
โดย... อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์
ท่านอิมาม อับดุลกอดิร อัลญีลานีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ฟุตูหุลฆัยบ์ หน้า 169 - 172 โดยสรุปว่า แท้จริงมนุษย์นั้นมีสองประเภท คือผู้ที่ได้รับนิอฺมัตปัจจัยอำนวยสุข และผู้ที่ได้รับบะลาอฺการทดสอบ
บางคนถูกกำหนดมาให้มีความวิตกกังวลเนื่องจากมีบะลาอฺต่างๆ มาประสบ เช่น มีโรคประจำตัว มีความหิวโหย ร่างกายได้รับความเจ็บปวด ทรัพย์สินและเรือกสวนไร่นาเสียหาย คู่ครองและบุตรหลานต้องจากไป จนทำให้เกิดความวิตกกังวลและรู้สึกเหมือนกับว่าเขาไม่เคยได้รับนิอฺมัตปัจจัยอำนวยสุขเลย
ในขณะที่บางคนร่ำรวย มีสุขภาพดี มีทรัพย์สินเงินทอง และมีเกียรติยศในสังคม ทำให้เขาอยู่ในสภาพที่สุขสบายจนรู้สึกเหมือนกับว่าไม่เคยมีบะลาอฺเกิดขึ้นแก่เขาเลย
ความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ ย่อมเป็นความโง่เขลา ไม่รู้จัก (มะริฟะฮ์) อัลเลาะฮ์ตะอาลา และไม่รู้จักถึงแก่นแท้ของดุนยาอย่างแท้จริง เพราะถ้าหากเขารู้ว่า อัลเลาะฮ์ตะอาลนั้น
فَعَّالٌ لِمَا يُرِيْدُ
“ทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงประสงค์” [อัลบุรูจญ์: 16 ]
พระองค์จะทำการเปลี่ยนแปลงสภาวะทั้งหลาย ทรงทำให้มีความสุขหวานชื่น ทรงทำให้มีความขมขื่นเพื่อทดสอบ ทรงทำให้ร่ำรวยและทรงทำให้ยากจน ทรงยกฐานะบรรดามัคโลคและทรงทำให้พวกเขาตกต่ำ ทรงให้เกียรติพวกเขาและทำให้มีความต่ำต้อย ทรงทำให้มีชีวิตและทรงทำให้ตาย แน่นอน เขาก็จะไม่ลืมตัวและไม่มีความประมาทในความสุขที่ได้รับ และเขาก็จะไม่สิ้นหวังในการรอคอยการคลี่คลายจากอัลเลาะฮ์เมื่ออยู่ในสภาวะได้รับบะลาอฺ
และด้วยความโง่เขลาโดยไม่รู้จักแก่นแท้ของดุนยานี้ ทำให้เขามีความสุขสงบในดุนยาและพยายามแสวงหาความสุขสบายที่ไร้ความวิตกกังวล แต่เขาลืมไปว่าดุนยานั้นเป็นที่พำนักแห่งการทดสอบและแบกรับภาระในการทุ่มเทความเหน็ดเหนื่อยและความพยายามในการปฏิบัติตามสิ่งที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงบัญญัติใช้ ดังนั้นรากฐานเดิมของดุนยา ก็คือการทดสอบ ส่วนความสุขสบายนั้นคือสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงเสริมเติมแต่งในโลกดุนยาเท่านั้นเอง ดังที่พระองค์ทรงตรัสถึงแก่นแท้ของดุนยาไว้ว่า
قُلْ مَتَاعُ الدُّنْيَا قَلِيلٌ
“จงกล่าวเถิด ความสุขของดุนยานั้น เล็กน้อยเท่านั้น” [อันนิซาอฺ: 77 ]
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
الدُّنْيَا سِجْنُ الْمُؤْمِنِ وَجَنَّةُ الْكَافِرِ
“ดุนยาเป็นคุกของมุอฺมินและเป็นสวรรค์ของกาเฟร” รายงานโดยมุสลิม
ดังนั้นเขาจะต้องมีความอดทนต่อการทดสอบและทุ่มเทในการปฏิบัติสิ่งที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงสั่งใช้ เหมือนกับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างซึ่งกว่าจะได้ค่าจ้างตอบแทนนั้นเขาต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเหงื่ออาบสองแก้ม ร่างกายอ่อนล้า และอดทนอดกลั้นในการทำงานรับใช้มนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นเมื่อเขามีความอดทนในการทำงาน ผลตอบแทนที่ตามมาก็คือ มีเงินซื้ออาหารดีๆ มารับประทาน มีน้ำแกงอร่อยๆ มีผลไม้น่ารับประทาน มีเสื้อผ้าดีๆ สวมใส่ และมีความสุขสบาย ฉันใดฉันนั้น ผู้เป็นบ่าวของอัลเลาะฮ์ก็จำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติตามสิ่งที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงสั่งใช้ ละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม และยอมสิโรราบในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกำหนดให้เกิดขึ้นแก่เขา อัลเลาะฮ์ตะอาลาก็จะทรงตอบแทนความสุขสบายในช่วงท้ายของชีวิต ได้รับความรักและได้รับเกียรติจากพระองค์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ดังนั้นบ่าวที่ได้รับนิอฺมัตปัจจัยอำนวยสุขนั้น ไม่ควรประมาทในแผนการณ์ของอัลเลาะฮ์ อย่าลืมตัวเอง อย่าลำพองตน และอย่าลืมการชุโกรนิอฺมัตที่พระองค์ได้ทรงประทานให้ เพราะอัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า
لَئِنْ شَكَرْتُمْ لَأَزِيدَنَّكُمْ وَلَئِنْ كَفَرْتُمْ إِنَّ عَذَابِي لَشَدِيدٌ
“ขอยืนยัน หากพวกเจ้าชุโกร (กตัญญูรู้คุณ) แน่นอนข้าจะเพิ่มพูนแก่พวกเจ้าและถ้าหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นรุนแรงยิ่งนัก” [อิบรอฮีม: 7 ]
ดังนั้นการชุโกรนิอฺมัตที่มาในรูปของทรัพย์สินเงินทองที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานให้ ก็คือการที่จิตใจยอมรับว่าทรัพย์สินเป็นของอัลเลาะฮ์ (อย่าหลงทึกทักว่าเป็นของตนเอง) สำนึกในจิตใจอยู่เสมอว่าทรัพย์สินเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ และมองว่าทรัพย์สินนั้นเป็นความโปรดปรานจากอัลเลาะฮ์ตะอาลาที่ได้ประทานให้ จิตใจต้องไม่หมกมุ่นอยู่กับทรัพย์สินเงินทองจนกระทั่งละเมิดขอบเขตของอัลเลาะฮ์ตะอาลาที่ได้ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นเขาต้องนำทรัพย์สินออกซากาตเมื่อครบพิกัดและครบรอบปี นำไปศ่อดะเกาะฮ์บริจาคทาน นำไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรม และสืบค้นหาบรรดาบุคคลที่มีความทุกข์ร้อนเพื่อจะได้นำทรัพย์สินไปช่วยเหลือพวกเขายามวิกฤติและประสบภัยบะลาอฺ
ส่วนการชุโกรนิอฺมัตที่มาในรูปของความมีสุขภาพดีและความสุขสบายที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานให้นั้น คือการที่บรรดาอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทุ่มเทในการปฏิบัติสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญญัติใช้ ทำอะมัลอิบาดะฮ์ ทำการซิกรุลลอฮ์ และยับยั้งจากสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติห้าม หลังจากนั้นเขาก็จะได้เข้าไปอยู่ในโปรดปรานความเมตตาของอัลเลาะฮ์ตะอาลาและเข้าสวรรค์พร้อมกับบรรดานะบีย์และเหล่าผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย แต่ถ้าหากเขาเนรคุณหรือกุฟุรนิอฺมัตต่างๆ ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงประทานให้ แน่นอนว่าเขาจะอยู่ในความตกต่ำในโลกดุนยาและถูกลงโทษอย่างรุนแรงในวันกิยามะฮ์
สำหรับผู้ที่ได้รับบะลาอฺการทดสอบนั้นมีสามจำพวก:
จำพวกที่หนึ่ง: พวกเขาได้รับบะลาอฺ (หรือความเจ็บป่วย) เพราะอัลเลาะฮ์ต้องการจะลงโทษเนื่องจากเขาได้เคยกระทำบาปและฝ่าฝืนอัลเลาะฮ์ เครื่องหมายที่สังเกตได้จากจำพวกแรกนี้คือ เขาจะไม่มีความอดทนในขณะที่ได้รับบะลาอฺ มีความกลัว และพร่ำบ่นกับผู้คนทั้งหลาย
จำพวกที่สอง: พวกเขาได้รับบะลาอฺ (หรือความเจ็บป่วย) เพราะอัลเลาะฮ์ต้องการจะลบล้างความผิดต่างๆ เครื่องหมายที่สังเกตได้จากจำพวกที่สองนี้ก็คือ เขาจะมีความอดทนอย่างดีงามโดยไม่ปริปากบ่น ไม่แสดงความกลัวให้คนรอบข้างได้เห็น และไม่มีความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ที่อัลเลาะฮ์ทรงสั่งใช้
จำพวกที่สาม: พวกเขาได้รับบะลาอฺเพื่ออัลเลาะฮ์จะทรงยกระดับจิตใจของพวกเขาให้สูงส่ง เครื่องหมายที่สังเกตได้ก็คือ จิตใจของเขาจะมีความรู้สึกริฎอ (ยินดี) และไม่คัดค้านในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกำหนดมา และจิตใจของเขาจะนิ่งและสงบมั่นต่ออัลเลาะฮ์ในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เกิดขึ้น
ดังนั้นน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม มันเป็นการงานของอัลเลาะฮ์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์และแสดงให้เห็นว่าแก่นแท้ของมนุษย์นั้นอ่อนแอ ฉะนั้นเมื่อพระองค์ยังไม่ให้พื้นที่ของเราน้ำท่วม พวกท่านก็จงชุโกรต่ออัลเลาะฮ์ให้มากๆ ด้วยการเห็นว่านี่คือความโปรดปรานความเมตตาของอัลเลาะฮ์ หมั่นปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ และชุโกรนิอฺมัตทรัพย์สินเงินด้วยการนำไปช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อนเนื่องจากประสบภัยอุทกภัย
แต่ถ้าหากน้ำท่วมเมื่อไหร่ พวกท่านก็จงอดทน ยินดี และไม่คัดค้าน ในสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงกำหนด เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาจะทรงลบล้างความผิดต่างๆ ของเราและทรงยกระดับจิตใจของเราให้สูงส่งนั่นเอง
แสดงความคิดเห็น