ท่านอิมาม อิบนุ อะฏออิลและฮ์ กล่าวฮิกัมความว่า
تَمَكُّنُ حَلاََوَةِ الْهَوَى مِنَ الْقَلْبِ هُوَ الْدَاءُ الْعُضَالُ
" ความหวานของอารมณ์ใฝ่ต่ำที่อยู่เหนือจิตใจนั้น คือโรคที่ยากแก่การบำบัด "
ท่านอิบนุอิบาด อธิบายว่า " หัวใจคือที่อยู่ของอิมาน มะริฟัต และการยาเกน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ ยาบำบัดโรคต่างๆ จากอารมณ์ใฝ่ต่ำ ดังนั้น เมื่อโรคมั่นคงอยู่ในหัวใจ ก็คงไม่มีสถานที่ใด ๆเหลืออยู่สำหรับยาบำบัด ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากแก่การเยียวยารักษา " ดู หนังสือ อธิบาย อัลฮิกัม เล่ม 2 หน้า 36
สิ่งที่ทำให้มนุษย์เลือกปฏิบัติในการดำเนินชีวิต มีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน
ปัจจัยแรก สติปัญญาที่ใช้ในการรับรู้
ปัจจัยที่สอง อารมณ์ความรู้สึกที่ดีและไม่ดี
ปัจจัยแรกจะอ่อนแอกว่าปัจจัยที่สอง
ผลของสติปัญญานั้น จะถูกจำกัดและจะพิจารณาสิ่งที่เป็นสัจจะธรรมและอธรรมหรือพิจารณาในเชิงวิชาการว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดโดยที่ไม่มากไปกว่านั้นแล้ว สำหรับผลของอารมณ์ความรู้สึก มันจะสำแดงให้เห็นถึงความปรารถนาต้องการและยอมสยบให้กับสิ่งที่มากระตุ้นหรือบันดาลความรู้สึกภายในจิตใจ
สิ่งที่มาผลักดันความรู้สึกนั้น บางครั้งเป็นแรงบันดาลให้เกิดความรักความชอบ เขาเรียกว่าแรงผลักดัน หรือจะเป็นแรงบันดาลที่ให้เกิดความกลัว ซึ่งเขาเรียกว่าความรู้สึกยับยั้ง หรือจะเป็นแรงบันดาลให้เกิดความชื่นชมและให้เกียตริ ซึ่งเขาเรียกว่าความรู้สึกในการสรรเสริญ
ดังนั้น แรงบันดาลใจทั้งสามนี้ คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และมีบทบาททุกๆ ในทุกๆ สภาวะกาลเมื่ออันหนึ่งอันใดจากทั้งสามนั้นได้เกิดการคัดค้านหรือเป็นปฏิปักษ์กับสติปัญญา เช่น ท่านลองพิจารณาถึงความสับสนวุ่นวายภายในตลาด มีผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยมากมายที่เดินไปมา ดังนั้น ปัจจัยหลักที่เป็นตัวผลักดันและทำให้พวกเขามุ่งทำการจับจ่ายใช้สอย ก็คือแรงบันดาลใจทั้งสามนี้ ซึ่งบางครั้งแรงบันดาลใจดังกล่าวอาจจะสอดคล้องกับสติปัญญา แต่บางครั้งมันก็ขัดแย้งกับสติปัญญา เพราะฉะนั้น การตอบรับหรือตอบสนองตามสติปัญญานั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์นอกจากด้วยการสนับสนุนจากแรงบันดาลใจทั้งสองที่ได้กล่าวมาแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยจึงต้องการไปยังการสั่งสอน อบรมบ่มนิสัยและสังคมต่างๆ จะเจริญเติบโตได้ก็ด้วยปัจจัยต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากการอบรมบ่มนิสัย เนื่องจากเป้าหมายของการอบรมบ่มนิสัยก็คือการทำให้แรงบันดาลใจคล้อยตามสติปัญญานั่นเอง
ท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺได้ให้ข้อคิดแก่เราในฮิกมะฮฺที่สั้น ๆ นี้ว่า โรคที่ยากแก่การบำบัดนั้นก็คือการที่แรงบันดาลใจทั้งสามนั้น คล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำและฝังรากอยู่ในหัวใจอันเป็นสถานที่ซ้อนความรู้สึกโดยหันเหออกจากกรอบและกฏของสติปัญญา เนื่องจากตัวสนับสนุนที่ผลักดันให้มนุษย์มีการตอบรับกับสติปัญญานั้น คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความปราถนา ความกลัวและความรู้สึกปิติยินดี ฉะนั้น เมื่ออารมณ์ใฝ่ต่ำได้ครอบงำและปลูกฝังแรงบันดาลใจเหล่านี้ให้มีอยู่ในหัวใจ แน่นอนว่าสติปัญญาก็คงต้องอันตธานจากไปในความว่างเปล่า เสียงแห่งการเรียกร้องเชิญชวนที่ป่าวประกาศออกไปก็คงไม่มีใครได้ยินและรับฟัง
ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่มาสนับสนุนคำกล่าวของท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺก็คือ การที่ท่านได้พิจารณาถึงสภาพส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ทำการฝ่าฝืน ทำชั่วและออกจากแนวทางของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)นั้น พวกเขาก็มั่นใจว่าสิ่งที่เราได้เรียกร้องเชิญชวนนั้นถูกต้อง เป็นความจริงและพวกเขาไม่ปฏิเสธกับสิ่งที่ท่านได้อธิบายให้กับพวกเขา แต่พวกเขาได้ตกอยู่ภายใต้ความรู้สึกที่ครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำ พวกเขาจึงเสมือนกับผู้ที่ได้ครอบครองรถคันหนึ่งแต่ขับไม่เป็น
ดังนั้น จะด้วยวิธีใดหรือ ? ที่มุสลิมจะสามารถป้องกันตัวเองออกจากโรคร้ายนี้ได้ ? ตอบ วิธีการดังกล่าวก็คือ หนึ่ง ต้องมีความรู้ และสอง ปฏิบัติจากความรู้นั้น
สำหรับประการที่ 1 คือ มีความรู้ หมายถึง ท่านต้องรู้ว่าอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ได้จัดเตรียมไว้ให้กับมนุษย์จากข้อเท็จจริงหลัก ๆสองประการด้วยกัน ก็คือ สติปัญญาและหัวใจ สำหรับสติปัญญานั้น หน้าของมันก็คือการรับรู้ข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ และหน้าที่ของหัวใจนั้นคือเดินตามคำชี้นำของสติปัญญา ดังนั้นหัวใจที่รักในความดีที่สติปัญญารับรองนั้น ย่อมเป็นความดี และการที่หัวใจรังเกียจความชั่วที่สติปัญญารับรองว่าชั่วนั้น ก็ย่อมเป็นความชั่ว ฉะนั้นหากไม่ใช้สติปัญญาแล้ว แน่นอนเหลือเกินว่าจิตใจและอารมณ์ใฝ่ต่ำก็จะผสมผสานในทุก ๆจังหวะการเต้นของหัวใจและความรู้สึกภายในของมนุษย์ ไม่ว่าเบื้องบนหรือเบื้องล่างก็จะพบกับความชั่วร้ายที่แผ่ความเสียหายต่อทุก ๆสิ่ง ตามที่อัลเลาะฮฺได้ทรงยืนยันเอาไว้ในอัลกุรอาน ความว่า
( ولو إتبع الحق أهواءهم لفسدت السموات والأرض )
ความว่า " และหากสัจจะธรรมต้องคล้อยตามอารมณ์ใคร่ของพวกเขาแล้วไซร้ แน่นอนที่สุด ฟากฟ้าและแผ่นดิน รวมทั้งสองที่อยู่ในเหล่านั้นก็จะพินาจสิ้น " อัล-มุอฺมินูน 71
มนุษย์ที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงบัญชาใช้เกี่ยวกับเรื่องของศาสนานั้น ถูกประกอบขึ้น จากสองประการด้วยกัน คือสติปัญญาที่เป็นบ่อเกิดแห่งการรับรู้ และหัวใจซึ่งเป็นสถานที่ซ่อนความรู้สึกและแรงบันดาลใจเอาไว้ ดังนั้น อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ได้ทรงบัญชาใช้ในการวางบทบัญญัติกับมนุษย์ ที่มีต่อสติปัญญาและหัวใจของเขาพร้อมๆ กัน โดยที่พระองค์ทรงบัญชาใช้กับสติปัญญาให้มีการรับรู้และไตร่ตรอง และทรงบัญชาหัวใจให้มีความชอบและทำตามสติปัญญา
มีโองการต่างๆ มากมายที่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงใช้ให้มนุษย์หวนกลับไปยังสติปัญญาของเขาเพื่อทำการพิจารณาและรับรู้ว่า จักรวาลทั้งหลายนี้ชี้ถึงการมีผู้สร้าง ชี้ถึงความเอกะและความปราณีของพระองค์ โดยให้มีการปลูกฝังความศรัทธาให้เป็นความรู้สึกที่มีอยู่ในหัวใจ หลังจากที่ความรู้สึกนั้นได้เจริญงอกงามในสติปัญญาแล้วอย่างแท้จริง
ท่านไม่ลองพิจารณาคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
( والذين أمنوا أشد حبا لله )
ความว่า " และบรรดาผู้ศรัทธานั้น มีความรักยิ่งต่ออัลเลาะฮฺ "
พระองค์ทรงตรัสอีกว่า
( ولكن الله حبّب إليكم الإيمان وزينه في قلوبكم وكره إليكم الكفر والفسوق والعصيان )
ความว่า " แต่ทว่า อัลเลาะฮฺทรงดลบันดาลในพวกเจ้ามีความรักในศรัทธา และทรงประดับมันไว้ในหัวใจของพวกเจ้าและพระองค์ทรงดลบันดาลให้พวกเจ้าเกียจชังความเนรคุณ ความพาล และความทรยศ " อัลหุญะรอต 7
พระองค์ทรงตรัสอีกว่า
قل إن كان أباؤكم وأبناءكم وإخوانكم وأزواجكم وعشيرتكم وأموال ن إقترفتموها وتجارة تخشون كسادها ومساكن ترضونها أحب إليكم من الله ورسوله وجهاد فى سبيله فتربصوا حتى يأتي الله بأمره والله لايهدى القوم الفاسقين
ความว่า " จงประกาศเถิด หากบรรพบุรุษของพวกเจ้า ลูกหลานของพวกเจ้า พี่น้องของพวกเจ้า คู่ครองของพวกเจ้า วงศ์วานของพวกเจ้า ทรัพย์สินของพวกเจ้าที่ได้ขวนขวายไว้ การค้าขายที่พวกเจ้ากลัวจะล่มจม และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจมัน ทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่พวกเจ้ารักมันยิ่งกว่าอัลเลาะฮฺ และศาสนทูตของพระองค์และยิ่งกว่าการสู้ศึกในทางของพระองค์ ดังนั้นพวกเจ้าก็จงรอไปก่อนเถิด จนกว่าอัลเลาะฮฺจะส่งการงาน(การลงโทษ)ของพระองค์มา(ประสบแก่พวกเจ้า) และอัลเลาะฮฺย่อมไม่ทรงชี้นำแก่กลุ่มชนที่บิดพริ้วแน่นอน " อัตเตาบะฮฺ 24
ดังนั้น ความรู้จึงเป็นประการแรกที่จะป้องกันตัวเราจากโรคร้ายนี้
สำหรับประการที่สองก็คือ การนำมาปฏิบัติ วิธีก็คือ หลังจากที่สติปัญญามีอิหม่านต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)แล้ว ท่านต้องเชื่อมเนี๊ยะมัตความสุขต่าง ๆที่ท่านได้รับมานั้นให้ผูกพันธ์อยู่กับอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ผู้ทรงประทานความโปรดปรานสิ่งเหล่านั้นให้กับท่าน (หมายความว่า ท่านต้องรำลึกอยู่เสมอว่าความสุขที่ท่านได้รับนั้น อัลเลาะฮฺคือผู้ทรงประทานให้ ) ดังนี้แหละ คือความหมายของการที่บ่าวได้รำลึกถึงพระผู้อภิบาลของเขา และเป็นปัจจัยอันสูงส่งที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความรู้สึกรักอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ภายในจิตใจ สิ่งดังกล่าวนั้นจึงเป็นแนวทางป้องกันโรคร้ายที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺได้กล่าวเอาไว้
วัลลอฮุอะลัม