بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
การสืบเรื่องของผมนั้น ต้องตรงไปตรงมานะครับ อย่าเพิ่มเติมเสริมแต่งจนเกินเลย เมื่อก่อนตอนที่ผมจบปริญญาตรีใหม่ ๆ มีชีอะฮ์บางคนไปโฆษณาบอกกับญาติของเขาว่า ผมเป็นชีอะฮ์ ขนาดคนเรียนจบไคโรยังเป็นชีอะฮ์ เพื่อให้คนเอาวามหลงกลลวง และมีบางคนยังไปประกาศว่าผมมีอะกีดะฮ์แบบสะลาฟ(วะฮาบีย์) ในเรื่องของศิฟาต เพราะผมให้น้ำหนักการมอบหมาย(ตัฟวีฏ)ในศิฟาตของอัลเลาะฮ์ ก็เขาเลยนำไปโพธนา ทั้งที่คนโพธนานั้นเขาไม่เข้าใจอะกีดะฮ์สะลัฟ ซึ่งผมทำการชี้แจงแบบสรุปต่อไป อินชาอัลเลาะฮุตะอาลา
คำว่า "กลุ่มซุนนะฮ์" ตามทัศนะของผมนั้น ไม่ใช่พวกที่ไม่ทำเมาลิด ไม่ทำอิซีกุโบร์(หรือดุอาอ์อัรวาห์) ไม่อ่านกุนูต ไม่ลูบหน้าเมื่อดุอาเสร็จ ไม่กินบุญ ไม่กล่าวอุศ็อลลี ฯลฯ แต่ "กลุ่มซุนนะฮ์" ที่แท้จริงนั้น คือ ผู้ที่อยู่บนหลักอะกีดะฮ์ที่ถูกต้องโดยรวม กระทำตามซุนนะฮ์ที่นบีได้กระทำ ไม่ใช่ทำตามซุนนะฮ์ในสิ่งที่นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทิ้งไม่ได้กระทำ แต่ผู้ที่อยู่ในแนวทางซุนนะฮ์ คือผู้ที่ทำฟัรฎูและสุนัตที่นบีได้กระทำแบบอย่างเอาไว้และสั่งใช้ให้กระทำ เช่น ทำละหมาดตะฮัจญุดเป็นประจำ ทำละหมาดก่อนและหลังละหมาดฟัรฎู ตื่นเช้ามาทำการซิรุลลอฮ์เช้าเย็น ยามสายก็ละหมาดสุนัตฎุฮา ถือศีลอดวันเว้นวัน หรืออย่างน้อยก็ถือศีลอดวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี อ่านอัลกุรอานเป็นประจำ ศ่อละวาตนบีให้เยอะ ๆ เป็นต้น ผู้ที่กระทำเช่นนี้แหละ คือ "ชาวซุนนะฮ์" แต่ผู้ที่ประกาศตนเองว่าเป็นชาวซุนนะฮ์โดยไม่ทำเมาลิด ไม่ทำดุอาอ์อัรวาห์ ไม่อ่านกุนูต ไม่กินบุญ ไม่กล่าวอุศ็อลลี แต่ไม่ถือศีลอดสุนัตต่าง ๆ ไม่ละหมาดสุนัตต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ซิกรุลลอฮ์ ไม่ค่อยอ่านอัลกุรอาน ไม่ค่อยศ่อลาวาตนบีให้มาก ๆ พวกนี้ถือว่าเป็นซุนนะฮ์ปลอม หรือซุนนะฮ์ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ผมได้บอกน้อง ๆ เสมอว่า เมื่อเราต่างก็เชื่อว่าเราคือ ชาวซุนนะฮ์ เราก็ต้องทำตามซุนนะฮ์นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านได้กระทำแบบอย่างไว้ ซึ่งมีมากมาย ดังที่ผมได้ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น อย่าเป็นพวกแอบอ้างว่าเป็นซุนนะฮ์ แต่ต้องทำซุนนะฮ์ที่นบีได้กระทำไว้ ปัจจุบันคนพูดว่าเป็นซุนนะฮ์เยอะ แต่หากไปตรวจสอบการกระทำของเขา น้อยเหลือเกินครับที่ทำซุนนะฮ์นบีในแต่ละวันที่นบีได้ส่งเสริมให้กระทำ
การนำเสนอของผมในเว็บไซต์แห่งนี้ ผมขอเรียนว่า ผมขอเป็นอิสระในการเลือกทัศนะและเลือกมัซฮับ การวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ นั้น ผมมีจุดยืนเป็นของตนเองตามหลักพื้นฐานอุศูลุลฟิกห์ที่นักปราชญ์ได้วางไว้และอยู่ในกรอบของอัลอิสลาม เชคริฎอเคยถามผมตอนที่เคยเสวนาบอร์ดเว็บริฎอสะมะดีอันเก่าว่า คุณเป็นมุกอลลิดหรือเป็นมุจญฺฮิด ผมตอบไปว่า ผมนั้นเป็นคนมุกอลลิดที่รู้หลักฐานในสิ่งที่ตนเองปฏิบัติ เชคริฏอบอกว่า คุณนั้นเป็นมุจญฺฮิดแล้ว (คงหมายถึงมุจญฮิดมัสอะละฮ์ หมายถึงรู้หลักฐานและวิเคราะห์ได้เฉพาะประเด็นของฟิกห์นั้นๆ) ดังนั้น เมื่อผมเป็นมุจญฺฮิดตามมุมมองของเชคริฎอ แสดงว่าผมก็มีอิสระในการเลือกในการวิเคราะห์หลักฐาน หากพวกท่านถามผมว่า ทัศนะที่ผมเลือกและบอกว่ากระทำนั้น มีหลักฐานไหม? ผมก็ตอบว่า "มี" คือมีหลักฐานตามบรรทัดฐานทัศนะของผม ไม่ใช่ตามบรรทัดฐานทัศนะของพวกท่าน ซึ่งบรรทัดฐานในการเลือกวิเคราะห์หลักฐานนั้น ทำให้ผลลัพธ์ของฮุกุ่มออกมาต่าง ๆ เช่น บางประเด็น ผมเลือกบรรทัดฐานที่ว่าหะดิษฏออีฟสามารถนำมาปฏิบัติในเรื่องสุนัต(ที่ไม่มุอักกะดะฮ์หรือสุนัตที่ไม่เน้นย้ำ)ได้ตามเงื่อนไขที่ปวงปราชญ์ส่วนมากหรือทั้งหมดไว้วางไว้ ส่วนพวกท่านบอกว่าหะดิษฏออีฟจะนำมาปฏิบัติไม่ได้ ผลของหุก่มจึงออกมาสองแนว คือ ผมบอกว่าเป็นสุนัต(แบบไม่มุอักกะดะฮ์) ส่วนพวกท่านถือว่าเป็นบิดอะฮ์เพราะไม่เอาหะดิษฎออีฟ ดังนั้น ผมอยากถามว่า พวกท่านหรืออาจารย์ของพวกท่านจะมาบังคับผมได้หรือว่า ห้ามยึดบรรทัดฐานที่ว่าหะดิษฎออีฟไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ ทั้งที่ผมมีอิสระในการเลือก ในทางเดียวกัน ผมก็ไม่บังคับพวกท่านให้ยึดบรรทัดฐานฮะดิษฏออีฟในเรี่องสุนัตเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะพวกคุณก็เป็นอิสระในการเลือก เพราะฉะนั้นเมื่อมีความอิสระในการเลือกทั้งสองฝ่าย ทำไมต้องมาหุก่มอีกฝ่ายว่าเป็นพวกบิดอะฮ์ ตนเองเป็นซุนนะฮ์ เชคของพวกท่านสอนอย่างนี้หรือครับ?
ดังนั้น เมื่อผมมีอิสระในการเลือกวิเคราะห์หลักฐาน สิ่งที่ผมนำเสนอจึงมิได้ต้องการจะเอาใจผู้ใด ไม่ได้เอาใจคณะเก่าและไม่ได้เอาใจคณะใหม่ (ขออนุญาตใช้คำว่าคณะเก่าและใหม่เพื่อสื่อความเข้าใจ) หากพวกท่านศึกษาข้อเขียนของผมในเว็บไซต์แห่งนี้ ก็จะพบว่ามีบางประเด็นที่ผมมีทัศนะที่ขัดกับคณะเก่าและขัดกับคณะใหม่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมขอตอบว่า ก็เพราะผมอิสระในการเลือกโดยมิได้เอาใจผู้ใด ส่วนประเด็นที่ผมไม่ตอบก็แสดงว่าผมไม่รู้
ส่วนเรื่องการทำบุญเป็นทานศ่อดะเกาะฮ์ให้แก่มัยยิตนั้น ผมมีหลักการของผมเอง พวกท่านจะบอกผมว่าทำกันแบบโต๊ะครูคณะเก่าทำกันนั้น ผมไม่ทราบได้หรอกว่าพวกเขาทำกันอย่างไรเพราะผมไม่สามารถไปสืบได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่สำหรับผมแล้วนั้น หากมีพี่น้องมุสลิมเสียชีวิต ก็ต้องให้พี่น้องมุสลิมเพื่อนบ้านทำอาหารให้แก่ครอบครัวผู้ตายหรือบริจาคเป็นเงินช่วยเหลือ หากจะทำบุญเป็นทานศ่อดะเกาะฮ์ก็ต้องให้พี่น้องเพื่อนบ้านช่วยกันทำให้ ไม่ใช่ปล่อยให้ครอบครัวผู้ตายกระทำตามลำพัง ซึ่งแบบนี้ผมค้านอยู่แล้วครับ การทำบุญเป็นทานศ่อดะเกาะฮ์แก่มัยยิต 7 วันนั้น ผมมีหลักฐานและทำการวิเคราะห์สายรายงานไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ ส่วนทำบุญ 40 วันนั้น ไม่มีหลักฐาน ผมก็บอกว่ามันเป็นบิดอะฮ์
ส่วนอีซีกุโบร์ หรือการทำตะฮ์ลีล หรือการทำดุอาอัรวะห์ นั้น ตามทัศนะของผมมันไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือมีพิธีกรรมอะไรมากมาย เพราะมันเป็นเพียงแค่การอ่านอัลกุรอาน ซิกรุลลอฮ์ อิสติฆฟาร แล้วดุอาอ์ให้แก่มุสลิมที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว และทำการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้ทำทรงมอบผลบุญดังกล่าวให้แก่พี่น้องมุสลิมผู้ล่วงลับก็เท่านั้นครับ ไม่ใช่เป็นการปลุกผีกุโบร์หรืออันเชิญวิญญาณเหมือนกับอาจารย์บางคนได้กล่าวอ้าง ดังนั้น การอ่านอัลกุรอาน ซิกรุลลอฮ์ แล้วขอดุอาอ์มอบผลบุญให้แก่ผู้ล่วงในกุโบร์นั้น ท่านอิมามอะห์มัดยังมีทัศนะให้กระทำ ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ยังมีทัศนะให้กระทำ ท่านอิบนุก็อยยิมยังมีทัศนะให้กระทำได้ แล้วทำไมพวกท่านจึงบอกว่ามันการปลุกวิญญาณ เป็นการอันเชิญวิญญาณ เป็นการอุทิศผลบุญเลียนแบบศาสนาอื่น หรือว่าท่านอิมามอะห์มัด , ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ , ท่านอิบนุก็อยยิม , ทำบิดอะฮ์ลุ่มหลงโดยมีทัศนะว่าปลุกวิญญาณ อันเชิญวิญญาณ และอุทิศผลบุญโดยเลียนแบบศาสนาอื่นหรือครับ?! ดังนั้น ผมมีสิทธิในหการเลือกทัศนะและกระทำให้อยู่ในกรอบศาสนาอย่าเลยเถิด อินชาอัลลอฮ์ ผมจะเขียนบทความเรื่องอีซีกุโบร์ตามทัศนะของผมพร้อมกับวิจารณ์เปรียบเทียบทัศนะบรรดาอาจารย์ของพวกท่านที่กล่าวถึงเรื่องอีซีกุโบร์ หากจะถามจุดยืนผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ผมจะตำหนิพวกที่มีท่าทีที่ว่า หากไม่ทำตะฮ์ลีลหรืออีซีกุโบร์แล้ว ก็จะแสดงอาการไม่พอใจหากไม่ทำ และผมขอตำหนิพวกที่หุก่มเลยเถิด อธิบายยกเมฆว่าเป็นการปลุกวิญญาณ ปลุกผีในกุโบร์ ซึ่งบุคคลทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้อยู่บนความดีงามทั้งสิ้น
ส่วนเรื่องตัลกีนนั้น ผมอยากถามหน่อยเถอะครับว่า มันเป็นเรื่องที่นักปราชญ์อิสลามได้อิจญ์มาอฺลงมติหรือครับว่า "การอ่านตัลกีนเป็นบิดอะฮ์" ทั้งที่มีนักปราชญ์มากมายมีทัศนะว่าให้กระทำได้ โดยยึดหะดิษของท่านนบี ที่มีหลักวิเคราะห์กันมากมาย บ้างบอกว่าเมาฎัวะอฺ บ้างบอกว่าฎออีฟ บ้างบอกว่าเป็นหะดิษดี (ที่สามารถรับการสนับสนุนยกระดับได้) ท่านอิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า "แท้จริงบรรดานักปราชญ์จะตำหนิในเรื่องที่มีมติเอกฉันท์ให้ทำการตำหนิ แต่สำหรับสิ่งที่เป็นคิลาฟียะฮ์นั้นย่อมไม่มีการตำหนิแต่ประการใด(ที่จะเลือกระทำ)" ฟะตาวาอิบนุตัยมียะฮ์ 20/225 ดังนั้นการที่พวกท่านได้ตำหนิผู้ทำการอ่านตัลกีน ก็เหมือนกับว่าพวกท่านทำให้ฐานะการอ่านตัลกีนนั้นเป็นบิดอะฮ์โดยเอกฉันท์(อิจญ์มาอฺ) ซึ่งเป็นจุดยืนที่ละเมิดต่อหลักการอิสลามและละเมิดต่อพี่น้องมุสลิม ดังนั้นเรื่องที่เป็นคิลาฟียะฮ์นั้นหากพวกท่านเลือกไม่กระทำก็ถือว่าเป็นทัศนะส่วนตนจะไปหุก่มลามไปยังคนอื่นไม่ได้ เพราะไม่มีการตำหนิกันในเรื่องคิลาฟียะฮ์ในรูปแบบนี้ แต่หากประเด็นหนึ่งมีหลักอิจญ์มาอฺมติตัดสินว่าแล้วเรื่องนี้บิดอะฮ์หะรอม เราก็สามารถทำการตำหนิคัดค้านและวิจารณ์ผู้อื่นได้โดยให้อยู่ในกรอบของศาสนา ดังนั้นผมขอตำหนิผู้ที่ทีท่าทีแบบว่าหากไม่อ่านตัลกีนแล้วไม่ได้ทำเหมือนกับว่ามันเป็นวาญิบเสียอย่างนั้น และขอตำหนิผู้ที่เห็นคนอื่นทำการอ่านตัลกีนแล้วคิดเกินเลยขอบเขตกล่าวหาว่าทำบิดอะฮ์คิดเถิดไปว่าเขาสมควรรับนรกที่กระทำเช่นนี้ ซึ่งบุคคลทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้อยู่บนความดีงามทั้งสิ้น
กรณีของเชคริฎอนั้น มีลูกศิษย์เอกมือขวาได้ถามผมแล้วว่า "บังคิดอย่างไรกับเชคริฎอ" ผมตอบว่า "เขาเป็นคนที่มีความรู้" ผมตอบแค่นี้แหละครับ หมายถึงเชคริฏอก็มีความรู้ ค้นคว้าจากตำราเองได้ ซึ่งอาจารย์คนอื่น ๆ ก็มีคุณลักษณะเช่นนี้ หากถามถึงท่านอาจารย์ อรุณ บุญชม ผมขอตอบว่า "ท่านเป็นผู้ที่ทรงความรู้" หากถามว่าผมเกี่ยวกับ อาจารย์ อะลี เสือสมิง ผมก็ขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่มีความรู้" หากถามถึงอาจารย์ ชาฟิอี นภากร ผมก็ขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่มีความรู้" หากจะถามถึงท่านอาจารย์ การีม วันแอเลาะ ผมขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่ทรงความรู้" หากถามถึงอาจารย์ ฮากีม วันแอเลาะ ผมขอตอบว่า "ท่านเป็นคนทรงความรู้" หากถามอาจารย์ มุฮัมมัด เชื้อดี จากสุเหร่าเขียว ผมขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่มีความรู้" หากถามถึง ท่านอาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปราณี (ร่อฮิมะฮุลลอฮ์) ผมก็ขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่มีความรู้" หากถามถึง ท่านอาจารย์ อัชอะรีย์ เรืองปราชญ์ ผมขอตอบว่า "ท่านเป็นคนที่ทรงความรู้" หากถามถึงอาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข ผมก็ตอบว่า "ท่านเป็นผู้ที่ทรงความรู้" หากถามถึง อาจารย์ มุนีร มูฮัมหมัดครูใหญ่โรงเรียนศาสนฯ ผมขอบอกว่า "ท่านเป็นคนที่มีความรู้"
จอนซีเฮร์ นักบูรพาคดีชาวยิว ก็มีความรู้ในอิสลามเป็นอย่างยิ่ง แต่ผมไม่ยอมรับในหลักความเชื่อและหลักการของเขา ดังนั้น ผมก็ไม่เคยยอมรับเลยว่า เชคริฎอ มีอะกีดะฮ์ตรงกับแนวทางของชนส่วนมากของโลกอิสลาม ดังนั้น เมื่อผมยอมรับว่าเชคริฎอเป็นคนที่มีความรู้ ก็มิได้หมายความว่าผมต้องยอมรับทัศนะของเชคริฎอหรือยอมรับหลักอะกีดะฮ์ของเชคริฎอ เพราะทัศนะและอะกีดะฮ์ของเชคริฎอนั้น ไม่ใช่จะมาการันตีว่า ท่านมีหลักการที่ถูกทั้งหมด แต่ ณ ที่นี้ ผมไม่ขอเอ่ยว่า หลักอะกีดะฮ์ใดที่เชคริฎอขัดแย้งกับอะกีดะฮ์อะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ และอีกอย่างบรรดาอาจารย์วะฮาบีย์ทีมนี้ ไม่ยอมเน้นเปิดเผยอะกีดะฮ์มากนัก เพราะไปเสวนาที่เว็บมรดกฯ ก็ถูกปิดกระทู้ เสวนาที่เว็บมุรีดเมื่อผลกำลังจะสรุปก็ถูกลบ มีพี่น้องไปถามเรื่องอะกีอะฮ์ในบอร์ดพูดคุยกับ อ.มุรีด ก็จะลบตลอด เคยเสวนาเรื่องอะกีดะฮ์ที่เว็บเชคริฏอเก่าก็ลบกระทู้ ใหนล่ะครับอะกีดะฮ์ที่ตนเองภาคภูมิใจ
ส่วนการเลิกโจมตีเชคริฏอ และอาจารย์วะฮาบีย์คนอื่น ๆ นั้น มิใช่เพราะผมให้การยอมรับ แต่ทว่าทีมงานของเว็บไซต์แห่งนี้มีผลสรุปที่ว่าไม่วิจารณ์เป็นรายบุคคลก็เท่านั้นเอง ซึ่งผมในฐานะผู้รับใช้ก็ต้องน้อมรับ
ส่วนจุดยืนของผมเกี่ยวกับศิฟาตของอัลลอฮ์ที่เป็นปัญหาอยู่นั้น โปรดอ่านดังนี้เลย จะได้ชัดแจ้งกันไป
คำว่า يد الله (ภาษาไทยแปลว่าพระหัตถ์ของอัลลอฮ์) แต่ตามหลักการแล้วศิฟัตของอัลลอฮ์นั้นพระองค์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ ดังนั้น ผมจึงขอใช้เรียกคำว่า "ยะดุน" يَدٌ แล้วกันนะครับ เพราะอัลลอฮ์ทรงเรียกอย่างนี้
ตัวอย่างคำว่า يد الله "ยะดุลลอฮ์" (ยะดุน) นั้น
แนวทางที่หนึ่ง : คือ เชื่อในศิฟัต "ยะดุน" โดยมิได้เจาะจงความหมายแต่ขอมอบความหมาย , จุดมุ่งหมายที่แท้จริงและรูปแบบวิธีการไปยังอัลลอฮ์ตะอาลา (แนวทางนี้เป็นแนวทางที่หนึ่งของอัลอะชาอิเราะฮ์)
แนวทางที่สอง : คือ เชื่อในศิฟัต "ยะดุน" แต่ทำการตีความ (ตะวีล)เพื่อให้มีความเข้าใจง่ายโดยสอดคล้องกับหลักภาษาอัลกุรอาน(ภาษาอาหรับ) , ตรงกับหลักของศาสนา(ไม่คัดค้านกับตัวบทที่ชัดเจนเด็ดขาดและแน่นอน) , และสอดคล้องตามหลักของสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน คือตีความว่า มันคือ "อำนาจ" แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮ์สำทับอีกครั้งหนึ่ง (แนวทางนี้เป็นแนวทางที่สองของอัลอะชาอิเราะฮ์)
แนวทางที่สาม : คือ เชื่อในศิฟัต "ยะดุน" แต่ทำการอธิบายความหมาย (ตัฟซีร) ของมันให้อยู่ในเชิงภาษาของคำแท้ตามที่มนุษย์เข้าใจกัน คือหมายถึงศิฟัตของอัลลอฮ์ที่เป็นส่วนอวัยวะที่เป็นฝ่ามือที่เป็นส่วนหนึ่งจากตัวตนของพระองค์! ที่เหมาะสมกับเกียรติของพระองค์!?? (แนวทางนี้เป็นหลักอะกีดะฮ์ของวะฮาบีย์)
ทำให้เห็นง่าย ๆ คือ
เชื่อในศิฟัตยะดุน >-------------------->> ไม่ได้เจาะจงความหมายแต่มอบหมายกับความหมายและรูปแบบวิธีการ
เชื่อในศิฟัตยะดุน >-------------------->> แต่ทำการตีความอยู่ในความหมายของอำนาจ
เชื่อในศิฟัตยะดุน >-------------------->> เจาะจงความหมายโดยอธิบายให้อยู่ในความหมายของอวัยวะส่วนของร่างกายที่เป็นฝ่ามือให้กับอัลลอฮ์
สรุป : แนวทางที่หนึ่งและสองคือแนวทางของอัลอะชาอิเราะฮ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ศรัทธาในความบริสุทธิ์ในศิฟัตอัลลอฮ์จากการไปคล้ายและเหมือนกับมัคลูกในทุกรูปแบบ
ส่วนแนวทางที่สามนั้น ถึงแม้ว่าพวกเขาปฏิเสธการเหมือนระหว่างมัคลูกกับอัลลอฮ์ แต่พวกเขายืนยันความคล้ายคลึง(ตัชบีฮ์)ระหว่างศิฟัตของอัลลอฮ์และมัคลูก กล่าวคือ มนุษย์มีส่วนอวัยวะที่เป็นฝ่ามืออยู่ที่ร่างกายและอัลลอฮ์ก็มีส่วนอวัยวะที่เป็นฝ่ามือที่อยู่ตัวตนของพระองค์ ! แต่ไม่เหมือนกับมัคลูก!? ซึ่งเป็นแนวทางของวะฮาบีย์ปัจจุบัน
ตัวอย่างคำว่า "อิสติวาอฺ" الإستواء นั้น
แนวทางที่หนึ่ง : คือ เชื่อในอิสติวาอ์ โดยไม่เจาะจงความหมายแต่ขอมอบความหมาย , จุดมุ่งหมายที่แท้จริง และรูปแบบวิธีการไปยังอัลลอฮฺตะอาลา (แนวทางนี้เป็นแนวทางที่หนึ่งของอัลอะชาอิเราะฮ์)
แนวทางที่สอง : คือ เชื่อในอิสติวาอ์ แต่ทำการตีความ (ตะวีล)เพื่อให้มีความเข้าใจง่ายโดยสอดคล้องกับหลักภาษาอัลกุรอาน(ภาษาอาหรับ) , ตรงกับหลักของศาสนา(ไม่คัดค้านกับตัวบทที่ชัดเจนเด็ดขาดและแน่นอน) , และสอดคล้องตามหลักของสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน คือตีความว่า มันคือ "การปกครอง" แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺสำทับอีกครั้งหนึ่ง (แนวทางนี้เป็นแนวทางที่สองของอัลอะชาอิเราะฮ์)
แนวทางที่สาม : คือ เชื่อในอิสติวาอ์ แต่ทำการอธิบายความหมาย (ตัฟซีร) ของมันให้อยู่ในเชิงภาษาของคำแท้ตามที่มนุษย์เข้าใจกัน ซึ่งแนวทางนี้เลือกให้อยู่ในความหมายของ "การนั่ง" (แนวทางนี้เป็นแนวทางของวะฮาบีย์)
ทำให้เข้าใจแบบง่าย ๆ คือ
แนวทางที่หนึ่ง : เชื่อในอิสติวาอฺ >-------------------->> ไม่ได้เจาะจงความหมายแต่มอบหมายกับความหมายและรูปแบบวิธีการ
แนวทางที่สอง : เชื่อในอิสติวาอฺ >-------------------->> แต่ทำการตีความอยู่ในความหมายของการปกครอง
แนวทางที่สาม : เชื่อในอิสติวาอฺ >-------------------->> เจาะจงความหมายโดยอธิบายให้อยู่ในความหมายของการนั่งบนบัลลังก์
สรุป : แนวทางที่หนึ่งและสอง คือแนวทางของอัลอะชาอิเราะฮ์ ที่สอดคล้องกับ หลักของภาษาอาหรับ(ภาษาอัลกุรอาน) , สอดคล้องกับหลักของศาสนา , และสอดคล้องกับหลักสติปัญญา ทำไมผมจึงบอกว่าสอดคล้องกับหลักการของศาสนา นั่นก็เพราะว่า การมอบหมายต่ออัลลอฮ์เป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริม และการตีความว่า "การปกครอง" นั้น มีอายะฮ์และหะดิษต่าง ๆ มากมายที่มายืนยันว่า อัลลอฮ์ "ทรงอำนาจปกครอง" และพระองค์ก็ทรงพระนามว่า المالك (พระองค์ทรงปกครอง)
ส่วนแนวทางที่สามนั้น อธิบายตรงกับหลักภาษาอาหรับ แต่ไม่ตรงกับหลักการของศาสนา ที่ผมกล่าวอย่างนั้น เพราะว่า ไม่มีอัลกุรอานอายะฮ์ใดและหะดิษศ่อฮีห์บทใด ที่สนับสนุนและระบุยืนยันว่า "อัลลอฮ์ทรงนั่ง" الجالس "อัลญาลิส" และอัลเลาะฮ์ก็ไม่ทรงมีพระนามว่า الجالس "อัลญาลิส" (พระองค์ทรงนั่ง) หรือ القاعد "อัลกออิด" (พระองค์ทรงนั่ง)
แต่แนวทางที่สาม (คือซุนนะฮ์วะฮาบีย์) มักกล่าวหาว่า แนวทางที่สองนั้นปฏิเสธศิฟัต "อัลอิสติวาอฺ" ของอัลลอฮ์ ซึ่งความจริงแล้วเป็นความเข้าหลักการที่ผิดพลาด เพราะแนวทางที่สองนั้น ไม่ได้ปฏิเสธ "อิสติวาอฺ" เลยแม้แต่น้อย แต่พวกเขาปฏิเสธความหมายต่าง ๆ ที่แนวทางที่สามทำการอธิบายต่างหาก
สรุปจากทัศนะที่ผมให้น้ำหนัก คือ แนวทางที่หนึ่งของอัลอะชาอิเราะฮ์ ผมโน้มเอียงและให้น้ำหนักเพราะเป็นแนวทางของสะลัฟส่วนมากถือว่าปลอดภัยยิ่งกว่า ไม่ใช่หนทางที่สามของวะฮาบีย์
ส่วนบิดอะฮ์หะสะนะฮ์นั้น ผมบอกคุณไปนานแล้วว่า เชิงภาษาไม่ใช่เชิงศาสนา แต่คุณไม่ยอมอ่าน ไม่ยอมทำความเข้าใจ คุณเพิ่งรู้ตอนที่ไปสืบมา ทั้งที่ผมโพสต์เสวนากับคุณไปตั้งหลายครั้ง จึงทำให้ผมรู้เลยว่า ปัญหาที่คนเราชอบสาดโคลนใส่กันนั้น เพราะไม่ยอมทำความเข้าใจ ไม่ยอมอ่าน อ่านแล้วกลัวเขว อ่านแล้วกลัวรับไม่ได้ บางคนบอกว่า "จะไปอ่านให้เขวทำไม" บางคนถูกเรียกว่าอาจารย์แล้ว แต่อ้างอิงวิจารณ์แบบตัดทอนไม่ยอมอ่านให้เข้าใจและไม่ยอมเข้าใจอะไรเลย ผมจึงไม่รู้ว่าเขาจะเอาอะไร?
สุดท้ายนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า สิ่งที่ผมได้พยายามนำเสนอนั้น มิได้มีการแผนการอะไร ผมมีอิสระในการเลือกทัศนะเหมือนกับที่อาจารย์ของพวกท่านอิสระ ไม่ได้เอาใจผู้ใด พยายามส่งเสริมให้พี่น้องมีทัศนคติที่ดีไม่หย่อนยานและเลยเถิด พยายามทำให้มีความใจกว้างในสิ่งที่หลักการอิสลามอนุญาต ไม่นิยมหุก่มตกนรกต่อทัศนะอื่น และพยายามทำให้เกิดอิสระ คืออิสระในตัวผมเองและอิสระต่อพี่น้องผู้อ่านในการเลือกทัศนะที่อยู่ในกรอบของอิสลาม ไม่มีการบังคับขู่เข็ญให้พี่น้องต้องมาเลือกตามทัศนะที่ผมนำเสนอ หากมีพี่น้องขอคำปรึกษาในเรื่องศาสนา ผมก็ตอบให้ตามที่อัลลอฮ์ให้รู้ครับ
และสุดท้ายนี้ผมขอฝากฮะดิษที่รายงานจากท่านอิบนุมัสอูด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวซ้ำกันถึงสามครั้งว่า
هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُوْنَ
"บรรดาผู้มุตะนัตติอูน(ผู้ที่คิดลึกเกินเลยขอบเขต)ได้มีความวิบัติแล้ว" รายงานโดยมุสลิม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า "พวกมุตะนัตติอูน คือ พวกคิดลึกเลยเถิดเกินขอบเขตทั้งในบรรดาคำพูดและการกระทำของพวกเขา" ชัรห์ ซอฮฺห์มุสลิม 16/220
والله سبحانه وتعالي أعلي وأعلم
อัล-อัซฮะรีย์