อัลบะร่อกะฮ์ในชีวิต

อัลบะร่อกะฮ์: คือการเพิ่มพูนความดีงามที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงให้คงอยู่ในสิ่งหนึ่ง (ดู อัรรอฆิบ อัลอัสฟะฮานีย์,มุฟร่อดาต อัลฟาซิลกุรอาน,เล่ม1 หน้า 83) 

ส่วนคำว่า “อัตตะบัรรุก” ย่อมหมายถึง การแสวงหาความดีงามอันมากมายที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาให้คงอยู่ในสิ่งนั้น

อัลเลาะฮ์ตะอาลาให้บะร่อกะฮ์อยู่ในอัลกุรอาน พระองค์ทรงตรัสว่า

وَهَذَا ذِكْرٌ مُبَارَكٌ أَنْزَلْنَاهُ

“นี้ (คืออัลกุรอาน) เป็นข้อเตือนใจ ที่ถูกทำให้มี (บะร่อกะฮ์) ความดีงามอันมากมาย ซึ่งเราได้ให้มันลงมา” [อัลอัมบิยาอฺ: 50]

อัลเลาะฮ์ตะอาทรงให้บะร่อกะฮ์อยู่ในสถานที่ พระองค์ทรงตรัสว่า

رَبِّ أَنْزِلْنِي مُنْزَلًا مُبَارَكًا

“ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ลง (จากเรือ) ณ สถานที่ลงที่ถูกประทานความจำเริญด้วยเถิด” [อัลมุอฺมินูน: 29]

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงให้บะร่อกะฮ์อยู่ในตัวของบุคคล พระองค์ทรงตรัสว่า

وَجَعَلَنِي مُبَارَكًا أَيْنَ مَا كُنْتُ

“ (ท่านนะบีย์อีซากล่าวว่า) และพระองค์ทรงให้ฉันได้รับ (บะร่อกะฮ์) ความดีงามอันมากมาย ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด” [มัรยัม: 31]

ดังนั้นในการดำเนินชีวิตของเราล่ะ มีบะร่อกะฮ์ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานให้มากน้อยแค่ใหน?

ในขณะที่ท่านได้วอนขอดุอาอย่างสม่ำเสมอว่า

اللّهُـمَّ إِنِّـي أسْـأَلُـكَ خَـيْرَ هـذَا الـيَوْم ، فَـتْحَهُ ، وَنَصْـرَهُ ، وَنـُورَهُ ، وَبَـرَكَتَـهُ ، وَهُـدَاهُ

“โอ้ อัลเลาะฮ์ แท้จริงฉันวอนขอต่อพระองค์ ซึ่งความดีงามของวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ การช่วยเหลือ รัศมีแห่งทางนำ ความบะร่อกะฮ์ และมั่นคงอยู่บนทางนำของวันนี้ด้วยเถิด” รายงานโดยอะบูดาวูด, ฮะดีษเลขที่ 5084.

ท่านก็จะพบว่าอัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานความจำเริญ (ความบะร่อกะฮ์) แก่ท่านในอะมัลที่น้อยนิดแต่ทำให้ผูกพันอยู่กับอัลเลาะฮ์ ริสกีที่เล็กน้อยแต่มีความรู้สึกพอเพียงและความรู้ที่น้อยแต่มีประโยชน์

หากท่านพิจารณาถึงคุณลักษณะของสะละฟุศศอลิห์ ก็จะพบว่าอัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงทำให้ช่วงเวลาในชีวิตของพวกเขามีความจำเริญ (บะร่อกะฮ์) เพราะท่านจะพบว่าพวกเขาเหล่านั้นทำการอ่านอัลกุรอานจบภายในคืนเดียวและสะลัฟบางส่วนอ่านอัลกุรอานถึง 60 จบในเดือนร่อมะฎอน ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้น มิใช่อื่นใดเลยนอกจากบะร่อกะฮ์ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานให้แก่พวกเขาเท่านั้นเอง

ดังนั้นบางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า: ชีวิตของเราที่มีความจำเริญหรือมีบะร่อกะฮ์นั้น สังเกตได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ: มีความรู้สึกพอเพียงในริสกี ร่างกายภายนอกทุ่มเทเกี่ยวกับอะมัลอิบาดะฮ์ ลิ้นทำการซิกรุลลอฮ์และพูดสิ่งที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และหัวใจรำลึกถึงอัลเลาะฮ์ตะอาลาอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น นั่นคือความจำเริญหรือความบะร่อกะฮ์ในการดำเนินชีวิต

สาเหตุที่ทำให้เพิ่มพูนบะร่อกะฮ์

1. มีอีหม่านและตักวา

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آَمَنُوا وَاتَّقَوْا لَفَتَحْنَا عَلَيْهِمْ بَرَكَاتٍ مِنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ

“และหากชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรง แน่นอนเราจะเปิดแก่พวกเขา ซึ่งบรรดาความเพิ่มพูนจากฟากฟ้าและแผ่นดิน” [อัลอะอฺรอฟ: 96]

นั่นก็คือความศรัทธาและการปฏิบัติตามสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงสั่งใช้และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม

2. กตัญญูรู้คุณ (ชุโกร) ต่ออัลเลาะฮ์อย่างสม่ำเสมอ

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

لَئِن شَكَرْتُمْ لأَزِيدَنَّكُمْ

“หากพวกเจ้ากตัญญูรู้คุณ แน่นอนข้าก็จะเพิ่มให้แก่พวกเจ้า” [อิบรอฮีม:7]

กล่าวคือ การกตัญญูรู้คุณ (ชุโกร) นั้น บางครั้งด้วยกับหัวใจ คือท่านตระหนักรู้ว่าปัจจัยอำนวยสุขทั้งหลายนั้น ล้วนมาจากอัลเลาะฮ์ทั้งสิ้น และบางครั้งก็ด้วยกับลิ้น คือลิ้นของท่านทำการพูดถึงสิ่งที่ดีงาม และบางครั้งกตัญญูรู้คุณด้วยกับร่างกาย คือทุ่มเทแรงกายให้หมดไปในการภักดีต่ออัลเลาะฮ์และงดเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

3. ปฏิบัติสิ่งที่ดีงามและกระทำมันอย่างสม่ำเสมอ

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

مَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِنْ ذَكَرٍ أَوْ أُنْثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُمْ بِأَحْسَنِ مَا كَانُوا يَعْمَلُونَ

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง โดยเขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” [อันนะหฺลฺ: 97]

4. มีความพอเพียงและยินดีในปัจจัยยังชีพที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานให้ หากแม้ว่าจะน้อยก็ตาม เพราะความรู้สึกพอเพียงและยินดีดังกล่าวนั้นทำให้เกิดบะร่อกะฮ์

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ وَرُزِقَ كَفَافًا وَقَنَّعَهُ اللَّهُ بِمَا آتَاهُ

“แท้จริงได้รับความผาสุกแล้ว ผู้ที่รับอิสลาม และได้รับปัจจัยยังชีพอย่างพอเพียง และอัลเลาะฮ์ก็ทรงทำให้เขามีความพอเพียงด้วยกับสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เขา” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1054.

5. ผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُبْسَط لَهُ فِي رِزْقه وَيُنْسَأ لَهُ فِي أَثَره فَلْيَصِلْ رَحِمه

“ผู้ใดรักที่จะให้ริสกีมีความกว้างขวางแก่เขาและมีอายุไขที่ยืนยาว เขาก็จงเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติเถิด” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 2557.

6. การอิสติฆฟาร เป็นประตูแห่งริสกีและทำให้เกิดบะร่อกะฮ์

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

فَقُلْتُ اسْتَغْفِرُوا رَبَّكُمْ إِنَّهُ كَانَ غَفَّارًا يُرْسِلِ السَّمَاءَ عَلَيْكُمْ مِدْرَارًا وَيُمْدِدْكُمْ بِأَمْوَالٍ وَبَنِينَ وَيَجْعَلْ لَكُمْ جَنَّاتٍ وَيَجْعَلْ لَكُمْ أَنْهَارًا

“ฉัน (นะบีนูห์) ได้กล่าว (แก่พวกกลุ่มชน) ว่า พวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษอย่างแท้จริง แล้วพระองค์ก็จะทรงส่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และพระองค์ทรงเพิ่มพูนทรัพย์และหลานแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีสวนมากมายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากมายแก่พวกท่าน” [นูหฺ:10-12]

กล่าวคือ การอิสติฆฟารนั้น ต้องมีความจริงใจ โดยการกล่าวด้วยลิ้นพร้อมกับหัวใจมีความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยอันเนื่องจากมีบาปและต้องการให้พระองค์อภัยโทษให้

7. มีการมอบหมายต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาอย่างแท้จริง

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

وَمَن يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ

“ผู้ใดมอบหมายต่ออัลเลาะฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นความพอเพียงแก่เขา” [อัฏเฏาะล้าก: 3]

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาหรือดุนยา ให้เขาลงมือกระทำพร้อมมีความรู้สึกว่าผลที่จะได้รับนั้น ตนเองมีความอ่อนแอและต้องการพึ่งพาอัลเลาะฮ์อยู่ตลอดเวลา แล้วเขาก็จงมอบหมายต่อพระองค์

ดังนั้น เราควรหันกลับมาพิจารณาตัวของเราว่า ตอนนี้อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานความบะรอกะฮ์ให้แก่เรามากน้อยแค่ไหน เผื่อว่าครอบครัวหรือคนรอบข้างของเรา จะได้รับบะรอกะฮ์จากเราบ้างนั่นเอง  

แสดงความคิดเห็น

ติดตามได้ทาง