ท่านอิมาม อิบนุ อะฏออิลและฮ์ กล่าวฮิกัมความว่า
تَشَوُّفُكَ إِلىَ مَا بَطَنَ فِيْكَ مِنَ الْعُيُوْبِ ، خَيْرٌ مِنْ تَشَوُّفِكَ إِلىَ مَا حُجِبَ عَنْكَ مِنَ الْغُيُوْبِ
"การมองไปยังสิ่งที่อยู่ภายในที่มาจากบรรดาข้อตำหนิในตัวของท่าน ย่อมดีกว่า การที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ถูกปิดกั้นกับตัวท่านจากสิ่งที่เร้นลับ"
ท่านชัยคฺ อะลีย์ อัลบัยยูมีย์ อธิบายว่า "การที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ซ้อนเร้นที่อยู่ในตัวของท่าน จากบรรดาข้อบกพร่อง ในเรื่องของความบริสุทธิ์ใจ หลักปฏิบัติและจรรยามารยาทต่าง ๆ ย่อมดีกว่าการที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ถูกปิกกั้นกับตัวท่านจากสิ่งที่เร้นลับ ของการกำหนดสภาวะของอัลเลาะฮฺ บรรดาวิทยาการที่เร้นลับและบรรดาสิ่งปาฏิหารย์ผิดธรรมชาติ(กะรอมัต) " หนังสือ อัลฮิดายะฮ์ ลิลอันซาน อิลัลกะรีม อัลมันนาน หน้า22
ชัยคุลอิสลาม อับดุลเลาะฮฺ อัชชัรกอวีย์ อธิบายว่า "โอ้บรรดาผู้ปราถนาเดินทางไปสู่อัลเลาะฮฺ การที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในตัวของท่าน จากบรรดาข้อบกพร่องของจิตใจ เช่นการโอ้อวด จรรยามารยาทที่เลว การประจบประแจง ชอบเป็นหัวหน้าผู้อื่นและหลงในตำแหน่ง ย่อมดีกว่าการที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ถูกปิดกั้นกับท่าน จากสิ่งที่เร้นลับของการกำหนดสภาวะของอัลเลาะฮฺ ความเร้นลับของวิทยาการ ความเร้นลับแห่งพระเจ้า ความรู้โดยตรงจากอัลเลาะฮฺและบรรดาสิ่งปาฏิหารณ์ที่เกิดขึ้นผิดธรรมชาติ(กะรอมัต)" อธิบายหนังสือ อัลฮิกัม หน้า29
ชัยฏอนนั้นมีสื่อมากมายที่พยายามจะเข้าไปแทรกแซงในบรรดาหัวใจและพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพของพวกเขา อันที่จะทำให้ลุ่มหลงและห่างไกลจากทางนำ และวิธีการส่วนมากของชัยฏอนนั้น ก็คือ มันพยายามที่จะผลักดันให้บรรดามนุษย์กระทำสิ่งที่ต้องห้ามและทำให้ห่างไกลจากหนทางที่ถูกต้อง
และชัยฏอนก็มีหนทางที่จะพยายามแทรกแซงเข้าไปยังผู้ที่เคร่งครัดและทุ่มเทความอุตสาหะด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลเลาะฮฺ ด้วยวิธีที่มันคิดว่าเหมาะสมสำหรับพวกเขา โดยที่มันไม่ต้องการให้เหมือนกับพวกแรกที่หลุ่มหลงและห่างไกลจากทางนำ แต่มันพยายามวางกับดักต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่รู้ถึงอันตรายของมัน (เช่นกระทำอิบาดะฮฺจนละทิ้งสิทธิอันจำเป็นที่มีต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลและเลี้ยงดู - ผู้แปล) จนในที่สุด พวกเขาก็มีสภาพเช่นเดียวกับบรรดาผู้ลุ่มหลงจากพวกแรก
และชัยฏอนก็มีสื่อและวิธีการอื่น ๆ อีกที่จะเข้าไปยังผู้ที่มีตำแหน่งของครูผู้สั่งสอน ผู้ตักเตือนหรือผู้ที่อัลเลาะฮฺให้เขาอยู่ในฐานะของผู้เรียกร้องให้ทำความดีและหักห้ามความชั่ว และส่วนมากจากวิธีการของชัยฏอนที่มีต่อชนกลุ่มที่สามนี้ ก็คือ มันพยายามหันเหความสนใจไปยังสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ที่มาจากฐานะและตำแหน่งที่มีความสำคัญในหมู่ผู้คนทั้งหลาย และมันก็พยายามสานทอสิ่งดังกล่าวให้เป็นมูลเหตุอันมากมายที่เกิดขึ้น โดยผลักดันสิ่งเหล่านั้นให้ไปอยู่ในจิตใจของพวกเขา ส่วนหนึ่งจากมูลเหตุที่สำคัญและอันตรายที่สุดก็คือ การที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถต่างๆ ที่สามารถนำมาเป็นข้อยืนยันชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีตำแหน่งและมีความใกล้ชิดกับอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ต่อหน้าบรรดาสานุศิษย์และผู้คนทั้งหลาย เช่นเขาอ้างว่าเขามีกะรอมัต สามารถทำให้เกิดสิ่งที่อัศจรรย์ผิดแปลกจากธรรมชาติได้ด้วยสองมือของเขา
บางครั้งพวกเขาคิดว่าสิ่งดังกล่าวนี้ คือ หนทางเดียวที่สามารถโน้มน้าวและชี้นำบรรดาผู้หลงทางได้ เนื่องจากชัยฏอนทำให้พวกเขาจินตนาการไปว่า การมีกะรอมัตจากครูผู้ชี้นำนั้น คือสิ่งที่สามารถปลูกฝังความไว้วางใจให้อยู่ในจิตใจของบรรดาศานุศิษย์ได้ และสามารถเพิ่มความผูกพันธ์น้อมตามมายังพวกเขา และเมื่อพวกเขาได้ทำการอวดอ้างในรูปแบบที่พวกเขาได้รับนี้ พวกเขาก็จะคิดว่า มาตราวัดที่พวกเขาจะมีความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) มีระดับถึงขั้นอาริฟบิลและฮฺและเป็นผู้ผูกพันธฺอยู่กับพระเจ้านั้น คือต้องได้รับกะรอมัตจากอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ทั้งที่ส่วนมาก พวกเขาก็เคร่งครัดในการอะมัลอิบาดะฮฺและทำการซิกิรต่างๆ มากมายโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสนองคำสั่งใช้ของอัลเลาะฮฺหรือเพราะความเป็นบ่าวของพระองค์ก็หาไม่ แต่พวกเขาทำไปเพื่อให้บรรลุถึงขั้นมีญานวิสัยและมีกะรอมัต ดังนั้น ถ้าหากพวกเขายังเพียรปฏิบัติสิ่งดังกล่าวโดยไม่สามารถบรรลุสิ่งที่เขาต้องการได้แล้ว แน่นอน พวกเขาก็จะคิดว่า พวกเขายังไม่ถึงขั้นอาริฟบิลและฮฺอย่างแท้จริง
พวกท่านทั้งหลายพึงทราบเถิดว่า รูปแบบที่ขัดกับมาตราฐานและทางนำของอิสลามนั้น มันเป็นเลห์กลและเป็นการสร้างความเคลือบแคลงของซัยฏอนที่อันตรายที่สุด แท้จริงบรรดาคำบัญชาใช้ของอัลเลาะฮฺให้เราทำการฏออัตภักดี ทำการซิกิรและการละเลิกสิ่งต้องห้ามทั้งหลายนั้น ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถรู้สิ่งเร้นลับหรือทำให้ก้อนกรวดที่อยู่ในกำมือกลายเป็นน้ำตาล แต่ทว่าเป้าหมายที่แท้จริงนั้นก็คือ การขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์จากความเสียหายและโรคต่างๆ ที่ทำให้บ่าวห่างไกลจากอัลเลาะฮฺ เช่นโรคหยิ่งยะโส ลุ่มหลงตัวเอง อิจฉาริษยา มีความละโมบต่อดุนยา ชอบเป็นผู้นำและชอบความโด่งดัง เป็นต้น
ท่านชัยคฺ ซัรรูกกล่าวว่า "หน้าที่ของนัฟซูนั้น จะทำการละเลยต่อข้อตำหนิต่างๆ และชอบแสวงหาสิ่งเร้นลับ แต่ที่ถูกต้องนั้นตรงกันข้ามจากสิ่งดังกล่าว อันเนื่องจาก 3 แนวทางด้วยกัน
หนึ่ง การให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อบกพร่อง(ของตัวเองนั้น)เป็นส่วนหนึ่งจากเรื่องมารยาท(ที่บ่าวพึงมีต่ออัลเลาะฮฺ)และการแสวงหาสิ่งเร้นลับนั้น บางครั้งจะนำไปสู่ความเสียหาย
สอง การให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อบกพร่อง จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ และการแสวงหาสิ่งเร้นลับ บางครั้งจะนำไปสู่ความลุ่มหลง
สาม การให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อบกพร่อง เป็นการดำรงค์ไว้ซึ่งสิทธิ(ความเป็นบ่าว)ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และการแสวงหาสิ่งเร้นลับ จะทำให้หายไปกับสิทธิความเป็นบ่าว ดู อัลฮิกัม อัลอะฏออียะฮฺ หน้า54
ดังนั้นบรรดาอุลามาอฺตะเซาวุฟที่ยึดมั่นในกิตาบุลเลาะฮฺและซุนนะฮ์ร่อซูลลุลเลาะฮฺ เช่น อิหม่ามญุนัยดฺ อัลบุฆฺดาดีย์ , อิหม่ามอัลมุฮาซิบีย์ , และอิหม่ามอัลกุชัยรีย์นั้น พวกเขาได้ตักเตือนเราให้ทำการอ่านอัลกุรอ่านให้มาก ๆ อ่านวิรีด(บทดุอาอฺ)ต่างๆ ในยามเช้าและยามเย็น ทำสิ่งสุนัตหลังฟัรดู และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เตือนให้เราระวังจากการลุ่มหลงกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยผิดแปลกจากธรรมชาติ(เช่นกะรอมัต) และหยุดการแสวงหาและให้ความสำคัญกับมัน โดยที่พวกเขาตอกย้ำว่า แท้จริงการดำรงมั่นต่อคำสั่งใช้ต่าง ๆ ของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)และการภักดีต่อพระองค์นั้น คือกะรอมัตอย่างแท้จริง
ท่านชัยคฺ อัลดุลเลาะฮฺ อัชชัรกอวีย์ กล่าวว่า"ด้วยเหตุนี้ บรรดานักปราชน์ตะเซาวุฟจึงกล่าวว่า
كُنْ طَالِبَ الإسْتِقاَمَةَ وَلا تَكُنْ طَالِبَ الْكَرَامَة َ
"ท่านจงเป็นผู้แสวงหาการดำรงมั่น(ในสิทธิของอัลเลาะฮฺ)และท่านอย่าเป็นผู้แสวงหากะรอมัต" อธิบายหนังสือ อัลฮิกัม หน้า29
โอ้ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่ถูกบัญชาใช้แก่เรานั้น ก็คือให้เราอาศัยยาบำบัดรักษา โดยให้สนใจการบำบัดบรรดาข้อบกพร่องที่ซ้อนเร้นอีกทั้งทับถมทวีคูณอยู่ในหัวใจของเรา แต่ไม่ใช่ให้เราสนใจจากสิ่งที่พระองค์จะทรงเปิด สิ่งเร้นลับที่พระองค์ทรงปกปิดมันไว้ และนี้ก็คือความหมายที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺได้กล่าวไว้ว่า "การมองไปยังสิ่งที่อยู่ภายในที่มาจากบรรดาข้อตำหนิในตัวของท่าน ย่อมดีกว่า การที่ท่านมองไปยังสิ่งที่ถูกปิดกั้นกับท่านจากสิ่งที่เร้นลับ"
แท้จริงอัลเลาะฮฺก็ทรงตรัสเอาไว้หลายโองที่เกี่ยวกับการชำระมลทิลที่อยู่ภายในของเรา ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า
قََدْ أَفْلَحَ مَنْ تـَزَكَّى وَذَكَرَ إسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى
" แน่แท้ผู้ชำระมลทิลตนเอง ย่อมประสบความสมหวัง และเขาได้กล่าวรำลึกพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเขา แล้วเขาก็ทำการละหมาด" อัล-อะลา 14
قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَكَّاهَا وَقَدْ خَابَ مَنْ دَسَّاهَا
" แน่แท้ผู้ชำระจิตใจจนสะอาด เขาย่อมประสบความสมหวัง และผู้ทำความหมกหมมแก่มัน(จิตที่ใฝ่ต่ำ)เขาย่อมขาดทุน" อัชชัมสฺ 9-10
فَقُلْ هَلْ لَكَ إِلَى أَنْ تَزَكَّى * وَأَهْدِيْكَ إِلَى رَبِّكَ فَتَخْشَى
"และเจ้าจงพูดเถิดว่า " ท่านปราถนาเปลื้องมลทิลตัวเองไหม? " และข้าจะชี้นำเจ้าไปยังองค์พระผู้อภิบาลของท่าน และท่านก็จะได้เกรงกลัวต่อพรระองค์"
จึงมีคำถามขึ้นว่า การเปลื้องมลทินนั้นคือการที่เขาได้รับกะรอมัตหรือไม่? คำตอบก็คือ การมีกะรอมัตไม่ไช่เป็นการเปลื้องมลทินเสมอไป และบรรดาการฏออัต การสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮฺนั้นก็ไม่ได้ถูกวางบทบัญญัติไว้เพื่อการนี้(คือการมีกะรอมัต) แต่ความจริงแล้ว การฏออัตที่สร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮฺนั้นถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้บ่าวนำมามันมาเยียวยารักษาโรคของหัวใจที่อัลเลาะฮฺทรงเรียกมันว่า ( باطن الإثم ) "บาปภายใน " เพราะฉะนั้น หากเขาป้องกันโรคต่างๆ เหล่านี้หรือสามารถพิชิตมันได้แล้ว เขาก็จงรับข่าวดีเถิดว่า เขาได้บรรลุถึงขั้นผู้สัจจริงแล้ว
ท่านอิบนิอิบาด กล่าวว่า " รายงานจากอิบนุวะฮฺบ บุตร มุนับบิฮฺ (ร.ฏ.)ว่า แท้จริง มีบุรุษท่านหนึ่งจากบนีอิสรออีลได้ทำการถือศีลอดถึง 70 ปี ซึ่งในทุกๆ ปีนั้นจะงดถือศีลอด 6 วัน จากนั้นเขาได้วอนขอต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ให้เขาได้เห็นบรรดาชัยฏอน ว่าพวกมันสามารถพิชิตครอบงำมนุษย์ได้อย่างไร ? เมื่อเขาได้วอนขอเป็นเวลานาน อัลเลาะฮฺก็ทรงไม่ตอบรับ เขาจึงกล่าวว่า (โอ้ อัลเลาะฮฺ ) หากพระองค์ได้ให้ข้า ฯ เห็นความผิดของข้า ฯ ที่มีต่อพระองค์นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่ายิ่งสำหรับข้า ฯ จากสิ่งที่ข้า ฯ เคยวอนขอจากพระองค์ ดังนั้น อัลเลาะฮฺจึงส่งมะลาอิกะฮฺ ท่านหนึ่งมายังเขา แล้วได้กล่าวแก่เขาว่า อัลเลาะฮฺทรงส่งฉันมายังท่าน โดยพระองค์ทรงตรัสฝากมายังท่านว่า " แท้จริงคำพูดวอนขอของเจ้า ที่เจ้าได้พูดวอนขอไปนั้น ย่อมเป็นที่รักยิ่งมายังข้า มากกว่าการทำอิบาดะฮฺของเจ้าที่ผ่านมาเสียอีก " มะลาอิกะฮฺกล่าวว่า อัลเลาะฮฺทรงเปิดตาให้ท่านได้เห็นแล้ว ท่านจงมองซิ ทันใดนั้น เขาก็เห็นไพร่พลของอิบลีสห้อมล้อมอยู่ทั่วแผ่นดิน ซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดเลย นอกจากเสียว่าจะมีบรรดาชัยฏอนมารายล้อมเขาเสมือนกับแมลงวัน เขาจึงกล่าวว่า " โอ้ องค์อภิบาลแห่งข้า ฯ ผู้ใดที่จะสามารถรอดพ้นจากสิ่งนี้ได้หรือ ? พระองค์ทรงตรัสว่า ผู้ละเว้นจากความความชั่วและนอบน้อมถ่อมตน " หนังสือ อัลฮิกัม ของท่านอิบนุอิบาด เล่ม 1 หน้า 29
มีบางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า บรรดาอุละมาอฺผู้ทรงมีความรู้และอะมัลอิบาดะฮฺที่สมบูรณ์จากปวงบ่าวของอัลเลาะฮฺนั้น พวกเขาคือผู้ที่ได้ทำการเยียวยาโรคทางจิตใจ จนกระทั้งอัลเลาะฮฺทรงบำบัดให้เขาหาย และพวกเขาก็สามารถผ่านช่วงต่างๆ ของการเดินทางไปสู่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) จนกระทั้งพระองค์ทรงทรงทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ที่อยู่ในหมู่คนที่บรรลุถึงพระองค์แล้ว ดังนั้น ทำไมพวกเขายังต้องกลัวต่อจิตใจของตัวพวกเขาเอง ?
คำตอบ ก็คือบรรดาอุละมาอฺผู้เคร่งครัดเหล่านั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ที่หวั่นกลัวว่าตัวเองจะเสียหาย โดยที่พวกเขาจะระวังตัวเองอยู่เสมอ ท่านไม่เคยได้ยินคำตรัสของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ดอกหรือ ? ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า
( والذين يؤتون ما أتوا وقلوبهم وجلة أنهم إلى ربهم راجعون )
" และบรรดาจำพวกที่บริจาคออกไป (อีกทั้งพวกเขายังสร้างความใกล้ชิดด้วยความดี) โดยที่หัวใจของพวกเขามีความกลัว (ว่าบรรดาอะมัลของพวกเขาจะไม่ถูกรับ เพราะพวกเขามั่นใจว่า) แท้จริง พวกเขาจะต้องคืนกลับไปยังองค์อภิบาลของพวกเขา " อัลมุอฺมินูน 60
สาเหตุที่พวกเขายังคงมีความกลัวและระวังตัวเองอยู่เสมอนั้น เนื่องจาก 2 ประการด้วยกัน
หนึ่ง บรรดาผู้มีคุณธรรมนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางหรือสามารถผ่านระดับขั้นต่าง ๆ ของผู้เดินทางไปสู่อัลเลาะฮฺ จิตใจของพวกเขาก็ยังคงเป็นจิตใจของความเป็นมนุษย์ และอารมณ์ความสุขนั้นพวกเขาก็ยังปรารถนาอยู่ดังที่อัลเลาะฮฺทรงตรัสเอาไว้ แต่ทว่าการสะสมคุณงามความดี การตั้งจิตอยู่กับอัลเลาะฮฺสม่ำเสมอและมีการซิกิรต่าง ๆ เหล่านั้น ได้ผูกพันธ์ไปด้วยความรัก ความละอายและความยำเกรง ดังนั้น ในทุกสภาวะของพวกเขานั้น ก็จะมีความเกรงกลัว อันเนื่องจากพวกเขารู้ว่า ตัวของพวกเขากำลังอยู่บนการเสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ และดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้โดยที่พวกเขาไม่สามารถป้องกันและไว้ใจมันได้เลย และพวกเขาจะไว้ใจต่อตัวพวกเขาเองได้อย่างไร ? ในเมื่อพวกเขายังเฝ้าอ่านคำตรัสของอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ที่ว่า
( أفأمنوا مكرالله فلا يأمن مكر الله إلا القوم الخاسرون )
" แล้วพวกเขายังวางใจกับแผนการของอัลเลาะฮฺ (ที่ทรงประทานสุขสำราญกับพวกเขา จนกระทั้งพวกเขาได้รับความเสียหายในสภาวะลืมตัว) กระนั้นหรือ ? ที่จริงแล้ว ไม่มีผู้ใดวางใจต่อแผนการณ์ของอัลเลาะฮฺเลย นอกจากกลุ่มที่ขาดทุนเท่านั้น " อัล-อะรอฟ 99
สอง ทุกครั้งที่มนุษย์คนหนึ่งได้เพิ่มทวีคูณความใกล้ชิดและมะริฟัตต่ออัลเลาะฮฺ การประจักษ์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในสิทธิของอัลเลาะฮฺก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นบ่าวผู้มีความเคร่งครัดนั้น คือบุคคลที่มีความเกรงกลัวและให้เกียรติต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)เป็นที่สุดโดยที่เขาไม่เคยไว้ใจกับจิตใจของตัวเองเลย ดังนั้นพวกเขาจะปิติยินดีและมั่นใจได้อย่างไรว่า พวกเขามีจิตใจที่บริสุทธิ์และสามารถมั่นคงอยู่กับชายฝั่งทะเลที่ปลอดภัยจากคลื่น ? ท่านไม่เคยพิจารณาถึงตัวท่าน ซัยยดินาอุมัรดอกหรือว่า แท้จริงเขาเป็นหนึ่งจากผู้ได้รับข่าวดีกับการได้เข้าสรวงสวรรค์ ซึ่งเขามีความเกรงกลัวต่อตัวเองเป็นอย่างมาก เมื่อเขาได้เดินไปในหมู่ผู้คนทั้งหลาย เขาคิดเสมอว่ากำลังแบกรับภาระบาปทั้งหลายอยู่ และท่านไม่เคยพิจารณาถึงตัวท่านอลี ซึ่งเป็นบุตรน้าของร่อซูลุลเลาะฮฺดอกหรือ ? ซึ่งเขาได้กล่าวอย่างโศกเศร้าว่า " โอ้ เสบียงอันน้อยนิด ความลำบากที่ยาวไกล และหนทางที่น่ารังเกียจ " และนี่ก็คือ ลักษณะของบรรดาซอฮาบะฮฺผู้มีเกียตริโดยที่ท่านทราบมาแล้วว่า พวกเขาเหล่านั้น คือผู้ที่มีจิตใจที่บริสุทธิ์จากปวงบ่าวของอัลเลาะฮฺหลังจากบรรดานบีและร่อซูล
ดังนั้น เราจงรู้เถิดว่า ผู้ที่ถูกปิดกั้นจากอัลเลาะฮฺนั้น คือผู้ที่วางใจต่อแผนการของอัลเลาะฮฺและมั่นใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้บรรลุถึงความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮฺ โดยที่จิตใจของพวกเขาได้เปลื้องมลทินแล้ว เพราะฉะนั้น เราสมควรทำให้ความมุ่งมั่นของเราในทุกกริยาบทและทุก ๆสถานะการณ์นั้น ให้อยู่ในการมองและพิจารณาข้อบกพร่องที่อยู่ภายในจิตใจของเราเพื่อที่เราจะสามารถหลุดพ้นออกจากมันได้ อัลเลาะฮฺทรงตรัสว่า
( وفي أنفسكم أفلا تبصرون )
" และในตัวของพวกเจ้านั้น พวกเจ้าไม่เห็นดอกหรือ ? "
วัลลอฮุอะลัม