ท่านอิมาม อิบนุ อะฏออิลและฮ์ ได้กล่าวฮิกัมไว้ว่า
اَلْمُؤْمِنُ إِذَا مُدِحَ إِسْتَحْيَا مِنَ اللهِ أَنْ يُثْنىَ عَلَيْهِ بُوْصَفُ لا يَشْهَدُهُ مِنْ نَفْسِهِ
ความว่า "มุอฺมินที่แท้จริงนั้น เมื่อเขาได้รับการสรรเสริญ เขาก็จะมีความละอายต่ออัลเลาะฮฺกับการที่เขาถูกสรรเสริญด้วยคุณลักษณะที่เขาไม่เห็นว่ามันมาจากตัวเขา "
มุอฺมินที่แท้จริง ในที่นี้ก็คือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) ผู้ซึ่งพระองค์ทรงชี้นำในการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของเขา ดังนั้นมุอฺมินที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮฺหมายถึงก็คือ ผู้ที่เห็นว่าความโปรดปรานจากลักษณะความมีเกียตริที่เขามี ความภักดีที่เขาได้สร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮฺนั้น ย่อมหวนกลับไปยังผู้ที่เป็นบ่อเกิดของทุก ๆเนี๊ยะมัต ผู้ที่ทุก ๆการชี้นำและความมีเกียตริได้เป็นไปด้วยอำนาจของเขา ก็คือ เอกองค์อัลเลาะฮฺผู้ทรงให้เนี๊ยะมัตและความโปรดปรานนั่นเอง
ดังนั้น หากมุอฺมินคนหนึ่งได้รับการสรรเสริญจากบรรดามนุษย์และเขาได้นำสิ่งที่เขาได้รับการสรรเสริญนี้ กลับไปหาตัวเขาเอง ดังกล่าวนี้ เขาอาจจะมีความรู้สึกได้ สองประการ
ประการที่หนึ่ง เขาอาจจะรู้สึกว่าคุณลักษณะที่เขาได้รับการสรรเสริญนั้น มีและสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงจากตัวเขา
ประการที่สอง เขาอาจจะรู้สึกว่า ตัวเขาเองปราศจากสิ่งที่ได้รับการสรรเสริญ แต่ขณะเดียวกันนั้น เขาก็มีความต้องการกับการสรรเสริญนั้น
ดังนั้น ลักษณะที่หนึ่ง เขาจำเป็นต้องมีความละอายต่ออัลเลาะฮฺ(ซ.บ.) เนื่องจากผู้สรรเสริญได้ทำการสรรเสริญเขาด้วยสิ่งหนึ่งที่อัลเลาะฮฺได้ทรงประทานความโปรดปรานให้แก่เขา โดยไม่ต้องทุ่มเทความเพียรพยายามแต่ประการใด เพราะฉะนั้น เขาต้องมองตัวเขาเองเปรียบเสมือนคนยากจน ที่มีคนร่ำรวยผู้หนึ่งได้มอบทรัพย์สินให้แก่เขาและเขาได้นำทรัพย์สินนั้นไปทำการจัดงานเลี้ยงวันแต่งงาน(วะลีมะฮฺ)โดยเชิญบรรดาผู้ยากไร้เช่นเขามารับประทานอาหาร หลักจากนั้นพวกเขาก็ได้ให้การสรรเสริญแก่เขาว่า มีความใจบุญ โอบอ้อมอารี โดยที่พวกเขาไม่รู้ถึงแก่นแท้ของความเป็นจริง ว่ามีคนร่ำรวยที่ได้ให้ทรัพย์สินแก่เขาในการจัดงานวะลีมะฮฺ ได้ยินคำสรรเสริญ คำขอบคุณที่พวกเขาได้ให้กับคนยากจนผู้นั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความรู้สึกละอายนั้นต้องเกิดขึ้นกับคนจนผู้นั้นอย่างแน่นอน เนื่องจากเขารู้ว่าตัวเขาเองนั้นได้รับการสรรเสริญในสิ่งที่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาเลย และก็รู้ดีว่าผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการสรรเสริญนั้น คือผู้ที่ได้มอบทรัพย์สินให้เขาได้จัดงานวะลีมะฮฺต่างหาก ดังกล่าวนี้ก็เช่นเดียวกันกับมุอฺมินที่มีอีหม่านอย่างแท้จริง เนื่องจากเขาคิดว่าสิ่งที่เขาได้รับการสรรเสริญนั้น เป็นความโปรดปรานที่อัลเลาะฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ให้
ส่วนลักษณะที่สอง คือผู้ได้รับการสรรเสริญนั้น เห็นว่าสภาพความเป็นจริงของเขาตรงกันข้ามกับสิ่งที่บรรดาผู้ให้การสรรเสริญคิดเอาไว้ ดังนั้นจากลักษณะเช่นนี้ เขาต้องมีความละอายต่ออัลเลาะฮฺให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากเขารู้ว่า เขากำลังถูกทดสอบด้วยกับสิ่งที่ไม่เป็นความจริงที่พวกเขาได้ทำการสรรเสริญ แต่อัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ก็ทรงโปรดปรานด้วยการปกปิดข้อตำหนิและข้อบกพร่องของเขาให้พ้นจากสายตามนุษย์ทั่วไป เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ละอายต่ออัลเลาะฮฺได้อย่างไร เนื่องจากบรรดามนุษย์ได้ทำการสรรญเสริญเขา ทั้ง ๆที่เขาสมควรได้รับการตำหนิและเขารู้ตัวดีว่า ผู้ที่ประทานความโปรดปรานจากทุก ๆ สิ่งนั้น คือ อัลเลาะฮฺ และเขาก็รู้ว่าบรรดามนุษย์นั้น ถูกปิดกั้นจากการรู้ถึงแก่นแท้ของสภาพของเขา โดยที่แท้จริงอัลเลาะฮฺ(ซ.บ.)ทรงเป็นผู้ที่รู้ยิ่งต่อสิ่งที่ซ่อนเร้น อัลเลาะฮฺทรงตรัสว่า
( وأسروا قولكم أو إجهروا به إنه عليم بذات الصدور * ألا يعلم من خلق وهو اللطيف الخبير )
ความว่า " และพวกเจ้าจงปิดคำพูดของเจ้าไว้เป็นความลับเถิด หรือพวกเจ้าจงเปิดเผยคำพูดนั้น (ออกมาให้ชัดเจนก็ตาม) แท้จริงพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่งนัก ในสิ่งที่มีอยู่ในหัวอกทั้งหลาย อันผู้ทรงบันดาล (ทุกสิ่งทุกอย่างมา)จะไม่รู้ (ถึงสิ่งนั้น ๆ)หรือ ? และพระองค์ทรงอ่อนโยนยิ่ง ทรงตระหนักยิ่ง " อัลมุลกิ 13-14
วัลลอฮุอะลัม