بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
อนุญาตให้ละหมาดย่อได้เมื่อเดินทางพ้นเขตหรือกำแพงหมู่บ้านที่ท่านอาศัยอยู่แล้วละครับ ไม่ต้องเดินทางให้ผ่านพ้นกำแพงประเทศมาเลเซียหรอก
อะบีกิลาบะฮ์ รายงานจาก อะนัส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَلَّى الظُّهْرَ بِالْمَدِينَةِ أَرْبَعًا وَصَلَّى الْعَصْرَ بِذِي الْحُلَيْفَةِ رَكْعَتَيْنِ
"แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำละหมาดซุฮร์ที่มะดีนะฮ์สี่รอกะอัตและละหมาดอัสริที่ซิลฮุลัยฟะฮ์สองรอกะอัต" รายงานโดยบุคอรีย์(2723) และมุสลิม(1114)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวอธิบายว่า
أَنَّ الْمُرَاد أَنَّهُ حِين سَافَرَ صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِلَى مَكَّة فِي حَجَّة الْوَدَاع صَلَّى الظُّهْر بِالْمَدِينَةِ أَرْبَعًا ثُمَّ سَافَرَ فَأَدْرَكْته الْعَصْر وَهُوَ مُسَافِر بِذِي الْحُلَيْفَة , فَصَلَّاهَا رَكْعَتَيْنِ . وَلَيْسَ الْمُرَاد أَنَّ ذَا الْحُلَيْفَة كَانَ غَايَة سَفَره فَلَا دَلَالَة فِيهِ قَطْعًا . وَأَمَّا اِبْتِدَاء الْقَصْر فَيَجُوز مِنْ حِين يُفَارِق بُنْيَان بَلَده أَوْ خِيَام قَوْمه إِنْ كَانَ مِنْ أَهْل الْخِيَام
"แท้จริงจุดมุ่งหมายคือขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินทางไปมักกะฮ์เพื่อทำฮัจญีอำลา ท่านได้ละหมาดซุฮร์ที่มะดีนะฮ์สี่รอกะอัต หลังจากนั้นท่านก็เดินทางต่อจนกระทั่งได้เวลาอัสริ ซึ่งขณะนั้นท่านเดินทางถึงซุลฮุลัยฟะฮ์ ท่านจึงทำการละหมาดอัสริสองรอกะอัต แต่มิใช่จุดมุ่งหมายว่าสถานที่ซุลฮุลัยฟะฮ์เป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของท่านนบี สำหรับการเริ่มย่อละหมาดนั้น อนุญาตให้กระทำได้โดยเริ่มจากการเดินทางออกจากเขตที่อาศัยของเมืองหรือเต้นท์กลุ่มชนของเขาหากว่าเขาเป็นชุมชนที่อาศัยโดยใช้เต้นท์" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลมินฮาจญ์ของท่านเช่นกันว่า "ผู้ใดที่เดินทางออกจากเมืองหนึ่ง เริ่มการเดินทางของเขานั้นคือพ้นเขตกำแพงของเมืองนั้น แต่ถ้าหากไม่มีกำแพงเมือง เริ่มแรกของการเดินทางของเขาคือพ้นเขตชุมชน มิใช่พ้นเขตปรักหักพังและเรือกสวน และ(ฮุกุ่ม)ของหมู่บ้านก็เหมือนกับเมือง" หนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ ของท่านอัลค่อฏีบ อธิบายหนังสืออัลมินฮาจญ์ของอิมามอันนะวาวีย์ : 1/486-487
ดังนั้น ถ้าหากเราตั้งใจเดินทางในระยะทางที่ไกลกว่า 2 มัรฮะละฮ์ หรือระยะทาง 81 - 85 กิโลเมตรโดยประมาณ แล้วทำการเดินทางพ้นเขตของหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ก็ถือว่าเราอยู่ในสภาพของผู้เดินทางและอนุญาตให้ทำการละหมาดย่อได้แล้วนั่นเอง แม้นว่าจะเดินทางยังไม่ถึง 2 มัรฮะละฮ์ก็ตาม
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ