ละหมาดอัตตัสบีหฺ (ตอนที่สอง)

วิเคราะห์สายรายงานหะดีษ

  1. ท่านอิกริมะฮ์ [عِكْرِمَةُ] : เขานั้น “เชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] และ “มีความมั่นคง” [ثَبْتٌ] ซึ่งกลุ่มหนึ่งของปราชญ์หะดีษได้นำเขามาเป็นหลักฐานอ้างอิง ส่วนที่ผู้ที่ทำการวิจารณ์เขานั้นเป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวเท่านั้น1

  2. ท่านอัลหะกัม บิน อะบาน [اَلْحَكَمُ بْنُ أَبَانَ] : เขาเป็นผู้ที่ “เชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] ตามการยืนยันของท่านอิบนุมะอีน, ท่านอิบนุอัลมะดีนีย์, ท่านอะหฺมัด บิน ฮัมบัล, อันนะซาอีย์, ท่านอัลอิจญ์ลีย์, ท่านอิบนุนุมัยร์, และท่านอิบนุฮิบบานได้นำเขามากล่าวไว้ในหนังสืออัษษิก็อตของท่าน, และท่านอบูอัซซุรอะฮ์กล่าวว่า เขานั้น “เป็นผู้มีคุณธรรม” [صَالِحٌ], ท่านซุฟยาน บิน อุยัยนะฮ์ กล่าวว่า “ฉันได้ไปที่เมืองอัดน์ ซึ่งฉันไม่เคยพบผู้ใดเลยที่จะ(เป็นนักหะดีษระดับแนวหน้า)เหมือนกับอัลหะกัม บิน อะบาน”2

    แม้ว่านักปราชญ์หะดีษส่วนมากมีความเห็นพร้องกันในการให้ความเชื่อถือต่อท่านอัลหะกัม บิน อะบาน และถือว่าเขาอยู่ในระดับแนวหน้าของชาวเมืองอัดน์ แต่ท่านอิบนุลมุบาร็อกได้กล่าวว่า “อัลหะกัม บิน อะบาน, ฮิชาม บิน มัศก์, และอัยยูบ บิน สุวัยด์นั้น ท่านจงอย่าสนใจพวกเขา” และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์กล่าวว่า “นักหะดีษได้ทำการวิจารณ์เกี่ยวกับการนำหะดีษของอัลหะกัม บิน อะบาน มาเป็นหลักฐาน”3

    กรณีคำกล่าวของท่านอิบนุลมุบาร็อก ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ นั้น บางทีเขาอาจไม่รู้จักสถานะภาพของอัลหะกัม บิน อะบาน และคิดว่าเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งจากนักรายงานที่ไม่ถูกรู้จักสถานะภาพ(มัจญฺฮูล) หรือท่านอิบนุอัลมุบาร็อกมีความสับสนต่อสถานะภาพของท่านอัลหะกัม บิน อะบาน ท่านจึงได้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ออกมา ส่วนคำกล่าวของท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ นั้น เราไม่รู้ว่าผู้ใดกันคือนักหะดีษที่ทำการวิจารณ์เกี่ยวกับการนำหะดีษของอัล หะกัม บิน อะบาน มาเป็นหลักฐานหลังจากที่เราได้ถ่ายทอดการรับรองความ“เชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] ให้กับท่านอัลหะกัม บิน อะบาน จากบรรดานักปราชญ์หะดีษที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    อย่างไรก็ตาม ท่านอิบนุลมุบาร็อกและท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ก็มิได้ทำการอธิบายถึงสาเหตุที่เป็นข้อตำหนิอัลหะกัม บิน อะบาน ดังนั้นการตำหนินักรายงานของทั้งสองท่านนี้จึงมิได้ถูกชี้แจง เมื่อเป็นเช่นนี้การวิจารณ์ตำหนินักรายงานของทั้งสองท่านจึงถูกปฏิเสธโดยการให้ความชมเชยของบรรดานักปราชญ์หะดีษข้างต้น และการให้ความชมเชยย่อมมาก่อนการตำหนิที่ไม่ถูกชี้แจงด้วยมติของนักปราชญ์หะดีษ

  3. ท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ [‏مُوسَى بْنُ عَبْدِ الْعَزِيزِ] : ท่านอิบนุมะอีนกล่าวว่า “ฉันเห็นว่าเขานั้นไม่เป็นไร(หมายถึงเขานั้นเชื่อถือได้),” ท่านอันนะซาอีย์กล่าวว่า “เขานั้นไม่เป็นไร,” ท่านอิบนุอัลมะดีนีย์กล่าวว่า “เขานั้นฎ่ออีฟ,” ท่านอบุลฟัฎล์ อัสสุลัยมานีย์กล่าวว่า “เขานั้นมุงกัรหะดีษ,” ท่านอิบนุชาฮีนได้นำเขามากล่าวไว้ในหนังสืออัษษิก็อต(บรรดานักรายงานที่เชื่อถือได้), และท่านอิบนุหิบบานก็นำเขาไปกล่าวไว้ในหนังสืออัษษิก็อตเช่นเดียวกัน แต่ท่านอิบนุหิบบานกล่าวว่า “บางทีเขาผิดพลาด”4

    กรณีคำกล่าวของท่านอิบนุมะอีนที่ว่า “เขานั้นไม่เป็นไร” หมายถึง “เขานั้นเชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] ท่านอิบนุอะบีค็อยษะมะฮ์กล่าวว่า “ฉันได้กล่าวถามท่านยะห์ยา บิน มะอีน ว่า “ท่านได้กล่าวว่าคนนั้นคนนี้ “ไม่เป็นไร” คือชายคนนั้นฎ่ออีฟกระนั้นหรือ?” ท่านอิบนุมะอีนกล่าวว่า “เมื่อฉันกล่าวว่า เขานั้นไม่เป็นไร หมายถึงว่าเขานั้น เชื่อถือได้”5

    ส่วนคำกล่าวของท่านอิบนุอัลมะดีนีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ที่ว่า “มูซา บิน อับดุลอะซีซ ฎ่ออีฟนั้น” เป็นการกล่าวตัดสินโดยมิได้อธิบายถึงสาเหตุการฎ่ออีฟ ซึ่งถือว่าเป็นการตำหนิวิจารณ์ที่ยังคลุมเครือและไม่ถูกรับพิจารณาเนื่องจากมีการชมเชยมารับรองอยู่ และหลักการนี้ก็เหมือนกับคำกล่าวของท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุฮะญัร ในการกล่าวประวัติของมุฮัมมัด บิน บัชชาร ว่า “ท่านอัมร์ บิน อะลี อัลฟัลลาสได้กล่าวว่า มุฮัมมัด บิน บัชชาร นั้นฎ่ออีฟโดยที่ไม่กล่าวถึงสาเหตุการฎ่ออีฟเลย ดังนั้นนักปราชญ์หะดีษจึงไม่ให้ความสนใจการตำหนิวิจารณ์ของเขา”6

    กรณีคำกล่าวของท่านอะบีลฟัฎล์ อัสสุลัยมานีย์ที่ว่า “เขานั้นมุงกัรหะดีษ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่สามารถนำมาสนับสนุนในการตัดสินฎ่ออีฟต่อท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ ได้เลย เนื่องจากมีการรับรองความเชื่อถือจากท่านอิบนุมะอีนและการชมเชยของท่านอันนะซาอีย์, ท่านอิบนุฮิบบาน และท่านอิบนุชาฮีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวของท่านอิบนุมะอีนและท่านอันนะซาอีย์นั้นเป็นที่ทราบดีว่าท่านทั้งสองมีความเข้มงวดในการวิจารณ์นักรายงานแต่ท่านทั้งสองก็ยังให้การชมเชยท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ จึงอยู่ในกลุ่มที่พูดจริง(ไม่ถูกกล่าวหาว่าโกหก)และเป็นผู้ที่มีคุณธรรม(อะดาละฮ์)

    ดังนั้นเมื่อท่านได้รู้สถานะของท่านอัลหะกัม บิน อะบาน และท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซแล้ว คำกล่าวของท่านอัซซะฮะบีย์ในหนังสือมีซานุลอิอฺติดาล ที่ว่า “หะดีษของเขา (คือของมูซา บิน อับดุลอะซีซ) นั้นส่วนหนึ่งมาจากบรรดาหะดีษมุงกัร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลฮะกัม บิน อะบาน ไม่ใช่เป็นผู้ที่มั่นคงแน่นแฟ้นเช่นกัน”7 นั้นเป็นคำวิจารณ์ที่ต้องการคำชี้แจงรายละเอียด แต่ไม่มีระบุคำชี้แจงจากท่านอัซซะฮะบีย์

    ฉะนั้น อะไรคือเป้าหมายของคำว่า “บรรดาหะดีษมุงกัร” เป้าหมายของมันคือการรายงานเพียงลำพังคนเดียว หรือว่าเป้าหมายคือเป็นผู้รายงานที่ฎ่ออีฟได้ทำการรายงานขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้มากกว่า?

    สำหรับกรณีแรกนั้น หะดีษของท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ ที่เกี่ยวกับเรื่องละหมาดตัสบีหฺนั้น มีนักรายงานกลุ่มหนึ่งได้ทำการรายงานหะดีษนี้ไว้ ไม่ใช่ท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ เป็นผู้รายงานเพียงลำพังเท่านั้น

    ส่วนกรณีที่สองนั้น ไม่มีรายงานมาเลยว่าเขาได้เคยรายงานหะดีษมุงกัรที่ไปขัดกับผู้ที่เชื่อถือ ได้ เพราะท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฎ่ออีฟดังที่เราได้นำเสนอผ่านมาแล้ว และท่านอัซซะฮะบีย์เองก็ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลมุฮัซซับ ฟี อิคติศ็อร อัสสุนัน อัลกุบรอ ของท่านว่า “(มูซา บิน อับดุลอะซีซ) อัลกิมบะรีย์นั้นไม่ถูกตัดสินว่าฎ่ออีฟ”8

    และหะดีษของท่านมูซา บิน อับดุลอะซีซ นั้น ไม่ได้รายงานขัดกับนักหะดีษคนใดเลย แต่ในทางกลับกันท่านได้รายงานสอดคล้องกับนักรายงานหะดีษกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺ

    สำหรับคำกล่าวของท่านอัซซะฮะบีย์ที่ว่า “อัลหะกัม บิน อะบาน ไม่มั่นคงแน่นแฟ้น” นั้น ความจริงแล้วการที่นักปราชญ์หะดีษกลุ่มหนึ่งได้รับรองความเชื่อถือ [ثِقَةٌ] ต่อท่านอัลฮะกัม บิน อะบาน ถือว่าเขามีความมั่นคงแน่นแฟ้นตามทัศนะของพวกเขา ดังนั้นผู้ที่มีทัศนะเหมือนกับท่านซุฟยาน บิน อุยัยนะฮ์นั้น ก็จะกล่าวถึง อัลหะกัม บิน อะบาน ว่า “ฉันได้ไปที่เมืองอัดน์ ดังนั้นฉันไม่เคยเห็นผู้ใดที่จะเหมือนกับอัลฮะกัม บิน อะบานเลย” เพราะฉะนั้นคำกล่าวของท่านอัซซะฮะบีย์ – ผู้อยู่ในศตวรรษที่ 8 – ที่วิจารณ์ท่านอัลหะกัม บิน อะบาน(เสียชีวิต ปี. ฮ.ศ. 154)ว่า “ไม่มั่นคง” ย่อมไม่มีผลกระทบกับท่านอัลฮะกัม บิน อะบานแต่อย่างใด วัลลอฮุอะลัม

  4. ท่านอับดุรเราะห์มาน บิน บิชร์ บิน อัลหะกัม : “เขานั้นเชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] ท่านอัลบุคอรีย์และมุสลิมได้นำหะดีษของเขามาเป็นหลักฐาน9

หลังจากที่เราได้ทราบสถานะภาพของนักรายงานหะดีษแล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่า หะดีษละหมาดตัสบีหฺนี้ อยู่ในเงื่อนไขของ “หะดีษฮะซัน” [حَسَنٌ] เหมือนที่ท่านอัลฮาฟิซฺอิบนุฮะญัรและปราชญ์หะดีษท่านอื่นๆ ได้ตัดสินไว้ ยิ่งกว่านั้นท่านอะบูดาวูดได้กล่าวว่าสายรายงานของหะดีษนี้ศ่อฮีหฺ [صَحِيْحٌ] ท่านอะบูบักร บิน อะบีดาวูด ได้กล่าวว่า

لَيْسَ فِيْ صَلاَةِ التَّسْبِيْحِ حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ غَيْرُ هَذاَ

“ในเรื่องละหมาดอัตตัสบีหฺนั้น ไม่มีหะดีษใดที่ศ่อฮีหฺนอกจากหะดีษบทนี้(คือหะดีษที่ท่านอิกริมะฮ์ รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส)”10

และยังมีบรรดาสายรายงานที่มาสนับสนุนสายรายงานของมูซา บิน อับดุลอะซีซ ซึ่งสายรายงานที่สำคัญๆ มีดังนี้ :

  1. หะดีษที่รายงานโดย

    مُسْلِمٌ بْنُ اِبْرَاهِيْمَ عَنِ الْمُسْتَمِرِّ بْنِ الرَّيَّانِ عَنْ أَبِي الْجَوْزَاءِ عَنْ عَبْدِ اللهِ بْنِ عَمْرٍو...الحديث

    มุสลิม บิน อิบรอฮีม จาก อัลมุสตะมิร บิน อัรร็อยยาน จาก อะบีอัลเญาซาอฺ จาก อับดุลลอฮฺ บิน อัมร์...

    ซึ่งเป็นสายรายงานที่ท่านอิมามอะหฺมัดประทับใจ คืออย่างน้อยเป็นสายรายงานที่อยู่ในระดับหะดีษหะซัน ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ หะญัร อัลอัสก่อลีย์ได้กล่าวว่า

    وَقَالَ عَلِيُّ بْنُ سَعِيدٍ: سَأَلْتُ أَحْمَدَ بْنَ حَنْبَلٍ عَنْ صَلَاةِ التَّسْبِيحِ، فَقَالَ: مَا يَصِحُّ فِيهَا عِنْدِي شَيْءٌ، فَقُلْتُ: حَدِيثُ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ عَمْرٍو؟ قَالَ: كُلٌّ يَرْوِيهِ، عَنْ عَمْرِو بْنِ مَالِكٍ، يَعْنِي: فِيهِ مَقَالٌ، فَقُلْتُ: قَدْ رَوَاهُ الْمُسْتَمِرُّ بْنُ الرَّيَّانِ، عَنْ أَبِي الْجَوْزَاءِ، قَالَ مَنْ حَدَّثَكَ؟ ، قُلْتُ: مُسْلِمٌ، يَعْنِي ابْنَ إِبْرَاهِيمَ، فَقَالَ: الْمُسْتَمِرُّ شَيْخٌ ثِقَةٌ، وَكَأَنَّهُ أَعْجَبَهُ، فَكَأَنَّ أَحْمَدُ لَمْ يَبْلُغْهُ ذَلِكَ الْحَدِيثُ أَوَّلًا إِلَّا مِنْ حَدِيثِ عَمْرِو بْنِ مَالِكٍ وَهُوَ النُّكْرِيُّ، فَلَمَّا بَلَغَهُ مُتَابَعَةُ الْمُسْتَمِرِّ أَعْجَبَهُ، فَظَاهِرُهُ أَنَّهُ رَجَعَ عَنْ تَضْعِيفِهِ

    “อะลี บิน สะอีด ได้กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านอะหฺมัด บิน ฮัมบัล เกี่ยวกับเรื่องละหมาดอัตตัสบีหฺ ท่านตอบว่า “ณ ที่ฉันนั้นไม่มีหะดีษใดที่ศ่อฮีหฺเกี่ยวกับเรื่องละหมาดอัตตัสบีหฺเลย” ฉันกล่าวว่า “หะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ(ที่เกี่ยวกับละหมาดอัตตัสบีหฺเป็นอย่างไรบ้าง?)” ท่านอะหฺมัดกล่าวว่า “ทุกคนที่รายงานหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ จาก อัมร์ บิน มาลิก(อันนุกรีย์) นั้นได้มีคำกล่าววิพากษ์วิจารณ์” ดังนั้นจึงฉันกล่าวกับท่านอะหฺมัดว่า “ได้รายงานหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ โดยอัลมุสตะมิร บิน อัรร็อยยาน จาก อะบี อัลเญาซาอฺ(อีกสายรายหนึ่ง)” ท่านอะหฺมัดจึงกล่าวถามว่า “ผู้ใดที่บอกเล่าให้ท่านทราบ?” ฉันตอบว่า “มุสลิม บิน อิบรอฮีม” ท่านอะหฺมัดจึงกล่าวว่า “อัลมุสตะมิรเป็นอาจารย์ที่เชื่อถือได้” ประหนึ่งว่าท่านอะหฺมัดมีความประทับใจกับหะดีษที่รายงานโดยอัลมุสตะมิร” (ท่านอัลฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวต่อไปว่า) เสมือนว่าในช่วงแรกท่านอะหฺมัดไม่รับหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺดังกล่าวนอกจากสายรายงานจากอัมร์ บิน มาลิก อันนุกรีย์เท่านั้น ต่อมาเมื่อท่านอะหฺมัดทราบสายรายงานของอัลมุสตะมิรมาสนับสนุน จึงเกิดความรู้สึกประทับใจกับสายรายงานของอัลมุสตะมัร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่านอะหฺมัด ได้ยกเลิกการตัดสินฎ่ออีฟกับหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺ”11

  2. สายรายงานหะดีษที่รายงานโดยอะบูดาวูด ความว่า

    حَدَّثَنَا أَبُو تَوْبَةَ الرَّبِيعُ بْنُ نَافِعٍ حَدَّثَنَا مُحَمَّدُ بْنُ مُهَاجِرٍ عَنْ عُرْوَةَ بْنِ رُوَيْمٍ حَدَّثَنِي الْأَنْصَارِيُّ أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ لِجَعْفَرٍ : أَلاَ أَحْبُوْكَ...الحديث

    “ได้เล่าให้เราทราบกับเราโดย อะบูเตาบะฮ์ อัรร่อบีอฺ บิน นาฟิอฺ เขากล่าวว่าได้เล่าให้เราทราบโดย มุฮัมมัด บิน มุฮาญิร จาก อุรวะฮ์ บิน รุวัยม์ เขากล่าวว่าได้บอกเล่ากับฉันโดย ชาวอันศอรีย์คนหนึ่งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวให้กับท่านญะอฺฟัรว่า (อะลา อะหฺบูก้า...)” จนจบหะดีษ12

วิเคราะห์นักรายงาน

  1. อะบูเตาบะฮ์ อัรร่อบีอฺ13 [أَبُو تَوْبَةَ الرَّبِيعُ] : “เขานั้นเชื่อถือได้” [ثِقَةٌ]

  2. มุฮัมมัด บิน มุฮาญิร14 [مُحَمَّدُ بْنُ مُهَاجِرٍ] : “เขานั้นเชื่อถือได้” [ثِقَةٌ]

  3. อุรวะฮ์ บิน รุวัยม์15 [عُرْوَةَ بْنِ رُوَيْمٍ] : “เขานั้นเชื่อถือได้” [ثِقَةٌ] หรือ “เขาไม่เคยถูกกล่าวหาว่าโกหก” [صَدُوقٌ]

  4. อัลอันซอรีย์ (ศ่อฮาบะฮ์ชาวอันศ็อร) [الْأَنْصَارِيُّ] ที่เล่าจากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนี้ ปราชญ์หะดีษได้ขัดแย้งกันในการระบุเจาะจงบุคคล ท่าอัลฮาฟิซฺ อัลมิซฺซีย์ กล่าวว่า ศ่อฮาบะฮ์ชาวอันศ็อร ท่านนี้คือ “ท่านญาบิร” [جَابِرٌ] และท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์ กล่าวว่า เขาคือ 16“อะบูกับชะฮ์ อัลอันมารีย์”[ أَبُوْ كَبْشَةَ الأَنْمَارِيُّ] แต่อย่างไรก็ตาม การไม่รู้ถึงชื่อของศ่อฮาบะฮ์นั้น ถือว่าไม่ผลกระทบแต่ประการใดตามหลักการของปวงปราชญ์หะดีษ17

ด้วยเหตุนี้ ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ ฮะญัร จึงกล่าวว่า

وَعَلَى التَّقْدِيرَيْنِ فَسَنَدُ هَذَا الْحَدِيثِ لَا يَنْحَطُّ عَنْ دَرَجَةِ الْحَسَنِ، فَكَيْفَ إِذَا ضُمَّ إِلَى رِوَايَةِ ابْنِ الْجَوْزَاءِ، عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ عَمْرٍو، الَّتِي أَخْرَجَهَا أَبُو دَاوُدَ وَقَدْ حَسَّنَهَا الْمُنْذِرِيُّ، وَقَدْ تَقَدَّمَ ذِكْرُ مَنْ صَحَّحَ هَذَا الْحَدِيثَ مِنْ طَرِيقِ عِكْرِمَةَ، عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ

“หากเราได้ดำเนินตามสองสมมุติฐานนี้18 สายรายงานของหะดีษนี้ก็ไม่ต่ำจากระดับหะดีษหะซัน แล้วจะเป็นอย่างไร หากถูกนำมารวม(สนับสนุน)กับสายรายงานของอิบนุอัลเญาซาอฺ จากท่านอับดิลลาฮฺ บิน อัมร์ ที่นำเสนอรายงานโดยอะบูดาวูด(ซึ่งเพิ่มน้ำหนักหะดีษขึ้นไปอีก) และท่านอัลมุนซิรีย์ ได้ตัดสินว่าหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺเป็นหะดีษหะซัน และได้กล่าวผ่านมาข้างต้นถึงปราชญ์หะดีษที่ตัดสินหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺว่าเป็นหะดีษศ่อฮีหฺจากสายรายงานของท่านอิกริมะฮ์ จากท่านอิบนุ อับบาส”19

นี่ก็คือสามสายรายงานที่มีน้ำหนักและสะอาด เมื่อสายรายงานทั้งสามนี้ได้ถูกนำมาร่วมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ก็จะถูกตัดสินว่าหะดีษละหมาดตัสบีฮฺนี้ “เป็นหะดีษศ่อฮีหฺ” ตามหลักวิชาการพิจารณาอัลหะดีษ วัลลอฮุอะลัม

แม้กระทั่งชัยค์อัลอัลบานีย์ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ซึ่งเป็นอุลามาอฺหะดีษระดับแนวหน้าของแนวทางวะฮ์ฮาบีย์ ได้ตัดสินหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺว่าเป็นหะดีษ “ศ่อฮีหฺ” [صَحِيْحٌ] ไว้ในหนังสือศ่อฮีหฺสุนันอะบีดาวูดของท่าน20

ดังนั้นปราชญ์หะดีษที่ตัดสินว่าหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺเป็น “หะดีษที่ศ่อฮีหฺ” นั้นโดยพิจารณาถึงการรวมบรรดาสายรายงานต่างๆ มากมาย จนกระทั่งเป็น “หะดีษศ่อฮีหฺ” ส่วนปราชญ์หะดีษบางส่วนที่ตัดสินว่าเป็น “หะดีษหะซัน” โดยการพิจารณาสายรายงานเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ส่วนกรณีนักปราชญ์หะดีษบางส่วนที่ตัดสินว่าหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺเป็นหะดีษที่ “ฏ่ออีฟ” เช่น ท่านอัลอุก็อยลีย์, ท่านอะบูบักร อิบนุ อัลอะร่อบีย์, ท่านอันนะวาวีย์ในหนังสือมัจญฺมูอฺของท่าน และท่านอัลฺฮาฟิซฺ อิบนุหะญัร ในหนังสืออัตตัลคีศ อัลหะบีร และมีปราชญ์หะดีษบางส่วนที่ตัดสินว่า “เมาฎูอฺ” เช่น ท่านอิบนุอัลเญาซีย์ ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ท่านอิบนุอับดิลฮาดีย์ และท่านอัชเชากานีย์ นั้น ผู้เขียนขอนำเสนอและวิเคราะห์แบบสรุปๆ เพื่อมิให้ยืดยาวจนเกินไป ดังนี้

  1. ท่านอัลอุก็อยลีย์กล่าวว่า หะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺนั้นฎ่ออีฟ เพราะท่านยึดสายรายงานที่ท่านได้พบเท่านั้น เสมือนกับว่าท่านไม่พบสายรายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับละหมาดอัตตัสบีหฺ และนอกเหนือจากนั้นท่านอัลอุก็อยลีย์เป็นที่รู้จักในด้านของความเข้มงวดในการตัดสินหะดีษ

  2. ท่านอะบูบักร อิบนุ อัลอะร่อบีย์นั้น ท่านเป็นนักจำหะดีษตามแนวทางของนักปราชญ์ฟิกห์และไม่มีความกว้างขวางในการตรวจสอบสายรายงานต่างๆ ของหะดีษ จึงทำให้ท่านได้ตัดสินหะดีษขัดแย้งกับความถูกต้อง

  3. ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์และท่านอิบนุหะญัร ได้เคยทำการวินิจฉัย(อิจญฺติฮาด)ที่ขัดแย้งกันในการตัดสินหะดีษ ซึ่งที่ถูกต้องแล้วสมควรกล่าวว่า ในตอนแรกท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์และท่านอิบนุหะญัร ได้เคยตัดสินว่าเป็นหะดีษฎ่ออีฟ21 ต่อมาท่านทั้งสองได้วินิจฉัย(อิจญฺติฮาด)ใหม่โดยตัดสินว่าเป็นหะดีษที่หะซันหรือศ่อฮีหฺด้วยการเอาบรรดาสายรายงานอื่นๆ มาสนับสนุน22

  4. ท่านอิบนุอัลเญาซีย์ ที่ได้ตัดสินว่าเป็น “หะดีษเมาฎูอฺ” ถือว่าผิดพลาด โดยกล่าวว่า “สายรายงานที่มี มูซา บิน อับดุลอะซีซฺ นั้น “เขาเป็นคนมัจญฺฮูล” [مَجْهُوْلٌ] (นักรายงานที่ไม่รู้สถานะ) ตามทัศนะของเรา”23 ซึ่งเป็นคำพูดที่แปลก เพราะเป็นที่ทราบดีว่า การไม่รู้สถานะนั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ

    ประเภทที่หนึ่ง: ไม่รู้สถานะทางด้านตัวตน [مَجْهُوْلُ الْعَيْنِ] หมายถึง “เป็นนักรายงานที่ถูกเอ่ยชื่อ แต่ไม่มีผู้ใดรายงานจากเขานอกจากมีผู้รายงานจากเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น”24

    แต่กรณีของท่าน มูซา บิน อับดุลอะซีซฺ นั้นมีปราชญ์หะดีษกลุ่มหนึ่งได้รายงานจากเขา และเป็นที่ทราบดีว่า หากมีนักรายงานอย่างน้อย 2 คนได้รายงานจากเขา แน่นอนว่า “ความไม่รู้สถานะ” ของเขาก็จะหมดไปตามทัศนะของปราชญ์ส่วนมาก

    ประเภทที่สอง: ไม่รู้สถานะภาพ [مَجْهُوْلُ الْحَالِ] หมายถึง “เป็นนักรายงานที่มีนักรายงาน 2 คนหรือมากกว่านั้นได้รายงานจากเขา แต่เขาไม่ถูกรับรองว่า เป็นผู้ที่เชื่อถือได้(อัษษิเกาะฮ์)”25

    แต่กรณีของท่าน มูซา บิน อับดุลอะซีซฺ นั้นได้ถูกรับรองว่าเป็น “ผู้ที่เชื่อถือได้” จากท่านอิบนุมะอีน, ท่านอัลมะดีนีย์, ท่านอันนะซาอีย์, ท่านอะบุล ฟัฎล์ อัสสุลัยมานีย์, ท่านอิบนุหิบบาน และท่านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีปราชญ์หะดีษมากมายที่โต้ตอบท่านอิบนุอัลเญาซีย์เนื่องจากเกินเลยในการนำหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺเอาไปไว้ในหนังสือ “อัลเมาฎูอาต” ของท่าน

  5. ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวตัดสินเมาฏูอฺไว้ในหนังสือมินฮาญุสสุนนะฮ์ของท่าน26 แต่ท่านอัลฮาฟิซฺ อัซซัยยิด มุรตะฎอ อัซซะบีดีย์ ได้วิจารณ์คำพูดของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ไว้ในหนังสือ อิตหาฟ อัซซาดาต อัลมุตตะกีน บิชัรห์ อิห์ยาอุลูมิดดีน27 และท่านอะบุลหะสะนาต อัลลักนาวีย์ ได้กล่าวชี้แจงคำพูดของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ไว้ในหนังสืออัลอาษาร อัลมัรฟูอะฮ์ของท่าน28 ซึ่งปราชญ์ทั้งสองได้ให้คำชี้แจงและแก้ต่างที่มีประโยชน์มาก

    ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ หะญัร อัลอัสก่อลานีย์ ได้กล่าวถึงท่านอิบนุตัยมียะฮ์ว่า “ฉันพบว่าท่านอิบนุตัยมียะฮ์ฝืนอย่างมากในการปฏิเสธบรรดาหะดีษที่อิบนุอัลมุเฏาะฮ์ฮิร(ชีอะฮ์อัรรอฟิเฎาะฮ์)นำมา ซึ่งหากแม้ว่าหะดีษส่วนใหญ่ที่อิบนุอัลมุเฏาะฮ์ฮิรนำมานั้นจะเป็นหะดีษกุและหะดีษที่คลุมเครือก็ตาม แต่ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ได้ปฏิเสธหะดีษที่ดีมากมายเนื่องจากท่านไม่สามารถนำตำราหะดีษต่างๆ มาได้ในขณะที่ประพันธ์(หนังสือมินฮาญุสสุนนะฮ์) เพราะแม้ท่านอิบนุตัยมียะฮ์จะมีความจำอย่างกว้างขวางแต่ท่านก็ต้องพึ่งพาสิ่งที่จดจำในหัวอก ทั้งที่มนุษย์นั้นย่อมอยู่ในวิสัยการหลงลืมได้เสมอ”29

  6. ท่านอิบนุอับดิลฮาดี ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าท่านได้ตัดสินหะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺตามท่านอิบนุตัยมียะฮ์

  7. ท่านอัชเชากานีย์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ตัดสินว่า หะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺนั้น เมาฎูอฺ แต่ท่านอะบุลหะสะนาต อัลลักนาวีย์ ได้กล่าวชี้แจงทีละประเด็นและมีประโยชน์มากในหนังสืออัลอาษาร อัลมัรฟูอะฮ์ ของท่าน30

สำหรับกรณีที่กล่าวว่า “ละหมาดอัตตัสบีหฺนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบของการละหมาดซึ่งไม่สมควรกระทำ”

ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์ ได้กล่าวตอบเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า “ท่านอัลฮาฟิซฺ อัศศุบกีย์ ได้ตอบว่า การละหมาดอัตตัสบีหฺนั้นไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง(ระเบียบของการละหมาด)นอกจากการนั่งพักช่วงก่อนลุกขึ้นยืนเพื่อละหมาดร็อกอะฮ์ที่สองและร็อกอะฮ์ที่สี่ ซึ่งดังกล่าวนั้นจะทำให้การนั่งพัก(อิสติรอหะฮ์)ใช้เวลานานแต่นานด้วยการซิกรุลลอฮฺ(ถือว่าไม่เป็นไร) และอาจารย์ของเรา ได้ตอบไว้ในหนังสือชัรห์อัตติรมีซีย์ของท่านว่า การละหมาดสุนัตนั้นอนุญาตให้ละหมาดได้ทั้งแบบยืนและแบบนั่ง31 แม้กระทั่งในร็อกอะฮ์แรกก็ตาม และฉัน(คือท่านอิบนุหะญัร)ขอกล่าวว่า คำตอบที่สามที่ได้ปรากฏแก่ฉัน ก็คือ แท้จริงการนั่งพัก(แล้วทำการอ่านตัสบีหฺสิบครั้ง)นั้นหลักการของศาสนา32 ยืนยันให้กระทำได้ในละหมาดอัตตัสบีหฺ ซึ่งก็เหมือนกับการรุกูอฺครั้งที่สองในละหมาดสุริยุปราคา33 ...”34

และท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุหะญัร ได้กล่าวว่า

عَنِ الْإِمَامِ تَقِيِّ الدِّينِ بْنِ الصَّلَاحِ، قَالَ: صَلَاةُ التَّسْبِيحِ سُنَّةٌ غَيْرُ بِدْعَةٍ، وَحَدِيثُهَا حَسَنٌ مَعْمُولٌ بِهِ، وَالْمُنْكِرُ لَهَا غَيْرُ مُصِيبٍ
“จากท่านอิหม่ามตะกียุดดีน อิบนุ อัสศ่อลาห์ ท่านได้กล่าวว่า การละหมาดอัตตัสบีหฺนั้นเป็นซุนนะฮ์มิใช่เป็นบิดอะฮ์ และหะดีษเกี่ยวกับละหมาดอัตตัสบีหฺนั้น เป็นหะดีษหะซันสามารถนำมาปฏิบัติได้ และผู้ที่ปฏิเสธมันนั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง”35

ท่านชัยคุลอิสลาม อัลบุลกินีย์ ได้กล่าวว่า

حَدِيْثُ صَلاَةِ التَّسْبِيْحِ حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ وَلَهُ طُرُقٌ يَشُدُّ بَعْضُهَا بَعْضاً فَهِىَ سُنَّةٌ يَنْبَغِى الْعَمَلُ بِهَا

“หะดีษละหมาดอัตตัสบีหฺเป็นหะดีษที่ศ่อฮีหฺ และสำหรับหะดีษอัตตัสบีหฺนี้มีบรรดาสายรายงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นการละหมาดอัตตัสบีหฺจึงเป็นซุนนะฮ์ที่สมควรนำมาปฏิบัติ”36

ดังนั้นการละหมาดอัตตัสบีห์ จึงเป็นซุนนะฮ์ที่มุสลิมสมควรกระทำอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ถึงขั้นวาญิบต้องกระทำแต่ประการใด ส่วนผู้ที่มีทัศนะว่าละหมาดอัตตัสบีห์ไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในการตัดสินผู้ทำละหมาดอัตตัสบีห์ว่าทำบิดอะฮ์ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกับหลักการของศาสนา

وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى أَعْلَى وَأَعْلَمُ

والحَمْدُ اللهِ رَبِّ العَالَمِيْنَ صَلَّى عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ


  1. ดู อิบนุอะบี หาติม, อัลญัรห์ วะ อัดดะอฺดีล, เล่ม 2 ,ภาค 3, หน้า 7, อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตะฮซีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 7, หน้า 263, อิบนหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตักรีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 2, หน้า 30, อัซซะฮะบีย์, มีซาน อัลอิอฺติดาล, เล่ม 2, หน้า 437, อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ฮัดยุ อัซซารี, หน้า 425. ↩︎

  2. ดู อิบนุหิบบาน, ษิก็อต อิบนุ หิบบาน, เล่ม 6,หน้า 175, อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตะฮ์ซีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 2, หน้า 243, อัซซะฮะบีย์, มีซานุลเอี๊ยะติดาล, เล่ม 1,หน้า 569. ↩︎

  3. เรื่องเดียวกัน. ↩︎

  4. ดู อิบนุอะบีหาติม, อัลญัรห์ วัตตะดีล, เล่ม 4 , ยุซที่ 1, หน้า 151, อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตะฮ์ซีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 10 หน้า 356, อัซซะฮะบีย์, มีซาน อัลอิอฺติดาล, เล่ม 4 หน้า 212. ↩︎

  5. ดู อิบนุอัศศ่อลาห์, มุก็อดดิมะฮ์ อิบนิอัศศ่อลาห์, หน้า 158. ↩︎

  6. ดู อิบนุหะญัร, ฮัดยุ อัสสารีย์, หน้า 437. ↩︎

  7. อัซซะฮะบีย์, มีซาน อัลอิอฺติดาล, เล่ม, 4 ,หน้า 213. ↩︎

  8. อัซซะฮะบีย์, อัลมุฮัซซับ ฟี อิคติซ็อร อัสสุนัน อัลกุบรอ, เล่ม 2, หน้า 982. ↩︎

  9. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตักรีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 1, หน้า 571. ↩︎

  10. อัลมุนซิรีย์, อัตตัรฆีบ วะ อัตตัรฮีบ, เล่ม 1, หน้า 268. อิบนุนาซิรุดดีน อัดดิมัชกีย์, อัตตัรญีห์ ลิ หะดีษ ศ่อลาติตตัสบีหฺ, หน้า 41. คำกล่าวของท่านอะบูดาวูดนี้ บางท่านอาจจะกล่าวว่า เป็นถ้อยคำที่มิได้บ่งชี้ว่าท่านอะบูดาวูดได้ตัดสินว่าเป็นหะดีษศ่อฮีหฺ แต่เมื่อดูจากหนังสือสุนันอะบีดาวูดแล้ว ปรากฏว่า ท่านอะบูดาวูดได้นำเสนอสายรายงานต่างๆ มาสนับสนุนหะดีษของท่านอิบนุบาสเพื่อทำการยกระดับ ซึ่งอย่างน้อยถูกยกระดับให้เป็นหะดีษหะซัน อินชาอัลลอฮฺ. ดู สุนันอะบูดาวูด, หะดีษเลขที่, 1297-1298, เล่ม 2, หน้า 46-47. ↩︎

  11. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 43. ↩︎

  12. อะบูดาวูด, สุนันอะบีดาวูด, เล่ม 2, หน้า 41. ↩︎

  13. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตักรีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 1, หน้า 321. ↩︎

  14. เรื่องเดียวกัน. ↩︎

  15. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตะฮ์ซีบ อัตตะฮ์ซีบ, เล่ม 7, หน้า 162. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ตักรีบ อัตตะฮ์ซีบ, หน้า 1, หน้า 674. ↩︎

  16. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 42. อิบนุอัลลาน, อัลฟุตูหาต อัรร็อบบานียะฮ์ อะลา อัลอัซการ อันนะวาวียะฮ์, เล่ม 4, หน้า 314. ↩︎

  17. อิบนุกะษีร, อัลบาอิษ อัลหะษีษ ฟี อิคติศ็อร อุลูม อัลหะดีษ, อธิบายโดย อะหฺมัด มุฮัมมัด ชากิร, เล่ม 2, หน้า 569. ↩︎

  18. คือไม่ว่าศอฮาบะฮ์ชาวอัลอันศ็อร เป็นเท่าน ญาบิร หรือ ท่านอะบู กับชะฮ์ อัลอันมารีย์ ก็ตาม. ↩︎

  19. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 43. ↩︎

  20. หะดีษเลขที่ 1152-1153, อัลอัลบานีย์, ศ่อฮีหฺสุนัน อะบีดาวูด, เล่ม 1, หน้า 240-240. ↩︎

  21. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อัตตัลคีศ อัลหะบีร, เล่ม 2, หน้า 7. ซึ่งหนังสืออัตตัลคีศ อัลหะบีร ประพันธ์เสร็จในปี ฮ.ศ. 820. ↩︎

  22. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 42-43. และหนังสืออะมาลี อัลอัซการ นี้ ประพันธ์เสร็จในปี ฮ.ศ. 848. และดู อัลลักนาวีย์, อัลอาษาร อัลมัรฟูอะฮ์, หน้า 139. ↩︎

  23. อิบนุอัลเญาซีย์, อัลเมาฎูอาต, เล่ม 1, หน้า 143. ↩︎

  24. มะห์มูด อัฏเฏาะห์ฮาน, ตัยซีร มุศฏ่อละหิลหะดีษ, หน้า 121. ↩︎

  25. เรื่องเดียวกัน. ↩︎

  26. อิบนุตัยมียะฮ์, มินฮาญุสสุนนะฮ์, เล่ม 7, หน้า 315. ↩︎

  27. ดู เล่ม 3, หน้า 482. ↩︎

  28. ดู หน้า 137. ↩︎

  29. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ลิซาน อัลมีซาน, เล่ม 6, หน้า 319. ↩︎

  30. ดู หน้า 139. ↩︎

  31. หมายความว่า การนั่งพักช่วง(อิสติรอหะฮ์)ที่นานในละหมาดสุนัตนั้น ถือว่าไม่เป็นไร เพราะเดิมทีการละหมาดสุนัต อนุญาตให้นั่งละหมาดได้อยู่แล้ว. ↩︎

  32. คือมีหะดีษศ่อฮีหฺหรือหะซันได้รับรองให้กระทำได้ในละหมาดอัตตัสบีหฺ. ↩︎

  33. คือปกติแล้ว การละหมาดทั่วไปจะมีการรุกูอฺเพียงแค่หนึ่งครั้งในทุกร็อกอะฮ์ แต่การละหมาดสริยุปราคามีการรุกูอฺถึง 2 ครั้งในหนึ่งร็อกอะฮ์ เนื่องจากมีตัวบทได้ยืนยันไว้ เช่นเดียวกัน การละหมาดอัตตัสบีหฺ ก็ให้นั่งพัก(อิสติรอหะฮ์)แบบนานเพื่อกล่าวตัสบีหฺนั้นได้ เพราะว่ามีตัวบทมาระบุไว้เช่นเดียวกัน. ↩︎

  34. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 43. ↩︎

  35. อิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, อะมาลี อัลอัซการ ฟี ฟัฎศ่อลาฮ์ อัตตัสบีหฺ, หน้า 42. อัซซะบีดีย์, อิตหาฟ อัสสาดาต อัลมุตตะกีน บิชัรห์ อิหฺยาอฺ อุลูมิดดีน, เล่ม 3, หน้า 475. ↩︎

  36. อัซซะบีดีย์, อิตหาฟ อัสสาดาต อัลมุตตะกีน บิชัรห์ อิหฺยาอฺ อุลูมิดดีน, เล่ม 3, หน้า 481. ↩︎

แสดงความคิดเห็น

ติดตามได้ทาง