มัสยิดครบวงจรที่เชียงราย
เพราะมัสยิดมิได้เป็นเพียงสถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบศาสนกิจเท่านั้น หากแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจต่างๆของชุมชน มัสยิดเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียน เป็นสภาของหมู่บ้าน เป็นสภาของชุมชน
มัสยิดเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาที่เข้มแข็ง ดังนั้นแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยจึงเห็นความสำคัญในการที่จะสร้างให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ในนามของโครงการมัสยิดครบวงจร และในส่วนของภาคเหนือ มัสยิดดารุลสลาม แม่สลองนอก กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งมัสยิดที่เข้าร่วมในโครงการนี้
โครงการมัสยิดครบวงจรนี้มีกำรดำเนินการจัดภูมิทัศน์ให้มัสยิดมีความสวยงามเพื่อความสะอาดและเรียบร้อยตามหลักการอิสลาม จัดบริเวณพื้นที่มัสยิดปลอดบุหรี่ นำเสนอคุตบะห์แนวทางสุขภาวะตามหลักสุขภาวะรวมทั้งหลักการของศาสาเพื่อนให้คณะกรรมการและสัปปุรุษมีสุขภาพดี
ซึ่งปรากฎว่าหลังจากดำเนินการไปแล้ว อาคารสถานที่บริเวณมัสยิดก็เปลี่ยนเป็นสะอาดเป็นระเบียบ ภูมิทัศน์สง่างามเกิดกระแสในพื้นที่ก่อให้เกิดการเอาอย่างที่ดีจากมัสยิดต่างๆ และประชาชนในพื้นที่เองก็เกิดจิตสำนึกและช่วยกันรณรงค์รักษาความสะอาดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
แต่ทางมัสยิดเองก็เห็นความสำคัญที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืนของโครงการ โดยอิหม่าม คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษได้ร่วมกันรณรงค์และรักษามาตรฐานความสะอาดภูมิทัศน์ของมัสยิดโดยจัดแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีการติดป้ายรณรงค์ถาวรห้ามสูบบุหรี่ในเขตมัสยิด พร้อมกับติด พรบ.ว่าด้วยบทลงโทษการสูบบุหรี่ในเขตศาสนสถาน และยังมีการอบรมในเรื่องของสุขภาวะ โทษภัยของบุหรี่ ยาเสพติด สิ่งมึนเมาในการแสดงธรรมเทศนา(คุตบะห์)ในวันศุกร์อย่างต่อเนื่อง
ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความเห็นว่าโครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์หลักอันหนึ่งของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยที่ต้องการพัฒนามัสยิดในชุมชนต่างๆ ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาวะ แต่กิจกรรมตามกำหนดการเรื่อง “การบรรยายศาสนธรรม” ควรระบุให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นและให้สอดคล้องกับเป้าหมายของมัสยิดชุมชนครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำอย่างไรที่จะเป็นการช่วยกระตุ้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนให้เห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักเพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ความรับผิดชอบของชุมชนอย่างแท้จริง