salam
الحمدلله وأفضل الصلاة وأنتم السّليم على رسول الله وعلى آله وصحبه أجمعِيْن . وبعد ؛การทำฟันทุกประเภท เช่น อุดฟัน ถอนฟัน นั้นถ้าเลี่ยงได้ในช่วงเวลาของการถือศีลอดจะดีมาก กล่าวคือ ให้เลือกเวลาละศีลอดแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าคลินิกทำฟันยังคงเปิดให้บริการอยู่ หากหมอนัดก็ควรแจ้งกำหนดเวลานัดหลังการละศีลอดและละหมาดมัฆริบแล้ว ส่วนถ้าเลี่ยงไม่ได้เพราะจำเป็นต้องทำฟันโดยไม่อาจรีรอได้อีกเกรงว่าจะมีอาการปวดฟันกลับมาอีก (กรณีปวดมาก ๆ และกำลังปวดอยู่ เข้าใจว่าหมอจะไม่ถอนฟันให้ในขณะนั้นเพราะอาจมีปัญหากระทบกับเส้นประสาทที่รากฟัน) ก็สามารถทำฟันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของหมอฟันว่ามีขั้นตอนอย่างไร หากมีการฉีดยาชาก่อนถอนฟันก็ถือว่าไม่ทำให้เสียศีลอดแต่อย่างใด โดยถือตามทัศนะของนักวิชาการที่ระบุว่าการฉีดยาดังกล่าวเป็นยาชามิใช่น้ำเกลือ (กลูโคส) และถูกฉีดเข้าเส้นประสาทที่รากฟันซึ่งไม่ใช่ทวารเปิดตามธรรมชาติและไม่ได้เข้าสู่กระเพาะอาหารภายใน (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการฉีดยาเพิ่มเติมในฟิกฮุซซิยาม ; ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ หน้า 82-86)
ส่วนถ้ามีการใช้ตัวยาหรือสมุนไพรบางชนิดซึ่งอาจจะมีรสหรือกลิ่นอมไว้เหนือฟันกรามโดยไม่มีสิ่งใดหลุดเข้าสู่ภายในลำคอ (เลยกระเดือกเข้าไป) ถือว่าไม่เสียศีลอด ถึงแม้ว่าจะมีรสตกค้างในลำคอของผู้ถือศีลอดก็ตาม (ดูฟะตาวา ชัรอียะฮฺ ว่า บุฮุซ อิสลามียะฮฺ ; ชัยค์ ฮะซะนัยน์ มุฮำหมัด มัคลู๊ฟ เล่มที่ 1/275) ประเด็นสำคัญก็คือ ในระหว่างทำฟันจะต้องไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดหลุดเลยเข้าไปส่วนภายในของปาก ซึ่งคุณอุมัรก็ลองคิดดูเอาเถิดว่า จะต้องบ้วนน้ำลายที่ปนเลือดหรือเศษอาหารที่หมอใช้สายฉีดทำความสะอาดแล้วปนอยู่กับน้ำละลายอยู่ตลอดเวลานั้น จะทำได้สะดวกหรือไม่ ยิ่งคุณหมอมิใช่ทันตแพทย์มุสลิมด้วยแล้ว คุณหมอแกจะช่วยระวังให้เราหรือเปล่าในประเด็นสำคัญเหล่านี้
ดังนั้นถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงเลื่อนนัดหมอให้ไปทำฟันหลังละศีลอดได้นั่นแหล่ะแจ๋วที่สุด แต่ถ้าไม่ได้และจำเป็นต้องทำเลยเพราะจะปวดฟันหนัก อีกทั้งลำบากที่จะระวังทั้งคนไข้และหมอ ก็ละศีลอดเสีย แล้วไปกอฎอ (ถือศีลอดใช้) ในเวลาอื่นนอกรอมาฎอนก็แล้วกัน
والله أعلم
อ้างอิงจากเว็บ อ.อาลี เสือสมิง