ผู้เขียน หัวข้อ: บ่อเกิดทุกการฝ่าฝืนคือการพอใจตนเอง(บทเรียนฮิกัม)  (อ่าน 5261 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ al-azhary

  • ผู้มีอิทธิพล (~_-)
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 6202
  • เพศ: ชาย
  • อัลเลาะฮ์เท่านั้นที่มีอยู่จริง
  • Respect: +272
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.sunnahstudents.com

ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์  กล่าวว่า

أصل كل معصية وغفلة وشهوة ، الرضا عن النفس وأصل كل طاعة ويقظة وعفة ، عدم الرضا منك عنها ، لأن تصحب جاهلا لا يرضى عن نفسه خير لك من أن تصحب عالما يرضى عن نفسه ، وأى جهل لجاهل لا يرضى عن نفسه

?รากฐานเดิมของทุก ๆ การฝ่าฝืน ,การหลงลืม (อัลเลาะฮ์) , และความปรารถนาอันใฝ่ต่ำนั้น  คือ  การพอใจกับจิตใฝ่ต่ำ  และรากฐานของทุก ๆ การภักดี , (มีจิต) ตื่นตระหนัก , และยับยั้งตนเอง(จากความชั่ว)  คือ  การไม่พอใจต่อจิตใฝ่ต่ำที่มาจากท่าน  เพราะการที่ท่านคบเป็นมิตรกับคนไม่รู้ที่ไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมดีกว่าสำหรับท่าน  จากการคบเป็นมิตรกับผู้รู้ที่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ดังนั้น  ความรู้(ที่มีประโยชน์) อันใดหรือ? ที่จะมีให้กับผู้รู้ที่พอใจจากจิตใฝ่ต่ำของตน  และความไม่รู้(จะเป็นโทษ)อันใดหรือ? ที่มีให้กับคนไม่รู้ที่ไม่พอใจต่อจิตใฝ่ต่ำของตน??

ท่านชัยค์ อะลี อัลบัยยูมีย์  (ร่อฮิมะฮุลลอฮ์) อธิบายว่า ?รากฐานของทุก ๆ การฝ่าฝืน  ,การหลงลืม (อัลเลาะฮ์) , ความปรารถนาอันใฝ่ต่ำ  คือ  การพอใจกับจิตใฝ่ต่ำ  เนื่องจากความพอใจดังกล่าวนั้น  ทำให้น้อมตามคำสั่งใช้ของอารมณ์  ซึ่งจิตใฝ่ต่ำจะใช้ให้ทำความชั่ว  ปกปิดข้อตำหนิ  และทำให้ความน่ารังเกียจของจิตใฝ่ต่ำเห็นเป็นสิ่งดีงาม  และรากฐานของทุก ๆ ความภักดี (ฏออัต) มีจิตใจที่ตื่นตระหนักในคำสั่งใช้ของพระองค์และยับยั้งตนเองจากความชั่ว  คือ  การไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำที่มาจากตัวท่าน  เนื่องจากความไม่พอใจดังกล่าว  จะเป็นตัวผลักดันให้มีการสำรวจข้อบกพร่องของจิตใจและทำการขจัดมันออกไป  โดยเอาสิ่งดีงามมาประดับประดาในจิตใจ  การที่ท่านคบเป็นมิตรกับคนไม่มีความรู้  ไม่ว่าจากคนชรา  ญาติใกล้ชิด  คนรับใช้  ภรรยา  เพื่อน  และคนอื่น ๆ ที่ไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมเป็นการดียิ่งสำหรับท่านในการได้รับผลประโยชน์ในการคบหาเป็นมิตร  มากกว่า  การที่ท่านคบเป็นมิตรกับผู้รู้ที่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  เนื่องจากผู้ที่โกรธไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมเป็นผู้มีความยุติธรรมต่อตนเอง  เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่นและแสวงหาสัจจะธรรมความจริง  ดังนั้น  ความรู้จะมีประโยชน์อันใดสำหรับผู้มีความรู้ที่พอใจจิตใฝ่ต่ำของตนโดยที่เขากำลังเมินเฉยคุณลักษณะ(อันน่าตำหนิ)ที่อยู่ในหัวใจและไม่ตระหนักถึงคำสั่งใช้ของพระองค์  และความไม่รู้จะเป็นโทษให้กับคนผู้ไม่มีความรู้ได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน ? เนื่องจากเขาตระหนักดีถึงลักษณะข้อตำหนิของจิตใจและทราบถึงสิ่งที่ทำให้เขาใกล้ชิดต่อผู้อภิบาลของเขา  ดังนั้น  การปฏิบัติของเขาที่ทำไม่พอใจกับอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้น  ย่อมเป็นผลประโยชน์อย่างที่สุด? ดู  หนังสือ ฮิดายะตุลอินซาน อิลัลกะรีม อัลมันนาน  หน้า 24 - 25

คำว่า النفس  (นัฟซู) ตามจุดมุ่งหมายของท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ใน ณ ที่นี้  หมายถึง ?อารมณ์ธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในศักยภาพของมนุษย์ซึ่งจะชักนำไปสู่อารมณ์นัฟซูใฝ่ต่ำ?

ศัพท์เทคนิคตามหลักศาสนานี้  ได้เอามาจากคำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ความว่า

إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوءِ إِلاَّ مَا رَحِمَ رَبِّيَ إِنَّ رَبِّي غَفُورٌ رَّحِيمٌ

?แท้จริง  นัฟซูนั้น  จะบัญชาใช้ให้ทำความชั่ว  นอกจากผู้ที่พระผู้อภิบาลของฉันทรงเมตตา?  ยูซุฟ 53

ดังนั้น  เราลองมาทำความเข้าใจฮิกัมดังกล่าว  โดยตั้งคำถามเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1.    ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้เอาหลักการมาจากใหนหรือ ? ที่ว่ารากฐานเดิมของทุก ๆ การฝ่าฝืน , หลงลืม , และความยากปรารถนานั้น คือความพอใจกับจิตใฝ่ต่ำ ? และท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้เอาหลักการมาจากใหนหรือ ? ที่ว่ารากฐานของทุก ๆ การภักดี คือการไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำ ?
2.    อะไรหรือสาเหตุที่ทำให้มีหลักการดังกล่าว?
3.    มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้มุสลิมไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำ  จนกระทั่งเขาไม่ตกอยู่ในข้อผิดพลาดดังกล่าวนั้น ?

ประการแรก  เราขอตอบว่า  แหล่งที่มาที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้กล่าวไว้นั้นคือ  คำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ความว่า

أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِينَ يُزَكُّونَ أَنفُسَهُمْ بَلِ اللّهُ يُزَكِّي مَن يَشَاءُ وَلاَ يُظْلَمُونَ فَتِيلاً

?เจ้าไม่สังเกตดอกหรือ  บรรดาผู้ขจัดมลทิน(ยกยอ)ตัวเอง  อันที่จริง  อัลเลาะฮ์ทรงขจัดมลทินแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์  และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมสักเพียงน้อยก็ตาม?  อันนิซาอ์ 49

คำตรัสของอัลเลาะฮ์ในเชิงคำถามที่ว่า ?เจ้าไม่สังเกตดอกหรือ? นั้น มีความหมายในเชิงตำหนิ  ซึ่งหมายความว่า ?เจ้าไม่เห็นความน่ารังเกียจของพวกเขาดอกหรือ  เนื่องจากพวกเขาได้ยกย่องตัวเองและเผยความลำพองออกมาโดยมีความพอใจในตัวของพวกเขาเอง!!?

และที่ชัดเจนยิ่งจากการกล่าวถึงความหมายนี้  คือ  คำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา  ที่ว่า

فَلَا تُزَكُّوا أَنفُسَكُمْ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنِ اتَّقَى

?ดังนั้น  พวกเจ้าจงอย่ายกยอตัวของพวกเจ้าเอง  พระองค์ทรงรอบรู้แก่ผู้ที่มีจิตยำเกรงยิ่งนัก? อันนัจญฺมุ 32

หมายความว่า  พวกท่านอย่าตัดสินว่าตัวของพวกท่านนั้นดีและปราศจากความมัวหมองและอย่ายกยอสรรเสริญตัวเองด้วยสิ่งที่พวกท่านนึกคิดขึ้นเอง  เนื่องจากอัลเลาะฮ์ทรงรอบรู้ยิ่งกับสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเขา

เช่นเดียวกับความหมายนี้  คือ ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวความว่า

إذا رأيت شحا مطاعاَ وهوى متبعا ، ودنيا مؤثرة وإعجاب كل ذى رأي برأيه ، فعليك بخاصة نفسك

?เมื่อท่านเห็นความละโมบที่ถูกน้อมตาม , อารมณ์ใฝ่ต่ำที่ถูกตาม ,ดุนยาที่ทำให้หลงใหล  และทุก ๆ ผู้มีความเห็นได้ลำพองในความเห็นของตนเอง  ดังนั้น  ท่านจงเคร่งครัดต่อจิตใจของท่านให้เป็นพิเศษ(อย่าให้ตกอยู่ในสิ่งเหล่านั้น? รายงาน โดย อัตติรมีซีย์  เขากล่าวว่า หะดิษนี้หะซัน(ดี)

ดังนั้น  ระหว่างความพอใจในตนเองกับความลำพองตนนั้น  ย่อมไม่มีความแตกต่างกัน

ประการที่สอง  อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ความพอใจในตนเองหรือพอใจในจิตใฝ่ต่ำนั้น  เป็นบ่อเกิดของทุก ๆ การฝ่าฝืน?

เพื่อที่จะเพิ่มการจำกัดความหมายของคำว่า นัฟซู  النفس  ?จิตใฝ่ต่ำ?   ใน  ณ  ที่นี้  และเพื่อเป็นการเกริ่นอธิบายถึงสาเหตุดังกล่าว  เราจึงขอกล่าวย้ำให้ตระหนักถึงการแบ่งแยกระหว่าง  พฤติกรรมที่ออกมาจากมนุษย์กับจิตใจที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน

พฤติกรรม  เป็นผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติที่มนุษย์ได้เผชิญพร้อมกับความรู้สึกและแรงผลักดันทางจิตใจ  ซึ่งเขาจะยืนอยู่ระหว่างสองทางเลือกนี้  คือ
1.    เขาสร้างความพอพระทัยต่ออัลเลาะฮ์และกระทำการขัดแย้งกับอารมณ์และจิตใฝ่ต่ำ
2.    เขาสร้างความพอใจกับความปรารถนาทางอารมณ์  และขัดกับสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาใช้และสิ่งที่ทำให้พระองค์พอพระทัย

หลักจากการเผชิญระหว่างแรงผลักดันให้น้อมรับคำสั่งของอัลเลาะฮ์กับการก่อกวนของความอยากปรารถนาของอารมณ์ใฝ่ต่ำ   ก็จะทำให้เกิดผลการน้อมตามคำบัญชาของอัลเลาะฮ์  เพราะเขาก็จะดำเนินตามคำสั่งของพระองค์  หรือบางครั้งอาจจะได้รับผลตรงกันข้ามเพราะเขาน้อมตามสิ่งที่อารมณ์ใฝ่ต่ำต้องการ  และนี้ก็คือ  การน้อมตามในเชิงปฏิบัติที่เขาเรียกว่า  ?พฤติกรรม?  السلوك  ซึ่งพฤติกรรมนี้ย่อมเป็นผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติที่มักจะเผชิญกันระหว่างความบริสุทธิ์ของอีหม่านกับอารมณ์ธรรมชาติของเดรัจฉานที่อยู่ในศักยภาพของมนุษย์

สำหรับจิตใจ النفس  ตามที่ท่านทราบแล้วว่า  มันคือ  สิ่งที่ผนวกไว้ซึ่งความปรารถนาทางอารมณ์ธรรมชาติที่เป็นปัจจัยให้มนุษย์น้อมรับในเชิงปฏิบัติ  ซึ่งมันเป็นสภาพการณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในศักยภาพของมนุษย์  ดังนั้น  พฤติกรรมจะไม่แสดงออกมานอกจากเป็นผลสืบเนื่องจากสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน

เมื่อท่านทราบข้อแยกแยะนี้แล้ว  ท่านโปรดพิจารณาเถิดว่า  ไม่มีสิ่งใดมาห้ามมิให้เจ้าของพฤติกรรมดังกล่าว  มีความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจก็ได้  แต่ทว่าสิ่งที่ถูกบัญชาใช้แก่มนุษย์ก็คือ  ให้เขาพอใจจากการปฏิบัติความดีงามที่อัลเลาะฮ์ทรงชี้นำแก่เขา  และให้เขารังเกียจการกระทำชั่วที่จะทำให้เขาพลาดพลั้งตกอยู่ในความผิด

ในขณะที่มุสลิมคนหนึ่งได้พึงพอใจจากการปฏิบัติความดีงามที่อัลเลาะฮ์ก็จะทรงประทานความสะดวกง่ายดายและชี้นำแก่เขาให้กระทำ  เขาย่อมสะท้อนความกตัญญูรู้คุณ(ชุโกร) ออกมาจากสิ่งดังกล่าว  และเขาย่อมห่างไกลจากความลำพอง(พอใจ)ตนเองที่อัลเลาะฮ์ทรงห้าม

แต่ทว่าผู้ที่เห็นว่าอัลเลาะฮ์ทรงชี้นำให้เขาปรารถนาปฏิบัติคุณงามความดีนั้น  เขาต้องไม่พาดพิงความดีงามดังกล่าวไปยังตัวของเขาเอง   และอย่าอ้างว่าคุณงามความดีที่เขาได้ปฏิบัติสามารถพิชิตเหนือารมณ์ใฝ่ต่ำได้จนกระทั่งสามารถหลุดพ้นจากข้อตำหนิต่าง ๆ ของจิตใจ  แต่เขาจำเป็นต้องทราบว่า  จิตใจยังคงมีลักษณะของอารมณ์ใฝ่ต่ำ  เขายังคงอยู่บนความเสี่ยงอันตรายต่อความครางแคลงของจิตใจที่มาจากชัยฏอน  ซึ่งอัลเลาะฮ์จะให้เขาได้ประสบกับมันแล้วพระองค์ก็จะกำหนดให้เขาต่อสู้จากสิ่งดังกล่าวที่มาครอบงำ

ท่านไม่เคยอ่านคำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา  ดอกหรือ  ที่มีความว่า

وَأُحْضِرَتِ الأَنفُسُ الشُّحَّ

?และบรรดาจิตใจทั้งหลาย จะมีนิสัยความตระหนี่? อันนะซาอ์ 128

ท่านไม่เห็นดอกหรือว่า  อัลเลาะฮ์ทรงตัดสินว่า  คุณลักษณะอันน่ารังเกียจนี้ (คือความตระหนี่) มีอยู่ในบรรดาจิตใจทั้งหลายโดยมิได้เจาะจง ?  แต่ในขณะที่พระองค์ทรงสรรเสริญบุคคลที่พฤติกรรมของเขาสามารถพิชิตคุณลักษณะเช่นนี้ได้นั้น   พระองค์มิได้ทรงพาดพิงผลการพิชิตคุณลักษณะดังกล่าวไปยังจิตใจ  แต่พระองค์ทรงพาดพิงผลดังกล่าวไปยังการปกป้องของพระองค์ที่มีต่อพวกเขา  พร้อมกับบรรดาจิตใจของพวกเขายังคงอยู่สภาพเดิม คือ ยังคงมีคุณลักษณะของการตระหนี่

ดังนั้น  พระองค์ทรงตรัส ความว่า

وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ

?และผู้ใดที่ถูกปกป้อง(ระงับ)กับความละโมบของตัวเองไว้ได้(ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีความต้องการในสิ่งนั้น) แน่นอน พวกเขาเหล่านั้น  เป็นผู้สมหวังโดยแท้จริง? อัลหัชร์ 9

ดังนั้น  การระงับความละโมบจึงไม่ใช่มาจากผลงานจากตัวของจิตใจเอง  แต่มาจากพฤติกรรมที่น้อมรับคำบัญชาของอัลเลาะฮ์  แล้วคำบัญชาของพระองค์ที่นำมาปฏิบัติก็สามารถนำมาระงับคุณลักษณะอันไม่ดีของจิตใจนั้น  ดังนั้น  พระองค์จึงปกป้องพวกเขาจากสิ่งดังกล่าว

ท่านเคยทราบคำตรัสของอัลเลาะฮ์หรือไม่  ที่เกี่ยวกับการพรรณนาคุณลักษณะบรรดาบ่าวผู้มีคุณธรรมและพระองค์ได้ทำการสรรเสริญพวกเขา  ความว่า

  وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَى حُبِّهِ مِسْكِيناً وَيَتِيماً وَأَسِيراً

?และพวกเขาได้ให้อาหาร  ทั้งที่มีความรักต่อมัน  ให้แก่คนอนาถา , เด็กกำพร้า และเชลยศึก? อัลอินซาน 8

ท่านไม่ลองพิจารณาคำว่า عَلَى حُبِّهِ ?ทั้งที่มีความรักต่อมัน(อาหารนั้น)?  ดอกหรือ? ว่า  บรรดาจิตใจของพวกเขานั้น  ยังคงมีคุณลักษณะความปรารถนาอยากได้มัน   ยังคงมีความรักต่อทรัพย์สินของเขา  แต่อัลเลาะฮ์ทรงประทานการชี้นำให้พวกเขา  ทำการต่อสู้(มุญาฮะดะฮ์)กับจิตใจพวกเขาเอง  และสามารถระงับอารมณ์ใฝ่ต่ำและความปรารถนาของพวกเขาได้  เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮ์  ตะอาลา

ท่านไม่เคยอ่านคำตรัสของพระองค์  ดอกหรือ?  ที่มีความว่า

زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ الشَّهَوَاتِ مِنَ النِّسَاء وَالْبَنِينَ وَالْقَنَاطِيرِ الْمُقَنطَرَةِ مِنَ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَالْخَيْلِ الْمُسَوَّمَةِ وَالأَنْعَامِ وَالْحَرْثِ ذَلِكَ مَتَاعُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَاللّهُ عِندَهُ حُسْنُ الْمَآبِ

?ได้ถูกถือเป็นสิ่งประดับแก่มวลมนุษย์  ความลุ่มหลงในความใคร่ต่าง ๆ (ดังต่อไปนี้) นั้นคือ บรรดาสตรี , บรรดาลูก ๆ , และบรรดาทรัพย์สินสมบัติอันกองพะเนิน(อย่างมากมาย) ซึ่งมีทองคำ , เงิน , ม้าฝีเท้าจัด , ปศุสัตว์ , และไร่นา  นั่นเป็นสิ่งอำนายสุขในชีวิตทางโลกนี้  แต่ที่อัลเลาะฮ์นั้นมีเป้าหมายที่งดงาม? อาลิอิมรอน 14

สถานที่การประดับเกียรติและความลุ่มหลงในความใคร่ดังกล่าวนั้น  ได้สถิตอยู่ในศักยภาพของมนุษย์  ซึ่งเป็นจิตใจที่ยังเตรียมพร้อมและน้อมรับความใฝ่ต่ำ   สิ่งได้ที่ได้รับจากคำตรัสของพระองค์นี้  คือ  มนุษย์ทุกคนนั้น  บรรดาจิตใจของพวกเขามีธรรมชาติที่รักต่อความอยากปรารถนาที่พระองค์ทรงนำมาประดับไว้ให้กับพวกเขา  เพื่อเป็นฮิกมะฮ์(เคล็ดลับ)ในการทดสอบ

จึงเป็นความไม่ถูกต้อง  ที่บุคคลหนึ่งจะกล่าวว่า ?ฉันได้ทำการต่อสู้ขัดเกลาอารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นระยะเวลานาน  จนกระทั่งสามารถตัดจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความอยากปรารถนาและธรรมชาติต่าง ๆ ที่น่าตำหนิ  ซึ่งวันนี้  ฉันไม่ปรารถนาสิ่งใดแล้วนอกจากสิ่งที่ทำให้อัลเลาะฮ์ทรงพอพระทัยและฉันไม่หลีกห่างนอกจากสิ่งที่ไม่ทำให้อัลเลาะฮ์ทรงพอพระทัย?

ดังนั้น  จึงมีความจำเป็นต้องกล่าวแก่ผู้ที่แอบอ้างนี้ว่า  ?หากสิ่งที่ท่านพูดเป็นเช่นนั้นจริง  แน่นอน  ความเป็นมนุษย์ของท่านได้หมดไปจากท่านแล้ว  และท่านได้กลายเป็นมะลาอิกะฮ์เสียแล้ว  และเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณลักษณะที่อัลเลาะฮ์ทรงพรรณาไว้ให้กับมนุษย์ทุก ๆ คน ไม่ว่าผู้ใดก็ตาม  และยังขัดกับอายะฮ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  ซึ่งอายะฮ์ทั้งหมด  ได้ตอกย้ำถึงความลุ่มหลงในความใคร่และเครื่องประดับเกียรติที่อัลเลาะฮ์ทรงทำให้เป็นภาระตกหนักต่อจิตใจของมนุษย์

และหากคำพูดของท่านเป็นเช่นนั้นจริง  ท่านจะกลายเป็นผู้ที่ไม่มีสิ่งไดเป็นภาระหนัก(มุกัลลัฟ)จากอัลเลาะฮ์  เนื่องจากท่านจะไม่รู้สึกว่ามีความยากลำบากอันใดในสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญญัติใช้  เมื่อเป็นเช่นนั้น  คำบัญญัติใช้ของอัลเลาะฮ์จึงไร้ความหมาย  ผลบุญของท่านที่พระองค์จะประทานให้กลับเป็นโมฆะ  แต่การงานของอัลเลาะฮ์ได้ดำเนินลุล่วงมาแล้ว  และการงานของอัลเลาะฮ์ยังมีผลต่อปวงบ่าวของพระองค์ทั้งหมด  ผลบุญจะได้รับการตระเตรียมไว้แก่บรรดาผู้ประพฤติดี  และสิ่งดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น  นอกจากพวกเขาทั้งหมดเป็นผู้ที่แบกภาระตกหนักที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาใช้  และพวกเขาจะไม่ถูกบังคับใช้  นอกจากบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้านั้น  จะขัดแย้งกับความปรารถนาของอารมณ์ใฝ่ต่ำเสมอ

บรรดาวะลียุลลอฮ์และนักปราชญ์ผู้มีคุณธรรม  ก็ยังคงอยู่ในการต่อสู้กับจิตใฝ่ต่ำจนถึงลมหายใจสุดท้าย  และที่มาของผลการตอบแทนที่อัลเลาะฮ์ทรงตระเตรียมไว้ให้นั้น  คือการที่พวกเขาได้ปฏิบัติสิ่งที่ค้านกับอารมณ์ใฝ่ต่ำนั่นเอง

ดังนั้น  เมื่อมนุษย์คนใดมีความพอใจกับตัวเอง  แน่นอนว่า  ความพอใจดังกล่าวไม่ใช่อื่นใด  นอกจากเขาได้คล้อยตามสิ่งที่เขาปรารถนาและเรียกร้อง  และมันจะทำให้เขาเกิดความเสียหาย  ซึ่งความเสียหายประการแรกก็คือ  การที่เขาพอใจต่อจิตที่ใฝ่ต่ำและแอบอ้างว่า  จิตใจของเขาได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากสิ่งที่บกพร่องแล้ว  อีกทั้งสามารถพิชิตข้อตำหนิอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งดังกล่าวนี้  ย่อมตรงกันข้ามกับสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญญัติใช้และห้าม  เนื่องจากพระองค์ทรงตรัสว่า

فَلَا تُزَكُّوا أَنفُسَكُمْ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنِ اتَّقَى

?ดังนั้น  พวกเจ้าจงอย่ายกยอตัวของพวกเจ้าเอง  พระองค์ทรงรอบรู้แก่ผู้ที่มีจิตยำเกรงยิ่งนัก? อันนัจญฺมุ 32

ประการที่สาม  มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้มุสลิมไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำ  จนกระทั่งเขาไม่ตกอยู่ในข้อผิดพลาดดังกล่าวนั้น ?

ตอบ  แท้จริงอัลเลาะฮ์  ตะอาลา  ทรงมอบยาให้สำหรับท่านแล้ว  ซึ่งท่านจะต้องนำมามาบำบัด  ก็คือ  คำกล่าวของท่านร่อซูลุลเลาะฮ์  ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ความว่า

كل بنى أدم خطاء ، وخير الخطائين التوابين

?ลูกหลานอาดัมทั้งหมดย่อมมีความผิด  และบรรดาผู้มีความผิดที่ดีเลิศคือผู้ทำการเตาบะฮ์?  รายงานโดย ท่านอิมามอะหฺมัด , ท่านอัตติรมีซีย์ , ท่านอิบนุมาญะฮ์ , ท่านอัลหากิม  จากท่านอะนัส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ

ดังนั้น  มนุษย์ย่อมมีความผิดพลาด  เพราะอัลเลาะฮ์ทรงทดสอบเขาด้วยสภาพที่อ่อนแอต่อความดื้อดึงของจิตที่ใฝ่ต่ำ  ซึ่งความอ่อนแอนี้มักได้รับปฏิกิริยาผลตอบรับจากจิตใฝ่ต่ำได้อย่างรวดเร็ว


อัลเลาะฮ์ทรงตรัส  ความว่า

وَخُلِقَ الإِنسَانُ ضَعِيفاً

?มนุษย์ถูกสร้างมาโดยสภาพที่อ่อนแอ? อันนิซาอ์ 28

เพราะฉะนั้น  ไม่ว่าเขาจะทำการต่อสู้(มุญาฮะดะฮ์)กับตัวเองในการพิชิตอารมณ์นัฟซูก็ตาม  แต่ความอ่อนแอดังกล่าวที่อยู่ในศักยภาพของมนุษย์ยังมีอยู่ในตัวของเขา  ซึ่งร่องรอยของมันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาเพื่อจะนำไปสู่ความผิดพลาด

ดังนั้น  เมื่อท่านได้พิจารณาถึงสภาพดังกล่าวที่อัลเลาะฮ์ทรงให้ท่านเป็นอยู่นี้และตระหนักถึงความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่าน  แน่นอนว่า  ต่อไปท่านจะต้องมีความโกรธต่อจิตใจที่ใฝ่ต่ำและระมัดระวังจากมัน  ซึ่งสิ่งดังกล่าว  จะไม่เกิดขึ้นไม่ได้  นอกจากท่านต้องเป็นผู้เคร่งครัดในหลักคำสอนของอัลเลาะฮ์  ต้องคำนึงเสมอว่า  จิตใฝ่ต่ำนั้นไม่มีความดีใด ๆ

ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์  ได้ทำให้ฮิกัมนี้   เป็นผลลัพธ์อันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิชาความรู้  เนื่องจากว่า  บรรดาผู้มีสติปัญญานั้น  คงไม่มีผู้ใดไม่รู้ถึงคุณค่าของความรู้  และผู้ที่อ่านอัลกุรอานคงจะทราบดีว่า  มีบรรดาอายะฮ์ต่าง ๆ ให้การสรรเสริญยกเกียรติวิชาความรู้

ดังนั้น  ท่านพึงทราบเถิดว่า  แท้จริงความรู้นั้นยังคงเป็นเพียงแค่สื่อ  ซึ่งตัวของมันเองไม่ทำให้ถึงสู่เป้าหมายเสมอไป  แต่หากวิชาความรู้ได้ประสบกับบุคคลหนึ่งที่มีจิตใจอันบริสุทธิ์  มีเป้าหมายที่สูงส่ง  แน่นอน  ความรู้นั้นก็จะเป็นตะเกียงที่จะมาส่องและนำทางเขาไปสู่สัจจะธรรมและเขาก็จะได้รับความผาสุกทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์ไปพร้อม ๆ กัน

และหากความรู้ได้ประสบกับบุคคลหนึ่งที่มีธรรมชาติเบี่ยงเบน  เจตนาไม่บริสุทธิ์  และมีเป้าหมายอันตกต่ำ  ดังนั้น  ต่อไปความรู้ก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของเขา  แล้วทำการเรียกร้องเชิญชวนเพื่อสนองเจตนาของเขาที่ไม่บริสุทธิ์และเพื่อเป้าหมายของชั่วช้า  ฉะนั้น  เมื่อความรู้ทวีคูณด้วยเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้นฉันท์ใด  ศักยภาพในการหลอกลวงและสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้อื่นยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นฉันท์นั้น

ย่อมเป็นความสัจจริงสำหรับผู้ที่กล่าว

زيادة العلم فى رجل السوء كزيادة الماء فى أصول الحنظل ، كلما ازداد ربا ازداد مرارة

?การเพิ่มวิชาความรู้ในบุรุษชั่วคนหนึ่ง  เสมือนกับการเพิ่มขึ้นของน้ำในรากของต้นไม้ขม  ซึ่งทุกครั้งที่มันเพิ่มทวีคูณฉันท์ใด  ความขมย่อมทวีคูณฉันท์นั้น?

บ่อเกิดแห่งความเที่ยงธรรมและทางนำในตัวของมนุษย์นั้น  คือเขาต้องมีความเกรงกลัวต่อจิตใจของเขาและต้องไม่พอใจกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ  และเมื่อเป็นเช่นนั้น  บรรดาความรู้ก็จะเป็นตะเกียงแห่งทางนำสำหรับเขา  และทุก ๆ คนที่คบค้าสมาคมกับเขา  หากแม้นว่าเขาจะเป็นคนโง่เขลาก็ตาม  ความเกรงกลัวของเขาที่มีต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำของตนและคอยระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอนั้น  ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ถึงความดีงามและเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้กับบุคคลอื่นได้

และบ่อเกิดแห่งการเบี่ยงเบนและลุ่มหลงที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์นั้น  คือการที่เขามีความพึงพอใจและลำพองกับตัวเอง เพื่อสนองความดื้อดึงของอารมณ์ใฝ่ต่ำ  เมื่อเป็นเช่นนั้น  วิชาความรู้ต่าง ๆ ของเขาทั้งหมด  ก็จะกลายเป็นไพร่พลที่อยู่ภายใต้อาณัติของอารมณ์ใฝ่ต่ำา  และทำให้การเรียกร้องของเขาก็เพื่อสนองบรรดาอารมณ์และความเบี่ยงของเขาเท่านั้นเอง

และดังกล่าวนี้  ก็คือความหมายคำกล่าวของท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ที่ว่า ?ท่าน  เพราะการที่ท่านคบเป็นมิตรกับคนไม่รู้ที่ไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมดีกว่าสำหรับท่าน  จากการคบเป็นมิตรกับผู้รู้ที่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ดังนั้น  ความรู้(ที่มีประโยชน์) อันใดหรือ? ที่จะมีให้กับผู้รู้ที่พอใจจากจิตใฝ่ต่ำของตน  และความไม่รู้(จะเป็นโทษ)อันใดหรือ? ที่มีให้กับคนไม่รู้ที่ไม่พอใจต่อจิตใฝ่ต่ำของตน??

วัลลอฮุอะลัม
أُحِبُّ الصَّالِحِيْنَ وَلَسْتُ مِنْهُمْ     لَعَلَّ اللهَ يَرْزُقُنِيْ صَلاَحاً

นูรุ้ลอิสลาม

  • บุคคลทั่วไป
เช่นเดียวกับความหมายนี้  คือ ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวความว่า

إذا رأيت شحا مطاعاَ وهوى متبعا ، ودنيا مؤثرة وإعجاب كل ذى رأي برأيه ، فعليك بخاصة نفسك

?เมื่อท่านเห็นความละโมบที่ถูกน้อมตาม , อารมณ์ใฝ่ต่ำที่ถูกตาม ,ดุนยาที่ทำให้หลงใหล  และทุก ๆ ผู้มีความเห็นได้ลำพองในความเห็นของตนเอง  ดังนั้น  ท่านจงเคร่งครัดต่อจิตใจของท่านให้เป็นพิเศษ(อย่าให้ตกอยู่ในสิ่งเหล่านั้น? รายงาน โดย อัตติรมีซีย์  เขากล่าวว่า หะดิษนี้หะซัน(ดี)

การฮุกุ่มคนอื่นลงนรกในทัศนะที่ต่างกับตนถือว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งเพราะมีความลำพองในทัศนะของตนนั่นเอง  >:(

นูรุ้ลอิสลาม

  • บุคคลทั่วไป
การที่ท่านคบเป็นมิตรกับคนไม่มีความรู้  ไม่ว่าจากคนชรา  ญาติใกล้ชิด  คนรับใช้  ภรรยา   เพื่อน  และคนอื่น ๆ ที่ไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมเป็นการดียิ่งสำหรับท่านในการได้รับผลประโยชน์ในการคบหาเป็นมิตร  มากกว่า  การที่ท่านคบเป็นมิตรกับผู้รู้ที่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  เนื่องจากผู้ที่โกรธไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ย่อมเป็นผู้มีความยุติธรรมต่อตนเอง  เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่นและแสวงหาสัจจะธรรมความจริง 

อ่านไปอ่านมาก็ได้ความคิดขึ้นมาอีกแล้วครับคือว่าท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์พยายามสอนเราให้รู้จักคบคนรู้จักเลือกคนที่มาอยู่ร่วมด้วย  มันคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าการที่เราจะเลือกคบและอยู่ร่วมชีวิตกับใครสักคนจำต้องเลือกคนที่มีศาสนาคุณธรรมไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่าเราสำหรับ  เพราะการอยู่ร่วมชีวิตกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นหากเลือกคนที่พอใจกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ  ชีวิตคงอยู่ไม่เป็นสุขความสำเร็จในชีวิตคู่ไม่มี  ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมา  คือเราอยากจะบอกว่าการจะคบใครมาเป็นเพื่อนร่วมชีวิตนั้นจำเป็นต้องดูกันที่จิตใจเป็นสำคัญไม่ใช่ปัจจัยภายนอกเพราะปัจจัยภายนอกไม่ใช่ทำให้เรามีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าเสมอไปยิ่งกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดความวิบัติแก่เราด้วยซ้ำไป  :D

นูรุ้ลอิสลาม

  • บุคคลทั่วไป
และความไม่รู้จะเป็นโทษให้กับคนผู้ไม่มีความรู้ได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน ? เนื่องจากเขาตระหนักดีถึงลักษณะข้อตำหนิของจิตใจและทราบถึงสิ่งที่ทำให้เขาใกล้ชิดต่อผู้อภิบาลของเขา  ดังนั้น  การปฏิบัติของเขาที่ทำไม่พอใจกับอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้น  ย่อมเป็นผลประโยชน์อย่างที่สุด

หากเราจะสังเกตุกันง่ายๆ คือคนบ้านๆเราที่ไม่ค่อยรู้อะไรนะครับ  เวลาเขามาถามปัญหาศาสนาแบบง่ายๆกับเรา  เขาก็จะนอบน้อมเจียมตัวกลัวตัวเองจะทำผิดในเรื่องศาสนา นั่นแหละครับคนไม่รู้ที่ไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำของตน  ส่วนไอ้คนรู้นี้ซิครับ  ชอบใช้ความรู้ของตนเลี่ยงโน้นเลี่ยงนี่เพื่อหากทางออกให้มันง่ายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน  นี่แหละครับที่เขาเรียกว่าคนมีความรู้แต่พอใจในกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำของตน  หากเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าคนบ้านๆตาสีตาสาที่เจียมตนมันดีคนมีความรู้เยี่ยงนี้  วัลอิยาซุบิลลาฮ์   :-X

ออฟไลน์ al-firdaus~*

  • ทีมงานหลังบอร์ด (-_-''')
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 5015
  • เพศ: หญิง
  • 可爱
  • Respect: +161
    • ดูรายละเอียด

ประการที่สาม  มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้มุสลิมไม่พอใจกับจิตใฝ่ต่ำ  จนกระทั่งเขาไม่ตกอยู่ในข้อผิดพลาดดังกล่าวนั้น ?

ตอบ  แท้จริงอัลเลาะฮ์  ตะอาลา  ทรงมอบยาให้สำหรับท่านแล้ว  ซึ่งท่านจะต้องนำมามาบำบัด  ก็คือ  คำกล่าวของท่านร่อซูลุลเลาะฮ์  ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ความว่า

كل بنى أدم خطاء ، وخير الخطائين التوابين

?ลูกหลานอาดัมทั้งหมดย่อมมีความผิด  และบรรดาผู้มีความผิดที่ดีเลิศคือผู้ทำการเตาบะฮ์?  รายงานโดย ท่านอิมามอะหฺมัด , ท่านอัตติรมีซีย์ , ท่านอิบนุมาญะฮ์ , ท่านอัลหากิม  จากท่านอะนัส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ






 mycool: mycool: mycool:

อ่านบทเรียนฮิกัมเยอะๆ ขัดเกลาจิตใจ
เมื่อใดอ่อนแอ ไหลตามนัฟซู ก็ต้องเตาบะฮ์

ออฟไลน์ Al Fatoni

  • ซังกุงคนสนิท ( +_-)
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 4905
  • เพศ: ชาย
  • จงอยู่กับความจริงแล้วจะไม่หลง
  • Respect: +76
    • ดูรายละเอียด
บ่อเกิดทุกการฝ่าฝืนคือการพอใจตนเอง ---> มันเป็นความจริงครับ และมักจะฝ่าฝืนโดยที่ตนไม่รู้ตัวด้วย ซ้ำยังบางคน เมื่อมีคนเตือน ก็มักจะต่อต้านเขา หาว่าเขายุ่งเรื่องของตน วัลอิยาฑุบิลลาฮฺ - วัสสลามุอลัยกุม
ท่านขนขวายอะไร ท่านก็จะได้สิ่งนั้น - วัลลอฮุอะอฺลัม

sara

  • บุคคลทั่วไป
อัลฮัมดุลลิลาฮ แบตหมด อ่อนแอ เข้ามาอ่าน ชารตแบตได้ดีเลย  Oops:
อยากเรียนแบบนี้ทุกวันจัง จะได้ไม่อ่อนแอ แต่ก็นะ เวลามีมากมาย แต่กลับทำตัวเองไม่มีเวลาพอ ซะงั้น  mycry

ชุกรอนจร้า   loveit:

อัซตักฟิรุลลอฮัลอะซีมๆๆๆๆๆๆๆ

ออฟไลน์ itoursab

  • เพื่อนซี้ (o_O')
  • **
  • กระทู้: 199
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
?แท้จริง  นัฟซูนั้น  จะบัญชาใช้ให้ทำความชั่ว  นอกจากผู้ที่พระผู้อภิบาลของฉันทรงเมตตา?  ยูซุฟ 53
จริงแท้เลยครับ ในทางพุทธแม้แต่อารมณ์อยากทำดี ก็เป็นสิ่งที่มักลากจูงให้เราลุ่มหลงในตนเอง

จงเมมตาต่อผู้ต่ำต้อย และสำนึกเถิดว่าเขาสูงกว่า
อย่างน้อยคนทำผิดที่รู้ตัวว่าผิด
ก็ดีกว่าคนทำถูกที่ไร้สำนึก
เพราะแท้จริงคำว่าถูกนั้นอาจเป็นเพียงนัฟซูของเขาก็ได้

ออฟไลน์ กอ-กล้วย

  • เพื่อนสนิท (._.")
  • ***
  • กระทู้: 353
  • kuru cook
  • Respect: +3
    • ดูรายละเอียด
อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺวะบะรอกาตุฮฺ

     ญาซากัลลอฮุค็อยรอนคะ

     เคยเรียนมาสมัยฟัรดูอีน อุสตาซ เคยบอกว่า การที่เราได้รับความสะดวกสบายในการงาน ก็ถือเป็นบททดสอบจากอัลลอฮฺเช่นกัน

ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่การลำพองตน อย่างที่บังอัลฯ ได้นำเสนอข้างต้น

     แล้วจะมีทางแก้ไขป้องกันอย่างไรบ้างคะ เพื่อไม่ให้เกิดการลำพองตนในความเมตตาที่อัลลอฮฺทรงประทานให้กับความสะดวกสบายในการงานดังกล่าว

ตอนนี้ กำลังประสบอยู่ และกลัวว่าจะทำให้ตัวเองมีจิตใจแข็งกระด้าง ขอคำชี้แนะด้วยคะ เพราะรู้สึกแย่กับความรู้สึกนี้มาก มันทำให้ความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺน้อยลงกว่าเดิม mycry

วัสสลามุอะลัยกุมวเราะฮฺมะตุลลอฮฺวะบะรอกาตุฮฺ

 

GoogleTagged