อ้างอิง : http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=275&Itemid=1
ผู้เขียนคือ ท่าน อัล-อัค ได้เขียนหมายเหตุไว้น่าสนใจและเสวนาต่อยอดได้ครับ
หมายเหตุ
· บทความนี้เขียนทิ้งไว้เมือรอมฎอน 1428 (ปีกลาย)
· ความจริงดุลยภาพระหว่างความถูกต้อง กับ ความเป็นพี่น้อง เป็นหลักการพื้นฐานของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ คือสมดุลระหว่างอะฮฺลุซ ซุนนะฮฺ และอะอฺลุล ญะมาอะฮฺ
· คนจำนวนไม่น้อยมักปฏิเสธข้อเสนอผมตามข้างบน ผมยกตัวอย่างสักเรื่อง เช่นผมเสนอแก่ผู้ถือมัซฮับชาฟิอียฺว่าไม่ควรสูญูดซะฮฺวียฺ ถ้าอีหม่ามที่นำไม่ได้อ่านกูนูต(เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามแนวนี้) หลายคนยืนยันจะสูญูดต่อไป เรื่องนี้ผมก็ห้ามไม่ได้ ... เพียงแค่ผมให้นึกว่าหากเราดึงดันแนวนี้ตลอดนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น ในบางพื้นที่ที่อิหม่ามเป็นฮานาฟียฺ แต่มะอมูมจำนวนไม่น้อยเป็นชาฟิอียฺ พวกเขาต้องสูญูดซะฮฺวียฺกันทุกวันเลยหรือ? เป็นภาพที่แปลกทุกวักตูศูบฮฺที่คนจำนวนหนึ่งในมัสญิดสูญูดกันต่อ หรือว่าต้องให้เปลี่ยนอิหม่ามกัน ... มันเป็นประเด็นที่มัซฮับมันยอมกันไม่ได้เลยเชียวหรือ? หรือว่าต้องให้เปลี่ยนอิหม่ามมาเป็นกูนูตเท่านั้น (ความจริงที่ต้องกล่าวไว้ตรงนี้ก็คือ มีพี่น้องที่ถือตามแนวมัซฮับชาฟีอียฺจำนวนมากไม่ได้ดึงดันขนาดนั้น พวกเขามีความเข้าใจในการดำเนินตามมัซฮับ พวกเขาบอกว่าไม่ต้องสูญูดซะฮฺวียฺก็ได้)
ในบทความข้างต้นผมตั้งคำถามกับคนที่ไม่ยอมละหมาดตามหลังอิหม่ามที่กุนูตว่า หรือว่าไม่พึงพอใจที่อีหม่ามชาฟิอียฺเป็นอีหม่าม !!! ขณะเดียวกันเราก็ตั้งคำถามคนที่ไม่ค่อยเต็มใจจะละหมาดตามหลังอิหม่ามที่ไม่กูนูตได้เหมือนกันว่า ไม่พอใจที่มีอิหม่ามอบู ฮะนีฟะฮฺเป็นอีหม่ามหรือ
ในความเป็นจริงการอยู่ร่วมระหว่างมัซฮับของซุนนี่มันมีมานานแล้ว และพวกเขาก็แยกประเด็นต่าง ๆ ได้ อีหม่ามชาฟิอียฺเคยนำละหมาดศุบฮฺผู้ถือมัซฮับฮานาฟียฺโดยไม่กูนูต(ไม่ต้องถามว่าสูญูดซะฮฺวียฺหรือป่าว?) พูดง่าย ๆ เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครจะให้เอาตามตัวเองทุกอย่าง อย่างชนิดที่ไม่ยอมอะลุ่มอะหล่วยกันเลย
· คำถามที่ต้องถามต่อมาคือ แต่ละคนเข้าใจว่า มัซฮับ ทางฟิกฮฺคืออะไร? คือการปฏิบัติที่ไม่ยอมมองดูพี่น้องอีกมัซฮับหนึ่งเลยกระนั้นหรือ? มันคือตัวศาสนาที่เด็ดขาดหรือเป็นแนววินิจฉัยที่แตกต่างกันได้ เป็นสิ่งที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้เลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ?
มัซฮับไม่ใช่ความเลวร้ายในอิสลาม ยิ่งกว่านั้นเป็นผลงานที่ทำให้อุมมะฮฺปฏิบัติศาสนาได้ง่ายๆและเป็นระบอบ ผมแยกแยะระหว่างผู้ดำเนินตามมัซฮับอย่างเข้าใจกับผู้ที่ถือดีในมัซฮับตน คนประเภทหลังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่เลวร้ายต่อมัซฮับ ดังข้อวิจารณ์ของกลุ่มสลาฟียฺต่าง ๆ ที่มีต่อมัซฮับว่าสร้างความแตกแยก ดังมีการปะทะกันระหว่างผู้ถือมัซฮับที่แตกต่างกันในช่วงปลายราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ... แต่ข้อมูลนี้ไม่ได้หมายความว่ามัซฮับไม่ดี คนตามมัซฮับที่ไม่เข้าใจต่างหากที่มีปัญหา (เช่นเดียวกับปัญหาของคนไม่ตามมัซฮับ เพราะเป็นคนที่ถือดีเหมือนๆกัน)
· โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนในอดีต ชุมชนหนึ่งอาจไม่ได้มีแค่มัซฮับเดียว แต่อาจมีหลายมัซฮับ(รวมทั้งคนที่ถูกตั้งฉายาว่าเป็นวะฮาบียฺด้วย) ข้อแนะนำผมก็เพียงหนึ่งในความคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างมัซฮับในแนวซุนนี่ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริง อย่างน้อยก็เห็นชัดเจนในกลุ่มญะมาอัตตับลีฆที่สามารถทำให้หลายหลายมัซฮับอยู่ร่วมกันได้ เพราะพวกเขามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามัซฮับยึดถืออยู่ ผมยังมั่นใจพันเปอร์เซ็นต์ว่ามัซฮับต่าง ๆ ไม่ใช่ระบอบสุดโต่งขนาดละหมาดตามหลังกันไม่ได้ มัซฮับยืดหยุ่นได้ ... ผมเชื่อมั่นในความดีงามของการมีอยู่ของมัซฮับ แต่ผมไม่ศรัทธาในแนวคิดการแบ่งผู้คนเป็นพวกๆด้วยมัซฮับทางฟิกฮฺต่าง ๆ หรือระหว่างคนที่สังกัดมัซฮับกับไม่สังกัด
· แนะนำให้อ่านหนังสือ ความขัดแย้งทางฟิกฮฺ: ความแตกต่างที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ของเชค ดร. ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ ที่ผมได้แปลมาหลายปีแล้ว