กระดานเสวนานักศึกษาอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ ชี้แจงแนวทางอะฮฺลิสสุนนะฮ์ฯ
Pages: 1
นบีอาดัมให้ค่าสินสอดแก่พระนางหะวาอ์์ด้วยการเศาะลาวาตให้แก่นบี(ซ.ล.)​จริงหรือไ่ม่ By: Muftee Date: พ.ย. 03, 2020, 10:03 AM

ท่านนบีอาดัม (อ.ฮ.) ได้จ่ายค่ามะหัร (ค่าสินสอด) ในการแต่งงานกับพระนางหะวาอฺ ด้วยการเศาะลาวาตให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.) จริงหรือไม่ ?? ชี้ขาดโดย ศาสตราจารย์ ดร.อะฏียะฮฺ ศ็อกรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ อดีตประธานคณะกรรมการชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์

ตอบ ..

 มีบันทึกอยู่ในตำรา “อัล-มะวาฮิบ อัล-ละดุนนียะฮฺ” ของท่านอิมาม อิบนุ หะญัร อัล-ก็อสฏอลานีย์ ซึ่งทำการชาเราะห์(อธิบายเพิ่มเติม) โดยท่าน อิมาม อัซ-ซุรกอนีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 25 ระบุว่า..

แท้จริงเมื่ออัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวะตะอาลา ได้สร้างท่านนบีอาดัมเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น พระองค์ก็ได้ทรงสร้างพระนางหะวาอฺขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงด้านซ้ายของท่านนบีอาดัมในขณะที่ท่านกำลังนอนหลับอยู่

และเมื่อท่านนบีอาดัมตื่นขึ้นมา ท่านก็เห็นพระนางหะวาอฺ ท่านนบีอาดัมก็รู้สึกแปลกใจและจ้องมองที่นางอยู่ครู่หนึ่ง แล้วท่านนบีอาดัมก็เอื้อมมือไปเพื่อที่จะสัมผัสตัวนาง แต่ทว่ามลาอิกะฮฺ (เทวฑูต) ก็ได้มาห้ามไว้เสียก่อน

และมลาอิกะฮ์ได้บอกแก่ท่านนบีอาดัมว่า “ท่านจะสัมผัสตัวของนางไม่ได้ จนกว่าท่านจะจ่ายค่าสินสอดให้แก่นางเสียก่อน”

ท่านนบีอาดัมก็ได้ถามมลาอิกะฮฺว่า “ฉันจะต้องจ่ายสิ่งใดเป็นสินสอดให้แก่นางหรือ ??”

มลาอิกะฮฺก็ตอบว่า “ท่านจงเศาะลาวาตให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด(ซ.ล.) จำนวน 3 ครั้งเถิด !!”

 และท่านอิมาม อิบนุ อัล-เญาซีย์ เสียชีวิตในปีที่ ฮ.ศ.795 ก็ได้บันทึกเรื่องราวนี้เอาไว้เช่นกันในตำรา “สัลวะตุลอะห์ซาน”  ของท่านว่า..

แท้จริงพระนางหะวาอฺนั้นไม่ได้ยินคำพูดของมลาอิกะฮฺที่ได้ร้องขอสินสอดจากท่านนบีอาดัม

แล้วท่านนบีอาดัมก็ได้ถามกับอัลลอฮฺ ตะอาลา ว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน !! สินสอดของนางนั้นเท่าไหร่กันเล่า ?!?”

พระองค์ก็ทรงตอบว่า “ท่านจงเศาะลาวาตให้แก่ผู้เป็นที่รักของฉัน มุหัมมัด บิน อับดิลละฮฺ จำนวน 20 ครั้งเถิด” แล้วท่านนบีอาดัมก็ได้ทำตามที่พระองค์ทรงบอก

 และมีบางรายงานระบุว่าแท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นผู้ที่ทำการนิกะฮฺให้แก่ท่านนบีอาดัมกับพระนางหะวาอฺ และพระองค์ก็เป็นผู้กล่าวคุตบะฮฺ (ศาสนสุนทรพจน์) ในการนิกะฮฺให้แก่ท่านทั้งสอง

 แต่ทว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้มีตำราเล่มใดบอกถึงที่มาหรือสายรายงานของมัน ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และจะเชื่อถือได้หรือไม่

 ฉะนั้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นที่อนุญาตให้แก่เราว่า จะเชื่อเรื่องนี้หรือว่าไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ได้ และการที่เราไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหลักการศาสนาแต่อย่างใด.

ดู ตำรา อัล-ฟะตาวา มิน อะห์สะนิลกะลาม ฟี อัล-ฟะตาวา วัลอะห์กาม ชี้ขาดโดย ศาสตราจารย์ ดร.อะฏียะฮฺ ศ็อกรฺ เล่มที่ 1 หน้าที่ 242.

ที่มา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3544146925647940&id=100001580029300