อัสสลามุอะลัยกุม
ผมขอเสริมพอเป็นตะนอละกันนะครับ
ความหมายทางวิชาการ
หะดีษ คือ คำพูด การกระทำ การยอมรับ และคุณลักษณะ ตลอดจนชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวัสลัม)
อิบนุหะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ให้นิยามของหะดีษว่า ?ทุกๆสิ่งที่พาดพิงถึงท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวัสลัม)?
คำว่า หะดีษ สำหรับมุหัดดิษีนแล้วครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับท่านรอซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ครับ จึงมีบางท่านให้คำนิยามไว้ว่า
"คือคำพูด การกระทำ การยอมรับที่ถูกอ้างอิงถึงท่านรอซูล รวมถึงลักษณะทางจรรยาหรือลักษณะทางโครงสร้างร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการขยับเขยื้อนหรือการหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะตอนตื่นอยู่หรือฝัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเป็นรอซูล"
คำว่า ซุนนะฮ์ หรือ คอบัร หรืออะษัร นั้นก็มีความหมายเช่นเดียวกับหะดีษ ในทรรศนะของนักวิชาการหะดีษส่วนใหญ่
ดังกล่าวเพราะนักวิชาการหะดีษ(มุหัดดิษีน)มีการศึกษาเกี่ยวกับท่านรอซูลในแง่ที่ว่าท่านเป็นผู้นำแห่งมวลมนุษย์ เป็นผู้ที่นำแสงสว่างมา ฉะนั้นในทุกย่างก้าว ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องรวบรวม เล่าต่อ และศึกษา แม้ว่าเรื่องราวบางอย่างที่ถูกรายงานมานั้นจะไม่เกี่ยวกับหุกมใดๆทางบทบัญญัติก็ตาม
ซึ่งต่างกับฟุกอฮาอ์หรือนักฟิกฮ์ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับหุกมต่างๆทางศาสนา ดังนั้นพวกเขาจึงให้คำนิยามคำว่า "ซุนนะฮ์" ต่างกับมุหัดดิษีนซึ่งเป็นการมองถึงการกระทำของท่านอันจะบ่งบอกถึงหุกมใดหุกมหนึ่งในห้าหุกม...
คำว่า "ทางตรง,ทางอ้อม" ในคำนิยามที่ผมเสนอไปนั้นหมายความว่า
ทั้งคำพูด การกระทำที่เรียกว่าซุนนะฮ์ หรือหะดีษนั้นมีทั้งคำพูดของท่านรอซูลทั้งทางตรงและทางอ้อม
คำพูดทางตรง(หะกีเกาะตัน) เช่น
ท่านรอซูล กล่าวว่า "ทุกๆความดีนั้นเป็นศอดาเกาะฮ์"
ทางอ้อม(หุกมัน) เช่น
คำของศอฮาบะฮ์ที่มีเนื้อหาที่จะมาจากใครอื่นไม่ได้นอกจากท่านนบี หลักในการแยกแยะคือให้ดูว่าเนื้อหานั้นๆสามารถมาจากการใช้สติปัญญาหรือใช้การอิจติฮาดได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ถือว่าเป็นคำพูดของรอซูลทางอ้อม(มัรฟัวอ์ หุกมัน) ถ้าได้ถือว่าเป็นคำของศอฮาบะฮ์ท่านนั้นๆเท่านั้นไม่ใช่ของท่านรอซูล(เมากูฟ)
เนื้อหาที่จะเป็นมัรฟัวอ์หุกมันได้นั้นก็เช่น รายละเอียดวันกิยามะฮ์ สัญญาณวันกิยามะฮ์ ลักษณะนรกสวรรค์ ซึ่งเรื่องลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถอิจติฮาดเองได้ โดยต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ด้วย
1. สายสืบถึงศอฮาบะฮ์ท่านนั้นต้องศอเฮียฮ์
2. ต้องไม่ใช่เรื่องที่สามารถอิจติฮาดเองด้วยสติปัญญาได้
3. ศอฮาบะฮ์ท่านนั้นต้องไม่เคยไปรับถ่ายทอดเรื่องเล่าของชาวอิสราเอลมา(อิสรออีลียาต) ศอฮาบะฮ์ที่เคยได้รับเรื่องอิสรออีลียาต เช่น ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัมร์ เป็นต้น
การกระทำของท่านรอซูลโดยตรงเช่น
รายงานที่ว่า "ท่านรอซูลนั้นเมื่อท่านสุญูดจะเอาเข่าลงก่อนมือ และเมื่อท่านลุกขึ้นจะเอามือขึ้นก่อนเข่า"
ทางอ้อมเช่น
รายงานที่ว่า "ท่านอลีย์นั้นละหมาดกุซูฟโดยได้รุกัวอ์มากกว่าหนึ่งครั้ง"
การที่การกระทำของท่านอลีย์ถูกตีความว่าเป็นการกระทำของท่านรอซูลทางอ้อมนั้นก็เพราะว่า เรื่องการละหมาดในลักาณะนี้นั้นไม่สามารถจะคิดเองได้ ท่านจะต้องได้รับการถ่ายทอดมาจากท่านรอซูลเท่านั้น และรายงานนี้ก็อยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อดังที่ได้อ้างไปข้างต้น
การยอมรับของท่านรอซูลโดยตรงเช่น
รายงานที่ว่า ท่านรอซูลยอมรับการกินแย้ของบรรดาซอฮาบะฮ์
ทางอ้อมเช่น
บางท่านยกตัวอย่างว่าเป็นรายงานของท่านญาบิรที่ว่า "เราเคยหลั่งข้างนอกในขณะที่กุรอานก็ถูกประทานลงมา(เรื่อยๆ)"
หมายถึงในสมัยของท่านรอซูลนั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับตรงๆจากท่าน แต่ในเมื่อเป็นสมัยที่มีการลงกุรอานมาเรื่อยๆ หากว่าการหลั่งภายนอกเป็นหะรอมจริงแน่นอนว่าแม้ท่านรอซูลไม่เคยล่วงรู้แต่อัลกุรอานจะต้องลงมาเตือนเป็นแน่ ดังนั้นเมื่อไม่มีการลงกุรอานมาห้ามนั่นหมายถึงการถูกยอมรับนั่นเอง
ลักษณะของท่านโดยตรงเช่น
รายงานที่ว่า "ท่านรอซูลนั้นไม่ได้สูงฉะลู่แต่ก็มิได้เตี้ยม่อต้อ" เป็นต้น
ทางอ้อมเช่น
รายงานที่ว่า "ท่านอบูบักรนำท่านอัลหะซันมาขี่ที่คอแล้วพูดว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ช่างเหมือนท่านนบีแต่ไม่เหมือนท่านอลีย์ ท่านอลีย์ได้ฟังก็ยิ้ม" เป็นต้น
รายงานดังกล่าวทำให้เรารู้ว่าลักษณะโครงสร้างของท่านรอซูลนั้นเหมือนท่านอัลหะซันลูกชายท่านอลีย์ โดยไม่ได้เป็นการบรรยายถึงท่านรอซูลทางตรง แต่เป็นทางอ้อม ดังนั้นเมื่อมีชายคนหนึ่งมาหาท่านอิบนุ ซีรีน โดยบอกกับท่านว่าเขาได้ฝันเห็นท่านรอซูล ท่านอิบนุ ซีรีนจึงให้เขาบรรยายลักษณะท่าน โดยชายคนนั้นบอกว่า เหมือนกับท่านอัลหะซัน ท่านอิบนุ ซีรีนจึงตอบว่า ท่านได้เห็นท่านนบีจริง
ลักษณะจรรยาของท่านโดยตรงเช่น
รายงานที่ว่า "ท่านรอซูลนั้นเป็นคนขี้อายยิ่งกว่าสาวบริสุทธิ์"
ทางอ้อมเช่น
รายงานที่ว่าศอฮาบะฮ์บางคนกล่าวว่า "ฉันไม่เคยเห็นผู้ใดมีลักษณะบุคลิกคล้ายท่านรอซูลมากไปกว่า อิบนุ อุมมิอับด์" ท่านอิบนุ อุมมิ อับด์ นั้นหมายถึงท่านอิบนุ มัสอูด รอฎิยัลลอฮุอันฮุ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของหะดีษ หรือซุนนะฮ์ หรือคอบัร หรืออะษัรที่มีความเดียวกันทั้งหมดในทรรศนะนักวิชาการหะดีษส่วนใหญ่
2. อะษัร أثر ความหมายเดิมคือ ร่องรอย เครื่องหมาย หรือสิ่งที่หลงเหลือ
· นักปราชญ์วิชาหะดีษให้ความหมายอะษัรเช่นเดียวกับคำว่าหะดีษ
· นักปราชญ์บางท่านให้ความหมายว่า คำพูดหรือการกระทำของเศาะหาบะฮฺและตาบิอีน
พวกเขาคือนักฟิกฮ์แห่งคุรอซาน โดยจะเรียกคอบัรโดยหมายถึงสิ่งที่เกี่ยวกับท่านรอซูล(มัรฟัวอ์) แต่ถ้าบอกอะษัรนั่นหมายถึงคำของศอฮาบะฮ์(เมากูฟ)หรือตาบิอีน(มักตัวอ์)
ความแตกต่างระหว่างอัลกุรอานกับหะดีษ
7. ไม่อนุญาตให้รายงานอัลกุรอานด้วยความหมาย แต่หะดีษสามารถรายงานด้วยความหมายได้ตามเงื่อนไขที่มุหัดดิษีน(ปราชญ์หะดีษ)วางไว้
อาทิเช่น
1.ต้องเป็นผู้มีความรู้ในภาษาอาหรับ
2.ต้องรู้ถึงรายละเอียดความแตกต่างของการใช้คำที่จะใช้ในการสื่อความหมายว่าจะสื่อไปทางไหน
3.ตัวบทหะดีษดังกล่าวต้องไม่เป็นญะวามิอุลกะลิมของท่านรอซูล คือ ประโยคที่ท่านรอซูลพูดเพียงไม่กี่คำแต่มีความหมายมากมายมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้กับท่านเป็นการเฉพาะ ดังที่ท่านเคยพูดว่า ".....และฉันได้รับ ญะวามิอุลกะลิม......."
4.ต้องไม่ใช่ถ้อยคำที่ถูกใช้ในการทำอิบาดะฮ์ (มุตะอับบัด บิติลาวะติฮี) เช่น คำตะชะฮุด เป็นต้น
5.ผู้รายงานต้องไม่รู้ตัวบทที่ถูกต้อง หมายถึง หากรู้ว่าคำจริงๆเป็นเช่นไรต้องรายงานตามคำจริง ไม่อนุญาตให้รายงานโดยความหมาย
เป็นต้น
แค่นี้ก่อนละกันครับ
วัสสลาม