การเป็นซูฟีย์ของอิมามหะซันอัลบันนา ตอนแรก

โดย... อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์

อิควานุลมุสลิมีน “ขบวนการภราดรภาพมุสลิม” เป็นขบวนการอิสลามที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสู่รูปแบบและแก่นแท้ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ซึ่งก่อตั้งโดยท่านอิมามอัชชะฮีด หะซัน อัลบันนา (ค.ศ. 1906-1949) ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า เหตุใดขบวนการอิควานุลมุสลิมีนในอดีตจึงมีพลังที่เข้มแข็งมากเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน? หลังจากที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าชีวประวัติและตำราของท่านอิมามหะซัน อัลบันนา มาระยะหนึ่ง ผู้เขียนได้พบว่า ท่านอิมามหะซัน อัลบันนาและแนวทางของท่านนั้น มีความผูกพันกับวิถีซูฟีย์อย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอ ความเป็นซูฟีย์ของท่าน ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ถูกกล่าวถึงเท่าใดนัก ผู้เขียนหวังว่าการค้นคว้าในเรื่องนี้จะทำให้เห็นภาพแก่นแท้ (ฮะกีกัต) ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ที่ขบวนการอิควานุลมุสลิมีนดั้งเดิมได้เรียกร้องไว้ อินชาอัลลอฮุ ตะอาลา

ซูฟีย์กับการกำเนิดขบวนการอิควาน

พลังอันยิ่งใหญ่ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนขบวนการอิควานุลมุสลิมีนนั้น คือพลังทางจิตวิญญาณที่มีความผูกพันอยู่กับอัลเลาะฮ์ตะอาลาตามแนวทางของซูฟีย์ ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ได้กล่าวถึงระยะหนึ่งของการดะอ์วะฮ์ของท่านว่า “รูปแบบการดะวะฮ์ในระยะนี้ คือเป็นซูฟีย์ทางด้านจิตวิญญาณ และรูปแบทหารในเชิงปฏิบัติการ” (หะซัน อัลบันนา, มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล อัลอิมาม อัชชะฮีด หะซัน อัลบันนา (ม.ป.ท.: ดารุลหะฎอเราะฮ์ อัลอิสลามียะฮ์. ม.ป.ป.) หน้า 362.)

ท่านสะอีด เฮาวา กล่าวไว้ในหนังสือ ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์เช่นกันว่า “ฉันปรารถนาที่จะทำการวางเท้าของมุสลิมให้อยู่บนทางเดินสู่อัลเลาะฮ์เพื่อเขาจะได้ลิ้มรสของแก่นแท้อีหม่าน และในขณะเดียวกันนี้ ฉันปรารถนาให้มุสลิมรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของซูฟีย์ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการเรียกร้องของท่านอาจารย์หะซัน อัลบันนา ร่อฮิมะฮุลลอฮ์...” (สะอีด เฮาวา, ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์, (ไคโร: ดารุสลาม, พิมพ์ครั้งที่ 6, ค.ศ. 1999/ฮ.ศ. 1419) หน้า 14.)

แนวทางซูฟีย์ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจหลักอิห์ซาน หรือหลักที่ว่าด้วยเรื่องจิตวิญญาณที่สร้างความผูกพันอยู่กับอัลเลาะฮ์ตะอาลา เพื่อเป็นการเติมเต็มศาสนาให้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบ เพราะแนวทางที่เน้นหลักอิห์ซานเป็นพิเศษก็คือแนวทางของซูฟีย์นั่นเอง ท่านอิมามหะซัน อัลบันนาเอง ก็ตระหนักดีว่า การมีแต่หลักอิสลามและหลักอีหม่านนั้น ยังไม่ทำให้ “อัดดีน” หรือ ศาสนาที่ท่านญิบรีลนำมาสอนบรรดาศ่อฮาบะฮ์และประชาชาติของท่านนะบีย์มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้นมีความสมบูรณ์ เพราะศาสนามีองค์ประกอบหลักๆ อยู่สามประการด้วยกันคือ (1) หลักอิสลาม (2) หลักอีหม่าน และ (3) หลักอิห์ซาน หากต้องการรู้หลักอิสลาม ก็ต้องกลับไปศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์ฟิกฮ์ ถ้าหากต้องการรู้หลักอีหม่านหรือหลักอะกีดะฮ์ก็ต้องกลับไปศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์อะกีดะฮ์ และหากต้องการรู้หลักอิห์ซาน ก็จำต้องศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์ซูฟีย์

เฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลลียะฮ์

ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา เล่าถึงความทรงจำของท่านว่า

“ในมัสยิดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ฉันเห็นพี่น้องเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลลียะฮทำการซิกรุลลอฮ์หลังจากละหมาดอีชาอฺในทุกคืน และฉันก็ไปศึกษากับชัยค์ซะฮ์รอนในช่วงเวลาระหว่างมัฆริบกับอีชาอฺเป็นประจำ...ดังนั้นวงซิกรุลลอฮ์ได้ดึงดูดฉันด้วยเสียงของการซิกรุลลอฮ์ที่มีระเบียบพร้อมเพรียง มีการอ่านบทกวีที่ไพเราะ และจิตวิญญาณที่เอ่อล้น บรรดาผู้ซิกรุลลอฮ์ที่มีเกียรติเหล่านั้นเป็นระดับชัยค์และเป็นคนหนุ่มที่มีคุณธรรม พวกเขาเหล่านั้นมีความนอบน้อมถ่อมตนกับพวกเด็กๆ ที่กระโจนเข้ามานั่งร่วมกับพวกเขาเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการซิกรุลลอฮ์และฉันก็หมั่นมานั่งวงซิกรุลลอฮ์ในครั้งอื่นๆ อีก
 

ดังนั้นฉันต้องการเชื่อมสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างฉันกับคนหนุ่มจากพี่น้องเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ ซึ่งในหมู่พวกเขามี 3 แกนนำผู้อาวุโส คือ อัชชัยค์ชะละบีย์ อัรริญาล, อัชชัยค์มุฮัมมัด อะบู ชูชะฮ์, และอัชชัยค์ซัยยิดอุษมาน และบรรดาคนหนุ่มผู้มีคุณธรรมที่มีอายุใกล้เคียงกับเรานั้น ก็มี มุฮัมมัด อะฟันดีย์ อัดดิมยาฏีย์, ศอวีย์ อะฟันดีย์ อัศศอวีย์, อับดุลมุตะอาล อะฟันดีย์ ซังกัล, และพี่น้องคนอื่นๆ
 

ในการรวมกลุ่มที่จำเริญนี้ ฉันได้พบกับอาจารย์อะห์มัด อัซซุกรีย์ เป็นครั้งแรก และการพบกันครั้งนี้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านได้ทำให้ชื่อของท่านอัชชัยค์ หัสนัยน์ อัศศ่อหาฟีย์ วนเวียนอยู่ในหูของฉันตลอดเวลา ชื่อของอัชชัยค์อัศศ่อหาฟีย์มีความงดงามที่อยู่ในเบื้องลึกของหัวใจ มีการนึกถึง และคะนึงหาอยากที่จะเห็นท่าน นั่งร่วมกับท่าน และเอาความรู้จากท่านเพื่อฟื้นฟูจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า” (หะซัน อัลบันนา, มุซักกิร็อต อัดดะอฺวะฮ์ วัดดาอียะฮ์ (มิศร์: ดารุลกิตาบ อัลอะร่อบีย์, ม.ป.ป.) , หน้า 10-11)

สาเหตุที่ท่านเลือกซูฟีย์สายอัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลียะฮ์

ก่อนที่ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา จะเข้ามาอยู่ในแนวทางของซูฟีย์นั้น ท่านจะทำการอ่านวิริดของท่านอิมามซัรรูก (ปราชญ์ตะเซาวุฟท่านหนึ่งของสายอัชชาซุลลีย์) ทั้งเช้าเย็น ซึ่งเป็นวิริดที่ส่วนมากแล้วจะมีบรรดาอายะฮ์อัลกุรอานและฮะดีษต่างๆ ที่เป็นดุอาให้อ่านเช้าและเย็น (ดู มุซักกิร็อต, หน้า 11)

ในระหว่างนั้นท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ได้รับหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “อัลมันฮัล อัศศอฟีย์ ฟี มะนากิบ หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์” (แหล่งน้ำที่บริสุทธิ์ในบรรดาคุณความดีของท่านหัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์) ซึ่งท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์นั้น เป็นครูคนแรกและเป็นบิดาของท่าน อัซซัยยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ อัศเศาะห์หาฟีย์ ซึ่งท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศเศาะหาฟีย์นั้นท่านหะซัน อัลบันนาไม่เคยเห็น เพราะท่านเสียชีวิตในวันพฤหัสบดี ที่ 17 เดือนญะมาดิลอาคิร ฮ.ศ. 1328 ขณะที่ท่านหะซัน อัลบันนา อายุได้ 14 ปีเท่านั้นเอง

เมื่อท่านหะซัน อัลบันนา อ่านหนังสือดังกล่าว ท่านพบว่าท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศ-เศาะห์หาฟีย์ เป็นอุลามาอฺอัซฮัร ชำนาญในฟิกห์มัซฮับชาฟิอีย์ และทำการศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นท่านได้ศึกษากับบรรดาอุลามาอฺหลายท่านในยุคนั้น ท่านมีความหมั่นเพียรและเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ ซิกรุลลอฮ์ และหมั่นทำการฎออัตอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งท่านทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์หลายครั้ง บรรดามิตรสหายและสานุศิษย์ของท่านเคยกล่าวว่า พวกเราไม่เคยเห็นผู้ใดที่มีความเข้มแข็งในการฎออัตต่ออัลเลาะฮ์ ปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่เป็นฟัรดูและสุนัตต่างๆ ยิ่งกว่าไปท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ แม้กระทั่งในช่วงท้ายชีวิตของท่านก็ตาม

ท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ได้เคยเรียกร้องไปสู่อัลเลาะฮ์ด้วยวิธีการของปราชญ์ซูฟีย์ ที่ทำให้เกิดความเจริดจรัสและมีรัศมี ท่านเรียกร้องไปสู่อัลเลาะฮ์ด้วยหลักการที่ปลอดภัยและเที่ยงตรง และการเรียกร้องของท่านนั้นอยู่บนพื้นฐานของความรู้ มีการเรียนการสอน สอนวิชาฟิกฮ์ เน้นอิบาดะฮ์ ซิกรุลลอฮ์ กำชับให้กระทำความดีและยับยั้งความชั่ว ต่อสู้กับบิดอะฮ์ และความเหลวไหลต่างๆ ที่มีอยู่ในชาวเฏาะรีเกาะฮ์ที่ท่านเชื่อว่าขัดกับอัลกุรอานและซุนนะฮ์. (ดู มุซั๊กกิร็อต, หน้า 11-12) .

ด้วยเหตุนี้ ท่านหะซัน อัลบันนาจึงประทับใจการทำงานศาสนาของท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ แต่ต้นไม้ที่เจริญเติบโตเองโดยไม่มีผู้คอยดูแลและรดน้ำพรวนดินนั้น มันจะแตกหน่อแตกใบแต่อาจจะไม่ออกผล

โปรดติดตามตอนต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

แสดงความคิดเห็น

ติดตามได้ทาง