بسم الله الرحمن الرحيم
วิชาเตาฮีดนั้น คือ ใจความจากประมวลการยึดมั่น (เอี๊ยะติกอด) ทางศาสนาที่นำมาจากหลักฐานที่แน่นอน
วิชานี้เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องซ๊าตของอัลลอฮ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ (วาญิบ) สิ่งที่จำเป็นต้องมีและ (มุสต้าฮี้ล) สิ่งที่ปัญญาไม่ยอมรับว่ามีตลอดจนสิ่งที่อาจมีหรือไม่มี(ฮาโรส) ณ เบื้องอัลลอฮ์ และร่อซูลของพระองค์ ตลอดจนว่าด้วยคำสอนต่าง ๆ ที่ร่อซูลนำมาสั่งสอน เช่น เรื่องของวันกิยามะฮ์ และอื่น ๆ
ประโยชน์ของวิชานี้ คือ
ผู้ศึกษาจะมีความสุขประสบโชคดีตลอดกาลศาสนานั้น คือ ใจความจากประมวล (หุ่ก่ม) หลักการของอัลเลาะฮ์ที่พระองค์ได้ทรงส่งผ่านร่อซูลมายังปวงบ่าวของพระองค์ อันทำให้เขาเหล่านั้นประสบแต่คุณงามความดีอันถาวรสืบไป
เครื่องหมายของศาสนานั้น มี 4 ประการ
1. การเชื่อที่ถูกต้อง กล่าวคือ การเชื่อมั่นอย่างเด็ดขาดต่อสิ่งที่ชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์เชื่อมั่น
2. มีเจตนาที่ถูกต้อง กล่าวคือ ทำอิบาดะฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3. ปฏิบัติตามสัญญาในสมบูรณ์ กล่าวคือ ทำในสิ่งที่ใช้
4. ไม่ล่วงละเมิดขอบเขต กล่าวคือ ละทิ้งสิ่งที่ห้าม
คือการทำอิบาดะฮ์โดยความอิคลาศต่ออัลเลาะฮ์ไม่ทำอิบาดะฮ์ด้วยการมีหุ้นในสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์ อัลกุรอานกล่าวว่า
فمن كان يرجو لقاء ربه فليعمل عملا صالحا ولا يشرك بعبادة ربه أحدا
"ใครก็ตามหวังที่จะพบกับผู้อภิบาลของเขา ก็จงทำอะมั้ลที่ดีโดยไม่ห้นส่วนสิ่งใด ๆ กับผู้อภิบาลของเขาในการทำอิบาดะฮ์"
บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะต่างกันเกี่ยวกับผู้ทำอิบาดะฮ์ที่กระทำเพื่ออัลเลาะฮ์และดุนยาด้วย อิหม่ามอิบนุอับอิสสลาม และท่านอื่น ๆ มีทัศนะว่าผู้ทำอิบาดะฮ์ที่มีเจตนาเช่นนี้จะไม่ได้รับกุศลเลย อิมามฆอซาลีมีทัศนะว่า ต้องพิจารณาเหตุที่เป็นสิ่งจูงใจให้ทำอิบาดะฮ์นั้น กล่าวคือ หากแรงจูงใจทางอาคิเราะฮ์มีมากกว่า ก็จะได้รับผลบุญตามจำนวนที่มี แต่ถ้าหากแรงจูงใจ ดุนยามีมากกว่าก็จะไม่ได้รับผลบุญเลย และหากมีเท่า ๆ กัน ก็จะไม่ได้รับผลบุญอะไรเลยเช่นกัน ทัศนะของท่านอิบนุหะญันในชัรหฺอีดอฮ์ให้ความเข้าใจว่า จะได้รับผลบุญตามที่จะมีเจตนา เนื่องจากมีโองการจากอัล-กุรอานว่า...
من يعمل مثقال ذرة خيرا يره
ความว่า " ใครที่ทำดีเท่าผงธุลีเดียว เขาก็จะได้เห็นมัน"
ศาสนานั้นมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ อิสลาม อีหม่าน และเอี๊ยะหฺซาน
อิสลามนั้นคือ การตามและยอมรับโดยภายนอกของบุคคลต่อสิ่งที่ร่อซูล ศ๊อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำมา ได้แก่ สิ่งที่พึงรับรู้จากศาสนาในทางด่อรูเราะฮ์ กล่าวคือ โดยไม่ต้องพิจารณา เช่น สองกะลีมะฮ์ชะฮาดะฮ์ ละหมาด เป็นต้น
จุดมุ่งหมายของคำว่า
ตามและยอมรับ นั้นคือ การยอมรับโดยวาจา โดยไม่ปฏิเสธ แม้จะไม่ได้ทำก็ตาม เช่น ไม่ละหมาด และอื่น ๆ เป็นเนืองนิจ
รู่ก่นอิสลามนั้น มี 5 ประการ
1. ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้านอกจากอัลเลาะฮ์ และมูฮัมมัดเป็นร่อซูลของพระองค์ สำหรับรู่ก่นนี้บังคับเฉพาะกาเฟรที่ต้องการเข้ารับนับถืออิสลาม
2. ละหมาดห้าเวลา
3. บริจาคซะกาต
4. ถือบวชเดือนรอมดอน
5. บำเพ็ญฮัจย์ ณ ไบตุลลอฮ์ สำหรับผู้ที่สามารถจะเดินทางไปได้
อีหม่านนั้นคือ ใจเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ที่ร่อซูลนำมาได้แก่ สิ่งที่พึงรับรู้จากศาสนาในทางด่อรูเราะฮ์
จุดมุ่งหมายของคำว่า "เชื่อ" นั้นคือ ใจคล้อยตามและยอมรับในสิ่งที่ต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งมิใช่แต่เพียงรู้ว่านะบีเป็นนะบีที่แท้จริงโดยไม่ตามและยอมรับ ด้วยเหตุนี้จึงไม่เรียกส่วนใหญ่ของกาเฟรที่รู้และเชื่อว่ามูฮัมมัดเป็นนะบีและร่อซูลว่าเป็นผู้ที่มีอีหม่าน เพราะใจพวกเขามิได้เชื่อ และยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่นะบีนำมาเผยแพร่
รู่ก่นอีหม่านนั้นมี 6 ประการ
1. มีอีหม่าน คือ เชื่อมั่นในอัลลอฮ์
2. มีอีหม่านในมะลาอีกะฮ์
3. มีอีหม่านในบรรดาคัมภีร์
4. มีอีหม่านในบรรดาร่อซูล
5. มีอีหม่านในวันสุดท้าย
6. มีอีหม่านในกอดัร ไม่ว่าดีหรือชั่ว กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าดี เช่น ภักดี (ตออัต) หรือไม่ดี เช่น ความชั่ว (ม๊ะซิยัต) เกิดขึ้น โดยการกระทำของอัลลอฮ์ที่สอดคล้องกับเจตนาของพระองค์ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่บรรพกาล (อะซัลลีย์)
เอี๊ยะหฺซาน (คุณธรรม) คือ การทำดีด้วยความอิคลาศ (บริสุทธิ์ใจ) กล่าวคือ เราทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ประหนึ่งเราเห็นอัลเลาะฮ์ จึงไม่ควรที่จะผินไปอื่นจากพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นทางใจ (บาเต็น) หรือทางอวัยวะส่วนนอก (ซอเฮร) โดยที่เราก็รู้ว่าพระองค์ทรงเห็นเรา เราจึงเกิดความละอายขึ้น ในขณะนั้น หากเราขาดความสนใจในการทำอิบาดะฮ์
เอี๊ยะห์ซานนั้นเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อสิลามและอีหม่านสมบูรณ์ ดังนั้น อิสลามหรืออีหม่านจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากไม่มีเอียะห์ซาน