ประโยชน์ที่ได้รับจากการเดินทางหาฮาดิษ (ต่อ )2.) ทำให้รู้จักบรรดานักรายงานฮาดิษ และชีวประวัติของพวกเขาอย่างละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากนักรายงานที่เดินทางตระเวนยังเมืองต่างๆ เพื่อหาฮาดิษนั้นต่างได้พบเจอและรู้จักนักรายงานฮาดิษจำนวนมากมายทั้งที่เป็นชาวเมือง และเดินทางมาจากเมืองอื่นๆ นักเดินทางเหล่านี้นอกจากจะจดจำ และบันทึกส่วนที่เกี่ยวข้องกับฮาดิษแล้วพวกเขายังจดจำ และบันทึกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกับบุคคลอีกด้วย ดังที่ท่านอัลฮาฟิซ อัรรอมฮุรมุซีย์ ( 405 ฮ.ศ.) ได้บันทึกรายชื่อนักรายงานฮาดิษที่เดินทางยังเมืองต่างๆ โดยเรียบเรียงเป็นรุ่นๆ ( ฏอบะกาะฮฺ) ท่านได้กล่าวถึงนักรายงานที่เดินทางยังเมืองหลายเมือง และนักเดินทางที่เดินทางยังเมืองเดียว หรือซีกเดียว ( ดู อัลมูฮัดดิษ อัลฟาซิล : อัรรอมฮุ๊รมซีย์ หน้า 229-232 )
สำหรับเมืองสำคัญที่นักรายงานฮาดิษเดินทางไปเพื่อสืบหาฮาดิษ คือ มาดีนะห์ , มักกะห์ , กูฟะห์ ,บัศเราะห์ , ญะซีเราะห์ , ชาม , ยะมามะห์, เยเมน, มิศร, มัรวฺ (เมืองหนึ่งในประเทศตรุกมานิสตาน ) , ร็อย ( เมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิหร่าน) และ บุคอรอ ( เมืองหนึ่งในอุซเบกิสถาน เป็นบ้านเกิดของอิมามบุคอรีย์ ) เมืองเหล่านี้ถือเป็นศูนย์กลางแห่งการแสวงหาความรู้เนื่องจากเหล่านักปราชญ์ มากมายมาพำนักอยู่ในเมืองเหล่านี้ และการรายงานฮาดิษก็ตื่นตัวอยุ่ในเมืองเหล่านี้ทั้งสิ้น
3.) การเดินทางของนักรายงานฮาดิษได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและตื่นตัวในการรวบรวมรายงานต่างๆไว้เป็นเล่ม เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งในยุคของซอฮาบะห์ และตาบีอีนรุ่นอาวุโสในรูปแบบ ศุหุฟ ( พหูพจน์ของ ศอฮีฟะห์ ในที่นี้หมายถึง วัสดุที่จารึกบทฮาดิษของท่านนบี )และ อัจซาอฺ ( เป็นพหูพจน์ของ ญุซอ ในที่นี้หมายถึง วัสดุที่บันทึกฮาดิษของท่านนบีเฉพาะเรื่อง หรือเฉพาะซอฮาบะห์คนใดคนหนึ่ง (ดูตัวอย่างศุหุฟและอัจซาอฺในหนังสือ : บุหูษฟีตารีค อัสซุนนะห์ อัลมูชัรรอฟะห์ ของ ดร.อักรอม ฏิยาอฺอัลอูมารีย์ หน้า 228-231))
ต่อมาได้พัฒนามาเป็นรูปแบบ มูศ้อนนาฟาต และ มูวัฏเฏาะอาต (เอกสารที่รวบรวมฮาดิษที่สืบถึงท่านนบี (ฮาดิษมัรฟูอ์) ฮาดิษที่สืบถึงศอฮาบะห์ (ฮาดิษเมากูฟ) และฮาดิษที่สืบถึงตาบีอีน ( ฮาดิษมักฏั๊ว) ไว้ในเล่มเดียวกัน มีความหมายเดียวกันกับมูวัฏเฏาะอาต )
ในศตวรรษที่ 2 ยุคตาบีอีน และ อัตบาอฺ ตาบีอีนรุ่นอาวุโสเช่นอัลมูศ็อนนัฟของอับดุลรอซซาก อัศศอนอานีย์ (211 ฮ.ศ.) และอัลมูวัฏเฏาะของอิมาลิก (179 ฮ.ศ.) และได้พัฒนามาสุ่ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของฮาดิษในศตวรรษที่สามในรูปหนังสือมะนาสีด (หนังสือที่รวบรวม และเรียบเรียงฮาดิษตามชื่อซอฮาบะห์ผู้รายงาน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องของฮาดิษ) เช่น อัลมุสนัดของอิมามอะห์มัด (240 ฮ.ศ.) หนังสือศิหาหฺ ( หนังสือที่ผู้แต่งรวบรวมเฉพาะฮาดิษที่ซอเฮี๊ยะเท่านั้น ส่วนการเรียบเรียงนั้นจะเรียบเรียงตามบทต่างๆของวิชาฟิกฮ์) เช่น อัลญามีออัศซอเฮี๊ยะ ของอิมามบุคอรีย์ (256 ฮ.ศ.) และหนังสือสุนัน (หนังสือที่รวบรวมฮาดิษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนใหญ่ในอิสลามโดยเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับ อะฮฺกาม ( ข้อบัญญัติ ) มีฮาดิษหลากหลายสถานภาพทั้งซอเฮี๊ยะ และไม่ซอเฮี๊ยะ ส่วนการเรียบเรียงนั้น จะเรียบเรียงตามบทต่างๆ ของวิชาฟิกฮ์ ) เช่น สุนันของอบูดาวูด (275 ฮ.ศ.) เป็นต้น
(มีต่อ)
วัลลอฮูอะลัม
