
ความสำคัญของแนวทางซูฟีย์ตามทัศนะของท่านอิมามหะซัน อัลบันนา
ท่านหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า
“ในขณะที่อาณาจักรอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองในศตวรรษแรก บรรดาเมืองต่างๆ ถูกเปิด ดุนยาได้หันหน้าเข้าหาบรรดามุสลิมีนในทุกย่อมหญ้า... หลังจากนั้นค่อลีฟะฮ์ของพวกเขาได้กล่าวกับเมฆในท้องฟ้าว่า เจ้าจงไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกซิ แล้วสถานที่ใดที่หยดน้ำฝนของเจ้าตก ก็จงเก็บภาษีมาให้ฉันด้วย โดยธรรมชาติแล้วพวกเขาจะหันหน้าให้กับดุนยาแห่งนี้ เพื่อหาความสุข ลิ้มรสความหวานชื่นและความสุขสบายของดุนยา ซึ่งบางเวลาก็อยู่ในความพอดีแต่บางเวลาอยู่ในความสุลุ่ยสุร่าย ดังนั้นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการดำเนินชีวิตที่เคยยากลำบากในสมัยของท่านนะบีย์อันเจริดจรัสไปสู่ชีวิตที่มีความสุขสบายในภายหลัง ก็มีบรรดาปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรมได้เรียกร้องมนุษย์ทั้งหลายให้มีความสมถะในความสุขของดุนยาที่ไม่จีรังนี้ และพวกเขาก็พยายามเตือนให้ผู้คนทั้งหลายระลึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้รับในโลกอาคิเราะฮ์ที่จีรัง “และแท้จริงที่พำนักวันอาคิเราะฮ์นั้น คือชีวิต(ที่แท้จริง)หากพวกเขารู้” [อัลอังกะบูต: 64] และปราชญ์ที่เป็นที่รู้จักในระดับต้นๆ ที่ได้ทำการเรียกร้องนี้ คือท่านอิมาม อัลหะซัน อัลบัศรีย์และบรรดาปราชญ์ผู้มีคุณธรรมที่เจริญรอยตามท่านอัลหะซัน อัลบัสรีย์ในการเรียกร้องบนวิถีดังกล่าว ดังนั้นปราชญ์กลุ่มนี้จึงเป็นที่รู้จักในด้านการเรียกร้องสู่การซิกรุลลอฮ์ ระลึกถึงวันอาคิเราะฮ์ มีความสมถะต่อโลกดุนยา ขัดเกลาจิตใจให้มีการภักดีต่ออัลเลาะฮ์และมีความตักวาต่อพระองค์
และข้อเท็จจริงอันนี้ก็คือสิ่งที่ได้เคยเกิดขึ้นพร้อมกับข้อเท็จจริงในวิชาแขนงอื่นๆ ของอิสลาม ดังนั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เกิดรูปแบบทางวิชาการที่วางระบบพฤติกรรมของมนุษย์และวางแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พวกเขาเป็นการเฉพาะ คือช่วงระยะการหมั่นซิกรุลลอฮ์ การทำอิบาดะฮ์ การรู้จักอัลเลาะฮ์ และสุดท้ายก็คือการไปสู่สวรรค์และความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮ์ตะอาลา
และวิชาตะเซาวุฟนี้ มีชื่อเรียกอีกว่า วิชา “อัตตัรบียะฮ์วัสสุลู๊ก” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิชาตะเซาวุฟนั้นเป็นแก่นของอิสลาม และไม่สงสัยเลยว่าชาวซูฟีย์นั้นพวกเขาได้บรรลุถึงขั้นระดับของการรักษาและเยียวยาจิตใจแล้ว ซึ่งผู้อื่นจากพวกเขาไม่สามารถไปถึงได้...” (ดู มุซักกิร็อต, หน้า 16-17)
ดังนั้นการทำงานศาสนา โดยแสวงหาประโยชน์ทางดุนยาและลืมอัลเลาะฮ์ตะอาลานั้น ย่อมไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลืมเป้าหมายที่แท้จริง ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า “ท่านจงมุรอเกาะบะฮ์อยู่กับอัลเลาะฮ์(คือมีความรู้สึกว่าอัลเลาะฮ์ตะอาลากำลังมองและเห็นท่าน)อย่างสม่ำเสมอ และให้ท่านระลึกถึงอาคิเราะฮ์และจงเตรียมพร้อม และจงฟันฝ่าช่วงระยะการเดินทางไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮ์ตะอาลา ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่น และท่านจงสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่เป็นสุนัตให้มากๆ เช่น การละหมาดยามค่ำคืน การถือศีลอด 3 วันข้างขึ้นของทุกเดือนเป็นอย่างน้อย ทำการซิกรุลลอฮ์ด้วยหัวใจและลิ้นให้มากๆ และพยายามขอดุอาในขณะปฏิบัติอะมัลดังกล่าวในทุกๆ สภาวการณ์” (มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัลบันนา, หน้า 367-368)
ดังนั้นการทำภารกิจใดก็ตาม หากมีเป้าหมายคืออัลเลาะฮ์ ย่อมเป็นการงานที่ถูกตอบรับและได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ ดังที่ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า
“เราอิควานุลมุสลิมีน ได้เรียกร้องจากทุกหัวใจของเราทุกคนว่า “อัลเลาะฮ์คือเป้าหมายของเรา” ดังนั้นเป้าหมายแรกของการเรียกร้องนี้ คือให้มนุษย์รำลึกถึงการเชื่อมสัมพันธ์อันใหม่นี้ที่จะทำให้พวกเขามีความผูกพันกับอัลเลาะฮ์ และหากพวกเขาลืมการเชื่อมสัมพันธ์(ที่ทำให้พวกเขาผูกพันกับอัลเลาะฮ์)นี้ อัลเลาะฮ์ตะอาลาก็จะให้พวกเขาลืม(เป้าหมาย)ของพวกเขาเอง พระองค์ทรงตรัสว่า
“โอ้บรรดามนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าสักการะพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด ผู้ทรงสร้างพวกเจ้าและบรรดาผู้อยู่ก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้านั้นจะมีความยำเกรง” [อัลบะเกาะเราะฮ์: 21] และเป้าหมายแรกนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็คือกุญแจดอกแรกสำหรับปลดล็อกปัญหาต่างๆ ของมนุษย์...” (มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัลบันนา, หน้า 226)
การซิกรุลลอฮ์เป็นญะมาอะฮ์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างพลังในการทำงานอิสลาม ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า
“ได้มีฮะดีษต่างๆ บอกให้รู้ว่าศาสนาส่งเสริมให้ทำการรวมกลุ่มกันซิกรุลลอฮ์ มีฮะดีษที่รายงานโดยมุสลิม ได้ระบุว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ไม่มีชนกลุ่มหนึ่งได้ทำการนั่งซิกรุลลอฮ์ เว้นแต่บรรดามะลาอิกะฮ์จะห้อมล้อมพวกเขา ความเมตตา(จากอัลเลาะฮ์)แผ่คลุมพวกเขา และความสงบมั่น(อยู่กับอัลเลาะฮ์)ได้ลงมาที่(หัวใจ)ของพวกเขา และอัลเลาะฮ์ได้เอ่ยนามพวกเขาใน(มะลาอิกะฮ์)ผู้อยู่ ณ ที่พระองค์”
และมีบรรดาฮะดีษอีกมากมายที่ท่านจะเห็นได้ว่า ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้นได้ออกไปหาซอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งที่พวกเขากำลังซิกรุลลอฮ์ในมัสยิด แล้วท่านนะบีย์ก็แจ้งข่าวดีแก่พวกเขาและไม่ทำการตำหนิแต่อย่างใด ดังนั้นการรวมกลุ่มในการทำความดีจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีประโยชน์มากมายติดตามมา เช่น ทำให้เกิดการประสานระหว่างบรรดาหัวใจ ทำให้มีความผูกสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ใช้ช่วงเวลาต่างๆ ในสิ่งที่มีประโยชน์ ได้สอนคนที่ร่ำเรียนน้อยได้เข้าใจ และเชิดชูเอกลักษณ์ศาสนาของอัลเลาะฮ์ตะอาลา” (หะซัน อัลบันนา, มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัล-บันนา (ม.ป.ท. ดารุชชิฮาบ, ม.ป.ป.), หน้า 340)
ท่านอัลลามะฮ์ สะอีด เฮาวา ได้กล่าวถึงแนวทางซูฟีย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามว่า “แท้จริง 90 เปอร์เซ็น ในหลายศตวรรษที่ผ่านมาของประชาชาติอิสลามนั้น ล้วนมีความเกี่ยวพันกับตะเซาวุฟและปราชญ์ตะเซาวุฟ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดก็ตาม เช่น อยู่ในรูปแบบของการให้ความสำคัญกับตะเซาวุฟ หรือเป็นลูกศิษย์กับปราชญ์ตะเซาวุฟ หรือมีการเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขา หรือเข้าสังกัดอยู่ในแนวทางของพวกเขา ดังนั้นวิชาตะเซาวุฟและปราชญ์ตะเซาวุฟจึงยังคงอยู่จวบถึงปัจจุบัน ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงได้...เพราะฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในยุคใหม่ ต้องถูกกำหนดให้เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงฟื้นฟูที่มีความจำเป็น - ซึ่งหนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของการเคลื่อนไหวดั้งเดิมนั้น คือมีแก่นแท้ของซูฟีย์ เหมือนกับที่ ท่านอาจารย์ หะซัน อัลบันนา นักเคลื่อนไหวอิสลามผู้อาวุโสที่สุดได้กล่าวเอาไว้ – จากการที่ต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วทำการฟื้นฟูเพื่อหวนกลับไปสู่บรรดารากฐานที่ถูกต้องและบริสุทธิ์” (ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์, หน้า 8, 14)
แต่ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่าแนวทางซูฟีย์ของท่านหะซัน อัลบันนานั้นอยู่ในแนวทางปฏิรูปบนหลักของอัลกุรอานและซุนนะฮ์และสอดคล้องกับทั้งสอง เน้นปรับปรุงและขัดเกลาจากภายในจิตวิญญาณ หลังจากนั้นก็ขัดเกลาสังคม ขัดเกลาเศรษฐกิจ ขัดเกลาการเมือง และถ้าหากท่านผู้อ่านทำการศึกษาการทำงานศาสนาของท่านหะซัน อัลบันนา จากตำราต่างๆ ที่ท่านได้เขียนนั้น ก็จะพบว่าท่านมีรูปแบบการทำงานที่หัวใจมีอัลเลาะฮ์ และมีความเป็นกลางไม่หย่อนยานและตึงจนเกินไป การทำงานของท่านจะอยู่ในรูปแบบที่มีความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์มิใช่ทำลาย และสร้างความเป็นเอกภาพ (วะห์ดะฮ์) ไม่ใช่สร้างฟิตนะฮ์ให้เกิดขึ้นในประชาชาติมุสลิม เพราะท่านทำงานศาสนาโดยมีเป้าหมายที่อัลเลาะฮ์มิใช่เพื่อแนวทางของตนเอง
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอัลลามะฮ์ อัซซัยยิด อะบุลหะซัน อันนัดวีย์ จึงกล่าวเกี่ยวกับท่านหะซัน อัลบันนาว่า “บุคลิกของผู้ก่อตั้งและแกนนำคนแรกของอิควานุลมุสลิมีนนั้นมีความเข้มแข็งและน่าหลงใหลซึ่งรวมไว้หลายด้านด้วยกัน เขาเป็นนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามอย่างไม่ลดละ มีปณิธานอันมุ่งมั่นที่ความเบื่อหน่ายไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เป็นความหวังที่ไม่ดับแสง เป็นทหารที่อดหลับอดนอนอยู่ชายแดนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และเบื้องหลังของทุกๆ ความพิเศษและความโดดเด่นเหล่านี้ คือปัจจัยอันเข้มแข็งที่จะละเลยเสียไม่ได้ ก็คือการขัดเกลาจิตวิญญาณของท่าน ที่ดำเนินตามแนวทางตะเซาวุฟ และหมั่นฝึกฝน ซึ่งในตอนเริ่มภารกิจของท่านหะซันอัลบันนา ตามที่ท่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านอยู่ในสายเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์ โดยท่านทำการมุ่งเน้นซิกรุลลอฮ์ตามแนวทางของเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์ และทำอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบรรดาผู้อาวุโสและมิตรสหายใกล้ชิดของท่านหะซันอัลบันนาได้พูดให้ฉันฟังว่า ท่านหะซัน อัลบันนานั้นยังคงยึดวิริดของเฏาะรีเกาะฮ์ อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์นี้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตและแม้ในช่วงที่มีภารกิจติดพัน” (อะบุลหะซัน อันนัดวีย์, อัตตัฟซีร อัสสิยาซีย์ ลิลอิสลาม (ดารุ อาฟ๊าก อัลฆ่อด์, ม.ป.ป.), หน้า 130-131)
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ตายชะฮีดโดยถูกลอบสังหารในขณะที่ท่านอยู่ในการญิฮาดเพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา ภารกิจของท่านหะซัน อัลบันนาเสร็จสิ้นแล้ว แต่เป้าหมายและอุดุมการณ์ของท่านยังอยู่ ท่านมุห์ซิน มุฮัมมัดได้เขียนไว้ว่า “มีรายงานจากหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษระบุว่า แท้จริง สาเหตุประการหนึ่งที่กลุ่มอิควานได้ขยายอย่างรวดเร็วคือการหวนกลับไปยังรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สมถะและเคร่งครัดของหะซัน อัลบันนา ในฐานะมุสลิม(ธรรมดา)คนหนึ่ง(ที่ไม่ถือยศถือเกียรติแต่อย่างใด)” (ดู มุห์ซิน มุฮัมมัด อัศเศาะห์หาฟีย์, มันก่อต่าล่า หะสัน อัลบันนา [(ใครสังหารหะซันอัลบันา?] (โคโร: ดารุ อัชชุรูก, พิมพ์ครั้งที่ 2, ค.ศ. 1987/ฮ.ศ. 1407), หน้า 9)
และท่านมุห์ซิน มุฮัมมัดได้กล่าวในหน้าเดียวกันว่า “ผู้คนได้พบในรถแท็กซี่ที่นำท่านหะซัน อัลบันนาไปส่งที่โรงพยาบาลก็อสรุลอัยน์ในครั้งสุดท้ายนั้น มีเพียงลูกตัสบีห์ราคาถูก 99 เม็ด!”
แสดงความคิดเห็น