(3.) มุรซั้ลค่อฟีย์ ( مرسل الخفي ) ก็คือ "หะดีษที่ผู้รายงานคนหนึ่งได้รายงานมาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกันกับเขา แต่ไม่ปรากฎว่า(ผู้รายงาน)ท่านนั้น รับฟังหะดีษดังกล่าวมาจากบุคคลที่เขารายงานไว้ และไม่เคยพบเจอกันมาก่อน" หะดีษประเภทนี้ อยู่ในรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการขาดตอนในสายรายงาน แต่เป็นการขาดตอนที่มองไม่เห็น เนื่องจากผู้รายงานทั้งสองมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกัน แต่ปรากฎว่าบุคคลทั้งสองนั้น ไม่มีการรับหะดีษกันโดยตรง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า หะดีษบทนั้นเป็นมุรซั้ลค่อฟีย์ ?
จากนิยามข้างต้น เราสามารถรู้จักหะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์ได้ด้วยหนึ่งจาก 3 ประการต่อไปนี้
1. รู้ได้จากการที่อุลามาอ์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า "คนทั้งสองไม่เคยพบเจอกัน" หรือ "ผู้รายงานไม่เคยได้ยินจากบุคคลที่เขาพาดพิงถึง"
2. ผู้รายงานกล่าวยอมรับเองว่า "เขาไม่เคยพบบุคคลที่เขารายงานหะดีษนั้น" หรือ "เขาไม่ได้รับฟังมาจากบุคคลที่เขาพาดพิงถึง"
3. มีกระแสรายงานอื่นได้ระบุถึงผู้รายงานคนอื่นที่ตกหล่นไประหว่างผู้รายงานทั้งสอง หรือ ในกระแสรายงานอื่น ปรากฏว่ามีผู้รายงานหะดีษคนอื่นเพิ่มเติมจากสายรายงานแรก
รูปแบบและตัวอย่างของหะดีษมุรซั้ลคอฟีย์ : ได้แก่ หะดีษที่ท่านอิบนุมาญะห์(รฮ.)ได้รายงานว่า
قال الإمام ابن ماجه : حدثنا محمد بن الصبّاح ، أنبأنا عبد العزيز بن محمد ، عن صالح بن محمد ابن زائدة ، عن عمر بن عبد العزيز ، عن عقبة بن عامر الجهنيّ قال : قال رسـول الله صلى الله عليه وسلم
(( رَحِمَ اللَّهُ حَارِسَ الْحَرَسِ ))
ท่านมูฮำหมัด บิน อัซซ่อบาฮ์ ได้เล่าให้เราฟังว่า ท่านอับดุลอะซีส บิน มูฮำหมัด ได้บอกให้เราทราบ จากท่านซอและห์ บิน มูฮำหมัด อิบนิ ซาอิดะห์ จากท่านอุมัร บิน อับดุลอะซีส จากท่านอุกบะห์ บิน อามิร อัลญุฮานีย์ ได้กล่าวว่า ท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงกล่าวว่า "อัลเลาะห์ทรงเมตตาต่อผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย(ยาม)" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามอิบนุมาญะห์ บทที่ว่าด้วยการญิฮาด หะดีษที่ 2769)
ท่านอัลฮาฟิส อัลมิซซีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "อัลอัฎรอฟ" ว่า : แท้จริง ท่านอุมัร บิน อับดุลอะซีส ไม่ได้รับหะดีษโดยตรงจาก ท่านอุกบะห์ บิน อามิร หะดีษบทนี้ จึงเป็นหะดีษ "มุรซั้ลค่อฟีย์" เนื่องจากมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญได้ระบุไว้ว่า "คนทั้งสองมิได้มีการรับหะดีษกันโดยตรง"
ฐานะของหะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์
หะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์นั้น เป็นหะดีษที่ด่ออีฟ เนื่องจากได้ขาดไปซึ่งคุณสมบัติของหะดีษมักบู้ล โดยที่สายสนัดไม่ติดต่อกัน เพราะมีผู้รายงานคนหนึ่งตกหล่นไประหว่าง "ตาบิอีน" กับ "ซอฮาบะห์" จนอุลามาอ์บางท่านให้เหตุผลว่า หะดีษในลักษณะเช่นนี้ เป็นทั้งหะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์ และหะดีษมุงก่อเตี๊ยะอ์
การนำมาใช้เป็นหลักฐาน
หะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์นั้น เป็นหะดีษที่มีการตกหล่นของสายรายงาน จึงถูกจัดให้อยู่ในระดับของหะดีษด่ออีฟ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นหลักฐาน เว้นแต่ จะมีสายสนัดอันอื่นที่ซอเฮี๊ยะห์ ได้ระบุถึงผู้รายงานที่ตกหล่นไป จึงจะสามารถนำหะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์บทนั้นมาใช้เป็นหลักฐานได้ ซึ่งการสนับสนุนด้วยสายรายงานอื่นนี้แหละที่เราเรียกว่า "อาดิด" หรือ "มู่ตาเบี๊ยะห์" ( العاضد أو المتابع عند الإحتياج إليه ) หมายถึง "มีการสนับสนุนของหะดีษบทอื่น ทำให้หะดีษที่ได้รับการสนับสนุนนั้น มีความแข็งแรงขึ้น และสามารถนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานได้"
ตำราที่เกี่ยวข้องกับหะดีษมุรซั้ลค่อฟีย์ เช่น หนังสือ "อัตตัฟซี้ล ลี่มุบฮัม อัลม่ารอซี้ล"( التفصيل لمبهم المراسيل ) ของ ท่านค่อฎีบ อัลบัฆดาดีย์
ติดตามตอนต่อไปครับ