อิสลาม คือ สายกลาง หลักการ และความเป็นจริง

กระแสสายกลางในปัจจุบันมีกันให้ได้ยินกันบ่อย ซึ่งบางคนก็เข้าใจคำว่าสายกลางตามแนวคิดของเขา แต่บางคนไม่เข้าใจและยังสับสนคำว่าสายกลาง ได้ยินคำว่าสายกลางก็รู้สึกดูดีตามนัยยะความหมายของมันและคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ สิ่งที่ตนเองยึดอยู่คือแนวทางสายกลาง

ก่อนอื่นเราต้องยึดมั่นก่อนว่า อัลอิสลาม คือศาสนาสายกลาง ไม่ใช่ศาสนาที่สุดโต่งและไม่หย่อนยาน ดังนั้น เมื่อแนวทางของอัลอิสลามอยู่ในสายกลาง เอื้ออำนวยความสะดวก มีความสมดุล รักษาไว้ซึ่งคุณประโยชน์และเป้าหมายอันดีงาม ประชาชาติที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลอิสลาม ก็จะเป็นประชาชาติสายกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

กระแสสายกลางในปัจจุบันมีกันให้ได้ยินกันบ่อย ซึ่งบางคนก็เข้าใจคำว่าสายกลางตามแนวคิดของเขา แต่บางคนไม่เข้าใจและยังสับสนคำว่าสายกลาง ได้ยินคำว่าสายกลางก็รู้สึกดูดีตามนัยยะความหมายของมันและคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ สิ่งที่ตนเองยึดอยู่คือแนวทางสายกลาง ก่อนอื่นเราต้องยึดมั่นก่อนว่า อัลอิสลาม คือศาสนาสายกลาง ไม่ใช่ศาสนาที่สุดโต่งและไม่หย่อนยาน ดังนั้น เมื่อแนวทางของอัลอิสลามอยู่ในสายกลาง เอื้ออำนวยความสะดวก มีความสมดุล รักษาไว้ซึ่งคุณประโยชน์และเป้าหมายอันดีงาม ประชาชาติที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลอิสลาม ก็จะเป็นประชาชาติสายกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

    ผมเห็นผู้รู้และนักพัฒนาสังคมมุสลิมเขียนบทความเกี่ยวกับประชาชาติสายกลาง แบบเปิดทัศนะความคิดกว้างขวางระดับโลก จนพี่น้องมุสลิมบางท่านหาบทสรุปไม่ได้ว่า เมื่อมุสลิมเป็นประชาชาติสายกลาง ทำไมปัจจุบันสถานะภาพของมุสลิมยกตกต่ำในสายตาของประชาคมโลก แล้วจะมีความภาคภูมิใจอะไรที่จะมาเรียกว่า มุสลิมคือประชาชาติสายกลาง แต่ผมมองอีกมุมหนึ่งว่า การที่มุสลิมจะเป็นประชาชาติที่สายกลางอย่างแท้จริงนั้น มุสลิมกันเองต้องมีคุณลักษณะของความสายกลางเสียก่อน เผอิญว่าผมนิยมพูดเรื่องใกล้ตัว ไม่นิยมพูดแบบเปิดโลกทัศน์ เกรงว่าพี่น้องจะเอื้อมไม่ถึงและจับต้องไม่ได้ จึงทำให้คำว่าสายกลางกลายเป็นเพียงแค่ทฤษฏีไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ บางทีผมอาจจะเป็นคนที่ไม่นิยมวิเคราะห์กว้างขวางแบบระดับโลกแต่ชอบมองอะไรแบบชาวบ้าน ๆ มองสิ่งใกล้ ๆ ตัว จึงทำให้การเสนอความคิดของผมไปกระทบกระทั่งพี่น้องบางกลุ่ม และบางท่านที่มีใจเป็นกลางที่เข้ามาก็ไม่ค่อยชอบการนำเสนอของผมเท่าที่ควร เพราะอาจจะตรงประเด็นเกินไป ผมยังนึกขำกับตัวเองอยู่เลยครับ แต่ผมว่าเป็นตัวของตัวเองแบบอิสระนั้นดีที่สุดแล้วครับ ตามกระแสการชักจูงของคนอื่นเดี๋ยวก็ไม่มีอะไรใหม่กันพอดี

ส่วนหนึ่งจากความผิดพลาดอันตรายที่เป็นผลมาจากกลุ่มที่มีความสุดโต่งแข็งกร้าว เข้มงวดเกิดไปจนกระทั่งปิดกั้นสิ่งที่ชารีอะฮ์ได้สั่งใช้ ลืมคุณประโยชน์และเป้าหมายอันดีงามตามเจตนารมณ์ของศาสนา เยาวชนหนุ่มสาวบางกลุ่มตกไปอยู่ในกระแสความสุดโต่ง เนื่องพวกเขามิได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแห่งวิชาการที่เหมาะสม จนกระทั่งตกไปอยู่ในแนวคิดที่แข็งกร้าวรุนแรง ทั้งที่ปัญญาชนทุกคนย่อมตระหนักดีว่าความรุนแรงนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยกับความแข็งกร้าวเนื่องจากความแข็งกร้าวรุนแรงมักอยู่บนทัศนคติที่ผิดพลาด ดังนั้นเมื่อแนวคิดที่ผิดพลาดไม่ได้รับการเยียวยาด้วยแนวทางที่ถูกต้อง ต่อไปอันตรายจะเข้ามาครอบงำสังคมและประชาชาติอิสลามอย่างแน่นอน
 

นิยามคำว่า "สายกลาง"

คำว่า สายกลาง มาจากคำภาษาอาหรับว่า اَلْوَسَطُ (อัลวะซัฏ) ซึ่งหมายถึง "ดีเลิศที่สุดหรือคุณภาพดีที่สุด" หรือหมายถึง สิ่งที่อยู่ระหว่างสองประการที่ถูกตำหนิ เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่ระหว่างความตระหนี่กับความสุรุ่ยสุร่าย ความกล้าหาญอยู่ระหว่างความขลาดกลัวกับความผลุนผลันมุทะลุ

สายกลางคือเอกลักษณ์พิเศษของประชาชาติอิสลาม ดังที่อัลเลาะฮ์ตะอาลา ตรัสความว่า

وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطاً لِّتَكُونُواْ شُهَدَاء عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيداً
"และในทำนองเดียวกันนั้น เราได้ดลบันดาลพวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลางเพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษยชาติและศาสนทูต(มุฮัมมัด) ก็เป็นสักขีพยานสำหรับพวกเขาทั้งมวล" (อัลบะกอเราะฮ์ : 143)

ความเป็นประชาชาติสายกลางของประชาชาติอิสลามนั้น ได้รับสืบทอดเจตนารมณ์มาจากแนวทางที่เป็นกลาง มีความสมดุลย์ ปราศจากความสุดโต่งและหย่อนยาน ดังนั้นเมื่อมีความสมดุลย์เกิดขึ้น เสถียรภาพย่อมบังเกิด จากนั้นหนทางที่เที่ยงตรงก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ด้วยความเป็นธรรมชาติสายกลางของอิสลามนี้แหละครับ ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงสอนให้เราทำการเฝ้าวอนขอต่อพระองค์ซึ่งหนทางที่เที่ยงตรงในละหมาดไม่น้อยกว่า 17 ครั้งต่อวัน ที่ว่า

اهدِنَــــا الصِّرَاطَ المُستَقِيمَ صِرَاطَ الَّذِينَ أَنعَمتَ عَلَيهِمْ غَيرِ المَغضُوبِ عَلَيهِمْ وَلاَ الضَّالِّينَ
"พระองค์โปรดชี้นำเราสู่แนวทางที่เที่ยงตรงด้วยเถิด ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา มิใช่แนวทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่(แนวทางของ)พวกที่หลงผิด" (อัลฟาติหะฮ์ : 6 – 7)

ในซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ที่เราอ่านในทุกรอกะอัตของละหมาดนั้น อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาใช้ให้เราอยู่ในสายกลาง "บรรดาผู้ถูกกริ้ว" นั้นก็คือพวกยะฮูดี และ "พวกที่หลงผิด" คือพวกนะศอรอ ดังนั้น พวกยะฮูดีกับพวกนะซอรอนั้น เป็นอุทาหรณ์แห่งความเกินเลยและหย่อนยาน เช่น พวกยิวเลยเถิดฆ่าบรรดานบี ส่วนพวกนะซอรอเลยเถิดนำเอาท่านนบีอีซาเป็นพระเจ้า และพวกยะฮูดีหย่อนยานมักง่ายในสิ่งที่ต้องห้าม ส่วนพวกนะซอรอมักง่ายในเรื่องที่ฮะล้าล ดังนั้น หนทางสายกลางก็คือ การเดินอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรงซึ่งเป็นแนวทางของกลุ่มชนที่อัลเลาะฮ์ (สุบหานะฮุวะตะอาลา) ทรงประทานความโปรดปราณจากบรรดานบี บรรดาผู้สัจจริง บรรดาผู้มรณะสักขี และบรรดาผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย

พี่น้องผู้อ่านครับ ทุกแนวทางก็เชื่อกันว่าตนเองก็อยู่ในหนทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรม หากท่านผู้อ่านตั้งคำถามขึ้นแก่ผมว่า "เมื่อทุกแนวทางต่างเชื่อกันว่าแนวทางของตนก็คือแนวทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรมนั้น พวกเขาทั้งคือสายกลางน่ะซิ?" ผมขอตอบว่า "แนวทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรมนั้น ต้องอยู่บนความเป็นสายกลางในเชิงหลักการและฉายออกมาให้เห็นทางพฤติกรรมด้วยเช่นกัน"

ท่านอิบนุอับบาสได้รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

إِيَّاكُمْ وَالْغُلُوَّ فِي الدِّيْنِ فَإِنَّمَا أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ الْغُلُوَّ فِي الدَّيْنِ
"พวกท่านจงระวังการเลยเถิดในเรื่องศาสนา เพราะแท้จริงบุคคลที่อยู่ก่อนหน้าพวกท่านนั้นได้ประสบความวิบัติเกี่ยวกับความเลยเถิดในเรื่องศาสนา" อันนะซาอีย์ (3057)

รายงานจากท่านอิบนุมัสอูด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวซ้ำกันถึงสามครั้งว่า

هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُوْنَ
"บรรดาผู้มุตะนัตติอูน(ผู้ที่คิดลึกเกินเลยขอบเขต)ได้มีความวิบัติแล้ว" รายงานโดยมุสลิม

ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า "พวกมุตะนัตติอูน คือ พวกคิดลึกเลยเถิดเกินขอบเขตทั้งในบรรดาคำพูดและการกระทำของพวกเขา" (ชัรหฺ ศ่อฮีหฺมุสลิม 16/220)

จากหะดีษข้างต้นนี้ ชี้ถึงการเลยเถิดสุดโต่ง ได้ออกจากแนวทางที่เป็นสายกลาง เกินเลยขอบเขต ดังนั้นบ่อเกิดของความเลยเถิด ก็มาจากผลของการอธิบายตัวบทต่าง ๆ ของศาสนาแบบแข็งกร้าวรุนแรงค้านกับเป้าหมายและเจตนารมณ์ของชะรีอะฮ์อิสลาม และพยายามให้ตนเองและบุคคลอื่น ยึดทัศนะของตนพร้อมกับทำการฮุกุ่มทัศนะที่ต่างจากตน ทำการตำหนิว่ากล่าวอย่างเสียหายต่อผู้รู้ที่มีทัศนะต่างจากตนอย่างไร้อัคลาคของอัลอิสลาม เช่น ฮุกุ่มทัศนะอื่น เป็นคนชั่ว โง่เขลา บิดอะฮ์ ตกนรก ดังนั้น ความเลยเถิดเข้มงวดจึงมิใช่เป็นการแสวงหาความสมบูรณ์ในเรื่องการทำอิบาดะฮ์หรือเป็นการแสดงถึงความรอบคอบในเรื่องของศาสนา

ท่านชัยค์ ด็อกเตอร์ อัลก็อรฏอวีย์ กล่าวว่า "ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมในการที่เราจะทำการกล่าวหาบุคคลหนึ่งว่า เขาฝักใฝ่(ฝ่ายทัศนะของตน)ในเรื่องของศาสนาเพียงเพราะได้เลือกทัศนะความเห็นต่าง ๆ ของฟิกฮฺที่เข้มงวดอันเนื่องจากเขาเชื่อว่ามันถูกต้องและมีน้ำหนักที่สุด...ซึ่งหากแม้นว่าคนอื่นจะเห็นว่าทัศนะความเห็นของเขามีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเป็นทัศนะที่อ่อนก็ตาม" (อัศเศาะห์วะตุลลอฮ์อิสลามียะฮ์ : 36)

ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่าน ชัยค์ ด็อกเตอร์ ยูซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ เนื่องจากเป็นการไม่บังควรที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างแนวทางหรือทัศนะของตนขึ้นมาแล้วทำการตำหนิผู้ที่ขัดแย้งกับตน ทำการกล่าวหาอย่างน่ารังเกียจ สร้างภาพระบายสีต่อผู้อื่นในแง่ลบ โดยกักตุนหรือแช่แข็งความถูกต้องไว้สำหรับพวกเขาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ความเลยเถิด การฝักใฝ่ในทัศนะฝ่ายตน และมีความแข็งกร้าวนั้น เป็นการออกจากเจตนารมณ์ของอิสลามและความเป็นสายกลางของศาสนา

ท่านพี่น้องผู้อ่านครับ สิ่งที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างตนนั้น เป็นหลักการในแง่มุมหนึ่งของคำว่า "สายกลาง" คือศาสนาอิสลามนั้นอยู่บนสายกลาง ผู้ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอิสลามที่แท้จริงก็ย่อมอยู่ในสายกลางด้วยเช่นกัน แต่พี่น้องบางท่านอาจจะสับสนว่า คำว่า "สายกลาง" เราจะฉายภาพให้เห็นในเชิงปฏิบัติได้อย่างไร และภาพแห่งความจริงของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสายกลางนั้นเป็นอย่างไร? และการเรียกชื่อของแนวทางนั้นเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกหรือเปล่าถือว่าอยู่ในสายกลางหรือเปล่า? มีคนกล่าวว่า นั้นคือความเชื่อของกลุ่มแนวคิดวะฮาบีย์ กลุ่มนั้นมีแนวทางอัลอะชาอิเราะฮ์ กลุ่มนี้ประกาศตนและวางสโลแกนว่าอยู่ในสายกลาง ดังนั้น คำว่าสายกลางในภาพแห่งความเป็นจริงทั้งในด้านจุดยืน คำพูด และการกระทำนั้น มันเป็นอย่างไร?!
 

สายกลางในภาพแห่งความเป็นจริง

ปัจจุบันเมืองไทยบ้านเราเริ่มมีความหลากหลายทางทัศนะเกิดขึ้น ในอดีตก็จะมีแต่การปฏิบัติฟิกฮฺมัซฮับชาฟิอีย์และอะกีดะฮ์อะฮ์ลิสซุนนะฮ์อัลอะชาอิเราะฮ์ โดยได้รับการเผยแผ่มาจากอุละมาอ์ฮะเฏาะเมาต์แห่งเยเมน ซึ่งล้วนเป็นอุละมาอ์ลูกหลานท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทางเชื้อสายท่านซัยยิดินาฮุซัยน์ ที่เข้ามาทางอินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่ บ้างก็ผ่านเข้ามาทางอุละมาอ์ปัตตานีที่ทำการศึกษาความรู้จากอุละมาอ์ลูกหลานนบีจากนครมักกะฮ์ในสมัยนั้น การเดินทางไปศึกษามีความยากลำบากไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ความรู้ที่พี่น้องมุสลิมในเมืองไทยได้รับในอดีต ก็ได้รับมาจากอุละมาอ์เหล่านี้ แต่ปัจจุบันการสื่อสารสมาคมระหว่างประเทศสะดวก ตำราในการศึกษาค้นคว้ามีกว้างขวาง บรรดาพี่น้องมุสลิมที่ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ ก็ได้รับการศึกษาที่หลากหลาย กลับมาเมืองไทยจึงทำการเผยแพร่ความรู้ที่ตนได้เรียนรู้มา ความหลากหลายจึงเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ เพราะหากเรามาพิจารณากันที่ประเทศอียิปต์ ประชาชนมีความหลากหลายใน 4 มัซฮับ แต่พวกเขาก็อยู่กันได้ฉันท์พี่น้อง ในมัสยิดหนึ่งบางครั้งอิมามนำละหมาดไม่อ่านบิสมิลลาฮ์ แต่ละหมาดอีกเวลาหนึ่งมีอิมามนำละหมาดอ่านบิสมิลลาฮ์ ผมละหมาดซุบฮ์ในมัสยิดโดยมีอิมามที่ไม่อ่านกุนูต แต่ในบางวันอิมามคนเดียวกันทำการอ่านกุนูตซุบฮ์โดยที่บรรดามะมูมหน้าเดิม ๆ ก็ทำการอ่านกุนูตอย่างพร้อมเพียงกัน โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมะดอนก็จะทำการอ่านกุนูตซุบฮ์กันทั้งเดือน เพื่อจะได้มีการขอดุอากันให้มาก ๆ ในเดือนอันประเสริฐนี้ แต่กระนั้นก็ไม่มีพี่น้องมุสลิมคนใดแสดงอาการตำหนิหรือไม่พอใจในประเด็นเรื่องการอ่านกุนูตหรือไม่อ่านกุนูต เหตุใดพวกเขาจึงมีจุดยืนอย่างนั้น ทั้งที่มีการปฏิบัติหลายมัซฮับในมัสยิดเดียวกัน นั่นก็เพราะว่าพวกเขายืนอยู่ใน "สายกลาง" แม้จะมีความหลากหลายในมัซฮับก็ไม่เกิดความหย่อนยานและความสุดโต่ง ดังนั้น ความสมดุลย์จึงเกิดขึ้น แล้วเสถียรภาพก็จะบังเกิดขึ้นในสังคมที่มีความหลากหลายเพราะอยู่บนรากฐานของสายกลาง

พี่น้องครับ เราต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นว่า สังคมเมืองไทยบ้านเราต้องมีความหลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคต แต่เหตุใดความรุนแรงและแข็งกร้าวในทัศนะจึงเกิดขึ้น ฮุกุ่มทัศนะอื่น เป็นคนชั่ว โง่เขลา บิดอะฮ์ ตกนรก เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น?
 

1. เพราะมีความตะอัศศุบในทัศนะ

การตะอัศศุบ (ยึดติด) กับทัศนะของตนเอง ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้มีมานะทิฐิ ไม่ยอมรับในทัศนะอื่น พยายามกีดกันทัศนะต่าง ๆ ที่แตกต่างกับตน อันตรายของความสุดโต่งจึงเริ่มทวีคูณ เมื่อเขาต้องการกำหนดให้คนอื่นมาตามทัศนะของตน ด้วยการใช้ความแข็งกร้าว พยายามเอาชนะด้วยการกล่าวหาว่า ทำบิดอะฮ์ ทำชิริก จนฮุกุ่มทัศนะอื่นจากตนเป็นกาเฟรในเชิงหลักการ ถือว่าเป็นการก่อการร้ายในเชิงอุดมการณ์ที่ร้ายแรงและน่ากลัวว่าการก่อการร้ายในเชิงปฏิบัติเสียอีก ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ไม่ใช่สายกลางทั้งที่ศาสนาอิสลามคือสายกลาง แต่พวกเขาเป็นพวกมุตะนัตติอูนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ในซอฮิห์มุสลิม ซึ่งพวกมุตะนัตติอูนนี้ ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า "พวกเขา คือ พวกคิดลึกเลยเถิดเกินขอบเขตทั้งในบรรดาคำพูดและการกระทำของพวกเขา" (ชัรหฺ ศ่อฮีหฺมุสลิม 16/220)

พี่น้องบางท่านบอกว่า คนที่ยึดมัซฮับนั้นคือผู้ที่ตะอัศศุบทัศนะของตน กลับกลายเป็นว่าผู้ไม่นิยมมัซฮับนั้น เมื่อพยายามให้ผู้มีมัซฮับยึดในทัศนะตน และเขาไม่เลือกตาม ก็จะกล่าวหาว่าผู้มีมัซฮับตะอัศศุบไม่อยู่ในสายกลาง ผมขอเรียนอย่างนี้นะครับว่า การตะอัศศุบนั้นคือความเห็นแก่ตัว (อะนานียะฮ์) กล่าวคือ ต้องการให้คนอื่นมายึดทัศนะของตนเท่านั้น โดยเชื่อว่าทัศนะของตนถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ขอยกตัวอย่างเรื่องการอ่านอัลกุรอานแล้วฮะดียะฮ์มอบผลบุญให้แก่มัยยิดได้หรือไม่? นักปราชญ์มีทัศนะที่แตกต่างกัน อิมามอบูหะนีฟะฮ์, อิมามอะห์มัด, อิมามอันนะวาวีย์, ท่านอิบนุตัยมียะฮ์, และท่านอิบนุก๊อยยิม เป็นต้น ได้เลือกเฟ้นทัศนะที่กล่าวว่า การอ่านอัลกุรอานแล้วฮะดียะฮ์ มอบผลบุญให้แก่มัยยิดนั้นได้ ส่วนนักปราชญ์คนอื่น ๆ บอกว่าไม่ได้ นี้คือประเด็นคิลาฟียะฮ์ที่มุสลิมคนหนึ่งสามารถเลือกนำมาปฏิบัติได้โดยไม่อนุญาตให้ตะอัศศุบและไปตำหนิอีกทัศนะหนึ่ง

ดังนั้น ไม่ว่าผู้มีมัซฮับหรือไม่มีมัซฮับ หากเชื่อว่าทัศนะของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการ ตะอัศศุบที่น่าตำหนิ หลักนิติศาสตร์อิสลามระบุว่า "สิ่งที่ถูกขัดแย้งกันนั้นจะไม่ถูกทำการตำหนิและแท้จริงสิ่งที่ถูกทำการตำหนินั้นคือ (สิ่งที่ขัด) กับสิ่งลงมติ (อิจญฺมาอ์ปราชญ์) แล้ว" (หนังสืออัลอัชบาฮ์วันนะซออิร ของอิมามอัสสะยูฏี กออิดะฮ์ที่ : 35) ท่านอิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า "แท้จริงบรรดานักปราชญ์จะตำหนิในเรื่องที่มีมติเอกฉันท์ให้ทำการตำหนิ แต่สำหรับสิ่งที่เป็นคิลาฟียะอ์นั้นย่อมไม่มีการตำหนิแต่ประการใด(ที่จะเลือกระทำ)" (ฟะตะวาอิบนุตัยมียะฮ์ 20/225) นั่นคือหลักการของปวงปราชญ์ในทุกยุคสมัยแห่งประชาชาติอิสลามที่อยู่บนสายกลาง ตำหนิในสิ่งที่มีหลักฐานเด็ดขาดว่าต้องห้าม อะลุ่มอะหล่วยในเรื่องที่การวินิจฉัยเข้ามามีบทบาท ท่านชัยค์ ด็อกเตอร์ อัลก็อรฏอวีย์ กล่าวว่า "ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมในการที่เราจะทำการกล่าวหาบุคคลหนึ่งว่า เขาฝักใฝ่ (ฝ่ายทัศนะของตน) ในเรื่องของศาสนาเพียงเพราะได้เลือกทัศนะความเห็นต่าง ๆ ของฟิกฮฺที่เข้มงวดอันเนื่องจากเขาเชื่อว่ามันถูกต้องและมีน้ำหนักที่สุด...ซึ่งหากแม้นว่าคนอื่นจะเห็นว่าทัศนะความเห็นของเขามีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเป็นทัศนะที่อ่อนก็ตาม" (อัศเศาะห์วะตุลลอฮ์อิสลามียะฮ์ : 36)
 

2. การออกฮุกุ่มตัดสินปัญหาศาสนาแข็งกร้าว

ส่วนหนึ่งจากความเลยเถิดหรือมีหลักการที่ไม่อยู่ในสายกลาง ก็คือ การออกฟัตวาหรือไขปัญหาศาสนาในเรื่องการฮุกุ่มการเฟร ฮุกุ่มบิดอะฮ์ ฮุกุ่มฮะล้าล ฮุกุ่มฮะรอม ฮุกุ่มนรก โดยเขาไม่มีศักยภาพพอในการเข้าใจตัวบทต่าง ๆ ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และไม่มีคุณสมบัติอย่างเพียงพอในการวินิจฉัยฮุกุ่มตามหลักของศาสนา ยกตนเองเป็นนักมุจญ์ฮิดในการฮุกุ่มเกี่ยวกับเรื่องศาสนา แล้วทำการฟัตวากุนูตบิดอะฮ์ ละหมาดฮายัตบิดอะฮ์ การยกมือขณะขอดุอาบิดอะฮ์ การลูบหน้าหลังดุอาบิดอะฮ์ ทำเมาลิดรำลึกถึงนบีบิดอะฮ์ โดยมีท่าทีทำการฟัตวาแข็งกร้าวต่อทัศนะอื่นและพยายามให้ผู้อื่นยึดทัศนะของตน แบบตะอัศศุบโดยเกินเลยเอาเรื่องนรกสวรรค์มาประกอบในฟัตวาเพื่อให้เสริมทัศนะของตนนั้น ถือว่าไม่ใช่หลักการฟัตวาและการวินิจฉัยตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม การฟัตวาตามหลักของศาสนาต้องคำนึงถึงที่มาและความเข้าใจจากหลักฐานของศาสนา ต้องแยกแยะว่าประเด็นปัญหาศาสนาใดมีหลักฐานยืนยันที่เด็ดขาด (ก็อดอีย์) และปัญหาใดที่มีหลักฐานยืนวันที่ไม่เด็ดขาด (ซ็อนนีย์) เช่น วินิจฉัยมาจากหลักฐานที่ไม่มุตะวาติร (มุตะวาติร คือคือตัวบทที่ถูกรายงานโดยเป็นไปไม่ได้ที่บรรดาผู้รายงานมากมายจะรวมตัวกันมุสา) หรือฟัตวาที่ได้มาจากความเข้าใจหรือวินิจฉัยจากตัวบท เป็นต้น ดังนั้นประเด็นปัญหาใดที่ไม่มีหลักฐานยืนยันเด็ดขาดชัดเจนและต้องเอาความเข้าใจมาวินิจฉัยนั้น ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในเรื่องของนรกและสวรรค์มาประกอบการตัดสินปัญหาทางนิติศาสตร์อิสลาม จนเกิดความกระด้างกระเดื่องระหว่างพี่น้องมุสลิม จนกระทั่งบางคนเชื่อว่ามุสลิมส่วนมากลงนรก สร้างความเป็นศัตรูในแง่ของอุดมการณ์

อัลเลาะฮ์ตะอาลา ได้ตรัสเกี่ยวกับพวกชาวคัมภีร์ว่า

فَنَسُواْ حَظّاً مِّمَّا ذُكِّرُواْ بِهِ فَأَغْرَيْنَا بَيْنَهُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ
"แล้วพวกเขาก็ลืม(หมายถึงทำการละทิ้ง) หน้าที่จากที่พวกเขาได้ถูกนำมาเตือน ดังนั้นเราได้ปลูกฝังระหว่างพวกเขาให้มีอริต่อกันและความโกรธซึ่งกันและกันจนถึงวันกิยามะฮ์" (อัลมาอิดะฮ์ : 15)

ดังนั้น พวกเราต้องการที่จะให้พี่น้องมุสลิมเปลี่ยนไปอยู่ในสถานะภาพของความมีอริต่อกัน ความเป็นศัตรูกัน ที่เกิดมาจากความแข็งกระด้างของหัวใจ พูดจาหยาบกร้าว แสดงออกซึ่งอุปนิสัยที่กระด้างเดื่องกระนั้นหรือ? คุณลักษณะของเราที่ว่า "แข็งกร้าวต่อผู้ไร้ศรัทธาอีกทั้งเมตตาอาทรในระหว่างพวกเขากันเอง" (อัลฟัตห์ : 29) นั้นเปลี่ยนไปเป็นการแข็งกร้าวต่อผู้ศรัทธา ซึ่งดังนี้เป็นลักษณะของพวกค่อวาริจญ์ ที่ชอบอ้างว่า ไม่มีการตัดสินใดนอกจากอัลเลาะฮ์เท่านั้น จนกระทั่งทำการรบและเป็นศัตรูต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน

ยิ่งกว่านั้น พี่น้องบางส่วนแสดงความอริศัตรูต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เมื่อพบกันก็ไม่ให้สลามและไม่ตอบรับสลามนอกจากกับผู้ที่อยู่แนวทางเหมือนกับพวกเขา เมื่อปราศรัยก็จะใช้วาจาแข็งกร้าว ด่าทอ หยามหมิ่นต่อพี่น้องมุสลิมต่างทัศนะ ดังนั้น ที่ดียิ่งควรสร้างมิตรไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาอย่างนิ่มนวล ผูกสายใยแห่งความรักใคร่ระหว่างพี่น้องมุสลิม อ่านชีวประวัติของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อดำเนินตามซุนนะฮ์ของท่าน ด้วยการศึกษาบรรดาซุนนะฮ์ที่กล่าวถึงการมีจรรยามารยาทที่ดีงาม มีความนอบน้อมและอ่อนโยนต่อคนรอบข้าง เน้นศึกษาเกี่ยวกับหะดีษนบีที่ห้ามเรื่องความอธรรม การสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น มีความอคติคิดในแง่ลบต่อผู้อื่น มีความอิจฉาริษยา ด่าทอเหยียดยาม หมิ่นเกียรติต่อพี่น้องมุสลิมต่างทัศนะเป็นต้น
 

3. มีการตำหนิอุละมาอ์ที่มีทัศนะไม่ตรงกับตน

การจำกัดสัจธรรมอยู่ในคน ๆ เดียว หรือในแนวทางเดียว หรือการเชื่อว่าสัจธรรมได้อยู่เพียงแนวทางที่พวกเขายึดนั้น ผลลัพธ์ตามมาก็คือ จะนำไปสู่การตำหนิต่อผู้ที่มีทัศนะแตกต่างจากตน เมื่อเห็นว่าอุละมาอ์ท่านหนึ่งมีผู้คนให้ความประทับใจและชอบในอุดมการณ์ของเขา ก็พยายามสรรหาข้อผิดพลาดต่าง ๆ แล้วนำมาวิจารณ์ตำหนิในส่วนที่ไม่ตรงกับทัศนะของตน ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ มิใช่อะไรเลยนอกจากเพียงเพื่อสนับสนุนแนวคิดและอารมณ์ของตนเอง ทำประเด็นที่ไม่เด็ดขาด (ซ็อนนีย์) ให้เป็นประเด็นที่เด็ดขาด (ก็อดอีย์) หรือทำประเด็นที่คิลาฟียะฮ์ให้เป็นประเด็นที่อิจญฺมาอ์ แล้วฮุกุ่มว่าบิดอะฮ์ฮะรอม หากขัดแย้งกับตนถือว่าผิดและทำการตำหนิ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ผู้เจริญรอยตามตนเชื่อและร่วมกันต่อต้าน บรรดาผู้ที่ฝักใฝ่ในทัศนะของตนนั้นเราจะพบว่าจะมีอุละมาอ์แห่งประชาชาติอิสลามท่านใดรอดพ้นจากการวิจารณ์ของพวกเขานอกจากอุละมาอ์ที่มีทัศนะเห็นพร้องกับฝ่ายตนไม่กี่ท่านเท่านั้น

หากเราจะพิจารณาถึงความเป็นจริง ก็จะพบว่าอุละมาอ์ทุกท่านเป็นมนุษย์ที่อยู่ในวิสัยไม่พ้นจากความผิดพลาด หากจะสรรหาข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของอุละมาอ์ ก็สามารถสรรหารวบรวมแล้วนำมาเขียนเป็นตำราให้อ่านกันได้ไม่ยาก หากจะทำการวิจารณ์ทัศนะของอุละมาอ์ ก็ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ อยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปราชญ์อิสลามได้วางไว้เพื่อนำมาเข้าใจตัวบทของศาสนาที่ถูกต้อง พร้อมทั้งมีทัศนะคติในแง่ดีต่ออุละมาอ์ท่านนั้น ๆ หากวิจารณ์ก็ควรวิจารณ์แค่หลักการหรือทัศนะ มิใช่วิจารณ์หรือฮุกุ่มในตัวตนของอุละมาอ์ จนทำให้ไปสู่การตัดสินว่าอุละมาอ์ท่านนั้นบิดอะฮ์อยู่ในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง แล้วดังกล่าวก็นำไปสู่การตำหนิ ทำให้ผู้ติดตามตนมีความอคติในอุละมาอ์ท่านนั้น ๆ ทั้งที่เราสมควรมีทัศนะคติในแง่ดีที่ว่า บรรดาอุละมาอ์เขามีหลักการที่ถูกต้องมากมายนับไม่ถ้วน หากสมมุติว่าความผิดพลาดส่วนน้อยเป็นบาป เขาย่อมถูกลบล้างด้วยความดีงามอันมากมายดังมหาสมุทรที่หาฝั่งไม่ได้ นี่คือแนวทางสายกลางสำหรับผู้ที่ต้องการนำเสนอวิเคราะห์แนวทางหรือทัศนะต่าง ๆ ของอิสลาม
 

4. มีความเข้าใจคาดเคลื่อนต่อแนวทางสะลัฟ

ปัจจุบัน มัซฮับสะละฟีย์ หมายถึง แนวทางของผู้เจริญรอยตามสะลัฟ ได้เป็นชื่อเรียกแทนแนวทางของพี่น้องมุสลิมกลุ่มหนึ่ง พวกเขามีความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ชื่อนี้ ความจริงคำว่า สะลัฟหรือสะละฟีย์ นั้นมิใช่เป็นแนวทางหรือมัซฮับแต่ทว่าเป็นเพียงแต่ช่วงเวลาในยุคหนึ่งที่มีความสิริมงคล ท่านอัลลามะฮ์ ด๊อกเตอร์ มุฮัมมัด สะอีด ร่อมะฎอน อัลบูฏีย์ ได้ชี้แจงถึงเท็จจริงดังกล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า "อัสสะฟียะฮ์ มัรฮะละฮ์ ซะมะนียะฮ์ มุบาร่อกะฮ์ ลา มัซฮับ อิสลามี" ซึ่งท่านได้กล่าว สะละฟียะฮ์ ก็คือช่วงเวลาสามศตวรรษแรกจากของอุมมะฮ์อิสลาม เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "ศตวรรษที่ดีเลิศคือศตวรรษของฉัน หลังจากนั้นบรรดาบุคคลที่ถัดจากพวกเขา หลังจากนั้นบรรดาบุคคลที่ถัดมาจากพวกเขา" รายงานโดยบุคอรี (2652) และมุสลิม (2033) บรรดาบุคคลที่อยู่ในช่วงสามศตวรรษแรก ก็คือ บรรดาซอฮาบะฮ์ ตาบิอีน และตาบิอิตตาบิอีน

ความจริงการยึดแนวทางของสะลัฟ ก็คือ การยึดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ (ก่อวาอิด) ที่พวกเขาใช้ทำความเข้าใจบรรดาตัวบท และยึดมั่นข้อเท็จจริงของหลักอะกีดะฮ์และหลักปฏิบัติของพวกเขาที่มีมติเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากด้วยการดำรงไว้ซึ่งหลักสูตรที่พวกเขานำมาเป็นกฎเกณฑ์ในการเข้าใจตัวบทจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และการกลับไปสู่แนวทางของพวกเขาก็ด้วยการยึดรากฐาน (อุศูล) การอิจญฺฮาด (วินิจฉัย) และวิจัยหลักฮุกุ่มต่าง ๆ แต่คำว่า สะละฟียะฮ์ ที่กลายเป็นคำนิยามใหม่ที่มีหลักการเฉพาะของชนมุสลิมีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นชื่อเรียกของมัซฮับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาริอัตอัลอิสลาม โดยที่อุละมาอ์สะละฟุสซอลิหฺ และเคาะลัฟของประชาชาตินี้ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน ทั้งที่อุละมาอ์สะลัฟ (ร.ฏ.) เหล่านั้น ไม่เคยเอาคำว่า "สะลัฟ" นี้มาตั้งเป็นมัซฮับสะละฟีย์ ปัจจุบันกลุ่มสะละฟียะฮ์พยายามทำตนให้เป็นจุดเด่นเหนือบรรดามุสลิมีนทั่วไปด้วยการมีมาตรฐานหรือหลักการเข้าใจศาสนาที่เฉพาะตน หากท่านผู้อ่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ "อัสสะละฟียะฮ์ ฯ" ของท่าน ชัยค์ ด็อกเตอร์ ร่อมะฎอน อัลบูฏีย์ นั้น ก็สามารถศึกษารายละเอียดได้ในหน้าที่ 231 เป็นต้นไปครับ

ดังนั้น สะละฟุศอลิห์จริง ๆ ไม่เคยตั้งชื่อมัซฮับตนเองว่าอยู่ในมัซฮับสะละฟียะฮ์ เพื่อมาแบ่งแยกตนเองให้โดนเด่นเหนือบรรดามหาชนมุสลิมอื่น ๆ เพราะพวกเขาเป็นประชาชาติสายกลางที่อยู่ภายใต้ศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาแห่งสายกลาง แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ กลุ่มที่เรียกตนเองว่าอยู่มัซฮับสะละฟียะฮ์ ก็เพื่อบ่งชี้ถึงว่ามหาชนมุสลิมีนอื่น ๆ มิใช่อยู่ในแนวทางของสะลัฟ จนกระทั่งอะฮ์ลิสซุนนะฮ์อัลอิชาอิเราะฮ์และอัลมะตูริดียะฮ์แนวทางของมหาชนส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบันได้ถูกตัดสินเฉือนออกจากแนวทางของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์เสียแล้ว! กำจัดความถูกต้องเพียงแค่แนวทางของตน ซึ่งจุดยืนเช่นนี้มิใช่สายกลาง

ท่านอิมาม มุฮัมมัด บิน อะหฺมัด อัซซัฟฟารีนีย์ ปราชญ์มัซฮับหัมบาลีย์ กล่าวว่า อะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์นั้น มีอยู่ 3 กลุ่ม 1. กลุ่ม (อัล-อะษะรียะฮ์) (คือกลุ่มอะฮ์ลุลหะดีษ) แกนนำของพวกเขา คืออิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) 2. กลุ่ม (อัล-อัชอะรียะฮ์) แกนนำของพวกเขา คือ อิมาม อบู อัลหะซัน อัลอัชอะรีย์ (ร.ฮ.) 3. กลุ่ม (อัล-มะตูรีดียะฮ์) แกนนำของพวกเขา คืออิมาม อบู อัลมันซูร อัลมุตูรีดีย์(ร.ฮ.) (ดู หนังสือ ละมาเมี๊ยะอฺ อัลอันวาร อัลบะฮียะฮ์ หน้า 73) พวกเขา 3 แนวทางนี้คืออะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ที่มีหลักอะกีดะฮ์โดดเด่นในทุกยุคสมัย พวกเขาไม่ยึดติดเพียงแค่ชื่อของแนวทาง แต่ทำการพิจารณาเนื้อหาสารัตถะและหลักการ ดังนั้นเมื่อเนื้อหาและหลักการต่างไปสู่เป้าหมายเดียวกัน พวกเขาจึงไม่กล่าวหาบิดอะฮ์ต่อกัน การให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้นในหมู่พวกเขา นี้คือแนวทางสายกลางแห่งประชาชาติอิสลาม อีกทั้งยังเป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ชาติโดยทำการแบกรับอัลกุรอานและซุนนะฮ์มาสู่เราในทุกยุคสมัย

สาธยายมาก็พอสมควรแล้วครับ พี่น้องพอจะมองในแง่มุมหนึ่งของสายกลางออกบ้างแล้วหรือยังครับ ความจริงความเป็นสายกลางก็ควรเริ่มตั้งแต่ตัวเรา ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลกอิสลาม พูดไประดับประเทศและระดับโลกนั้น ก็จับต้องภาพแห่งความเป็นจริงของความเป็นสายกลางไม่ได้ในปัจจุบันนี้ เราก็สมควรมาเริ่มที่ตัวเรากันก่อนครับ แล้วนำมาปฏิบัติต่อเพื่อนมิตรสหาย ผมว่าสังคมที่กำลังอยู่บนความหลากหลายจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียวครับ

tags: 

แสดงความคิดเห็น

ติดตามได้ทาง