะดีษที่ถูกรายงานจากบุคคลเป็นจำนวนมาก ได้แก่ หะดีษที่คนกลุ่มหนึ่งได้รายงานมาจากคนอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตามสติปัญญา ที่บุคคลเหล่านั้นจะสมรู้ร่วมคิดกันโกหกต่อท่านนบีมูฮำหมัด(ซล.) หรือ ต่อหะดีษของท่าน

2.หะดีษอาฮ๊าด ( الحديث الآحاد ) หมายถึง "หะดีษที่หะดีษที่มีผู้รายงานเพียงคนเดียว" ก็คือ หะดีษที่ถูกรายงายด้วยนักรายงานเพียงคนเดียว หรือ สายรายงานเดียว ได้แก่ หะดีษที่คนๆหนึ่งได้รายงานมาจากคนอีกคน โดยมีการสืบต่อสายรายงานนั้น ด้วยคนเพียงคนเดียว หรือ มากกว่า เช่น 2 คน หรือ 3 คน ในแต่ละชั้นของสายรายงาน แต่ไม่ถึงขั้นมู่ตะวาติร

5.3.พิจารณาถึงการจำแนกตามลักษณะจุดสิ้นสุดของสายรายงาน หรือ การจำแนกหะดีษโดยพิจารณาถึงผู้ที่ถูกพาดพิง แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1.หะดีษกุดซีย์ ( الحديث القدسي ) หมายถึง หะดีษที่ท่านนบีมูฮำหมัด(ซล.)พาดไปยังอัลเลาะห์(ซบ.) จากสิ่งที่มิใช่อัลกุรอาน ด้วยการรายงานของท่านเอง

2.หะดีษมัรฟัวะอ์ ( الحديث المرفوع ) หมายถึง หะดีษที่ผู้รายงานพาดพิงไปยังท่านร่อซู้ล(ซล.) อันเกี่ยวกับคำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่าน

3.หะดีษเมากูฟ ( الحديث الموقوف ) หมายถึง หะดีษที่ผู้รายงานพาดพิงไปยังซอฮาบะห์(รด.) อันเกี่ยวกับคำพูด และการกระทำของพวกเขา

4.หะดีษมักตัวะอ์ ( الحديث المقطوع ) หมายถึง หะดีษที่ผู้รายงานพาดพิงไปยังตาบิอีน(รฮ.) หรือ บุคคลที่อยู่หลังจากตาบิอีน(รฮ.) อันเกี่ยวกับคำพูด และการกระทำของพวกเขา


6.ประเภทของ "หะดีษมักบู้ล" หรือ "หะดีษที่ถูกรับรอง"

6.1.หะดีษมักบู้ลนั้น แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ

1.หะดีษซอเฮี๊ยะห์ ( الحديث الصحيح ) ก็คือ "หะดีษที่ถูกต้องและสามารถนำมาเป็นหลักฐานได้โดยไม่มีข้อกังขา"

2.หะดีษหะซัน ( الحديث الحسن ) ก็คือ "หะดีษที่ดีและสามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ เมื่อไม่ขัดแย้งกับหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์มากกว่า"

นั่นหมายความทั้งหะดีษซอเฮี๊ยะห์ และหะดีษหะซันนั้น สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางศาสนาได้ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับอากีดะห์(หลักการยึดมั่น) , ฟิกห์(หลักอะห์กาม ฮู่ก่ม และข้อตัดสินต่างๆทางด้านของการปฎิบัติ) , และเรื่องของฟ่าดออิลุ้ลอะอ์ม้าล(เรื่องการปฎิบัติคุณงามความดีต่างๆ) ดังนั้น เมื่อเรานำมาใช้ด้วยกับหะดีษซอเฮี๊ยะห์และหะซัน ก็ถือว่าการปฎิบัตินั้นถูกต้องโดยไม่มีข้อกังขา เนื่องจากทั้งสองชนิดนี้ อยู่ในประเภทของหะดีษที่ถูกรับรองให้นำมาปฎิบัติได้

6.2.ชนิดของหะดีษซอเฮี๊ยะห์

หะดีษซอเฮี๊ยะห์นั้น แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ

1.หะดีษซอเฮี๊ยะห์ลี่ซาตี่ฮี ( الحديث الصحيح لذاته ) หมายถึง "หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ด้วยตัวของมันเอง" ได้แก่ หะดีษที่มีเงื่อนไขของการยอมรับหะดีษอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังจะได้กล่าวต่อไป อินชาอัลเลาะห์

2.หะดีษซอเฮี๊ยะห์ลี่ฆอยรี่ฮี ( الحديث الصحيح لغيره ) หมายถึง "หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ด้วยการสนับสนุนของหะดีษอื่น" ได้แก่ หะดีษที่เดิมทีเป็นหะดีษหะซัน แต่มีหะอื่นที่ซอเฮี๊ยะห์กว่า หรือ เท่ากัน มาสนับสนุน ทำให้มันเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นซอเฮี๊ยะห์ เขาจึงเรียกหะดีษซอเฮี๊ยะห์ที่ถูกเลื่อนขั้นในลักษณะนี้ว่า"ซอเฮี๊ยะห์ลี่ฆอยรี่ฮี" หรือ "เป็นซอเฮี๊ยะห์เพราะหะดีษอื่น"

6.3.ชนิดของหะดีษหะซัน


1.หะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮี ( الحديث الحسن لذاته ) หมายถึง "หะดีษที่หะซันด้วยตัวของมันเอง" ได้แก่ หะดีษที่มีเงื่อนไขของการยอมรับหะดีษอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ต่ำกว่าหะดีษซอเฮี๊ยะห์เล็กน้อย ด้วยเงื่อนไขของนักรายงานหะดีษ ที่มีความจำไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม ดังจะได้กล่าวต่อไป อินชาอัลเลาะห์

2.หะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี ( الحديث الحسن لغيره ) หมายถึง "หะดีษที่หะซันด้วยการสนับสนุนของหะดีษอื่น" ได้แก่ หะดีษที่เดิมทีเป็นหะดีษด่ออีฟ(หะดีษอ่อน) แต่มีหะอื่นที่ซอเฮี๊ยะห์กว่า หรือ เท่ากัน มาสนับสนุน ทำให้มันเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นหะซัน เขาจึงเรียกหะดีษหะซันที่ถูกเลื่อนขั้นในลักษณะนี้ว่า "หะซันลี่ฆอยรี่ฮี" หรือ "เป็นหะซันเพราะหะดีษอื่น"

ข้อควรจำ : เมื่อมีการกล่าวถึงหะดีษหนึ่งว่า เป็นหะดีษซอเฮียะห์ โดยมิได้กล่าวถึงเงื่อนไขใดๆ ให้หมายความว่า หะดีษนั้น "ซอเฮี๊ยะห์ด้วยตัวของมันเอง" และเช่นเดียวกัน เมื่อมีการกล่าวถึงหะดีษหนึ่งว่า เป็นหะดีษหะซัน โดยมิได้กล่าวถึงเงื่อนไขใดๆ ให้หมายความว่า หะดีษนั้น "หะซันด้วยตัวของมันเอง"

ดังนั้น ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับหะดีษทั้งสองนั้น เราก็ควรจะได้รับรู้กันเสียก่อนว่า หะดีษที่จะถูกยอมรับและนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร ?


7.เงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล

เงื่อนไขที่จะทำให้หะดีษเป็นที่ยอมรับ และนำมาอ้างอิงได้นั้น มีอยู่หลายเงื่อนไข คือ

1.ต้องมีสายรายงานติดต่อกัน ( إتصال الإسناد ) หมายถึง ติดต่อกันตังแต่ผู้รายงานคนแรก จนถึงท่านร่อซู้ล(ซล.) โดยไม่ขาดตอน

2.ผู้รายงานต้องมีคุณธรรม ( عدالة الراوي ) หมายถึง ต้องมีมารยาทที่ดี มีคุณธรรม และไม่กระทำสิ่งที่ทำให้เสียมู่รูอะห์(ภาพพจน์)

3.ผู้รายงานต้องมีความจำดี หรือ แม่นยำ ( ضبط الراوي ) หมายถึง ต้องไม่เลอะเลือน หรือ มีความจำสับสน

4.ปลอดภัยจากการขัดแย้งกับบุคคลที่น่าเชื่อถือมากว่า ( السلامة من الشذوذ ) หมายถึง การรายงานนั้นต้องไม่ขัดแย้งกับการรายงานของบุคคลที่น่าเชื่อถือมากกว่า

5.ปลอดภัยจากเหตุผลที่น่าตำหนิ ( السلامة من العلة القادحة ) หมายถึง หะดีษนั้นต้องไม่มีข้อบกพร่อง หรือ ตำหนิ ที่ห้ามจากการนำมาอิงเป็นหลักฐาน

6.ได้รับการช่วยเหลือ หรือ สนับสนุน จากสายรายงานอื่น ในขณะที่นำมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน ( العاضد أو المتابع عند الإحتياج إليه ) หมายถึง มีการสนับสนุนของหะดีษบทอื่น ทำให้หะดีษที่ได้รับการสนับสนุนนั้น มีความแข็งแรงขึ้น และสามารถนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานได้


_______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พ.ย. 13, 2012, 11:42 PM โดย Al Fatoni »

 

GoogleTagged