ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหานั้น (ซึ่งต้องว่ากันยาว) ผมก็ขอพูดเกริ่นเชิงอธิบายเกี่ยวกับมัฑฮับ (สำนักคิดทางนิติศาสตรอิสลาม) สักนิดหนึ่งนะครับ คือว่า แต่เดิมนั้น หลังจากที่ท่านร็สูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม (แปลว่า ขอประสาทพรและศานติแห่งอัลลอฮฺจงมีแด่ท่าน) ได้วะฟาต (เสียชีวิต) นั้น ก่อนท่านจะวะฟาต ท่านได้สั่งเสีย (วศียัต) ไว้ว่า ให้บรรดามุสลิมยึดมั่นในสองอย่าง เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญ หรือบรรทัดฐานแห่งชีวิตในทุกๆ เรื่อง ซึ่งทั้งสองก็คือ ...
1.)
พระมหาคัมภีร์อัลกุรฺอาน (คำพูดของอัลลอฮฺที่ทรงประทานแก่ท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลฯ ผ่านทางมลาอิกะฮ์ (บ่าวของอัลลอฮฺที่ถูกสร้างจากรัศมีหนึ่ง)
นามว่า "ญิบรีล" (หัวหน้าแห่งบรรดามลาอิกะฮ์ มีหน้าที่รับวะหฺยู (สาส์น หรือวิวรณ์) จากอัลลอฮฺไปให้แก่บรรดานบีย์ (ศาสดา หมายถึง ผู้ที่รับวิวรณ์จากอัลลอฮฺโดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องเผยแผ่ให้ใครรู้) และบรรดาร็สูล (ศาสนทูต หมายผู้ที่รับวิวรณ์จากอัลลอฮฺ และจะต้องเผยแผ่วิวรณ์นั้นทั้งหมดแก่มนุษย์ให้ได้รู้กันมากที่สุด)
เป็นภาษาอาหรับ) และ ...
2.)
อัลหะดีษ (หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า "อัสสุนนะฮ์" ซึ่งหมายถึง การรายงานสิ่งต่างๆ ที่เป็นการพาดพิงไปยังท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลฯ ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งจะครอบคลุมว่าด้วยเรื่องหลักๆ คือ คำพูด การกระทำ และการนิ่งเฉยที่แสดงถึงการยอมรับของท่านนบีย์ ศ็อลฯ ซึ่งอัลหะดีษ ก็จะมีหลายระดับความน่าเชื่อถือ โดยเรียงดังต่อไปนี้คือ 1.) ระดับมุตะวาติรฺ หมายถึง หะดีษที่มีความน่าเชื่อถือระดับขั้นสุดยอด และไม่สามารถที่สุ่มหัวโกหกเพื่อกุหะดีษประเภทนี้ได้เลย และหะดีษขั้นนี้ถือว่ามีอยู่น้อยมาก // 2.) ระดับเศาะฮี๊หฺ หมายถึง หะดีษที่มีความน่าเชื่อถือ แต่จะสถานะความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าหะดีษมุตะวาติร // 3.) ระดับหะสัน หมายถึง หะดีษที่มีความน่าเชื่อถือรองจากหะดีษเศาะฮี๊หฺ // 4.) ขั้นเฎาะอีฟ หมายถึง หะดีษที่อ่อนในการนำมาเป็นหลักฐานทางศาสนา แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่อส่งเสริมให้มีการทำดีละเว้นความชั่ว และนำมากล่าวเป็นหลักฐานเสริมเกี่ยวกับความประเสริฐของการทำความดีได้ // 5.) ระดับเฎาะอีฟ-ญิดดัน หมายถึง หะดีษระดับอ่อนมากๆ หะดีษประเภทนี้ไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นหลักฐานทางศาสนาและอื่นๆ // 6.) หะดีษเมาฎัวะอ์ หมายถึง หะดีษที่กุขึ้นมา แล้วพาดพิงถึงท่านนบีย์ ศ็อลฯ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น นบีย์ไม่เคยกล่าวเลย และไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นหลักฐานไม่ว่ากรณี หรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น)
จากทั้งสองหลักฐานที่กล่าวข้างต้นนั้น นอกจากนี้บรรดาอุละมาอ์ก็ยังได้กล่าวถึงแหล่งที่มาทางกฎหมายอิสลามเพิ่มอีกคือ
3.) อิจมาอ หมายถึง มติเอกฉันท์แห่งปวงปราชญ์อิสลามในเรื่องๆ หนึ่ง
4.) กิยาส หมายถึง หลักในการเทียบผลค่าบังคับทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม ระหว่างสิ่งที่ถูกระบุว่าห้าม หรือสั่งจากศาสนา กับสิ่งที่ศาสนาไม่ได้ระบุห้าม หรือสั่งแต่อย่างใด แต่ทว่า ผลของสิ่งที่ศาสนาไม่ได้ระบุนั้น กลับมีผลเหมือน หรือคล้ายคลึงกันกับสิ่งที่ศาสนาห้าม หรือสั่ง ดังนั้น มันจึงถูกห้าม หรือสั่งเช่นกัน เช่น สุราถูกศาสนาห้ามเพราะทำให้สติปัญญาหายไป และกัญชานั้น ศาสนาไม่ได้ระบุห้าม แต่เมื่อเสพแล้ว มันให้ผลเดียวกับการเสพสุรา คือทำให้สติปัญญาหาย ดังนั้น แม้ศาสนาไม่ได้ระบุห้าม แต่มันก็เป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามไปโดยปริยาย - วัลลอฮุอะอฺลัม
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแหล่งที่มาทางกฎหมายอิสลามที่บรรดาปวงปราญ์อิสลามนำมาใช้ในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาทางศาสนา
ทีนี้เรากลับมาที่ อัลกุรฺอานกับอัลหะดีษ ใหม่ กล่าวคือ ทั้งสองต่างก็เป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งให้เรายึดมั่นไว้ แล้วทำไมเราไม่ยึดทั้งสองหละ ทำไมต้องมีมัฑฮับนู้นมัฑฮับนี้ ต้องยึดคนนั้นคนนี้ ทำไมเราไม่อ่านอัลกุรฺอานและอัลหะดีษ แล้วเอามาปฏิบัติหละ ในเมื่อศาสนาสั่งมาอย่างนี้ ไม่ได้บอกสักอย่างว่าต้องตามมัฑฮับ ...

คำตอบก็คือ เหตุที่เกิดมัฑฮับ หรือแนวคิด หรือทัศนะต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะมัฑฮับทั้งสี่คือ มัฑฮับหะนะฟีย์, มัฑฮับมาลิกีย์, มัฑฮับชาฟิอีย์ และมัฑฮับหันบาลีย์ นั้น ก็เพราะอัลกุรฺอานและอัลหะดีษเองที่ต้องการ หรือมีเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดแนวคิดต่างๆ ที่หลากหลายที่เกิดจากการตีความ หรือวินิจฉัยตัวบท (นั๊ศฺศ์-หลักฐานทางตัวบทศาสนา) ด้วยมุมมอง และความเข้าใจที่ต่างกัน เพราะหากเราศึกษาถึงลักษณะถ้อยความของตัวบทแล้ว เราะพบว่า มันจะลักษณะสองประเภทหลัก ก็คือ
1.) ลักษณะขั้นเด็ดขาด (ก็อฏอีย์) ประเภทนี้นั้น เราไม่สามารถที่จะตีความ หรือวินิจฉัยเป็นอื่นได้เลย เพราะมันมีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เช่น ตัวบทสั่งให้มุสลิมถือศีลอด (ศิยาม) ในเดือนร็มาฎอนชัดเจน ซึ่งเราจะตีความเป็นเดือนอื่นจากรฌมาฎอนไม่ได้เด็ดขาด เป็นต้น //
2.) ลักษณะเป็นนัยยะ หรือคลุมเครือ (ซอนนีย์) ซึ่งประเภทนี้เองที่ทำให้เกิดมัฑฮับ หรือแนวคิดต่างๆ ขึ้นมากมาย เพราะการวินิจฉัยล้วนแต่ต้องใช้สติปัญญา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งให้เราใช้สติปัญญาในการพิจารณาตัวบท เพื่อค้นหาสัจธรรมแห่งอิสลามอยู่แล้ว แต่ความคิดของมนุษย์ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น ผมแห่งการวินิจฉัยก็ย่อมต่างกันด้วย และเราไม่สามารถที่จะตัดสินเด็ดขาดได้ว่า ผลการวินิจฉัยของใครถูกหรือผิด สิ่งที่เราคาดการณ์ว่าทัศนะผิดหรือถูกนั้น ก็เกิดจากการวินิจฉัยที่มาจากการใช้สติปัญญาอีกนั่นแหละ ดังนั้น ณ ที่อัลลอฮฺแล้ว ทัศนะไหนถูกก็จะได้รับผลบุญ 2 ผลบุญ และทัศนะไหนผิดก็จะได้เพียงหนึ่งผลบุญ
ค่อยมาต่อนะครับ ... ไม่ไหวแล้ว ... สมองเบรอแระ เอาพอเข้าในในพื้นฐานก่อนนะ ... ง่วง